‘ทักษิณ’ คืนชีพ! พ้นสภาพ ‘นช.’ แล้วหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ

ราชกิจจานุเบกษา

"ทักษิณ" บริสุทธิ์แล้ว! พ้นสภาพนักโทษชายทันทีไม่ต้องรอวันที่ 31 ส.ค. หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ พร้อมผู้ต้องขังอีก 5 หมื่นคน กลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค.2567  ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ  28 ก.ค.2567 นับเป็นอภิลักขิตกาลสำคัญ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี  อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 และมาตรา 199 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 261 ทวิ วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 9) พ.ศ.2517

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 จะมีผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ จำนวนประมาณ 50,000 ราย จากเรือนจำทั่วประเทศ ตามมาตรา 5 นอกจากนี้ ยังมีนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวอีกกว่า 200,000 ราย

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กรมราชทัณฑ์ได้เตรียมประชุมเตรียมความพร้อมรองรับผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวพ้นเรือนจำ

ขณะนี้ กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังเด็ดขาดทั่วประเทศที่ควบคุมอยู่ในเรือนจำ จำนวน 220,094  ราย เป็นนักโทษชาย 192,898 ราย และนักโทษหญิง 27,196 ราย จากผู้ต้องขังทั้งหมด 290,749 ราย จากข้อมูลกรมราชทัณฑ์ ณ วันที่ 16 ส.ค. 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567  นั้น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะพ้นโทษเป็นอิสระทันที ไม่ต้องรอให้ครบกำหนดโทษในวันที่ 31 ส.ค. เนื่องจากเป็นผู้ถูกคุมประพฤติที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว ตามมาตรา 3 และมาตรา 6 ของพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ 2567 ฉบับนี้ ที่ระบุว่า ผู้ต้องโทษดังต่อไปนี้ ให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวไป (1) ผู้ต้องกักขัง (2) ผู้ทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ (3) ผู้ได้รับการปล่อยตัวคุมประพฤติ

รายงานงานแจ้งว่า สำหรับกลุ่มผู้ถูกคุมประพฤติที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวพ้นจากการเป็นผู้ถูกคุมประพฤติครั้งนี้ ประมาณ 7,500 รายทั่วประเทศ ซึ่งนายทักษิณเป็นหนึ่งในผู้ถูกคุมประพฤติ

สำหรับกระบวนการขั้นตอนของผู้พ้นโทษจากเหตุครบกำหนดการพักการลงโทษ ทางราชทัณฑ์จะออกใบสุทธิให้กับนายทักษิณ ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือสำคัญทางกฎหมายที่แสดงให้เห็นว่า ผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว โดยทางกรมคุมประพฤติจะเป็นหน่วยงานรับเอกสารดังกล่าวเพื่อประสานกับผู้ถูกคุมประพฤติ ซึ่งเมื่อครบกำหนดพักโทษก็ไม่ต้องมาที่ราชทัณฑ์อีกแล้ว ได้รับการปล่อยตัวตามกฎหมาย

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงพระราชกฤษฎีกา​พระราชทาน​อภัยโทษ 2567 ว่า นายทักษิณอยู่ระหว่างการพักการลงโทษนั้น ถือเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่ได้รับการอภัยโทษด้วย โดยเป็นการปล่อยตัวพ้นโทษทันที เป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ส่วนเรื่องใบสุทธิที่จะต้องมอบให้แก่ผู้พ้นโทษ จะเป็นกระบวนการของกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติที่จะต้องประสานงานกัน

เขากล่าวว่า การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไปในครั้งนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะรายนายทักษิณเท่านั้น แต่เป็นเพื่อผู้ต้องขังทุกรายที่ผ่านเกณฑ์พิจารณา โดยมีสิทธิประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง ทั้งการลดโทษและการพ้นโทษ ซึ่งก็ต้องไปดูประเภทของผู้ต้องราชทัณฑ์รายนั้นๆ เช่น หากเป็นผู้กักขังแทนค่าปรับ ก็ให้ปล่อยตัวพ้นโทษไป เป็นต้น

"ทั้งนี้ ทราบจำนวนผู้ต้องราชทัณฑ์เบื้องต้นมีประมาณ 31,000 ราย ที่ได้รับประโยชน์จากพระราชกฤษฎีกาครั้งนี้ แต่ไม่ได้พ้นโทษทุกราย ส่วนรายละเอียดภาพรวมทั้งหมดทางกรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้ชี้แจงต่อสาธารณะ" รมว.ยุติธรรมกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ว่านายทักษิณจะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว แต่ความผิดในคดีอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ พาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ เมื่อปี 2558 นั้นยังคงอยู่

สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายทักษิณ จำเลยในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยวงเงินประกัน 500,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล หลังจากอัยการส่งตัวฟ้อง  โดยศาลอาญานัดตรวจพยานสองฝั่งคดีดังกล่าวในวันที่ 19 ส.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ นายทักษิณขออนุญาตศาลเดินทางไปต่างประเทศ (ดูไบ) เพื่อพบแพทย์และบุคคลบางคน แต่ศาลยกคำร้องเนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลย ทั้งไม่มีพยานหลักฐานยืนยันชัดแจ้งถึงความจำเป็นดังกล่าว ประกอบกับช่วงระยะเวลาที่เดินทางใกล้กับวันนัดตรวจพยานหลักฐานในชั้นนี้ จึงไม่สมควรอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง