ทักษิณไปแน่!ตรวจหลักฐานคดีม.112

"อุ๊งอิ๊ง" ลั่นสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ "พ่อแม้ว" ได้อภัยโทษ "ทวี" โยน ป.ป.ช. สอบปมเทวดาชั้น 14 "อธิบดีราชทัณฑ์" แจงขั้นตอนออกหมายปล่อย เร่งให้ใบบริสุทธิ์ "ทักษิณ"  ยันไปแน่ ศาลอาญานัดตรวจหลักฐานคดี 112 ขอกำลังเสริมจากนครบาลรองรับมวลชน คปท.ไล่บี้ต่อ 20 ส.ค. ฮึ่มพ้นโทษแต่ไม่พ้นมลทิน ชนักติดหลัง "แพทองธาร"

ที่วอยซ์สเปซ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้รับการพระราชทานอภัยโทษในเวลาเดียวกับที่ น.ส.แพทองธาร ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่า ถือว่าเป็นเกียรติอย่างสูงสุดที่นายทักษิณได้รับการอภัยโทษ ไม่ว่าช่วงเวลาไหนก็ตาม เป็นสิ่งที่ตนเองและครอบครัวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยนายทักษิณเข้าเกณฑ์ว่า มีพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ โดยเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษ มีในแต่ละมาตรา ซึ่งหลักเกณฑ์หนึ่งคือ ในระยะปลอดภัย ไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เช่นที่ระบุว่า ควรอยู่ในเรือนจำ 1 ใน 3 หรือถ้ามีโทษจำนวนมากต้องอยู่อย่างน้อย 8 ปี เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างความรู้สึกคนข้างนอกและข้างใน

พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ในส่วนของเกณฑ์อื่นเป็นปีมหามงคลจะมีตั้งแต่นักโทษชั้นกลางขึ้นไปจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ เท่าที่ทราบมีการพระราชทานอภัยโทษถึงขั้นปล่อยตัวออกไปเลย นักโทษเด็ดขาดหรือผู้ถูกกักขังแทนค่าปรับ ประมาณเกือบ 31,000 คน ขั้นตอนหลังจากนี้ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จะมีคณะกรรมการประกอบด้วยอัยการ ศาล ถ้าเป็นในต่างจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดมาดูเป็นรายบุคคล ส่วนในกรุงเทพมหานคร  ลงนามมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำต่างๆ ไปดำเนินการ

 “กรณีผู้ที่พักโทษ ยังถือว่าได้รับโทษอยู่ แต่ได้พัก จะได้รับอภัยโทษทั้งหมด มีประมาณ 8,000 คน คือเกณฑ์อันนี้ไม่ใช่เกณฑ์ครั้งนี้ เป็นเกณฑ์เมื่อปี 2565 ก็มีอยู่” รมว.ยุติธรรมระบุ

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอภัยโทษคือ ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ ประมาณเกือบ 10,000 คน นอกจากนั้นจะมีผู้ที่ไม่อยู่ในเกณฑ์ 1 ใน 3 กับไม่ได้อยู่ในโทษท้ายบัญชีบางประเภท เช่น นักค้ายาเสพติดรายสำคัญ หรือคดีเกี่ยวกับการทุจริต จะได้รับการลดโทษแต่ไม่ได้ปล่อยตัว

เมื่อถามถึงกระบวนการตรวจสอบกล้องวงจรปิดนายทักษิณเมื่อครั้งรักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ยังทำได้หรือไม่ หรือพ้นโทษแล้วจบไปเลย พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่องค์กรอิสระ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อยู่แล้ว เรื่องต่างๆ มีกระบวนการตรวจสอบที่เป็นอิสระ 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ให้ข้อมูลกับทาง ป.ป.ช.แล้วหรือไม่ รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า "ท่านถามมา เราก็จะให้ทุกอย่าง" เมื่อถามย้ำว่า รวมถึงข้อมูลกล้องวงจรปิดด้วยใช่หรือไม่ พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ถ้าอยู่ในการครอบครองของกระทรวงยุติธรรม เราสามารถให้ได้ เว้นแต่ถ้าไปอยู่ในการครอบครองของหน่วยงานอื่น จะดูว่ามีกฎหมายหรือไม่ เราจะอนุญาต

ส่วน ป.ป.ช.เรียกไปหรือยังนั้น พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า สำหรับตนไม่มี แต่ทางราชทัณฑ์อาจจะมีบ้าง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย ถ้าทำนอกจากนี้เจ้าหน้าที่จะผิด 

เมื่อถามว่า นายทักษิณพ้นโทษแล้วเรียบร้อย พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ได้รับอภัยโทษ

กรมคุกเร่งออกใบบริสุทธิ์

ทางด้านนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงขั้นตอนการออกใบบริสุทธิ์ของนายทักษิณ ซึ่งมีกำหนดพ้นโทษทันทีว่า ภายหลังพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 มีผลทำให้นายทักษิณพ้นโทษทันที โดยไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค.2567 เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567

ส่วนขั้นตอนหลังจากนี้ จะเข้าสู่กระบวนการ  แล้วจะต้องทำเรื่องเพื่อออกหมายปล่อยและออกใบบริสุทธิ์ ให้เสร็จแล้วภายใน 120 วัน ซึ่งตามปกติแล้ว ในกรณีของผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์มีรายชื่อได้รับอภัยโทษ เมื่อมีการประกาศทางพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ลำดับต่อไป ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่ง  ตุลาการ และอัยการ จะพิจารณากลั่นกรองรายชื่อ ว่าผู้ต้องขังคนไหนเข้าข่ายได้รับการปล่อยตัวหรือลดโทษ ตามสัดส่วน ตามที่กำหนด และนำเสนอต่อศาลแต่ละท้องที่เพื่อให้ออกหมายปล่อยและใบบริสุทธิ์

ส่วนกรณีของนายทักษิณนั้น ทางผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรี ตุลาการ และอัยการ จะพิจารณาก่อนส่งเรื่องเสนอให้ศาลอาญาธนบุรีออกหมายปล่อย รวมถึงใบบริสุทธิ์ให้ สำหรับระยะเวลาในการดำเนินเรื่องนั้น เบื้องต้นไม่สามารถกำหนดได้ เพราะเป็นขั้นตอนที่ทำให้ผู้ต้องขังซึ่งมีรายชื่อทุกคนพร้อมกัน ไม่ได้มีเพียงเฉพาะนายทักษิณเท่านั้น แต่ยืนยันว่าจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงข้อแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำและผู้ต้องขังที่ได้รับการพักโทษอยู่นอกเรือนจำ มีความแตกต่างหรือต้องลดขั้นตอนอย่างไรหรือไม่ นายสหการณ์ระบุว่า ผู้ต้องขังทุกคนที่ได้รับการอภัยโทษ จะต้องผ่านขั้นตอนในการพิจารณาก่อนออกหมายปล่อยและใบบริสุทธิ์เหมือนกัน

ขณะที่กรมราชทัณฑ์ ได้เผยแพร่เอกสารแจกสื่อมวลชน ระบุใจความว่า ตามพระราชกฤษฎีกา ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ  ต้องเป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป และต้องได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี ทั้งนี้ ผู้ต้องราชทัณฑ์ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษที่เป็นผู้ต้องกักขัง ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ และนักโทษเด็ดขาดคดีอาญาทั่วไปที่เป็นคนเจ็บป่วย พิการ ชราภาพ หรือเหลือโทษไม่มาก (ไม่เกิน 1 ปี) จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป

ส่วนนักโทษเด็ดขาดคดีอื่นจะได้รับการลดโทษในอัตราส่วนมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับชั้นนักโทษและฐานความผิด โดยการพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการปล่อยตัวประมาณ 3 หมื่นคนเศษ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ แก่พสกนิกรที่เป็นผู้ก้าวพลาด ให้ได้รับโอกาสในการกลับตน เริ่มต้นชีวิตใหม่ และพระมหากรุณาธิคุณนี้ ยังแผ่ปกคลุมไปถึงครอบครัวผู้ก้าวพลาดที่ได้รับสมาชิกกลับคืนสู่อ้อมกอดอีกครั้ง

กรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันบำบัด ฟื้นฟู และแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้กับผู้ต้องราชทัณฑ์ ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ภายในเรือนจำและทัณฑสถาน โดยให้การศึกษา อบรมพัฒนาจิตใจ การฝึกทักษะอาชีพ การแนะแนวการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการเข้ารับการฝึกอบรมเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย รวมถึงได้ประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับเครือข่ายภาคสังคมและชุมชน ในการติดตามดูแลให้ความช่วยเหลือเพื่อสร้างความพร้อมในการอยู่ร่วมกับสังคมโดยหวังว่าสังคมตลอดจนผู้ประกอบการ หรือห้างร้าน บริษัทต่างๆ จะให้โอกาสรับผู้ก้าวพลาดเข้าทำงาน เพื่อสร้างคุณค่าในตนเองสามารถประกอบอาชีพสุจริตเลี้ยงตนเองและครอบครัว และใช้ชีวิตร่วมกับคนในสังคมได้อย่างปกติสุข โดยไม่คิดหวนกลับไปทำความผิดซ้ำ อันถือเป็นการป้องกันและคุ้มครองสังคมให้มีความปลอดภัยอย่างยั่งยืนต่อไป

'ทักษิณ' ขึ้นศาลคดี 112

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 19 ส.ค.นี้ ศาลอาญานัดตรวจพยานหลักฐาน ในคดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญายื่นฟ้องนายทักษิณ เมื่อ 18 มิ.ย.2567 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์  พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 112 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3, 14 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 กรณีให้สัมภาษณ์กับเดอะโชซอนมีเดีย ของเกาหลีใต้ วันที่ 21 พ.ค.2558 มีเนื้อหาพาดพิงสถาบัน ซึ่งนายทักษิณได้รับการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 5 แสนบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล ทั้งนี้ จำเลยจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตนเอง เพื่อตรวจหลักฐานคู่ความ

โดยมีรายงานว่า นายทักษิณจะเดินทางมาศาลตามนัด ขณะที่ในส่วนการรักษาความปลอดภัยของศาลอาญาจะเป็นไปตามปกติ และกำชับเรื่องอัตรากำลังในวันนั้น มีการขอกำลังเสริมจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล 2 และเจ้าพนักงานตำรวจศาลมาเพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีที่มีมวลชนเข้าในพื้นที่ ในเบื้องต้นศาลอาญาจะไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาคดี   แต่จะจัดพื้นที่ไว้ตรงบริเวณบันไดหน้าอาคารจุดเดิม ส่วนรายละเอียดข่าวอาจจะมีการทำเอกสารข่าวแจก

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นัดตรวจหลักฐานศาลจะมีการสอบคำให้การจำเลยอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าจะรับสารภาพ หรือปฏิเสธข้อกล่าวหาเพื่อสู้คดีต่อ หากจำเลยปฏิเสธ ศาลจะให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาล เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หลังจากนั้นให้คู่ความแต่ละฝ่ายแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาล และให้ศาลสอบถามคู่ความถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิง ตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง เสร็จแล้วให้ศาลกำหนดวันสืบพยานของทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลยต่อไป

วันเดียวกัน นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กถึงนายทักษิณว่า พ้นโทษ ไม่พ้นมลทิน แม้จะได้รับอภัยโทษจนพ้นโทษ แต่มลทินที่ได้สร้างไว้จนเป็นตราบาปแห่งกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เคยติดคุกนั้นยังไม่พ้นไป ในทางการเมืองจะเป็นชนักติดหลัง น.ส.แพทองธารไปตลอด

"อุ๊งอิ๊งต้องแบกตราบาปของพ่อไปตลอดการเล่นการเมือง ในกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย ข้าราชการที่เกี่ยวข้องต้องเดินหน้าตรวจสอบต่อไป และดำเนินการทางกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะมีการกระทำผิดในการบังคับโทษไปแล้ว ช่วงที่บังคับโทษมีการร่วมกันคอร์รัปชันการลงโทษ ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้นต้องดำเนินการให้ถึงที่สุด มันคนละส่วนกับการพ้นโทษ เรื่องนี้จะบอกแค่ว่า พ้นโทษ แล้วลอยตัวเหนือมลทินไม่ได้ คปท.ยังเดินหน้าตรวจสอบต่อ อังคารที่ 20 ส.ค.เจอกัน 11 โมง ที่ ป.ป.ช." นายพิชิตระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง