สั่งตั้งวอร์รูมรับมือน้ำท่วม 7จว.เหนืออ่วม!น่านวิกฤต

หวั่นซ้ำรอย “เอาอยู่”! “อ้วน” นั่งหัวโต๊ะถกรับมือสถานการณ์น้ำ สั่งกระทรวงเกษตรฯ ตั้งวอร์รูมรับมือ ย้ำข้อมูลต้องแม่นยำ  “ธรรมนัส” กางแผนตัดยอดน้ำ สกัดออกด้านข้าง ไม่ให้ลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเข้า กทม. ขณะที่เหนือ 7 จังหวัดยังอ่วม น่านวิกฤต เชียงรายดับแล้ว 4  ราย ปภ.เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 อาคาร 99 ปี    หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน  (สามเสน) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมการประชุม

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นการประชุมฉุกเฉิน  สืบเนื่องจากภาคเหนือเกิดอุทกภัยจากฝนที่ตกลงมาอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง ในส่วนของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เป็นห่วงและได้กำชับช่วยดูแลพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัย เช่น จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน พะเยา สุโขทัย เป็นต้น ทั้งนี้ ได้มอบนโยบายและสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.กระทรวงมหาดไทย ตั้งศูนย์วอร์รูมระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนกลาง ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเปิดช่องว่าหากมีน้ำท่วมแล้วให้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ และจะประสานเบิกจ่ายงบประมาณกลางมาใช้ในการแก้ปัญหาได้เร็ว ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ ให้เตรียมข้อมูลที่ชัดเจน รวมทั้งจัดรถโมบายเข้าไปยังจุดน้ำท่วมหนัก จัดทำเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานราชการต่างๆ และส่วนกลาง

2.กระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาปิดโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการปิดการเรียนการสอนชั่วคราว เน้นความปลอดภัยของนักเรียนเป็นสำคัญ 3.กระทรวงมหาดไทย ให้ประสานขอความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 3 นำเครื่องมือและกำลังพลพร้อมช่วยเหลือประชาชน 4.กรมชลประทาน ตรวจสอบประตูระบายน้ำทุกพื้นที่ ตั้งแต่พื้นที่ด้านบน-ล่าง หากพบปัญหาให้รีบแก้ไข 5.สทนช.ให้นำโดรน รถโมบาย สำรวจข้อเท็จจริง เพื่อใช้ประเมินข้อมูลเหตุที่มีความรุนแรงวิกฤต ให้ได้ตรงจุดที่สุด 6.กระทรวงคมนาคม ให้ตรวจดูเส้นทาง ถนนที่กั้นขวางทางน้ำหลาก ให้พิจารณาเจาะถนนปล่อยน้ำไหลต่อไปได้ และขอให้แจ้งการดำเนินการให้หมู่บ้านที่อยู่ปลายน้ำรับรู้สถานการณ์ด้วย

7.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูตามเงื่อนไขตามแนวสันป่าอยู่แล้ว และให้เร่งเข้าดำเนินการช่วยเหลือประชาชน 8.กระทรวงสาธารณสุข ขอให้ลงพื้นที่เข้าไปดูแลประชาชนที่อาจได้รับความเจ็บป่วย 9.กระทรวงพาณิชย์ ให้ดูแลเรื่องราคาอาหาร ข้าวของต่างๆ   ไม่ให้มีราคาแพง ผู้บริโภคต้องมีของกินของใช้ตลอดเวลา 10.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  จัดตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทันที และติดตามช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ยังมีปริมาณน้ำเก็บกักเพียง 60% รองรับน้ำได้อีก 40% หากไม่มีฝนตกลงอีก 2-3 วันจะเริ่มคลี่คลาย

โดยมอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พร้อมด้วยกรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ใน 2 จังหวัดที่วิกฤต 23 ส.ค. โดยกรมชลประทานให้เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำและไล่มาจนถึงลุ่มเจ้าพระยา ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ หากพบโรงเรียนเสี่ยง ให้พิจารณาสั่งปิดเรียนได้ทันที

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส กล่าวถึงแผนระบายน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือว่า ปริมาณน้ำยมตอนนี้มีอัตรา 1,600-1,700 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ต้องควบคุมปริมาณน้ำไม่ให้เกิน 1,300 ลบ.ม.ต่อวินาที  จึงได้เร่งระบายน้ำยมซ้ายขวา และตัดยอดน้ำเหนือ เพื่อไม่ให้ลงมาถึงลุ่มเจ้าพระยา โดยการบริหารจัดการน้ำเหนือใน อ.เชียงม่วน ปง ภูซาง จ.พะเยา จะระบายลงไปพื้นที่เชียงราย เพื่อตัดน้ำลงแม่น้ำอิง และระบายลงแม่น้ำโขง โดยพื้นที่พะเยา น่าน แพร่ ที่ประสบสบน้ำหลาก พอมาเข้าสู่ลำน้ำยม ตอนนี้บริหารจัดการน้ำโดยการระบายน้ำจากแพร่ อ.สอง มาที่หาดสะพานจันทร์  จ.สุโขทัย ใช้เวลา 2-3 วันต้องระบายน้ำออกไม่เกิน 1,300 ลบ.ม.วินาที

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทินได้รับทราบรายงานจากนายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. ถึงสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าระหว่างวันที่ 16-22 ส.ค.67 เกิดสถานการณ์ใน 10 จังหวัด และ ณ เวลา 06.00 น. ของวันที่ 22 ส.ค.67 เหลือพื้นที่ซึ่งยังมีสถานการณ์อุทกภัยอยู่ 7 จังหวัด ประกอบด้วย ลำปาง เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ เพชรบูรณ์ และอุดรธานี โดยสถานการณ์ส่วนใหญ่ระดับน้ำเริ่มลดลง หรือทรงตัว แต่มี 1 จังหวัดคือ จ.น่าน ที่มีระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก  น้ำท่วมขัง ดินถล่ม รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 24-30 ส.ค.2567 โดยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดสถานการณ์ขึ้น รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมีฝนตกติดต่อกันหลายสัปดาห์ และน้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลผ่าน อ.เทิง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพิ่มระดับสูงขึ้นเข้าท่วมเขต ต.เวียง อ.เทิง ทะลักเข้าตลาด บ้านเรือนประชาชน ประกอบกับลำน้ำจากลำน้ำหงาวไหลลงสู่แม่น้ำอิง ทำให้แม่น้ำอิงเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนของ อ.เทิง โดยชาวบ้านต่างระบุว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งพบว่าจังหวัดเชียงรายมีผู้เสียชีวิตแล้ว 4 ราย โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา พบร่างผู้เสียชีวิตจมน้ำที่หมู่บ้านปงน้อย หมู่ 10 ต.ปงน้อย อ.ดอยหลวง เป็นชายอายุ 77 ปี เสียชีวิตขณะออกไปหาปลา บริเวณทุ่งนาที่ถูกน้ำท่วม และอีกรายเป็นหญิง อายุ 39 ปี ชาว ต.ตับเต่า อ.เทิง สูญหายไปตั้งแต่เกิดน้ำหลากเมื่อเช้าวันที่ 17 ส.ค.67 เจ้าหน้าที่พบร่างเสียชีวิตอยู่ในลำน้ำหงาว พื้นที่หมู่บ้านทรายกาด หมู่ 6 ต.ตับเต่า และเมื่อวันที่ 21 ส.ค.67 พบร่างผู้เสียชีวิต ในไร่ข้าวโพด พบว่าเป็นชาวบ้านศิลาแดง ต.ปอ อ.เวียงแก่น

ภายหลังมีฝนตกติดต่อกันหลายสัปดาห์ และน้ำจากแม่น้ำอิงที่ไหลผ่าน อ.เทิงและ อ.เชียงของ  จ.เชียงราย ได้เพิ่มระดับสูงขึ้น ปรากฏว่าล่าสุดได้เข้าท่วมเขต ต.เวียง อ.เทิง โดยเฉพาะชุมชนบนถนนสายเชียงราย-เชียงคำ น้ำได้ทะลักเข้าสู่ตลาด บ้านเรือน และห้างร้านต่างๆ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากลำน้ำหงาวที่เคยเข้าท่วม ต.ตับเต่า อ.เทิง ได้ลดระดับลง แต่ได้ไหลลงสู่แม่น้ำอิง ทำให้แม่น้ำอิงเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนของ อ.เทิงดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านต่างระบุว่าเป็นเหตุอุทกภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นเช่นนี้มาก่อน เนื่องจากแม่น้ำอิงไหลระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้อย่างล่าช้า

ขณะที่สถานการณ์น้ำในจังหวัดน่านยังอยู่ในภาวะวิกฤต น้ำได้เริ่มเอ่อเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจตัวเมืองน่านแล้ว โดยฝั่งอำเภอภูเพียง น้ำได้ท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง หน่วยงานราชการต่างๆ เช่น สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานสรรพากร, สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด, สำนักงานสหกรณ์จังหวัด และอื่นๆ ที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน น้ำในแม่น้ำน่านได้เอ่อท่วมสูงเกือบ 2 เมตร เหตุดังกล่าวทำให้ต้องปิดสะพานพัฒนาภาคเหนือเชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองน่านไปยังอำเภอภูเพียง รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ใช้เส้นทางเลี่ยงสะพานหน้าโรงพยาบาลน่านแทน นอกจากนี้ยังต้องปิดสะพานไหล่น่าน เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองเวียงสาไปยังตำบลไหล่น่าน โดยเทศบาลเวียงสาได้นำ เครื่องสูบน้ำ 2 เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ ใช้รถแบ็กโฮนำกระสอบทรายวางปิดเส้นทางและนำหินคลุกไปบดทับ กันไม่ให้น้ำเข้าพื้นที่ รถไม่สามารถสัญจรไปมาได้ แต่สามารถใช้เส้นทางเลี่ยงสะพานบ้านขึ่งและบ้านสถานแทน ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปเส้นทางท่าวังผา-ปัว-เชียงกลาง  บริเวณห้วยยื่น วังหมอ คอสะพานผาขวาง บ้านอาฮาม โปรดระมัดระวัง น้ำได้ท่วมผิวจราจรสูง รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้

ที่ จ.พิษณุโลก นอกจากแม่น้ำยมกำลังเพิ่มสูงขึ้น อีกด้านหนึ่งของ จ.พิษณุโลก โดยเฉพาะที่ลุ่มน้ำชมพูและคลองท่าข้าม ก็กำลังรับน้ำป่าไหลหลากลงมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งพร้อมรับมือเช่นกัน ที่ ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง ซึ่งเป็นตำบลรอยต่อจาก อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ ยังมีน้ำหลากลงมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์อย่างต่อเนื่อง ไหลลงมาเป็นสายน้ำตกอย่างชัดเจน และเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะบนเทือกเขาเพชรบูรณ์ยังมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในคลองท่าข้ามและคลองชมพูเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและไหลแรงเชี่ยวกราก. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขยับแล้ว! 'ภูมิธรรม' เรียกประชุมฉุกเฉิน สั่ง 10 กระทรวง เกาะติดน้ำท่วมภาคเหนือ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ติดตามสถานการณ์น้ำ โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์

'อุ๊งอิ๊ง' แจงยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ยันติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือใกล้ชิด

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X ระบุว่า ดิฉันได้ติดตามข่าวน้ำท่วมในภาคเหนือโดยเฉพาะน่าน เชียงราย