“ทักษิณ" ร่อนเชียงรายเยี่ยมชาวบ้านน้ำท่วม "จักรพงษ์" ยันงบกลางมีพอรับมือกันไว้หลายพันล้าน สั่ง "กสทช." ประสานเครือข่ายดีแทค-เอไอเอส ขยายสัญญาณในพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด “เลขาฯ สทนช.” กางแผนจุดเสี่ยงสุโขทัยปริมาณน้ำมากที่สุด ยันไม่ซ้ำรอยวิกฤต 54 จับตา ก.ย.มาอีกระลอกใหญ่ “ดร.เสรี” เตือน 60 วันอันตราย รัฐต้องชี้แจงข้อมูลชัดเจนไม่ใช่ท่องคาถาเอาอยู่ “ปภ.” ประกาศเฝ้าระวัง 31 จังหวัดทั่ว ปท.
เมื่อวันจันทร์ เวลา 11.30 น. ที่อาคารชินวัตร 3 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึงด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับโบกมือทักทายผู้สื่อข่าว แต่ไม่ให้สัมภาษณ์ บอกเพียงว่าพูดไปเยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามถามว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) จะไปเชียงรายใช่หรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า ไปเยี่ยมชาวบ้าน
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคเหนือว่า เรามีงบกลางเพียงพอ เพราะเราได้กันในส่วนนี้ไว้แล้วเป็นจำนวนหลายพันล้านบาทเพื่อเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งความจริงเรามีเงินอยู่หลายส่วนที่จะให้ความช่วยเหลือ แต่ต้องรอประชุมถึงจะสรุปได้ว่าจะนำเงินส่วนไหนไปใช้ในภารกิจอะไรบ้าง
“ในส่วนของงบประมาณจะมี 3 ส่วน โดยจะทำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วที่สุด คือ 1.งบประมาณของรองนายกรัฐมนตรี 2.ส่วนของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ใช้ทดรองจ่ายอยู่ท่านละ 50 ล้านบาท และ 3.งบประมาณของแต่ละกระทรวงที่จะขอตรงเข้ามาในการขอซื้ออุปกรณ์ระบายน้ำ เบื้องต้นกระทรวงกลาโหมส่งเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำเข้าไปช่วยเหลือแล้ว” นายจักรพงษ์ระบุ
“ส่วนสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนเข้าไม่ถึง กระทรวงดีอีคงจะมีการเสริมอุปกรณ์ลงไปในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพราะสัญญาณอินเทอร์เน็ตสามารถมีเครื่องโมบายไปตั้งเพื่อใช้ในภารกิจเฉพาะได้ นอกจากนี้มีการประสานงานกับ รมว.ดีอีแล้ว ซึ่งท่านได้ประสานให้ทาง กสทช.ประสานกับเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งดีแทคและเอไอเอส ในการขยายสัญญาณในพื้นที่ที่ประสบภัยทั้งหมด” นายจักรพงษ์ระบุ
ขณะที่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) ปริมาณน้ำที่สุโขทัยจะมากที่สุด คือจุดสถานี Y14A อำเภอศรีสัชนาลัย ก่อนที่จะมาถึงประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ดังนั้นเรื่องการบริหารจัดการน้ำหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ จะระบายไปทางคลองยมน่านเป็นหลัก และก่อนหน้านี้ได้มีการรื้อทางรถไฟที่เป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำออก เพื่อที่จะทำให้ระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเพียงพอ
นายสุรสีห์กล่าวว่า หลังจากนี้น้ำจะมาทาง จ.พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ จึงจะมีการเร่งระบายน้ำลงในแม่น้ำน่านเพื่อให้น้ำในทุ่งน้อยลง เนื่องจากมีการประเมินว่าในเดือน ก.ย.มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมากเข้ามาอีก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และพื้นที่ส่วนเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอยู่แล้ว และหลังจากนี้น้ำจะมารวมกันที่ จ.นครสวรรค์ ซึ่งปริมาณน้ำจะอยู่ที่ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
“จะทำให้การระบายน้ำเจ้าพระยาจะอยู่ที่อัตรา 700 ถึง 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ดังนั้นจะไม่ส่งผลกระทบตามที่เป็นข่าวว่าจะเหมือนปี 2554 เพราะปี 2554 น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาทถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มาในครั้งนี้ต่างจากปี 2554 โดยสิ้นเชิง ขณะที่เรื่องของพายุนั้นกรมอุตุฯ ใช้หลักสถิติว่าช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. เราก็ไม่ประมาทที่จะมีการพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ที่ขณะนี้อยู่ในจุดที่ยังรองรับน้ำได้อีกมาก” นายสุรสีห์ระบุ
ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้เตรียมความพร้อมผู้ต้องราชทัณฑ์กว่า 300,000 รายที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศไทย ให้เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม ไปช่วยแบ่งเบาภาระ โดยมีการติดตามข่าวสารความเดือดร้อนของประชาชน ก่อนจัดสรรกำลังคนราชทัณฑ์ไปให้การสนับสนุน
วันเดียวกัน เวลา 13.00 น. นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง ด้วยเครื่อง ATR หรือ บล.16 ของกองทัพอากาศ เพื่อไปติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดแพร่ แต่หลังจากเครื่องบินบินไปได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ก็เกิดการขัดข้องระบบความดันอากาศมีปัญหา แม้เจ้าหน้าที่จะแจ้งว่าแก้ไขได้ แต่นายสุทินตัดสินใจให้บินกลับทันทีเพื่อความปลอดภัย โดยในวันพุธจะเดินทางไปใหม่
พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เรียกประชุมผู้บังคับหน่วยของกองทัพเรือในพื้นที่ต่างๆ ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อรับทราบถึงสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ พร้อมทั้งตรวจสอบความพร้อมของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ โดยชุดเฉพาะกิจผลักดันน้ำได้สนับสนุนเรือผลักดันน้ำ ในการใช้ระบายน้ำในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันได้มีการติดตั้งไว้ที่จังหวัดนครนายก และเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนจังหวัดที่ได้รับผลกระทบในทันทีที่ได้รับการร้องขอ
ที่รัฐสภา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมกับเพื่อน สว.รวม 14 คน ได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ จากวิกฤตอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาระยะยาว สืบเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรงในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งการทํางานของทุกภาคส่วนยังไม่มีความต่อเนื่อง ให้ความสําคัญเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC ผู้เชี่ยวชาญ IPCC ได้โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “60 วันอันตราย การจัดการภาวะวิกฤติและสื่อสารความเสี่ยงควรทำอย่างไร?” ระบุว่า ความเสียหาย ความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สินจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สำหรับประเทศไทยในอดีตมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 10,000-1,000,000 ล้านบาท (น้ำท่วมใหญ่ 2554) โดยเฉพาะการเสียชีวิตของประชาชนซึ่งประเมินมูลค่าไม่ได้ การบริหารวิกฤตจึงมีความสำคัญสูงสุด ประกอบกับการสื่อสารความเสี่ยงในภาวะวิกฤตต้องมีความเข้าใจ และสามารถถ่ายทอดให้ประชาชนที่กำลังวิตกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้น หลายหน่วยงานที่ออกมาให้ข้อมูลต้องชัดเจน ไม่ยืดเยื้อ ไม่เทคนิคมาก ทำให้เข้าใจยากจนขาดความน่าสนใจ
“ดังนั้น 60 วันจากนี้ต่อไปจึงเป็นสถานการณ์สุ่มเสี่ยง ที่ไม่เพียงการบอกความจริงกับประชาชน แต่ต้องไม่ใช่เพียงคำว่า 'เอาอยู่' หรือไม่ท่วมเหมือนปี 2554 ทีมผู้เชี่ยวชาญน้ำจากหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้รวมตัวกันเพื่อกอบกู้วิกฤต และจะพยายามให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา ดังรูปที่แนบมาเป็นการประเมินเบื้องต้นสถานการณ์ที่เป็นไปได้สำหรับภาคกลาง และสถานการณ์เลวร้ายที่สุดจากพายุจร ประชาชนที่อยู่ในเขตสีส้มให้ติดตามข้อมูลด้วยนะครับใน 60 วันอันตรายนี้” ดร.เสรี ระบุ
ด้านนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (149/2567) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า มีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2567 แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม
โดยภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, พะเยา, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, พิษณุโลก, ตาก และเพชรบูรณ์ (อ.เมืองเพชรบูรณ์ อ.หล่มเก่า อ.หล่มสัก)
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย, หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู และอุดรธานี
ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี, นครนายก, ปราจีนบุรี, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี, ตราด และประจวบคีรีขันธ์
ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, กระบี่, ตรัง และสตูล
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรงภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง, พังงา และภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
“ปภ.จึงได้ประสานแจ้ง 31 จังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง" อธิบดี ปภ.ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ดิ้นหนัก ลุยล็อบบี้กมธ. ปั้นกม.การเงิน
“นายกฯ อิ๊งค์” บอกไม่ได้จบกฎหมายมา โยน “ชูศักดิ์” ดูแลเรื่องรัฐธรรมนูญ
‘18บอส’นอนตะรางยาว! สายไหมไม่รอดเจอข้อหา
18 บอสดิไอคอนนอนคุกยาว ดีเอสไอยื่นฝากขังผัด 4 พ่วงแจ้งข้อหาใหม่โทษหนักคุก 10 ปี
อิ๊งค์ข้องใจแสนชื่อเลิก‘MOU44’
“หมอวรงค์” นำกลุ่มคนคลั่งชาติยื่น 104,697 รายชื่อร้องยกเลิกเอ็มโอยู 44
ปชน.ขนทัพใหญ่ หาเสียงทิ้งทวน! หวังปักธง‘สีส้ม’
“ปชน.” ปูพรมโค้งสุดท้าย ขนทัพใหญ่ดาวกระจาย 6 สายทั่วพื้นที่ “ปิยบุตร” ขอโอกาสปักธงสีส้ม “พิธา” เชื่อคะแนนยังสูสี พรรคประชาชนมีโอกาสพลิกชนะ
ทวีโยงคาร์บ๊องป้องแม้วพักชั้น14
ตามคาด "ทักษิณ" ไม่เข้าชี้แจง กมธ.ปมนักโทษชั้น 14 "ทวี" แจงแทน
‘ทักษิณ-พท.’ยิ้มร่า ศาลยกคำร้องล้มล้างฯ เพื่อไทยเล็งฟ้องเอาคืน
ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้อง "ทักษิณ-เพื่อไทย" ล้มล้างการปกครอง