ชงเลื่อนใช้‘คนละครึ่ง’ อัดฉีดกลุ่มเปราะบาง

“ขุนคลัง” จ่อถก "สุพัฒนพงษ์" ชงเลื่อนใช้ "คนละครึ่ง" แก้ปัญหาค่าครองชีพขาขึ้น พร้อมอัดฉีดผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ-กลุ่มเปราะบางเพิ่มเติม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค.64 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 สูงสุดในรอบ 9 เดือนหลัง ศบค.ผ่อนคลายล็อกดาวน์ จับตา "โอมิครอน" ระบาดฉุดความเชื่อมั่น ม.ค.

เมื่อวันที่ 13 มกราคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในวันที่ 14 ม.ค.2565 จะหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เรื่องการเลื่อนใช้มาตรการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ให้เร็วกว่ากำหนดเดิม จากเดิมที่จะใช้ในวันที่ 1 มี.ค.-30 เม.ย. 2565 เนื่องจากประชาชนมีปัญหาค่าครองชีพแพงขึ้น

"การหารือครั้งนี้จะได้ข้อสรุปว่ามาตรการคนละครึ่งจะเลื่อนขึ้นมาใช้ได้เร็วขึ้นเป็นเมื่อไร รวมถึงวงเงินที่ต้องให้ผู้ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการด้วย เนื่องจากต้องขออนุมัติคณะกรรมการ พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท" นายอาคมกล่าว

นายอาคมกล่าวอีกว่า มาตรการคนละครึ่งนั้น ปัจจุบันมีผู้ได้สิทธิเดิมประมาณ 28 ล้านคน โดยแนวทางการดำเนินมาตรการคนละครึ่งจะออกมาเป็นแพ็กเกจ พร้อมกับการให้วงเงินเพิ่มเติมกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 14 ล้านคน และกลุ่มเปราะบาง 2 ล้านคน พร้อมกันในครั้งเดียว

อย่างไรก็ตาม รมว.การคลังระบุว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าข้อสรุปที่ได้จากการหารือในครั้งนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในสัปดาห์หน้าทันหรือไม่ เพราะต้องรอผลการอนุมัติงบเงินกู้ก่อน

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน  กล่าวถึงกรณีที่มีข้อเสนอให้ออกมาตรการคนละครึ่งเฟส 4 ให้เร็วขึ้น ว่า เป็นไปได้หมด ซึ่งต้องประเมินอีกครั้งหนึ่ง เพราะอาจจะมีมาตรการอื่นก็ได้

เมื่อถามว่า มีการเสนอให้รัฐนำเงินลงไปอุดหนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า สศช.กำลังติดตามในเรื่องนี้ และคาดว่าจะมีรายละเอียดออกมา ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลจากทุกกระทรวงเพื่อสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานไปสู่ท้องถิ่นให้มากที่สุด 

วันเดียวกัน นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ธ.ค. 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 44.9 เป็น 46.2 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นระดับ 28.5 มาอยู่ที่ 30.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 52.7 มาอยู่ที่ระดับ 53.8 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 40.1, 42.7 และ 55.7 เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.2564 ที่อยู่ในระดับ 38.8, 41.4 และ 54.5

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้นมาจาก ศบค.ผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อเป็นการรองรับมาตรการเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ (ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ) บินเข้ามาประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว แม้ว่า ศบค.มีคำสั่งยกเลิก Test & Go และให้ใช้ระบบกักตัว พร้อมปิดรับลงทะเบียนนักท่องเที่ยวรายใหม่เข้าไทยตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค.2564-4 ม.ค.2565 ก็ตาม ประกอบกับการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี

"อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนที่มีการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และเริ่มแพร่ระบาดในไทยหลังจากเทศกาลปีใหม่ อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ โดยต้องติดตามตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน แต่คาดว่าความเชื่อมั่นในเดือน ม.ค.2565 จะยังคงลดลง และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในเดือนต่อไป โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 และคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีโต 4% แบ่งเป็นครึ่งปีแรก 2.5-3% และครึ่งปีหลัง 5-.55%" นายธนวรรธน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง