"สภาพัฒน์" เผยหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.99% เร่งแบงก์ปรับโครงสร้างหนี้ แนะจับตาประเด็นการกู้เงินนอกระบบบนโซเชียลมีเดีย เงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่ายอาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัว ส่วนอัตราว่างงานไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 1.07% เพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังฟื้นตัวจากโควิด
เมื่อวันจันทร์ นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2/2567 ว่า หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1 มีมูลค่า 16.37 ล้านล้านบาท ขยายตัว 2.5% ชะลอลงจาก 3% ในไตรมาสก่อน ไตรมาส 4/2566 และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่ 90.8% ลดลงจาก 91.4% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้ครัวเรือนขยายตัวชะลอลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ส่วนหนึ่งเกิดจากครัวเรือนมีภาระหนี้ในระดับสูง และคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลง จึงทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อแก่ครัวเรือน ด้านคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนปรับลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของธนาคารพาณิชย์ มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.99% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.88% ในไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้นกว่าช่วงโควิด-19 นั้น เนื่องจากตอนนี้มีปัญหาเรื่องรายได้กระจายไม่ทั่วถึง ซึ่งต้องมีมาตรการใช้สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ปัญหา ถ้าแก้แล้วเกิดประเด็นอันตรายบนศีลธรรม (Moral Hazard) ขึ้นในสังคม ควรมีมาตรการช่วยสร้างรายได้ อาจเป็นการลงทุนของรัฐที่จะช่วยสร้างการจ้างงาน สร้างรายได้บุคคล
นายดนุชากล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1.การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ลูกหนี้บัตรเครดิต ที่เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้คืน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับอัตราการจ่ายบัตรเครดิตขั้นต่ำจาก 5% เป็น 8% ตั้งแต่รอบบัญชีเดือน ม.ค. 67 ส่งผลให้ลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถปรับตัวและมีปัญหาในการชำระคืน 2.รูปแบบการให้กู้ยืมนอกระบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะที่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ประกอบกับเงื่อนไขการเข้าถึงสินเชื่อที่ง่าย อาจนำไปสู่พฤติกรรมการก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย อีกทั้งมีความเสี่ยงการมีหนี้สินล้นพ้นตัวจากอัตราดอกเบี้ยนอกระบบที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่
ส่วนประเด็นที่มีการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงครึ่งหนึ่งนั้น นายดนุชากล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกับกระทรวงการคลังและ ธปท.ว่ามาตรการนี้จะมีผลอย่างไรบ้าง อย่างไรก็ดีถ้าลดเงินนำส่งครึ่งหนึ่ง ก็จะต้องใช้เวลาในการชดใช้หนี้ FIDF ยืดออกไประยะหนึ่ง และอยู่ที่ว่าจะนำเงินที่ได้จากส่วนที่ต้องชำระให้ FIDF ลดลงนี้ไปใช้ช่วยแก้หนี้ครัวเรือนในด้านใด ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียให้ดี ทั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่เคยพูดคุย และเป็นแนวคิดหนึ่งที่เป็นทางเลือกอยู่ ต้องไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม
สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 2/2567 ภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 2 ลดลง 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนผู้มีงานทำอยู่ที่ 39.5 ล้านคน การจ้างงานที่ลดลง เป็นผลจากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง 5% ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัว 1.5% โดยสาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 4.9% สาขาขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 9% และสาขาการผลิตเพิ่มขึ้น 2.2% นอกจากนี้ยังเห็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นครั้งแรก หลังจากฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยอยู่ที่ 1.07% มีผู้ว่างงาน 430,000 คน เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อน
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1. การปรับตัวของแรงงานให้มีทักษะที่สอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในอนาคต โดย World Economic Forum (WEF) ระบุว่า ภายในปี 2570 งานในภาคธุรกิจกว่า 42% จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติ ขณะที่ผลการสำรวจของไมโครซอฟท์ประเทศไทย ร่วมกับ LinkedIn พบว่าผู้บริหารไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI
2.ผลกระทบของการขาดสภาพคล่องของ SMEs และปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นต่อการจ้างงาน SMEs เป็นกลุ่มธุรกิจที่รองรับแรงงานไว้เป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยมีสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ต่อสินเชื่อรวม 7.2% ในไตรมาส 4/2566 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว อีกทั้งดัชนีต้นทุนของธุรกิจรายย่อย (Micro) และธุรกิจขนาดกลาง (Medium) ยังเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การเลิกจ้างแรงงานได้ และ 3.ผลกระทบของอุทกภัยต่อผลผลิตทางการเกษตร และรายได้ของเกษตรกร
นายดนุชากล่าวด้วยว่า สำหรับผลกระทบของสถานการณ์น้ำท่วมต่อพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากความรุนแรงของน้ำท่วมในครั้งนี้ยังไม่จบ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหลายจังหวัด จึงต้องดูปริมาณน้ำกับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมว่ากระทบกับพื้นที่เพาะปลูกมากน้อยเท่าไร และมีพืชอะไรบ้างที่ได้รับผลกระทบ ถึงจะสามารถประเมินผลกระทบในภาพรวมได้ แน่นอนว่าหากมีผลกระทบจากน้ำท่วม จะต้องมีการลงทุนทั้งการปรับปรุงก่อสร้าง ต้องมีมาตรการซัพพอร์ต จากการติดตามข่าวคือหลายคนไม่คิดว่าน้ำจะมาเยอะขนาดนี้ ดังนั้นความเสียหายในแง่บุคคลค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะผู้ประกอบการอิสระที่เปิดร้านค้าต่างๆ อาจต้องดูมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน ขณะที่เกษตรกรในแง่ของการช่วยเหลือด้านสินเชื่อต่างๆ ก็ต้องสำรวจความเสียหายก่อนว่าได้รับความเสียหายขนาดไหน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน
ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย
ตอกฝาโลงกิตติรัตน์ ‘กฤษฎีกา’ชี้ขาดคุณสมบัติ เหตุมีส่วนกำหนดนโยบาย
"กฤษฎีกา" ชี้ชัดสมัย "นายกฯ เศรษฐา" ตั้ง "กิตติรัตน์" เป็นประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
‘เท้งเต้ง’ไม่ทน! ชงแก้ข้อบังคับ รมต.ตอบกระทู้
ทนไม่ไหว! “หัวหน้าเท้ง” หารือประธานสภาฯ ขอให้แก้ข้อบังคับการประชุม
แม้วพบอันวาร์กลางทะเล เตือนเสือกทุกเรื่องทำพัง!
ปชน.จี้ถามรัฐบาล “ทักษิณ” มีอำนาจจริงปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือไม่
ให้กำลังใจจนท.ดูแลปีใหม่ เข้มงวด‘ความปลอดภัย’
นายกฯ ให้กำลังใจตำรวจ-กรมทางหลวง ทำงานหนักช่วงปีใหม่
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"