‘ครม.อิ๊งค์’ลงตัว ส่งชื่อครบเช็กคุณสมบัติ/ชินวัตรชื่นมื่นเบิร์ธเดย์38ปีนายกฯ

ครอบครัว "ชินวัตร" พร้อมหน้า ร่วมทำบุญวันเกิด "แพทองธาร" อายุครบ 38 ปี  "หมอมิ้ง" เผยพรรคร่วมรัฐบาลส่งรายชื่อรัฐมนตรีครบแล้ว ส่งชื่อเช็กประวัติเข้ม "พท." โผนิ่ง "พิชัย" ปัดไม่รู้หลุดขุนคลัง "พลังประชารัฐ" วุ่น "สส.ก๊วนลุงป้อม" นัดสื่อแสดงจุดยืน สุดท้ายล้มเลิก ก่อนออกแถลงการณ์ยันมี สส.ในสังกัดครบ 40 คน  กลับลำส่งชื่อ 4  รมต.ชุดเดิม "ไผ่" ยันกลุ่มธรรมนัสชงชื่อ 3 รมต.แล้ว โยน "นายกฯ" ตัดสินใจเลือกใคร หึ่ง! เตรียมชื่อน้องผู้กองไว้กันพี่พลาด  "ภท.-รทสช." ยึดโควตาเดิม "ปชป." ลุ้นได้-ไม่ได้ร่วม รบ. "รังสิมันต์" งงบทบาท "ทักษิณ" ราวกับเป็นนายกฯ

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิด น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อายุครบ 38 ปี โดยในปีนี้ช่วงเช้า น.ส.แพทองธารได้เดินทางไปทำบุญเป็นการส่วนตัวที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  กรุงเทพฯ โดยมีครอบครัวชินวัตรเดินทางมาร่วมทำบุญอย่างพร้อมเพรียง ทั้งนายทักษิณ ชินวัตร  คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ บิดาและมารดา,   นายปิฎก สุขสวัสดิ์ สามีพร้อมลูกสาว, นายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย, น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรณ์วงศ์ พี่สาว และบรรดาญาติ รวมทั้งเพื่อนสนิท ร่วมทำบุญถวายผ้าไตรจีวร สังฆทาน  และภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ 9 รูป เพื่อความเป็นสิริมงคล

ทั้งนี้ นายทักษิณ, น.ส.แพทองธาร, นายพานทองแท้ และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายคนโตของคุณหญิงพจมาน ได้ร่วมสนทนาธรรมกับพระพรหมสิทธิ เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหารด้วย

นอกจากนี้ ยังมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เดินทางไปร่วมทำบุญและมอบช่อดอกไม้อวยพรวันเกิด น.ส.แพทองธาร ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร รวมทั้งนายอนุทินยังได้ถ่ายภาพร่วมกับ น.ส.แพทองธาร  นายปิฎก และนายทักษิณ ระหว่างมอบดอกไม้ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

น.ส.แพทองธารได้รีโพสต์ข้อความผ่าน X ถึงเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย ซึ่งได้โพสต์ผ่าน X แสดงความยินดีในโอกาสรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรงหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะประสบความสำเร็จ ด้วยการนำของนายกรัฐมนตรี ทำให้ประเทศ และประชาชน ไทยพัฒนาและเจริญรุ่งเรือง

โดย น.ส.แพทองธารสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงพระกรุณามีข้อความแสดงความยินดีถึงข้าพระพุทธเจ้า ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยจะเพิ่มพูนการเป็นหุ้นส่วนกับซาอุดีอาระเบียในทุกมิติ

ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลใหม่ว่า ขณะนี้พรรคร่วมรัฐบาลได้ส่งรายชื่อรัฐมนตรีมาครบทั้งหมดแล้ว รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

ส่งตรวจคุณสมบัติ ครม.ใหม่

นพ.พรหมินทร์กล่าวว่า หลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติ โดยจะส่งรายชื่อทั้งหมดให้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

"หากมีข้อสงสัยจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบอีกครั้ง ซึ่งทุกอย่างจะเป็นไปอย่างรอบคอบ ส่วนการแต่งตั้งรัฐมนตรี  ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีที่จะนำเสนอชื่อเพื่อโปรดเกล้าฯ ต่อไป" เลขาธิการนายกฯ กล่าว

มีรายงานว่า การจัด ครม.ในส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) รายชื่อรัฐมนตรีที่คาดว่าจะมีบุคคลเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ยังคงนิ่งมาหลายวันไม่มีอะไรเปลี่ยน โดยคาดว่าจะมีชื่อนายสรวงศ์ เทียนทอง สส.สระแก้ว และเลขาธิการพรรค, น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ, น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่เป็นสส.กทม.เพียงคนเดียวของพรรคเพื่อไทย เข้ามาเป็นรัฐมนตรี

ส่วนรายชื่อรัฐมนตรีที่ยังมีความไม่ชัดเจนว่าจะไปได้ดำรงตำแหน่งต่อหรือหลุดจากตำแหน่งคือ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ส่วนนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย คาดว่าจะได้อยู่ต่อ ส่วนรัฐมนตรีที่คาดว่าจะพ้นจากตำแหน่ง อาทิ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม, นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ, นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกฯ และ น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ 

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง ปฏิเสธจะแสดงความคิดเห็นเรื่องการตั้งคณะรัฐมนตรี รวมถึงข่าวลือที่บอกจะหลุดจากตำแหน่ง รมว.การคลัง แล้วให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ขึ้นมาเป็น รมว.การคลังแทน ว่า “ผมไม่ทราบเรื่อง”

ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีรายงานว่า ในช่วงเช้าวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นายสุธรรม จริตงาม สส.นครศรีธรรมราช พรรค พปชร. ที่อยู่ฝั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรค พปชร. ได้แจ้งจองคิวแถลงข่าวแสดงจุดยืนของพรรคในเวลา 09.30 น. แต่ได้มีการเลื่อนแถลงออกไปเป็นเวลา 14.00 น. ซึ่งคาดว่านายสุธรรมยังไม่สามารถรวบรวม  สส.มาร่วมแถลงได้

ทั้งนี้ ก่อนถึงเวลาแถลง มี สส.พรรค พร้อมด้วยนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ได้มารอบริเวณหน้าห้องแถลงข่าวด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัดแถลงข่าวก็ไม่ได้มีการแถลงแต่อย่างใด

ต่อมาพรรค พปชร.ได้ออกแถลงการณ์  เนื้อหาช่วงแรกเป็นการทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรค พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชน ถึงข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และยืนยันร่วมเป็นรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยมาตลอด รวมทั้งสนับสนุน น.ส.แพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี

2 ก๊วน พปชร.ต่างส่งรายชื่อ

 “เมื่อวันที่ 20 ส.ค.2567 หัวหน้าพรรค พปชร.ได้ส่งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของพรรค จำนวน 4 ท่าน ไปให้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ผ่าน นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้ว โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งและบุคคลใดๆ (เป็นบุคคลและตำแหน่งเดิมในสมัยรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน ที่ผ่านมา) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนของทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจะได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติตามกระบวนการต่อไป” แถลงการณ์ระบุตอนหนึ่ง

ช่วงท้ายแถลงการณ์ได้ยืนยันว่า ปัจจุบันพรรค พปชร.ยังคงมี สส.ที่เป็นสมาชิกพรรค พปชร. จำนวน 40 ท่าน ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 4 รัฐมนตรีของพรรค พปชร.ในรัฐบาลนายเศรษฐา ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม,  ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข และนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์

ด้านนายไผ่ ลิกค์ สส.กำแพงเพชร พรรค พปชร. ที่อยู่ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาฯ พปชร. กล่าวถึงรายชื่อ ครม.ในสัดส่วนของพรรคว่า เรื่องรายชื่อน่าจะจบ น่าจะเรียบร้อยหมดแล้ว ยืนยันว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสมีจำนวนประมาณเดิม เนื่องจากเมื่อเช้านี้ ร.อ.ธรรมนัสได้พูดคุยกับแกนนำพรรคเพื่อไทยแล้ว แต่ตนยังไม่ได้รับการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมอะไร

ถามว่า มีข่าวส่งชื่อรัฐมนตรีซ้อนกันที่พรรค พปชร.ส่ง นายไผ่กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่แน่นอนว่านายอรรถกรเป็นน้องตน ต้องอยู่กับตน ขอยืนยันทุกคนไม่ได้มีปัญหากับพรรค พปชร. และ พล.อ.ประวิตร ยังรักและเคารพเสมอ แต่เราขอทำงานตามข้อเท็จจริงที่เราได้รับมา ซึ่งเราก็มีการประสานงานกับพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ตนก็เป็นหนึ่งคนที่เกิดมาจากพรรคเพื่อไทย เคยอยู่ที่นั่น เชื่อว่าข้อมูลที่มีเป็นข้อมูลจริงและได้รับการกรองมาอย่างดี

"คงต้องให้ น.ส.แพทองธารเป็นผู้ตัดสิน ผมไม่อยากกดดันและสร้างเงื่อนไขทางการเมืองใดๆ เพราะประชาชนต้องการทำทุกอย่างให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้นโยบายเดินต่อ เรายืนยันว่าเราทำงานร่วมกับทุกคนได้ เพื่อประชาชนเป็นหลัก" นายไผ่กล่าว

ซักว่ามีข่าวจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส 3 ที่นั่ง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องนำนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุขและรองหัวหน้าพรรค พปชร.มาร่วมด้วย นายไผ่กล่าวว่า นายสันติมาร่วมอยู่แล้ว แต่ภาพการปรากฏตัวของนายสันติที่บ้านป่ารอยต่อฯ จะถูกมองว่าเป็นการเหยียบเรือสองแคมหรือไม่นั้น ตนเชื่อว่าไม่มีใครคิดร้ายกับท่านหัวหน้าพรรค เรายังรักและเคารพเหมือนเดิม การพูดคุยเป็นไปได้ตลอด

มีรายงานว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมมนัสได้เสนอรายชื่อรัฐมนตรี 3 คน เพื่อให้พิจารณาคุณสมบัติ คือ 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 2.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร และ 3.นายสันติ พร้อมพัฒน์ อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมประวัตินายอัครา พรหมเผ่า​ ซึ่งเป็นน้องชายของ ร.อ.ธรรมนัสไว้สำรอง หากคุณสมบัติของ ร.อ.ธรรมนัสทางพรรคเพื่อไทยมีข้อติดขัด

พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า พรรค ภท.ได้ส่งรายชื่อให้เลขาฯ นายกฯ ตามที่ได้รับการประสานมาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. ส่วนเรื่องคุณสมบัติของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ที่หลายฝ่ายมองว่ามีความสุ่มเสี่ยง จะบอกว่ากังวลหรือไม่กังวลก็ไม่ถูก เพราะได้ส่งรายชื่อที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ ในส่วนที่พรรคสามารถดำเนินการได้ ทุกอย่างไปตามข้อเท็จจริง และต้องมีการยืนยันทางเอกสารที่มีความชัดเจน

ภท.ยึดตามเดิมไม่มีสำรอง

"ย้ำว่าไม่มีรายชื่อสำรอง เพราะคิดว่าผมก็มีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะตรวจทานคุณสมบัติบุคคลที่จะเป็นรัฐมนตรีในส่วนของพรรค ภท.เป็นอย่างดี คนที่มีปัญหาผมก็คงไม่กล้าส่งรายชื่อไป ไม่ต้องไปเกรงใจใคร" หัวหน้าพรรค ภท.กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายชื่อรัฐมนตรีในสัดส่วนพรรค ภท. 8 ตำแหน่ง ยึดของเดิม ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ 4 ตำแหน่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ, นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน,  น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รัฐมนตรีช่วยว่าการ 4 ตำแหน่ง นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย, นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ และนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รมช.พาณิชย์

พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีการเสนอชื่อรัฐมนตรีตามโควตาเดิม 4 เก้าอี้ ประกอบด้วย นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน, นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ มาเป็น รมว.อุตสาหกรรม แทน น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และขยับ น.ส.พิมพ์ภัทรา ไปเป็นรัฐมนตรีช่วย ส่วนนายสุชาติ ชมกลิ่น เป็น รมช.พาณิชย์

พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรค ชทพ. กล่าวถึงกรณีที่อดีตกรรมการบริหารพรรคและอดีตกรรมการยุทธศาสตร์และประชาสัมพันธ์พรรค ได้ยื่นลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยให้เหตุผลไม่พอใจการดำเนินงานทางการเมืองของนายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค  ชทพ. ที่เข้าร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธารโดยไม่มีการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่อขอความคิดเห็นก่อนว่า ขณะนี้หัวหน้าพรรคมีอำนาจเต็มในการดำเนินงานทางการเมืองตามข้อบังคับและมติพรรค

นายนิกรกล่าวว่า ตามที่พรรคได้มีมติเมื่อการประชุมกรรมการบริหารพรรค ครั้งที่ 4/2566 เมื่อวันที่ 11 ก.ค.66 ระบุถึงการพิจารณาการดำเนินงานทางการเมืองของพรรค ชทพ. โดยในที่ประชุมนั้น ตนในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายฯ และผู้อำนวยการพรรค เสนอต่อที่ประชุมว่า เนื่องด้วยเวลาที่เร่งรัดและสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ดังนั้นเพื่อความคล่องตัวจึงเห็นว่า ควรจะปฏิบัติตามที่ได้เคยปฏิบัติมาโดยตลอด คือการมอบอำนาจเต็มให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมงานทางการเมือง

นอกจากนี้ ตามข้อบังคับพรรค ข้อ 22 (6) กำหนดอำนาจหน้าที่ของหัวหน้าพรรคว่า ในกรณีที่มีความจำเป็นในการดำเนินการทางการเมืองให้มีอำนาจปฏิบัติการในนามของพรรคได้ โดยความเห็นชอบของกรรมการบริหารพรรคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการบริหารพรรคเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น และให้ถือว่าการดำเนินการนั้นเป็นมติพรรค

"จึงเสนอให้มอบอำนาจเต็มให้แก่หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมงานทางการเมือง โดยให้ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวนั้นเป็นมติพรรค ซึ่งที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคมีมติเห็นชอบมอบอำนาจเต็มให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการเข้าร่วมงานทางการเมือง โดยให้ถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นมติพรรค" นายนิกรกล่าว

ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายหลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ส่งสัญญาณลักษณะไฟเขียวให้พรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค ปชป. เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กก.บห.ได้มีมติมอบอำนาจให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และนายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค มีอำนาจเต็มในการเจรจาและตัดสินใจในการเข้าร่วมรัฐบาล ในกรณีที่มีการเชิญพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาล  

ปชป.ยังวุ่นได้-ไม่ได้ร่วม รบ.

มีรายงานว่า ตลอดช่วง 2 วันที่ผ่านมา นายเดชอิศม์ได้ประสานพูดคุยผ่านคนใกล้ชิดนายทักษิณว่าพร้อมที่จะเข้าร่วมรัฐบาลตามดีลฮ่องกงเดิม และขอให้มีเทียบเชิญมาอย่างเป็นทางการ เพื่อสามารถชี้แจงสังคมและมวลสมาชิกผู้สนับสนุนพรรคได้ 

 “เดิมในส่วนของพรรค ปชป. มีความประสงค์จะขอตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ และ รมช.มท. แต่คาดว่าเมื่อมีการเกลี่ยตำแหน่งรัฐมนตรีกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม จะมีการสลับสับเปลี่ยนกระทรวง  จึงมีการสลับเก้าอี้รัฐมนตรีใหม่ คงจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีตามที่ต้องการ ยิ่งเกิดปัญหาขัดแย้งภายใน พปชร.ฝั่งของ พล.อ.ประวิตรกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ในการส่งรายชื่อว่าที่รัฐมนตรีซ้ำซ้อนจาก 2 กลุ่ม จึงต้องรอความชัดเจนในการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีของพรรค พปชร. โดยเน้นถึงด้านจริยธรรมด้วย แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการส่งเทียบเชิญให้พรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด และหากมีการส่งเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาลจริง ตามข้อบังคับพรรค ปชป. ก็ระบุชัดเจนว่าจะต้องมีการประชุมร่วมระหว่าง กก.บห.และ สส.ของพรรค เพื่อมีมติร่วมในนามพรรคว่าจะเข้าร่วมรัฐบาลหรือไม่” แหล่งข่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม ก็มีอีกกระแสข่าวหนึ่งระบุว่า พรรค พปชร.ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส มีการยืนยันว่าพรรค ปชป.ได้โควตาร่วมรัฐบาล 2 เก้าอี้คือ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และ 1 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงจากโควตาของพรรค พปชร.เดิม ทำให้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสเหลือ 2 เก้าอี้คือ 1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และ 1 รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวง คือ 1.ร.อ.ธรรมนัส นายอัครา พรหมเผ่า และ 2.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ทำให้ในเวลานี้ชื่อของนายสันติ พร้อมพัฒน์ หลุดโควตารัฐมนตรี 

"ตอนนี้ทุกอย่างยังคงไม่นิ่ง กระแสข่าวต่างๆ ถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่เก้าอี้รัฐมนตรีที่แท้จริงคงต้องรอดูสัญญาณจากพรรคเพื่อไทย และการตรวจสอบคุณสมบัติรายชื่อที่ถูกส่งไปให้พิจารณาอีกครั้ง" แหล่งข่าวระบุ

วันเดียวกัน นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีความแตกแยกในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอาจทำให้ สส.ในพรรคฝั่ง พล.อ.ประวิตรอาจมาเป็นฝ่ายค้านว่า ต้องรอดูความชัดเจน เพราะฝ่ายค้านเลือกไม่ได้ ใครที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน โดยเมื่อได้เห็นแถลงการณ์ของพรรค พปชร.แล้ว ตนก็ไม่ทราบว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร

"สิ่งที่อยากเห็นในวันนี้ คืออยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ขอไม่ให้น้ำหนักการนำสิ่งที่ไม่เป็นสาระมาโจมตี ส่วนกฎหมายใหญ่ๆ ทั้งเรื่องกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) และโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผมก็รอความชัดเจนจากรัฐบาลอยู่ เพราะยังมีกระบวนการอีกมากมายที่ยังรออยู่" นายรังสิมันต์กล่าว

สส.จากพรรคประชาชนรายนี้ระบุว่า สุดท้ายใครจะมาเป็นรัฐมนตรีก็แล้วแต่ แต่พรรคประชาชนในฐานะฝ่ายค้านก็พร้อมทำหน้าที่ฝ่ายค้าน และอยากเห็นการทำหน้าที่ผู้นำฝ่ายค้านของนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ไม่ใช่ว่าอยากได้หัวโขนมาเป็นไม้ประดับตกแต่ง แต่ตำแหน่งนี้มีความสำคัญในการตรวจสอบรัฐบาลต่อไป

ถามถึงกระแสข่าวการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ จะทำให้พรรคประชาชนเป็นฝ่ายค้านอยู่พรรคเดียวหรือไม่ นายรังสิมันต์กล่าวว่า  ไม่ต้องกังวลอะไร หากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จสิ้นแล้ว คนที่ไม่ได้อยู่ในสมการก็จะเป็นฝ่ายค้าน ที่ผ่านมาเราไม่ได้เลือกอยู่กับลุง แต่เราเลือกที่จะรักษาคำพูดตามที่หาเสียงไว้กับประชาชน ดังนั้นต้องทำหน้าที่ฝ่ายค้านให้ดีที่สุด

"ตรงกันข้าม เมื่อพรรคเพื่อไทยเลือกแตกต่าง จากที่ผ่านมาเคยบอกว่าจะไม่ร่วมกับลุง ก็เห็นแล้วว่าผลการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบผลในการตัดสินใจเช่นนั้น และประชาชนจะตัดสินในคูหาเลือกตั้ง ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มีการส่งสัญญาณร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด จะมีจริงหรือไม่นั้นก็ไม่สามารถตอบได้" สส.พรรคประชาชนรายนี้ระบุ

ถามถึงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะบิดาของ น.ส.แพทองธาร จะกระทบภาวะผู้นำหรือไม่ นายรังสิมันต์มองว่า  นายทักษิณจะมีบทบาทอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ น.ส.แพทองธาร หากตัดประเด็นที่ว่านายทักษิณเป็นบิดานั้น ก็ยังมีสิทธิในฐานะพลเมือง แม้จะมีคำถามว่า น.ส.แพทองธารคู่ควรหรือไม่ ตนมองว่าก็ต้องดูอีกที ให้ประชาชนพิจารณาและวิจารณ์

"จากที่ติดตามข่าว เห็นได้ว่านายทักษิณตอบคำถามผู้สื่อข่าวราวกับว่าเป็นนายกฯ เสียเอง ทำให้ไม่มั่นใจว่าใครเป็นนายกฯ ตัวจริงกันแน่ ก่อนหน้านี้ ในยุคของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ เรามีนายกฯ สองคนแย่งกันส่องแสง แต่วันนี้นายกฯ เหลือคนเดียว แต่ใช่ที่พรรคร่วมรัฐบาลลงมติหรือไม่" นายรังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่า ความวุ่นวายในช่วงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นสัญญาณลบของรัฐบาลหรือไม่ นายรังสิมันต์ยอมรับว่า  เสถียรภาพของรัฐบาลมีปัญหาจริง นโยบายต่างๆ ของนายเศรษฐาก็หายไปกับสายลม อยากผลักดันอะไรก็พูด เมื่อเอาข้อมูลมายืนยันก็หาย เป็นเช่นนี้หลายครั้ง จนคิดว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกันแน่ ไม่มีความชัดเจนในด้านการบริหาร ความเป็นผู้นำและอำนาจต่อรองของพรรคร่วม

"ไม่แน่ใจว่าการที่ น.ส.แพทองธารมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้เสถียรภาพมั่นคงมากแค่ไหน ผมก็ได้แต่ติดตามและตั้งหลักรอ แต่หากมีการคอร์รัปชัน พรรคประชาชนไม่เอาไว้แน่" นายรังสิมันต์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กระแสโซเชียล อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร นายกฯ คนที่ 31 วิเคราะห์เสียงสะท้อนจากชาวเน็ต

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้เสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ "อุ๊งอิ๊ง" เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งอย่างเป็นทางการ ทำให้เธอกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นสตรีคนที่สองที่ดำรงตำแหน่งนี้ และเป็นบุคคลที่สามในตระกูล “ชินวัตร” ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศไทย ส่งผลให้เกิดกระแสการพูดคุยและถกเถียงอย่างกว้างขวางในโซเชียลมีเดีย