“เศรษฐพุฒิ” ลั่น กนง.พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องดอกเบี้ย ชี้ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย “การเติบโตเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อ-เสถียรภาพ” เด็ก ทสท.ข้องใจนโยบายทักษิณ ซื้อคืนรถไฟฟ้าเพื่อใคร “โพล” ชี้ชัดชาวบ้านอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาปากท้อง รับยามนี้เงินในกระเป๋าไม่เพียงพอ
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ส.ค.2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้หารือถึงการพิจารณาแนวโน้มนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ซึ่งยืนยันว่าขึ้นอยู่กับเอาต์ลุกว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร พร้อมกับการดูทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพการเงิน ซึ่งหากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ ธปท.ประเมินไว้มีการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนไปจากคาดการณ์ กนง.ก็พร้อมที่จะปรับนโยบาย
นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ศักยภาพ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ประเมินมากนัก แต่ยอมรับว่ามีความเสี่ยงในบางมิติที่มากขึ้น เช่น การลดลงของการลงทุนภาคเอกชน แต่โดยรวมประมาณการเศรษฐกิจที่ออกมายังคงใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ 2.อัตราเงินเฟ้อ โดยแนวโน้มเงินเฟ้อเริ่มค่อยๆ เข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่าตัวเลขเงินเฟ้อคือ การรักษาแนวโน้มเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ หรือการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งไม่อยากให้การคาดการณ์เงินเฟ้อหลุดกรอบ ตราบใดที่เงินเฟ้อต่ำไม่ได้นำไปสู่ภาวะเงินฝืด และไม่ได้ทำให้การบริโภคชะลอ การค้าตกต่ำ และทำให้เกิดวงจรที่คนคิดว่าราคาจะลงจึงไม่บริโภค เพราะราคาจะถูกลงในอนาคต ซึ่งภาพแบบนี้คงไม่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสัญญาณความเสี่ยงด้านนี้ และ 3.เสถียรภาพทางการเงิน คือสิ่งที่ ธปท.กังวล โดยเริ่มเห็นการตึงตัวของภาวะการเงินจากการที่สถาบันการเงินเริ่มปล่อยสินเชื่อลดลง จนเริ่มส่งผลกระทบ เพราะภาคการเงินมีความเชื่อมโยงกับภาพของเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมันตึงตัวมาก ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นจุดเปลี่ยนในการปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสม
“ปัจจุบันนี้ปัจจัย 2 ตัว คือเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ยังอยู่ใน In Line กับ Outlook แต่ในฝั่งเสถียรภาพด้านการเงิน ความเชื่อมโยงเศรษฐกิจการเงิน มีสัญญาณรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้สภาพการเงินตึงตัว ถ้าตึงตัวเกินไปทำให้เป็นตัวหนึ่งให้ กนง.ตัดสินใจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เพื่อให้เอื้อดำเนินนโยบายการเงิน เราเปิดมากขึ้นในการปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ยต่างๆ ตามสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไป หากความเชื่อมโยงทางการเงินตึงตัวจนกระทบต่อคุณภาพเครดิตแรงกว่า ก็พร้อมปรับเปลี่ยนนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทนี้" นายเศรษฐพุฒิกล่าว
ขณะที่ นายภัชริ นิจสิริภัช คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ และเหรัญญิกพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) กล่าวถึงการแสดงวิสัยทัศน์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เรื่องการเวนคืนรถไฟฟ้า หรือซื้อสัญญาสัมปทานคืนจากเอกชนเพื่อให้รัฐเป็นผู้บริหารเองหรือจ้างเอกชนบริหาร โดยมีเป้าหมายการเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย ว่าแนวคิดดังกล่าวประโยชน์สูงสุด เป็นไปเพื่อประชาชนหรือเพื่อนายทุนเจ้าของสัมปทานแน่ เพราะโดยปกติการลงทุนระยะยาวอย่างรถไฟฟ้า ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านหรือหลายหมื่นล้านบาทนั้น เอกชนย่อมแสวงหากำไร แต่ต้องรอในระยะเวลาหนึ่งจึงจะคืนทุน ซึ่งค่าโดยสารคือเงื่อนไขสำคัญที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องปกติที่รัฐจะได้ค่าสัมปทานเก็บรายได้เข้าคลัง โดยเอกชนจะบริหารภายใต้สัญญาระยะยาว ซึ่งการลงทุนแบบนี้ ต้องวิเคราะห์ความคุ้มค่าอย่างรอบคอบ หากทำดีมีคนใช้บริการมากก็จะคืนทุนไว แน่นอนว่าการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นการที่รัฐให้สัมปทานกับเอกชนคือการลดความเสี่ยงอย่างหนึ่ง ไม่ต้องแบกภาระเอง ไม่ต้องบริหารเอง กลับกันหากรัฐมีแนวคิดไปเวนคืน หรือซื้อกิจการกลับมาบริหารเอง ตามแนวคิดของอดีตนายกฯ ทักษิณ เพื่อลดราคาค่าโดยสารให้เป็นไปตามนโยบายหาเสียง อาจหมายถึงเอาเงินก้อนใหญ่จากภาษีของประชาชนไปให้เอกชน แน่นอนว่าไม่มีใครยอมถูกเวนคืนในราคาขาดทุน นอกจากเอกชนไม่ต้องแบกภาระความเสี่ยงในการคืนทุนได้เงินก้อนโตในการซื้อสัมปทานคืน แถมจะได้เงินจากค่าบริหารจากภาครัฐอีกด้วย
“ถ้ารัฐยอมจ่ายสูงซื้อคืนกลับมา มันก็เหมือนเอื้อนายทุนเจ้าของรถไฟฟ้า เพราะตามสัญญากว่าจะได้เงินทุนคืนมันนาน แต่อยู่ๆ รัฐมาเวนคืนในระยะเวลาอันสั้น เอกชนลูบปากสบายเลย เมื่อรัฐได้สิทธิบริหาร แน่นอนกำหนดค่าตั๋วเท่าใดก็ได้ เช่น 20 บาทตลอดสาย แต่หากทำไปแล้วขาดทุน สุดท้ายอาจเหมือน ขสมก.หรือการรถไฟฯ ที่มีหนี้สะสมมหาศาล” นายภัชริกล่าว
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่องความคาดหวังของประชาชนต่อ ครม.ชุดใหม่ โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,164 คน ซึ่งเมื่อถามว่าประชาชนอยากให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่แก้ไขปัญหาใดเป็นอันดับแรก พบว่า 74.43% แก้ปัญหาเศรษฐกิจ, 73.47% แก้ปัญหาค่าครองชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และ 56.04% บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมเร่งสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนคาดหวังมากที่สุดจากการปรับ ครม.ใหม่ครั้งนี้คือเรื่องใด พบว่า 70.30% กระทรวงต่างๆ ร่วมมือกันทำงานได้ดีขึ้น, 60.19% ได้รัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถ ประวัติการทำงานโปร่งใส และ 59.49% นำเสนอนโยบายใหม่ๆ แก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศ ถามอีกว่าประชาชนคิดว่าความซื่อสัตย์และจริยธรรมทางการเมืองเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการคัดเลือกคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หรือไม่ พบว่า 84.19% มีผลมาก และ 15.81% ไม่ค่อยมีผล
ถามต่อว่า ประชาชนคาดหวังว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้จะส่งผลต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างไร พบว่า 46.39% คาดหวังว่าจะดีขึ้น, 38.66% คงจะเหมือนเดิม และ14.95% อาจจะแย่ลง สุดท้ายเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าการปรับ ครม.ครั้งนี้จะส่งผลต่อสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไร พบว่า 30.50% ยังคาดการณ์อะไรไม่ได้, 24.14% บ้านเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น, 18.38% อาจทำให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น, 15.90% บ้านเมืองมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และ 11.08% อาจทำให้เกิดความวุ่นวายบ้าง
ขณะเดียวกัน สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง รอยต่อรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,131 ตัวอย่าง โดยเมื่อถามถึงความสุขต่อเงินในกระเป๋าวันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 63.6% มีความสุขค่อนข้างน้อยถึงไม่มีเลยเมื่อนึกถึงเงินในกระเป๋าวันนี้ ในขณะที่ 36.4% มีความสุขค่อนข้างมากถึงมากที่สุด และเมื่อสอบถามความคาดหวังของประชาชนต่อรัฐบาลใหม่ที่จะทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 55.4% ไม่คาดหวัง ในขณะที่ 44.6% คาดหวัง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามความพอใจของประชาชนต่อผลงานรัฐบาลเก่าก่อนเข้ายุครัฐบาลใหม่ พบว่า ผลงานอันดับแรกของรัฐบาลเก่า ได้แก่ 46.5% ซอฟต์พาวเวอร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, ร้อยละ 42.8% การจัดระเบียบสังคม นำโดยกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล, 33.7% การคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งยุครัฐบาลลุงตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 32.8% การศึกษาผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลกระทรวงศึกษา พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ, 26.7% การศึกษามหาวิทยาลัยทันยุคสมัย ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กระทรวงการอุดมศึกษา น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี
"ที่น่าเป็นห่วงเมื่อสอบถามถึงความกังวลของประชาชนต่อความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือ 64.4% กังวล ในขณะที่ 35.6% ไม่กังวล".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ