จับตาเปลี่ยนเกณฑ์แจกดิจิทัล

“สภาพัฒน์” เผยไทยไตรมาส 2/67 ขยายตัว 2.3% คาดทั้งปีโต 2.5% แนะติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก ขณะที่ “ดิจิทัลวอลเล็ต” รอนโยบายจากรัฐบาลใหม่ ลุ้นมาตรการเสริมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี "ศิริกัญญา" ชวนจับตาแจกเงินหมื่นเปลี่ยนเกณฑ์หรือไม่

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไตรมาส 2/2567 และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา และเมื่อปรับฤดูกาลแล้วเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 0.8%  โดยเศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกในไตรมาสนี้ที่ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8% แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ที่ 6.2% ทั้งนี้สภาพัฒน์คาดว่า จีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.3-2.8%  ค่ากลาง 2.5%

อย่างไรก็ตาม ขณะที่จีดีพีภาคเกษตรของไทยในไตรมาสที่ผ่านมาลดลง 1.1% เป็นผลมาจากการผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลงหลายชนิด ขณะที่จีดีพีนอกภาคเกษตรขยายตัวได้ 2.6% จากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ขยายตัว 1.8% และกลุ่มบริการที่ขยายตัวได้ 1.8% ส่วนการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่จะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเบิกจ่ายได้มากขึ้นจากช่วงที่ผ่านมา และปีงบประมาณ 68 จะมีการเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเวลาที่วางไว้ ซึ่งต้องทำให้มีการเบิกจ่ายได้มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

นายดนุชากล่าวอีกว่า สภาพัฒน์ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เหลือของปีนี้ เช่นปัญหาหนี้สิน  ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเงิน ต้องจับตาสถานการณ์การที่หนี้สินครัวเรือน และหนี้ของภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ต้องมีมาตรการที่มุ่งเป้ามากขึ้น การปรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยของประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงอัตราว่างงานที่สูง ต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น และการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะมีมาตรการกีดกันการค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ มองว่าการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2567 ควรให้ความสำคัญกับ การเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ โดยอาศัยประโยชน์จากการย้ายฐานการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการเร่งรัดนักลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงปี 2565-2567 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเร็ว เพื่อช่วยขับเคลื่อนการขยายตัวของภาคการผลิตและภาคการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ รวมทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเพิ่มขึ้น อาทิ สินค้าประเภทอาหารมูลค่าสูง สินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์อันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งสินค้าที่มีโอกาสได้รับประโยชน์จากมาตรการกีดกันทางการค้า

 “การดึงดูดอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะการปรับลดอุปสรรคด้านขั้นตอนกระบวนการ และข้อบังคับ/กฎหมายที่เกี่ยวข้อง  การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต และการพัฒนาผลิตภาพแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรม และภาคบริการเป้าหมาย และการเร่งรัดโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้” นายดนุชากล่าว

สำหรับประมาณการจีดีพีปี 2567 อยู่ที่ 2.3-2.8% ค่ากลางอยู่ที่ 2.5% ลดลงจากประมาณการครั้งที่แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 67 ที่อยู่ในระดับ 2.0-3.0% ส่วนหนึ่งมาจาก การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถเบิกจ่ายได้ดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นในระดับ 0.4-0.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 2.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐในช่วงครึ่งปีหลัง การกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของการค้าโลก ขณะที่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมาตรฐานสินเชื่อที่มีความเข้มงวด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก

นายดนุชากล่าวว่า ส่วนการเดินหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยจะต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร หากรัฐบาลดำเนินมาตรการนี้ต่อก็จะต้องดูว่ามีการปรับเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน จากเดิมที่มีข้อเสนอสำคัญไป 2 เรื่อง คือแหล่งที่มาของเงินจากงบประมาณปี 67 ที่มีการใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณปี 68 ที่จะเข้ามาวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะต้องดูว่ามีผลกระทบอย่างไรบ้าง และอีกหนึ่งเรื่องคือระบบของการใช้จ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยกันในระดับนโยบาย และสอบถามความคิดเห็นของภาคส่วนต่างๆ

ทั้งนี้ หากไม่มีมาตรการนี้เชื่อว่ารัฐบาลจะต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วยเหลือประชาชนกลุ่มรายได้น้อยอย่างน้อย 1  มาตรการ ซึ่งจะต้องดูช่วงเวลาการออกมาตรการที่เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ตาม คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายรัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมา เพราะขณะนี้ยังพูดอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีการแถลงนโยบาย ซึ่งเชื่อว่าทั้งนายกรัฐมนตรีและ ครม.รวมถึงพรรคร่วมคงจะต้องมีการหารือกัน และจะมีการมาตรเสริมออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีนี้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะเดินหน้าต่อหรือไม่ว่า เป็นไปตามที่นางสาวแพทองธารเคยให้สัมภาษณ์ไป

เมื่อถามต่อว่า จะต้องมีการหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งหรือไม่ แม้ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลเดิมและนโยบายควรเป็นเช่นเดิม นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนางสาวแพทองธารได้บอกแล้วว่าจุดมุ่งหมายเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี ฝ่ายค้านจะดำเนินอย่างไรต่อ โดยเฉพาะโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ว่าฝ่ายค้านเองก็เฝ้ารอวันให้มีการกำหนดแถลงนโยบาย เพื่อนำมาศึกษาและวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่สองของรัฐบาลนี้ในการแถลง และจะต้องติดตามกันต่อในการทวงสัญญาที่ได้หาเสียงเอาไว้ และตรวจการบ้านหนึ่งปีของรัฐบาลที่ผ่านมา รวมถึงเสนอแนะแนวทางทางออก และแนวทางที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งขณะนี้ก็มีข่าวว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอีก น.ส.ศิริกัญญามองว่า คงจะต้องรอการแถลงนโยบายและการให้รายละเอียดภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ เราต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพื่อมานำเสนอต่อสภา

น.ส.ศิริกัญญาชี้ว่า หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ คงจะเป็นไปเพื่อทำให้มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังมากขึ้น แต่รูปแบบจะเปลี่ยนไปอย่างไรคงต้องจับตาดู หากจะเปลี่ยนเป็นเงินสด ก็ทำให้ตรงกับความต้องการประชาชน รวมถึงลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ลงไป ซึ่งต้องดูเรื่องของงบประมาณด้วยว่าจะสามารถจ่ายได้เท่าไหร่ เพราะรัฐบาลเองก็ยังไม่มีการแถลงความชัดเจนในเรื่องนี้ แต่ก็เข้าใจได้เพราะยังไม่มีคณะรัฐมนตรี และแผนนโยบายยังไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี คงต้องให้โอกาสให้เวลารัฐบาลได้เตรียมตัว

เมื่อถามว่า การปรับคณะรัฐมนตรีจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของกระทรวงการคลังหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า คงจะมีการปรับเปลี่ยนตามนโยบาย หรือมาตรการที่รัฐบาลจะต้องมีการดำเนินการให้เหมาะสมกับภาระงานที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายใหม่ที่จะต้องมีการแถลงต่อสภาฯ ว่าจะใช้กระทรวงการคลังเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก หรือจะใช้รัฐมนตรีในกระทรวงอื่นๆ ร่วม ซึ่งก็ต้องรอภายหลังการแถลงนโยบาย ตนคิดว่าหากเปลี่ยนรัฐมนตรีภายในกระทรวงการคลัง คงไม่ถึงขั้นที่จะทำให้โครงการดิจิทัลวอลเล็ตสะดุด เพราะรายละเอียดมีการดำเนินการไปในระดับหนึ่งแล้ว อาจจะทำให้ช้าไปบ้าง แต่คงไม่ได้กระทบอะไรในภาพรวม หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นการตัดสินใจจากคณะรัฐมนตรีมากกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง