แจงคุมขังนอกคุก ปรับนิสัยนักโทษ ไม่เอื้อยิ่งลักษณ์

"ทวี" แจงยิบ "ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ" ไม่ได้เอื้อ “ยิ่งลักษณ์” กลับไทย เน้นเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาพฤตินิสัยนักโทษเด็ดขาดเตรียมพร้อมก่อนปล่อย-เหลือโทษ 4 ปี หรือนักโทษคดีทำร้ายร่างกายอาจได้รับสิทธิ เผยอยู่ระหว่างเสนอรายงานเข้า คกก.ราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดสถานคุมขังอื่น กำกับเกณฑ์ผู้คุม คาดล็อตแรกอาจทันใช้สิ้นปี 67 ย้ำยังไม่ได้รับรายงานเรื่อง "ยิ่งลักษณ์" ยื่นขออภัยโทษเฉพาะราย

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ มีกิจกรรมกระทรวงยุติธรรมพบสื่อมวลชน “Justice with Press 2024 ยุติธรรมนำใจ เชื่อมสายใยสื่อมวลชน” นำโดย  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม คณะผู้บริหารทีมโฆษกกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกรมภายในการกำกับของกระทรวงยุติธรรม

โดย พ.ต.อ.ทวีให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าเรื่องการจัดทำระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ที่ให้มีผลบังคับใช้ในทันที รวมถึงการจัดทำ ระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง ซึ่งจะต้องนำมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะปัจจุบันนี้ 1 เรือนจำ/ทัณฑสถาน สามารถบรรจุผู้ต้องขังได้ประมาณ 150,000-160,000 ราย และกฎหมายหรือกฎกระทรวงถือเป็นกฎหมายทันสมัย โดยมีการกำหนดให้โรงพยาบาลเป็นที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังป่วย นอกจากนี้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มีมาตรา 33 มาตรา 34 ที่ต้องการให้มีที่คุมขังอื่น แต่ต้องไม่ใช่สถานที่คุมขังที่อำนวยความสะดวก

"ยกตัวอย่างกรณีนายเชาวลิต ทองด้วง หรือแป้ง นาโหนด อาจต้องไปอยู่ที่คุมขังอื่น แต่ต้องเป็นที่ที่จะทำให้เขาไม่หลบหนีอีก ไม่ก่อเหตุร้าย และต้องมีการพัฒนาพฤตินิสัย ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพและศักยภาพ เมื่อกลับสู่สังคมต้องไม่ไปกระทำความผิดซ้ำอีก เช่นมีสถานสำหรับเรียนหนังสือ สถานที่ฝึกอาชีพ หรืออาจเป็นเรือนจำซูเปอร์แมกซ์ก็ได้ ดังนั้นเรื่องสถานที่คุมขังอื่น เดิมอาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน แต่ตอนนี้ทราบว่านายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังหรือหลักเกณฑ์ เรียบร้อยแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความรอบคอบจึงต้องนำเรื่องรายงานเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการราชทัณฑ์ก่อน"

พ.ต.อ.ทวีกล่าวต่อว่า ในชุดคณะกรรมการฯ จะมีผู้แทนจากหน่วยต่างๆ มาช่วยดูรายละเอียด ทั้งจากอัยการสูงสุด, ศาลยุติธรรม, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ  ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์อาจเช่น ผู้ต้องขังเจ็บป่วย ผู้ต้องขังสูงอายุมากกว่า 70 ปี หรือผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ซึ่งควรจะได้รับการดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเกณฑ์ต่างๆ รมว.ยุติธรรมไม่ใช่ผู้กำหนด แต่เป็นผู้แทนจากหน่วยงานภายในชุดคณะกรรมการราชทัณฑ์พิเคราะห์ว่า ทำอย่างไรจะให้เรือนจำไม่ถูกมองว่าเป็นที่แออัดยัดเยียด จึงต้องให้เรือนจำแต่ละแห่งไปดูว่า สถานที่ใดจะใช้เป็นสถานที่คุมขังอื่นได้บ้าง และทุกที่ต้องมีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนจะทันกรอบสิ้นปี 2567 หรือไม่นั้นอยู่ที่แต่ละเรือนจำ และต้องรอการแต่งตั้ง ครม.ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะยังเป็นเรื่องใหม่และคนสงสัย กฎหมายก็ต้องปฏิบัติได้จริง

รมว.ยุติธรรมกล่าวอีกว่า สำหรับเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่อาจเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำนั้น เดิมทีกำหนดให้เป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย หรือประมาณโทษ 4 ปี แต่ในระเบียบก็ไม่ได้มีการกำหนดอัตราโทษไว้ อยู่ที่เรือนจำแต่ละแห่งไปพิจารณาว่าผู้ต้องขังเด็ดขาดรายใดมีพฤติกรรมดี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหรือไปก่อเหตุร้าย และไม่ไปยุ่งเหยิงสิ่งใด ดังนั้นการใช้กฎหมายของกระทรวงยุติธรรมต้องใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  รวมถึงนักโทษเด็ดขาดในรายคดีรุนแรงก็อาจได้รับสิทธิในระเบียบนี้เหมือนกัน

"ส่วนคดีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่ใช่คดีการกระทำความผิดซ้ำตามกฎหมาย JSOC แต่ว่าส่วนใหญ่เราก็ให้ความสำคัญ ให้ความระวัง เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความรู้สึกของประชาชน แม้มีกฎหมายบัญญัติแต่ก็ต้องดูความเหมาะสมประกอบ ผู้ต้องขังเด็ดขาดได้รับสิทธิประโยชน์คุมขังนอกเรือนจำ ส่วนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี เราได้ทำมาตรา 89/1 สามารถให้ศาลมีคำสั่งไปอยู่บ้านได้ หากเขาได้รับการประกันตัวชั่วคราว โดยศาลอาจมีเงื่อนไขให้ราชทัณฑ์ไปช่วยดูแลผู้ต้องขัง" รมว.ยุติธรรมกล่าว

พ.ต.อ.ทวีกล่าวถึงมาตรการเบื้องต้น สำหรับผู้ต้องขังที่ได้รับอนุญาตให้ถูกคุมขังในสถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำว่า บางรายอาจต้องให้ศาลมีคำสั่งติดกำไล EM มีการรายงานตัวในระบบออนไลน์ มีเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เข้าไปสอดส่องตรวจตรา และบางส่วนอาจต้องมีการทำหนังสือลงนาม  (MOU) กับตำรวจหรือทหาร เป็นต้น แต่ ณ ตอนนี้ยังไม่สามารถระบุจำนวนผู้ต้องขังที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิประโยชน์ตามระเบียบคุมขังนอกเรือนจำนี้ได้ เพราะเกณฑ์ต่างๆ เจตนารมณ์กฎหมายของราชทัณฑ์เขียนไว้ตอนท้ายว่า ที่ผ่านมาไม่ใช้คณะกรรมการบริหารราชทัณฑ์ให้เป็นประโยชน์ จากนี้จึงต้องใช้ให้เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ คณะกรรมการราชทัณฑ์มีทั้งนักอาชญาวิทยา, นักจิตวิทยา, นักทัณฑวิทยา และผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดู ซึ่งเราก็ต้องระวังเรื่องความปลอดภัยของสังคม และตัวผู้ต้องขังเองหากต้องไปคุมขังนอกเรือนจำ

"ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำไม่เกี่ยวข้องกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมันเป็นสุญญากาศ เราจึงต้องทำ แม้กระทั่งก่อนหน้านี้ที่มีการประกาศเรื่องระเบียบคุมขังนอกเรือนจำออกมา ก็มีการคิดโยงไปว่าเกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร จึงทำให้ผู้ต้องขังเสียโอกาสไปเยอะ ทั้งนี้แม้เปลี่ยนหัวหน้ารัฐบาลแล้ว แต่ในตอนนี้กระทรวงยุติธรรมยังไม่ได้รับเรื่องประสานกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายแต่อย่างใด" พ.ต.อ.ทวีกล่าว 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับที่มาของระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับสถานที่คุมขังอื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ จุดเริ่มต้นการร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นช่วงเดียวกับที่นายทักษิณ​ ชิน​วัต​ร อดีตนายกฯ ถูกจำคุก ซึ่งกรมราชทัณฑ์​ โดยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 จนถูกมองว่าออกกฎหมายเอื้อนายทักษิณ

ต่อมาหลังจากที่นายเศรษฐา​ ทวี​สิน เป็นนายกรัฐมนตรี ​ดำรงตำแหน่งมาระยะหนึ่ง ก็เริ่มมีกระแสว่า น.ส.ยิ่ง​ลักษณ์​จะกลับมารับโทษที่ประเทศไทยในคดีจำนำข้าว จึงตั้งข้อสังเกตว่า เป็นกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์รองรับการกลับประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ได้เข้าเกณฑ์เป็นนักโทษนอกเรือนจำหรือไม่

ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันระเบียบดังกล่าวยังไม่สามารถใช้กับผู้ต้องขังได้ทันที เนื่องจากจะต้องจัดทำระเบียบ แนวทางการปฏิบัติ และกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขัง เพื่อมารองรับระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ โดยมีคณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง เป็นผู้พิจารณาเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำกับนักโทษ

อนึ่ง เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา ช่วงเช้าวันที่ 25 ส.ค. 2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  นัดอ่านคำพิพากษา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ  ที่ตกเป็นจำเลยในการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว แต่จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาล ซึ่งต่อมามีรายงานว่าได้เดินทางออกไปนอกประเทศแล้ว กระทั่งวันที่ 27 ก.ย. 2560 ศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลังสั่งจำคุก 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้ออกหมายจับนำตัวมาดำเนินคดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งัดกม.กดดันนายกฯ พปชร.อ้างข้อบังคับพรรค ทวงใบกรอกประวัติ‘ป๊อด’

"อุ๊งอิ๊ง" ยังเล่นบทเตมีย์ใบ้ "หมอมิ้ง" ขึงขังไม่ขีดเส้นตายรายชื่อ รมต. แต่ถ้าไม่ส่งก็ถือว่าไม่ส่ง พลิ้วไม่รู้หนังสือ