มติกนง.6:1ตรึงดอกเบี้ย คาดเศรษฐกิจโตตามเป้า

เสียงแตก! “กนง.” มีมติ 6 ต่อ 1  เสียง คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% ต่อปี หลังประเมินเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวตามคาด ตามอานิสงส์ท่องเที่ยว-อุปสงค์ในประเทศหนุน มองเศรษฐกิจไตรมาส 3 ยังฉลุย พร้อมจับตาดิจิทัลวอลเล็ต ชี้แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้ผลดีมากกว่า

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง. เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50%  ต่อปี โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้ จากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในช่วงนี้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสินค้าบางหมวด แต่มีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปลายปี 2567

นอกจากนี้ คณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน โดยยังต้องติดตามผลกระทบของคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลงต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจโดยรวม

 “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการท่องเที่ยวและอุปสงค์ในประเทศ แม้แรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนในระยะต่อไปจะชะลอลงบ้างหลังขยายตัวดีในช่วงก่อนหน้า ด้านการส่งออกสินค้าและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการส่งออกสินค้าบางกลุ่มยังถูกกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง โดยเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วนยังฟื้นตัวแตกต่างกัน ซึ่งรายได้แรงงานในภาคการผลิตและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น ในระยะต่อไป ต้องติดตามความเสี่ยงด้านต่ำจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน” นายปิติระบุ

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมตึงตัวขึ้นบ้าง  โดยตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวนจากมุมมองผู้ร่วมตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอี หดตัวจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น สินเชื่อครัวเรือนชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อปรับด้อยลง ส่วนหนึ่งจากความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน กลุ่มเปราะบางที่ปรับลดลงจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าควรติดตามผลกระทบของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงต่อต้นทุนการกู้ยืม และการขยายตัวของสินเชื่อในภาพรวม รวมถึงนัยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินว่าไตรมาส 3/2567 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตใกล้เคียง 3% และใกล้เคียง 4% ในช่วงไตรมาส 4/2567 โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าจะกลับมาเป็นบวก การบริโภคภาคเอกชนจะทยอยมีบทบาทน้อยลงจากที่ขยายตัวสูงในช่วงก่อนหน้า ด้านการท่องเที่ยวคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์ทางการเมือง ภายหลังมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่นั้น มองว่าปีงบประมาณ  2567 คาดว่าจะมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยแล้ว เว้นแต่จะเกิดปัญหาทำให้การฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ไม่ได้ ส่วนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอีกครั้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือไม่

 “นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มีการพูดคุยกันเกี่ยวกับมาตรการภาครัฐและมาตรการด้านการคลัง ที่ต้องคำนึงตลอดเวลา ส่วนดิจิทัลวอลเล็ต พยายามอัปเดตความชัดเจน และต้องขอดูเวลาเพิ่มเติมว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง จากที่เคยประเมิน หากเป็นดิจิทัลวอลเล็ต ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นปีหน้า ซึ่งหากเบียดงบภาครัฐประเภทอื่น จะไม่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่หากมีรูปแบบใหม่จะต้องมีการประเมินอีกครั้ง” เลขานุการ กนง.ระบุ

ส่วนที่มีกระแสว่าจะแจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางนั้น หากเปลี่ยนรูปแบบไปเฉพาะเจาะจงมากขึ้น มองว่าผลกระทบบาทต่อบาทมีเยอะกว่า เพราะคนที่อยู่กลุ่มเปราะบางมีโอกาสใช้เงินก้อนนั้นจะสูงกว่าหากไม่มีเงินก้อนดังกล่าว และผลต่อเศรษฐกิจย่อมสูงกว่า และมาพร้อมกับเม็ดเงินที่เล็กลงด้วย โดยกลุ่มเปราะบางมีผลต่อเศรษฐกิจเยอะกว่า ดังนั้นต้องมาดูว่าสเกลเป็นประมาณไหน แต่ประเด็นสำคัญคือ รูปแบบว่าจะเป็นแบบการโอน หรือรูปแบบใด โดยต้องรอความชัดเจนของรูปแบบใหม่

สำหรับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ผันผวนนั้น ยอมรับว่าผู้ประกอบการต้องได้รับผลกระทบบ้าง  ทั้งผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกที่ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยเชื่อจะมีทั้งธุรกิจที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์

นายปิติยังกล่าวถึงกรณีที่ผ่านมามีแรงกดดันจากภาคการเมือง โดยเฉพาะในเรื่องการลดดอกเบี้ยว่า ที่ผ่านมาน้อมรับการพูดคุยการแลกเปลี่ยนทุกภาคส่วน ในเรื่องมุมมองนโยบาย และให้ความเห็นที่มีประโยชน์ที่ กนง.นำไปพิจารณาดูว่าอะไรแตกต่างกัน และจะเห็นชัดว่ามีกรรมการบางท่านชั่งน้ำหนักไปอีกทิศทางหนึ่ง  ดังนั้นการตัดสินใจของคณะกรรมการ กนง. ทุกคนดูข้อมูล และชั่งน้ำหนักพอสมควร และการได้มุมมองเพิ่มเติม เป็นเรื่องปกติ และที่ผ่านมามองว่าเป็นประโยชน์ รวมถึงแรงกดดันที่ผ่านมาเป็น In Put และกรอบการทำนโยบายชัดเจนว่า ระบบมีฝ่ายการบริหารที่ให้ธนาคารกลางดูแลพอสมควร มีกระบวนการที่กำหนดชัดเจน และที่ผ่านมาทำได้ดี และไม่ได้มีประเด็นในระยะต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี