อัปเปหิพลังประชารัฐแล้ว ปิดสวิตช์ "วงษ์สุวรรณ" ตามบัญชานายใหญ่ “กก.บห.” อ้าง สส.ไม่สบายใจในการทำงานร่วมกัน “สรวงศ์” เดินหน้าหาพันธมิตรแบบยกพรรคและยกก๊วน ทั้ง “ปชป.-ทสท.-ธรรมนัส-พรรคเล็ก” จ่อส่งเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ หวังมีเสียง 319 หรือมากกว่าตอนโหวต “อุ๊งอิ๊ง” ยันไม่ได้ส่งเสริมงูเห่า พร้อมวอนนักร้องให้ลูกแม้วได้ทำงานก่อน "ธรรมนัส" ปรับแผนส่ง "พ่ออรรถกร" นั่ง รมต.แทนลูก "ปชป." ดี๊ด๊าพร้อมนัดประชุมตอบรับทันที "ชวน" ย้ำไม่ทรยศประชาชน เชื่อไม่มีการขับพ้นพรรค
เมื่อวันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนในการลาออกจากบริษัทต่างๆ ว่าไม่แน่ใจว่าลาออกไปกี่บริษัท แต่ยืนยันว่าอะไรที่ทำแล้วและขัดต่อกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้หมด ซึ่งขณะนี้ทีมกฎหมายกำลังช่วยกันดำเนินการ แต่จะกี่บริษัทนั้นไม่แน่ใจ ขอดูกฎหมายเป็นหลัก
ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงการส่งรายชื่อของพรรคการเมืองเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีว่า ยังไม่เห็นรายชื่อ ซึ่งการตรวจสอบต้องดูประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย และตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ตั้งประเด็นมา ก็มีเท่านั้น
เมื่อถามย้ำว่า ได้วางหลักจริยธรรมกว้างแค่ไหน มีขอบเขตกำหนดไว้หรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกาหัวเราะก่อนกล่าวว่า ก็คงตามหลักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถามอีกว่าจะรวมถึงกรณีเคยสัญญาแล้วกลับคำ โกหก จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ นายปกรณ์หัวเราะก่อนกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็โดนกันหมดเลย
ขณะที่ น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามสำนักเลขาธิการนายกฯ เสนอแต่งตั้งข้าราชการการเมือง 3 ราย คือ 1.นายสมคิด เชื้อคง เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง 2.น.ส.ธีราภา ไพโรหกุล เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง และ 3.นายณณัฏฐ์ หงษ์ชูเวช รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง
ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความชัดเจนการทาบทามพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ร่วมรัฐบาล ว่ายังไม่ได้พูดคุยเลย
นายภูมิธรรมกล่าวย้ำว่า การจัดตั้ง ครม.เป็นอำนาจของนายกฯ เพียงผู้เดียว เพราะนายกฯ ต้องรับผิดชอบ จึงมีสิทธิ์ที่จะเสนอหรือเลือกใครก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสม การเจรจาพูดคุยกันหากหลายเรื่องยังไม่ตกลงก็เปลี่ยนแปลงได้ การที่พรรคใดยกมือสนับสนุนก็ไม่ได้หมายความว่าต้องมีตัวแทนเป็น ครม. เช่น พรรคไทยสร้างไทยที่โหวตสนับสนุน น.ส.แพทองธาร 6 เสียง หรือครั้งที่แล้วพรรค ปชป.ยกมือสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ 19 เสียง ก็ไม่เห็นมีตัวแทนจากพรรค ปชป.เข้ามาเป็น ซึ่งไม่ใช่ประเด็น นายกฯ มีสิทธิ์เลือก หากรัฐมนตรีพอแล้วในระดับพรรคการเมืองที่มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ก็เลือกบุคคลที่สำคัญๆ ซึ่งในอดีตมีทั้งนักกฎหมายและผู้ที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน นายกฯ ก็เลือกคนเหล่านี้เข้ามาได้
เมื่อถามอีกว่า นายกฯ จำเป็นต้องทำหนังสือชี้แจงพรรค พปชร.หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นเรื่องของพรรค พปชร.จะพิจารณาและนำเสนอใคร ไม่มีอะไรที่บอกว่านายกฯ ต้องตอบ เพราะมันไม่ใช่ประเด็น ซึ่ง น.ส.แพทองธารยังไม่ได้เข้ามาทำงานตรงนี้ ก็ต้องให้กระบวนการดำเนินไป ตนเองอยู่ตรงนี้ก็พยายามทำให้กระบวนการมันจบครบถ้วน มีบุคคลก็เสนอนายกฯ พิจารณา จะเป็นใครก็อยู่ในดุลพินิจของนายกฯ
เมื่อถามถึงตำแหน่งของนายภูมิธรรมมีความชัดเจนอย่างไร นายภูมิธรรมกล่าวว่า ยังไม่ทราบเลย เพิ่งจะให้เขียนประวัติก็เขียนไป เมื่อเขียนแล้วจะเอาเข้าไปหรือไม่ก็แล้วแต่ และไม่ใช่ว่าได้ตำแหน่งอะไร ได้เป็นรัฐมนตรีหรือไม่ยังไม่ทราบ เพราะเป็นดุลยพินิจของนายกฯ
นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์อีกครั้ง กรณีมีกระแสข่าวพรรค พท.จะตัดพรรค พปชร.และไม่ดึงพรรค ปชป. ว่ายังไม่ได้คุย ยังไม่ทราบข่าว แต่พรรคคงต้องหารือ ส่วนจะจบวันนี้หรือไม่ คงต้องดูว่าที่ประชุมมีมติอย่างไร
เมื่อถามว่า การจะให้พรรคใดร่วมรัฐบาลต้องเป็นมติพรรคหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เราตัดสินใจให้นายกฯ ดำเนินการ เป็นอำนาจนายกฯ ใครจะแทรกแซงไม่ได้
นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ กล่าวถึงความคืบหน้ารายชื่อ ครม. ว่าทุกพรรคได้เสนอเข้ามาเรียบร้อยแล้ว การตรวจสอบโดย สลค.กำลังดำเนินการอยู่ ส่วนกรณีของพรรค พปชร.นั้น เนื่องจากบางพรรคยังมีความสับสน และยังมีความไม่แน่นอนภายใน ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ ทั้งนี้ พรรค พปชร.ได้ส่งรายชื่อมาแล้ว แต่ยังมีความสับสนในบางตำแหน่ง
เมื่อถามว่า ได้มีการขีดเส้นหรือไม่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่จะส่งรายชื่อจะต้องสามารถเคลียร์ตัวเองได้เสร็จสิ้นเมื่อใด นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า อำนาจการตั้ง ครม.อยู่ที่นายกฯ เราคงไม่ไปก้าวล่วง เพราะสุดท้ายแล้วจะอยู่ที่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ที่ผ่านมามีข่าวคาดการณ์ต่างๆ นานา ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
ในช่วงเย็น มีการประชุม สส.พรรคเพื่อไทย มีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน โดยมี น.ส.แพทองธาร รวมถึงแกนนำพรรค และ สส.พรรค เข้าร่วมประชุม
สส.เพื่อไทยเอือม พปชร.
เวลา 17.00 น. นายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค พท. แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุม สส.หลายคนมีความไม่สบายใจถึงพฤติกรรมพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล ตั้งแต่ตั้งรัฐบาลของนายเศรษฐาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ และไม่ได้มาร่วมโหวต ประกอบกับหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น การยื่นถอดถอนนายเศรษฐาที่ผู้อยู่เบื้องหลังก็เป็นที่ทราบกันดี ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ สส.พรรคสะท้อนมาในที่ประชุม ส่วนจะดำเนินการทางนิติบัญญัติต่อไปอย่างไร พรรคมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ไปรวบรวมเสียงสมาชิกในสภาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล
เมื่อถามว่า หมายความว่าพรรคพลังประชารัฐจะไม่ได้อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลแล้วใช่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ขอให้เป็นมติของที่ประชุม กก.บห.และคงจะชัดเจนมากขึ้น
เมื่อถามว่า จะนำมติของ สส.ที่ไม่เอาพรรค พปชร. เข้าสู่ที่ประชุมของ กก.บห.ใช่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า “ใช้คำว่ามีความไม่สบายใจดีกว่า มีความไม่สบายใจของ สส. ซึ่งเราจะนำประเด็นเหล่านี้มาถกกันในที่ประชุมของ กก.บห.แน่นอน”
เมื่อถามว่า การเดินหน้ารวบรวมเสียงต่อจากนี้ จะมีการเทียบเชิญพรรค ปชป.ใช่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นพรรค ปชป. โดยต้องรวบรวมเสียงในสภาให้ได้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยต้องทำทันที ซึ่งยังมีพรรคเล็กๆ อยู่ พรรคที่มี 1-2 เสียง ส่วนพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียงที่โหวตให้ น.ส.แพทองธารนั้นก็เป็นไปได้ เมื่อมีความเห็นตรงกันว่าให้นายกฯ ของพรรคเพื่อไทยเป็นผู้นำรัฐบาล ก็อาจทำงานร่วมกันได้
ถามถึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะพิจารณาอย่างไร นายสรวงศ์กล่าวว่า สส.แต่ละคนมีเอกสิทธิ์และเอกภาพในการทำงานอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องเชื้อเชิญกัน แต่ท่านใดสะดวกหรือไม่สะดวกก็เป็นเรื่องของทุกคน หากสะดวกใจที่จะมาทำงานร่วมกันก็มา แต่หากไม่สะดวกใจก็ถือว่าแยกกันเดิน
เมื่อถามว่า พรรค ปชป.ก็มีปัญหาภายใน จะมีปัญหาเข้ามาร่วมรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ต้องดูเป็นรายบุคคลและสถานการณ์ แต่จะให้ประนีประนอมที่สุด และราบรื่นที่สุด ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองมีข้อบังคับ หากสมาชิกพรรคไม่ได้ทำตามมติพรรค อาจมีการพูดคุยในที่ประชุมพรรคกันเอง มีการขับออกหรือไม่มีการขับออกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่การมีความเห็นทางการเมืองไปในทางใด ก็เป็นเอกสิทธิ์ของ สส.แต่ละคน
ถามว่า จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรัฐบาลงูเห่าหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ไม่ใช่เป็นงูเห่า เพราะเราบอกว่าใครที่พร้อม มีความคิดเห็นตรงกัน มีแนวคิดทางการเมืองตรงกันก็ทำงานร่วมกัน ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการที่เรามองว่าการบริหารจัดการประเทศในตอนนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
เมื่อถามว่า รัฐบาลเดิมมี 314 เสียง จะหามาเติมเท่าไหร่ นายสรวงศ์กล่าวว่า เอาจากวันที่โหวตนายกฯ ซึ่งมี 319 เสียง หากเรายังอยู่ครบก็ดี หรือเพิ่มเข้ามาก็ยิ่งดี ประมาณนี้ไม่ต่ำกว่า 300 เสียง
เมื่อถามย้ำว่า 319 เสียงใช่หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า “น่าจะมากกว่า หรือได้เท่าเดิมก็มีความสุขแล้วครับ”
จ่อทาบ 'ปชป.-ธรรมนัส'
ต่อมาภายหลังการประชุม กก.บห.พรรคเพื่อไทย นายสรวงศ์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้นำความไม่สบายใจของ สส.เข้าที่ประชุม และเห็นว่าเราไม่สามารถร่วมงานกับพรรค พปชร.ได้ ส่วนการทาบทามพรรคการเมืองไหนหรือกลุ่มการเมืองไหนมาร่วมรัฐบาลในอนาคต ขอให้เป็นขั้นตอนต่อไป จะเดินหน้าให้เร็วที่สุด โดยจะทำหนังสือเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ และจะทำหนังสือเชิญทุกกลุ่ม ที่เห็นว่าสามารถร่วมงานกันได้ให้มากที่สุด
เมื่อถามถึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า น่าจะพูดคุย เพราะที่ผ่านมากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสก็ให้ความร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด
ถามว่า จะเชิญพรรค ปชป.หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า ก็น่าจะพูดคุย และเป็นหน้าที่ของเราในการหาเสียงในสภาให้มากที่สุด เพื่อเสถียรภาพของรัฐบาล โดยจะได้ส่งเทียบเชิญอย่างเป็นทางการให้เร็วที่สุด
ถามว่า สำหรับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส และพรรค ปชป. จะมีการจัดสรรโควตารัฐมนตรีให้หรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดคุยกัน และยืนยันว่าอำนาจแต่งตั้ง ครม.เป็นของนายกฯ
เมื่อถามว่า มีการเตรียมการรับมืออย่างไรกรณีหากมีผู้ไปร้องประเด็นไม่เชิญพรรคการเมืองทั้งพรรค นายสรวงศ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่จะรับมือ แต่ขอวิงวอนหากทำอะไรผิดค่อยไปร้องเรียน ไม่เช่นนั้นประเทศเดินหน้าไม่ได้ สำหรับนักร้องทั้งหลาย ขอโอกาสให้นายกฯ รัฐมนตรีได้ทำงาน ให้รัฐบาลได้ทำงาน เพราะประเทศต้องเดินต่อ เพราะเวลาผ่านไปแต่ละวันกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้กรอกประวัติเป็นรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ทราบว่าอยู่ที่เดิมหรือไม่
ขณะที่ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวจะได้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิม และได้กรอกประวัติไปแล้ว โดยส่ายหน้าก่อนกล่าวว่า เข้าไปส่งเอกสารอื่น และเมื่อถามต่อว่ามีรายชื่อสำรองน้อยใจหรือไม่ นายสุทินกล่าวว่า ไม่มีน้อยใจหรอก เป็นคนไม่ค่อยติดยึด มีงานทำเยอะหลายอย่าง อยู่ไหนก็ทำงานสนับสนุนกองทัพได้ ความมั่นคงก็ทำงานได้ อยากทำงานด้านสันติภาพให้สนุกด้วย
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่า ได้ส่งรายชื่อไปตั้งแต่อาทิตย์ที่แล้ว ยืนยันว่าไม่มีรายชื่อสำรอง และยังไม่ได้มีการแจ้งกลับมาให้เปลี่ยนคน และคิดว่าไม่น่ามีการขอให้สลับตำแหน่ง
นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย กล่าวเช่นกันว่า ส่งครบแล้ว ตามที่หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยให้ข่าว
เมื่อถามย้ำว่า รายชื่ออยู่ด้วยใช่หรือไม่ นายชาดายิ้มและตอบเพียงว่า ครับ
ด้านความเคลื่อนไหวที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ได้ร่วมรับประทานอาหารกลางวันอย่างเป็นกันเองกับแกนนำพรรคและ สส. 18 ราย โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่นของ สส.และสมาชิกที่เข้ามาแสดงพลังและความมุ่งมั่นพร้อมทำงานเคียงข้าง พล.อ.ประวิตร
ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรได้กล่าวขอบคุณทุกคนที่มา พร้อมพูดคุยหยอกล้อกับสมาชิกพรรคบางคนว่าจะอยู่ข้างไหน และยังกล่าวถึงกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ว่า “ไปดีแล้วทุกคน”
ส่งพ่ออรรถกรนั่งแทนลูก
ส่วน ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ในวันที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีส่วนร่วม ฉะนั้นข้อสรุปพรรค พปชร.ที่ได้มีมติตามที่สื่อมวลชนได้รับทราบแล้ว คงไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอะไร
เมื่อถามว่า ได้กรอกประวัติแล้วหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ได้เสนอตัวเอง และเป็นเรื่องของพรรค ซึ่งการกรอกหรือไม่กรอกเป็นหน้าที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เราไปก้าวล่วงเขาไม่ได้
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าพรรคแกนนำรัฐบาลจะไม่รับรายชื่อในส่วนของพรรค พปชร. ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า อันนี้เราตอบแทนไม่ได้ แต่คิดว่าภายในวันศุกร์ที่ 30 ส.ค. จะรู้ผลแล้วว่าพรรคไหนร่วม-ไม่ร่วม เดี๋ยวพรรคเพื่อไทยคงแสดงจุดยืนที่ชัดเจน
“ต้องดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลเชิญพรรคพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลหรือไม่ บางครั้งการแถลงข่าวหรืออะไรก็ตาม เหมือนตอนตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งก็แถลงหลายรอบ ท้ายสุดก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่แถลง”
ถามว่า จะอยู่กับพรรค พปชร.ต่อไปจนกว่าจะออกจากพรรคใช่หรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า “ก็อยู่ไปอย่างนี้ เราก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมก็ไม่ก้าวล่วงใคร แต่ถ้าใครก้าวล่วงผม ผมก็สวนกลับ เป็นหลักการ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค พท.มีมติไม่เอา พปชร.ร่วมรัฐบาล ทำให้มีผลกระทบทันทีต่อการส่งรายชื่อรัฐมนตรีฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส โดยเฉพาะในส่วนของนายอรรถกร ศิริลัทธยากร สส.ฉะเชิงเทรา เขต 2 พรรค พปชร. ที่เสนอนั่งเก้าอี้เดิม รมช.เกษตรและสหกรณ์ ทำให้ล่าสุดปรับแผนเปลี่ยนมาเสนอชื่อ นายอิทธิ ศิริลัทธยากร อดีต สส.ฉะเชิงเทรา 5 สมัย และอดีต รมช.คมนาคม บิดาของนายอรรถกรมานั่งแทน โดยจะเสนอในโควตาคนนอก ทั้งนี้ นายอิทธิได้กรอกประวัติเรียบร้อยแล้ว โดยฝั่ง ร.อ.ธรรมนัสยังคงได้ 3 เก้าอี้เช่นเดิม และอีก 2 เก้าอี้เสนอนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เป็น รมว.เกษตรฯ เสนอในนามพรรคกล้าธรรม และนายอัครา พรหมเผ่า ที่มีชื่อเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เสนอในโควตาพรรค พท.
ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์ มีการประชุม สส.ของพรรคประจำสัปดาห์ ที่เริ่มตั้งแต่เวลา 14.30 น. ซึ่งมี สส.เข้าร่วมประชุมกว่า 10 คนเท่านั้น แม้แต่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา และเลขาธิการพรรค ก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นบรรดา สส.และอดีต สส.ได้ไปรวมตัวที่บ้านพักของนายเฉลิมชัย ซึ่งหลังนายสรวงศ์ระบุมีความเป็นไปได้ที่จะเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลนั้น มีรายงานว่าเมื่อได้รับเทียบเชิญอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ส.ค. พรรคประชาธิปัตย์จะเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคในช่วงเช้าทันที เพื่อจะร่วมประชุมกับ สส.ในช่วงบ่าย
นายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงกระแสข่าวพรรคจะเข้าร่วมรัฐบาลว่า พรรคไม่เคยมีใครมาพูดถึงเรื่อง และได้บอกไปตรงๆ ว่าไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะว่าเป็นเรื่องโกรธแค้นกับใคร แต่เป็นเพราะรณรงค์ว่าไม่เลือกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่าพรรคเพื่อไทยไม่มี สส.แม้แต่คนเดียวในภาคใต้ ทั้งที่ภาคอื่นได้ สส.ท่วมท้น แลนด์สไลด์อย่างที่ประกาศไว้ ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งแล้วจะกลับลำ หนุนพรรคที่บอกว่าอย่าเลือกนั้น เท่ากับว่าทรยศประชาชน
“ยืนยันว่าไม่ใช่เพราะผลประโยชน์ส่วนตัวแน่นอน แต่เป็นประโยชน์ของประชาชนที่ถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นเหตุผลชัดเจนที่ผมให้ไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งโหวตเลือกนายเศรษฐาเป็นนายกฯ” นายชวนกล่าว
เมื่อถามถึงที่มีกระแสข่าวว่าพรรค ปชป.จะขับออกจากพรรค นายชวนยืนยันว่า ตอนนี้ยังไม่ขับ สมาชิกที่ละเมิดมติพรรคก็ถูกสอบวินัย แต่ตนเองปฏิบัติตามมติพรรค คือไม่รับ และขอแถลงชัดเจนว่าไม่เห็นชอบ และได้ให้เหตุผลไว้อย่างชัดเจน ที่ประชุมก็ไม่ได้ว่าอะไร
นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรค ปชป. กล่าวถึงกรณีนายชวนไม่เห็นด้วยที่พรรคจะเข้าร่วมรัฐบาลจนอาจถูกขับออก ว่าเป็นเฟกนิวส์ ไม่มีมูลความจริง พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่มีวัฒนธรรมขับสมาชิกที่เห็นต่าง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
นายกฯ อิ๊งค์บอกตำรวจอยากดูแล ปท.แบบคนรุ่นใหม่มีอะไรคุยกันได้
นายกฯ มอบนโยบายตำรวจ ขอดูแลปชช.ช่วงปีใหม่ เชื่อ ตร.ภายใต้การนำ ”บิ๊กต่าย“ ทำให้ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข-ปลอดภัย บอกอยากดูแลประเทศแบบคนรุ่นใหม่ มีอะไรคุยกันได้