‘แม้ว’ คุมตั้งครม.อิ๊งค์ ปิดสวิตช์วงษ์สุวรรณ

"อุ๊งอิ๊ง" โพสต์ขอบคุณสภา การจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อ เพื่อคนไทยทุกคน สะพัด! "ทักษิณ" จัดโผ ครม.ข้ามพรรค สั่งห้ามคนตระกูล "วงษ์สุวรรณ" เหยียบทำเนียบรัฐบาล แต่ภาพรวมใช้โครงสร้างจากรัฐบาลเดิม    จับตา "บิ๊กทิน" กับรัฐมนตรีสายเศรษฐา ส่อถูกปรับออกยกแผง

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความใน X  ว่า  "ดิฉันขอขอบคุณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกท่าน ที่มอบความไว้วางใจให้ดิฉันรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นเกียรติสูงสุดในฐานะประชาชนคนไทย

หลังจากนี้ การจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินการตามกระบวนการ และจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ

ดิฉัน พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน พร้อมทำงาน ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อ เพื่อคนไทยทุกคนค่ะ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก น.ส.แพทองธารได้รับการโหวตเป็นนายกฯ คนที่ 31 และเตรียมเข้าพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 วันอาทิตย์ที่ 18 ส.ค.นี้ จำเป็นต้องฟอร์มคณะรัฐมนตรีกันใหม่ โดยคณะรัฐมนตรีของ น.ส.แพทองธารนั้น จะยังคงยึดคณะรัฐมนตรีชุดเดิมของนายเศรษฐา  ทวีสิน อดีตนายกฯ จำนวนโควตารัฐมนตรีของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม แต่ถ้าจะปรับเปลี่ยนบุคคล ก็ให้เป็นเรื่องภายในของพรรคนั้นๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่น้อยที่สุด เพื่อจะได้เดินหน้างานต่ออย่างต่อเนื่อง

โดยโควตาที่วางไว้ก่อนหน้านั้น จากจำนวนเก้าอี้นายกฯ และรัฐมนตรีรวมกันไม่เกิน 35 เก้าอี้  พรรคเพื่อไทยได้รับ 17 เก้าอี้ คือเก้าอี้นายกฯ  และเก้าอี้ รมว.รวม 9 ที่นั่ง เก้าอี้ รมช. รวม รมต.ประจำสำนักฯ รวม 8 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย ได้รับโควตา 8 เก้าอี้ คือ รมว. 4 ที่นั่ง รมช. 4 ที่นั่ง,  พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 เก้าอี้ คือ รมว. 2 ที่นั่ง รมช. 2 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ 4 เก้าอี้ คือ รมว. 2 ที่นั่ง รมช. 2 ที่นั่ง, พรรคประชาชาติ 1 รมว. และพรรคชาติไทยพัฒนา 1 รมว.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีความเคลื่อนไหวและชัดเจนมาตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ โดยนายทักษิณ ชินวัตร ได้เล่นเกมเร็ว โทรศัพท์เรียกประชุมหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรค รวมถึงแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทยทันที เบื้องต้นไม่มีการขยับ รวมถึงไม่มีความจำเป็นในการนำพรรคการเมืองใดๆ เข้ามาเพิ่ม เพราะเสียงพรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียงเพียงพอแล้ว ส่วนพรรคการเมืองไหนต้องการจะปรับเปลี่ยนรัฐมนตรี ให้เป็นสิทธิและอำนาจภายในพรรคนั้นๆ ได้เลย 

ล่าสุด มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐนั้น นายทักษิณได้บอกกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์  เลขาธิการพรรค พปชร. ว่ารัฐมนตรีของพรรคจะต้องไม่มีคนนามสกุลวงษ์สุวรรณ รวมถึงต้องไม่มีชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาร่วมใน ครม.อย่างเด็ดขาด

ซึ่งตรงจุดนี้คาดว่า นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข รองหัวหน้าพรรค จะผงาดมานั่งเก้าอี้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เพราะการเลือกตั้งครั้งหน้า มีกระแสข่าวว่านายสันติจะขน สส.ในสังกัด 10 คน ย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย ส่วนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อาจตกเป็นของ ร.อ.ธรรมนัส ขณะที่อีกกระแสข่าวระบุว่า อาจเป็นของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน ประธานกรรมการด้านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

ภูมิใจไทยไม่ขยับ

สำหรับพรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่มีการขยับตำแหน่งหรือกระทรวงใดๆ โดยยังเป็น รองนายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย รมว.ศึกษาธิการ รมว.แรงงาน รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมช.พาณิชย์ รมช.มหาดไทย 2 ตำแหน่ง รมช.ศึกษาธิการ  โดยพรรคภูมิใจไทย ทุกตำแหน่ง  รัฐมนตรีทุกคนยังอยู่ที่เดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ในส่วนของพรรครวมไทยสร้างชาติ จะส่งนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค เข้ามารับตำแหน่ง รมว.ในครั้งนี้ แทนนางพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ส่วนอีกตำแหน่งที่ยังว่าถือเป็นโควตาของนายทุนพรรค ที่ต้องรอดูว่าจะส่งใครเข้ามา

ส่วนพรรคเพื่อไทย เบื้องต้นอาจมีการปรับไม่กี่ตำแหน่ง อาทิ ให้นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม หลุดจากตำแหน่ง เนื่องจากระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นการตอบแทนแล้ว  จากนี้จะกลับไปทำงานในสภาต่อไป ขณะที่รัฐมนตรีสายนายเศรษฐา มีโอกาสจะถูกปรับเปลี่ยนเช่นกัน ทั้งนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง นายจักรพงษ์ แสงมณี และคาดว่าจะขยับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ และ รมช.การคลัง ขึ้นเป็น รมว.การคลังแทน

โดยรายชื่อที่จะเข้ามานั่งในคณะรัฐมนตรี ขณะนี้มีการพูดถึง 3 รายชื่อ ประกอบด้วย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.กทม.พรรคเพื่อไทย ที่จะได้เข้ามาเป็นตัวแทน กทม. ในคณะรัฐมนตรีในโควตา กทม., น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ ที่มีความใกล้ชิดกับนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็จะเข้ามาในครั้งนี้ด้วย

สำหรับอีกหนึ่งรายชื่อคือ นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้มีชื่อเป็นคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่ให้เหตุผลว่าต้องอยู่ช่วย น.ส.แพทองธารในการขับเคลื่อนพรรค แต่เมื่อ น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ แล้ว เลขาธิการพรรคเพื่อไทยจึงได้เข้ามาทำหน้าที่

เพื่อไทยผวา 'จริยธรรม'

นายสรวงศ์ให้สัมภาษณ์ว่า ขอให้ฟังจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นหลัก เพราะเรื่องของฝ่ายบริหาร ตนไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวตอนนี้ ซึ่งคาดว่า น.ส.แพทองธารคงจะต้องแจ้งมาอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร

               ผู้สื่อข่าวถามว่า มีหลายคนมองว่าการที่ น.ส.แพทองธารมาจากตระกูลชินวัตร แล้วในอนาคตอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอย่างที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยจะมีวิธีการอย่างไรหากมีเหตุเกิดขึ้นจริง นายสรวงศ์กล่าวว่า  มองว่าอย่าให้เกิดขึ้นดีกว่า ซึ่งส่วนตัวมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับนายเศรษฐา ทำให้หลายฝ่ายต้องระมัดระวัง และจากที่ตนได้พูดคุยมา ไม่ใช่เพียงฝ่ายการเมืองเท่านั้น แม้กระทั่งฝ่ายข้าราชการประจำก็รู้สึกว่าต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเมื่อการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาค่อนข้างที่จะกว้าง

"เมื่อตีความคุณสมบัติและมีคำว่าจริยธรรมเข้ามา จึงมองว่าการที่จะจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ขึ้นมาในตอนนี้ หลายฝ่ายจะต้องวิเคราะห์ให้ดี และอาจจะต้องมีการส่งตีความรายบุคคลเพื่อป้องกัน และอาจจะต้องส่งให้กฤษฎีกาช่วยตรวจสอบ และมีการออกเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะจากกรณีของนายเศรษฐา ที่แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน ให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเพียงการสอบถามไปโดยไม่มีลายลักษณ์อักษร จึงต้องมีความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น"

เมื่อถามว่า หากต้องมีการตีความคุณสมบัติเป็นรายบุคคล ก็จะทำให้การจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มีความล่าช้าเกิดขึ้น เลขาธิการพรรคเพื่อไทยตอบว่า หากการจัดตั้งล่าช้าแต่ชัวร์ก็จะไม่เกิดปัญหา ดีกว่ารีบตั้งแล้วมีปัญหาตามหลัง เพราะเมื่อมีปัญหาแล้วการบริหารประเทศก็จะชะงัก อย่างเช่นกรณีวันที่ 16 ส.ค. ภายหลังจากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วเสร็จ ทางฝ่ายสภาก็มีการแก้ไขเอกสารหลายรอบ ซึ่งฝ่ายราชการเองก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะเป็นผู้เสนอชื่อ เนื่องจากมีบทเรียนในครั้งที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าผู้เสนอชื่อจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในส่วนของข้าราชการ ก็กลัวว่าหากเกิดอะไรขึ้นมาก็จะได้รับความเดือดร้อนตามไปด้วย ดังนั้นทุกคนจึงต้องระมัดระวัง และมองว่าช้าแต่ชัวร์จะดีกว่า เพราะไม่ว่าอย่างไรขณะนี้ประเทศไทยก็มีรัฐบาลรักษาการอยู่

ซักว่า น.ส.แพทองธารได้มีการพูดคุยกับ สส.อย่างไร ภายหลังจากได้รับการโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเผยว่า น.ส.แพทองธารได้ขอบคุณ สส.ที่โหวตเลือกตนให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งโดยส่วนตัวของ น.ส.แพทองธาร เป็นคนทำงานเป็นทีมอยู่แล้ว และมั่นใจว่ามีทีมที่ดี ไม่ว่าจะเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรค คนรุ่นเดียวกัน หรือรุ่นน้องในพรรค น.ส.แพทองธารก็มองว่าทุกคนคือทีมเดียวกัน ซึ่งก็ต้องมองไปข้างหน้าว่าการบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร และต้องพูดตามตรงว่าคนภายนอกที่มองเข้ามากับคนที่ปฏิบัติอยู่หน้างานจริงก็มีมุมที่มองต่างกัน  ซึ่งตนในฐานะเลขาธิการพรรค ขอให้ประชาชนให้โอกาส น.ส.แพทองธารในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี

'รวมไทยฯ' ยังเหมือนเดิม

ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชาชนบางส่วนกำลังขาดความเชื่อมั่นในรัฐบาลว่า สิ่งหนึ่งที่ตนคิดว่าสามารถเรียกความเชื่อมั่นได้คือ ใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทุกอย่างดำเนินการได้อย่างไร้รอยต่อภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีอุบัติเหตุที่ทำให้เกิดสุญญากาศ และทั้งพรรคร่วมรัฐบาลก็พร้อมเดินหน้า เชื่อว่าหลังจากได้รัฐบาล คณะรัฐมนตรี ก็จะเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย ฉะนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่น  และเห็นได้ว่าในวันที่โหวตนายกฯ จากเดิมพรรคร่วมรัฐบาลมี 314 เสียง แต่การโหวตในครั้งนี้ได้ 319 เสียง เพราะมีคนเห็นว่าประเทศชาติต้องไปต่อ ต้องเดินหน้าต่อ เขาก็โหวต

ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค ให้สัมภาษณ์ว่า ในที่ประชุมสมาชิกพรรคครั้งล่าสุด ก่อนที่จะมีการโหวตเลือก น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. ยืนยันว่าทุกตำแหน่งในโควตารัฐมนตรียังเป็นโครงสร้างเหมือนเดิมหมด ทั้งกระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม

เขาบอกว่า ส่วนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี กรรมการบริหารพรรคได้มีมติให้หัวหน้าพรรคเป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่งนายพีระพันธุ์คงจะปรึกษากับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค รทสช. เพื่อหาบุคคลที่เหมาะสม ดังนั้นจะเป็นบุคคลเดิมหรือไม่ ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของหัวหน้าพรรค รวมถึงโควตารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่ยังว่าง เนื่องจากนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ลาออก ก็ต้องหาคนใหม่เช่นกัน

เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะมีการริบโควตากระทรวงพลังงานคืนจากพรรค รทสช. นายอัครเดชกล่าวว่า “ไม่มี หัวหน้าพรรคยังยืนยันว่าที่ตกลงกันล่าสุดทุกอย่างยังเหมือนเดิมหมด”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง