‘เท้ง’โหนโหวตนายกฯสับ‘ศาลรธน.’

“เท้ง” สบช่องประชุมสภาโหวตเลือกนายกฯ อภิปรายสับศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ  ปลุกเร้าสมาชิกใช้เวลาที่เหลือของสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก “ป.ป.ช.” เผยมีมติสั่งไต่สวน 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกลแล้ว บอกชัดมาตรฐานจริยธรรมมีเรื่องการปกป้องอธิปไตยล่วงล้ำ-ไม่เคารพไม่ได้

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.2567 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษ โดยมีวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชช.) ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า พวกเราไม่เห็นด้วยในกระบวนการนิติสงครามที่ดำเนินการโดยกลุ่มคนชั้นนำมาทำลายอำนาจที่มาจากประชาชน วันนี้ไม่ว่าเพื่อนสมาชิกจะลงมติอย่างไร เชื่อว่าภารกิจของพวกเราในฐานะ สส. รวมถึงภารกิจของนายกรัฐมนตรีคนถัดไป คือการกลับไปแก้ไขปัญหาที่ต้นตอที่ทำให้ต้องมานั่งอยู่ในสภาวันนี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของตนหรือเพื่อนสมาชิกคนใดคนหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของพรรคประชาชน  ของพรรคการเมืองอื่นการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของพวกเราทุกคน ที่เราจะต้องร่วมกันขีดเขียนประวัติศาสตร์ต่อจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศที่ต้นตอ

นายณัฐพงษ์อภิปรายต่อว่า นับตั้งแต่ปี 2541  ภายหลังการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้ยุบพรรคการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 111 พรรค ซึ่งตัวเลขนี้อาจเป็นตัวเลขจากการยุบพรรคที่นับรวมการขาดหลักเกณฑ์ ขาดคุณสมบัติ และขาดสมาชิกต่างๆ ของพรรคการเมืองด้วย แต่หากนับเฉพาะคดีการยุบพรรคที่เป็นคดีทางการเมือง ก็มีหลายกรณี อาทิ การยุบพรรคไทยรักไทย  พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคไทยรักษาชาติ และพรรคอนาคตใหม่  จนมาถึงพรรคก้าวไกลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ซึ่งสมาชิกหลายๆ คนที่นั่งอยู่ในห้องประชุมนี้ล้วนเป็นเหยื่อจากคำตัดสินทางการเมือง และล้วนเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากระบบที่ให้อำนาจล้นเกินกับศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณายุบพรรคการเมือง

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า นอกจากการยุบพรรคการเมือง ยังมีกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาทิ กรณีถือหุ้นสื่อที่ส่งผลให้สมาชิกของเราบางท่านต้องพ้นสมาชิกภาพไป แต่นอกจากกรณียุบพรรคและถือหุ้น ที่มีผลกระทบต่อ สส. ฝ่ายนิติบัญญัติโดยตรง ยังมีกรณีนายกฯ ประมุขของฝ่ายบริหารถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาแล้วหลายครั้งในอดีต ล่าสุดคือกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ทูลเกล้าฯ  ถวายเสนอนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาของการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ต้องทำอย่างไรไม่ให้มีการรุกล้ำเขตแดนอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจนล้นเกิน และเรายังมีกรณีการถูกประหารชีวิตของนักการเมืองอีกหลายกรณีตามพระราชบัญญัติของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วยข้อหาผิดจริยธรรมร้ายแรง

 “ผมคิดว่าทุกท่านที่นั่งอยู่ในห้องแห่งนี้น่าจะเห็นปัญหาเดียวกัน ในฐานะที่หลายๆ ท่านอยู่ในโลกการเมืองมาก่อนผมนานนัก มีใครคิดว่าบุคคลที่ได้เอ่ยชื่อมาสมควรจะถูกประหารชีวิตทางการเมืองไหมครับ เพราะไม่ว่าจะถูกจะผิดอย่างไร เราก็มีกลไกในการตรวจสอบ มีโทษอาญา มีคดีการทุจริตคอร์รัปชันในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่โทษประหารชีวิตการเมืองของนักการเมืองที่ทุกท่านก็ล้วนเป็นนักการเมืองเช่นเดียวกันกับผม มีใครเห็นด้วยกับโทษเหล่านี้ไหมครับ”

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า มาตรฐานทางจริยธรรมควรเป็นเงื่อนไขกฎกติกากระบวนการที่พวกเราตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่กฎกติกาที่ให้องค์กรอื่นๆ อย่างองค์กรตุลาการมาวินิจฉัย โดยใช้มาตรวัดทางกฎหมายมาตรวัดทางจริยธรรมที่ปัจเจกแต่ละคนมองเห็นแตกต่างกัน ดังนั้น หากใครมาตัดสินจริยธรรมของนักการเมืองในฐานะที่นักการเมืองมาจากประชาชน คิดว่าควรต้องใช้ความรับผิดชอบใช้เสียงของประชาชนมาเป็นคนตัดสิน ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นไม่กี่กรณีนอกจากการเกิดปฏิวัติรัฐประหารโดยตรง แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เรากำลังอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบอีกรูปหนึ่ง

“การเลือกตั้งในปี 2549 เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตผม แต่ผลการเลือกตั้งในวันนั้นก็ต้องเป็นโมฆะ และทำลายเสียงที่ผมออกไปใช้สิทธิ์ใช้เสียง เนื่องด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยเช่นนี้ ที่ทำร้ายจิตใจสร้างแผลบาดลึกในประชาชนคนไทยทุกคน รวมถึงผมที่ออกไปเข้าคูหาเป็นครั้งแรก”

นายณัฐพงษ์ระบุว่า ความจริงนี้เป็นความจริงที่เพื่อนสมาชิก รวมถึงประชาชนประสบกันทุกคน  ได้รับบาดแผลประสบการณ์หลายๆ อย่าง โดยภายหลังจากการปฏิวัติปี 2557 ที่มาสู่รัฐธรรมนูญปี 2560 บรรดาคณะผู้ร่างมีแนวคิดว่านักการเมืองเป็นสิ่งเลวร้ายที่พวกเขาต้องฉกฉวยโอกาสจากอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร และการฉีกรัฐธรรมนูญ มาออกแบบกติกาบนพื้นฐานรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้ มันได้พิสูจน์แล้วว่าแนวคิดแบบนี้ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย ซ้ำร้ายรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งจากกลุ่มคนชั้นนำ ผู้ถือใบอนุญาตอีกหนึ่งใบ โดยใช้อำนาจเหล่านั้นมาทุบทำลายผู้แทนราษฎรผู้ทรงอำนาจสูงสุดจากประชาชน

 “ภารกิจที่สำคัญของพวกเราในสภานี้ คือช่วยกันสานต่อภารกิจ 3 ประการ คือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ ทั้งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ หรือรายมาตรา หรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม เพื่อจัดวางตำแหน่งแห่งที่ และอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงองค์กรอิสระ ให้มีความเหมาะสม เป็นไปตามหลักสากล จะมีการปรับปรุงโทษและกติกาที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง ทำอย่างไรให้พรรคการเมืองเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ตายได้ยาก และมีความยึดโยงกับฐานสมาชิกพรรค เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับระบอบประชาธิปไตยในประเทศ ทำอย่างไรที่มีการทบทวนมาตรฐานจริยธรรม ให้เป็นเรื่องความรับผิดรับชอบทางการเมืองของนักการเมือง ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่องค์คณะไม่กี่คนเป็นผู้ตัดสิน” นายณัฐพงษ์ระบุ

นายณัฐพงษ์กล่าวอีกว่า เราเหลือเวลาอีกไม่ถึง 3 ปีต่อจากนี้ ในรัฐสภาชุดนี้ ในวาระที่เรามีร่วมกัน เราสามารถผลักดันให้มันเกิดขึ้นได้ และในการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่นำเสนอนี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญให้กับระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมือง นักการเมือง ผู้ได้รับฉันทามติจากการเลือกตั้ง จากอำนาจสูงสุดของประชาชน ให้สามารถดำเนินนโยบายแก้ไขกฎหมายบริหารประเทศ เพื่อตอบเจตจำนงประชาชนได้อย่างดีที่สุด

วันเดียวกัน นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการพิจารณาคดี 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติสั่งไต่สวนแล้วผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีมูลเบื้องต้น ซึ่งในกระบวนการไต่สวนนั้น ได้รวบรวมข้อเท็จจริงและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างและหลังจากที่เปิดโอกาสให้มีการชี้แจง จากนั้นจะสรุปสำนวนเสนอต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

นายนิวัติไชยกล่าวว่า ส่วนกรอบเวลาในการพิจารณานั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้ เพราะต้องดูความพร้อมของทั้ง 44 สส.ที่จะมาให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. และนอกจาก 44 สส.แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น บุคคลที่เป็นผู้แทนของรัฐสภาที่มีการเสนอหรือที่รู้เห็น โดยต้องสอบเพิ่มเติมเพื่อให้รู้ถึงเจตนารมณ์ และกฎหมาย ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงเหตุผลและความจำเป็น เช่น เจ็บป่วยมาไม่ได้ ก็ไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ หากหายแล้วต้องมาให้ถ้อยคำ เพราะฉะนั้นเวลาที่ประมาณการจริงๆ กำหนดไว้ประมาณคร่าว ๆ 6 เดือน สอดคล้องกับในหลักการที่ให้ไต่สวนพยานหลักฐานภายใน 6 เดือน

เมื่อถามว่า ในเบื้องต้นอาจจะไม่ต้องมาทั้ง 44 คนหรือไม่ นายนิวัติไชยกล่าวว่า อาจต้องให้ชี้แจงทั้ง 44 คนก่อน แต่การชี้มูลว่าใครจะผิดเป็นดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ซึ่งทั้งหมดเป็นเพียงความเห็น แต่ผู้ที่จะพิจารณาวินิจฉัย คืออำนาจ ป.ป.ช.จะเป็นผู้พิจารณา

เมื่อถามถึงกรณีมีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า ป.ป.ช.จะยกเรื่องดังกล่าวให้ศาลพิจารณา นายนิวัติไชยกล่าวว่า คงไม่ทำเช่นนั้น เพราะกระบวนการยุติธรรม ต้นทางต้องยุติธรรม มิเช่นนั้นก็ไม่ต้องมี ป.ป.ช. แต่ส่งเรื่องไปให้ศาลตัดสินเลย ขอให้มั่นใจว่า ป.ป.ช.ทำเต็มที่ ไม่ทำชุ่ยๆ และส่งไปโดยใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว

เมื่อถามว่า ที่มีการชี้แจงว่าการแก้กฎหมายเป็นหน้าที่ของ สส.มีอำนาจเสนอได้ แค่เซ็นเอกสารและยังไม่ได้ดำเนินการ นายนิวัติไชยกล่าวว่า นั่นคือข้อชี้แจง ไม่แน่ใจว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยด้วยหรือไม่ และศาลได้วินิจฉัยหรือไม่ และไม่แน่ใจว่า ป.ป.ช.จะพิจารณาเป็นอื่นได้หรือไม่ ต่อคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งนี่คือ ประเด็นตัวอย่าง แต่หากไม่มี ป.ป.ช. จะวินิจฉัยว่า สิ่งที่กล่าวอ้างมาโอเคหรือไม่ หรือเห็นถึงเจตนาหรือไม่ ซึ่งในมาตรฐานจริยธรรมของ ป.ป.ช. มีเรื่องการปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง เรื่องระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จะล่วงล้ำไม่ได้ หรือไม่เคารพไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง