ปิยบุตรซัด‘รัฐสมบัติ’สืบทอดอำนาจในตระกูล

“สวนดุสิตโพล” พบประชาชนหวังนายกฯ ใหม่แก้เศรษฐกิจ “เสื้อแดงอีสาน” อวย “แพทองธาร” กู้คะแนนนิยมได้ “ปิยบุตร” จัดหนัก  “รัฐสมบัติ" สืบทอดอำนาจในตระกูล ไม่แยกแยะส่วนตัวส่วนรวม “เทพไท” ซัด “ทักษิณ” พาลูกสาวเสี่ยงคุก

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง คนไทยกับนายกรัฐมนตรี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,239 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 14-15 ส.ค. สรุปผลได้ดังนี้ 1.ประชาชนคิดอย่างไรต่อการที่นายกฯ เศรษฐาหลุดจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอันดับ 1 มองว่าเป็นเรื่องการเมือง มีเบื้องลึกเบื้องหลัง 52.88%  รองลงมา กังวลกับนโยบายที่ได้ทำไว้อาจไม่ต่อเนื่อง 51.26% และอันดับ 3 เป็นการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล

ส่วนคำถามที่ว่า ประชาชนคิดว่าการหลุดจากตำแหน่งของนายกฯ เศรษฐา จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเมืองไทยหรือไม่ พบว่า อันดับ  1 มองว่าส่งผลกระทบ 70.30% และอันดับ 2 มองว่าไม่ส่งผลกระทบ 29.70% และเมื่อถามว่า ประชาชนหวังว่าผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรมีคุณสมบัติอย่างไร พบว่า อันดับ 1 มองว่าเข้าใจปัญหาสังคมและประชาชน 62.62% รองลงมา สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ 61.97%  อันดับ 3 เป็นคนรุ่นใหม่ มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาประเทศ 58.14% อันดับ 4 สามารถสื่อสารและทำงานร่วมกับฝ่ายต่างๆ ได้ดี 55.86% และอันดับ 5 มีความเป็นกลางและยุติธรรม 54.56%

นางพรรณวดี ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายกลุ่มสตรี 20 จังหวัดภาคอีสาน และอดีตแกนนำคนเสื้อแดงภาคอีสาน กล่าวว่า แม้จะมีประชาชนจำนวนหนึ่งตั้งคำถามถึงความเหมาะสม  คุณวุฒิ วัยวุฒิของ น.ส.แพทองธาร แต่กลุ่มคนเสื้อแดงภาคอีสานเชื่อมั่นว่า น.ส.แพทองธารมีความเหมาะทุกประการ อีกทั้งยังมีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาหรือโค้ช ที่จะให้คำแนะนำ เพราะโค้ชดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เชื่อว่าจะนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาได้ จึงอยากให้ประชาชนให้โอกาส เพราะหากขึ้นมาแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินการเลือกตั้งครั้งหน้า

นางพรรณวดีกล่าวอีกว่า โพลหลายสำนักชี้ว่าคะแนนนิยมของรัฐบาลเดิมภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย คะแนนนิยมตกต่ำ หากเปรียบเทียบกับอดีตพรรคก้าวไกล ประเด็นนี้เป็นเรื่องของโพล อีกทั้งรัฐบาลคุณเศรษฐาเข้ามาบริหารไม่ถึงปี โพลไม่สามารถชี้วัดได้ 100% แต่จากการลงพื้นที่ยังมีคนอีกไม่น้อยที่มีความนิยมพรรคเพื่อไทย ซึ่งเมื่อ น.ส.แพทองธารขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็เป็นโอกาสอีกครั้งในการสร้างความนิยม แก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง รัฐสมบัติ ว่า “รัฐสมบัติ” หรือ Patrimonial State คือ รัฐที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง ตระกูลใดตระกูลหนึ่งเป็นเจ้าของ  เมื่อผู้ปกครองคนหนึ่งพ้นไป ก็ส่งมอบตำแหน่งให้สมาชิกในตระกูลขึ้นดำรงตำแหน่งต่อไป ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐและรัฐนั้น จึงเสมือนเป็น "ทรัพย์สมบัติ" ของตระกูล ที่สามารถเป็น "มรดก" ยกต่อให้ทายาทในตระกูลได้ รัฐสมบัติ ไม่แยกแยะเรื่อง "ส่วนตัว" กับ "ส่วนรวม" ออกจากกัน นำเรื่องของครอบครัว เรื่องของตนเอง ให้กลายเป็นเรื่องของรัฐ ทรัพยากรและงบประมาณของรัฐถูกนำไปปะปนกับการใช้จ่ายส่วนตน นโยบายของรัฐถูกนำไปปะปนกับความต้องการส่วนตน ส่วนครอบครัว

นายปิยบุตรระบุว่า รัฐสมบัติจึงแตกต่างจากรัฐแบบสมัยใหม่ ที่พยายามแยกแดนส่วนตัวออกจากแดนสาธารณะ รัฐแบบสมัยใหม่ สร้าง “รัฐ” ให้เป็นนิติบุคคล แยกออกจาก “คน” และกำหนดให้มี “ตำแหน่ง” เข้าใช้อำนาจรัฐ โดยมีกระบวนการได้มาซึ่งตำแหน่งนั้นไว้ มิให้ยกสืบทอดกันเป็นมรดกในตระกูล

เขากล่าวว่า ในโลกปัจจุบัน ครอบครัวหนึ่ง ทำธุรกิจร่ำรวย เมื่อพ่อแม่ตายไป ก็ยกมรดกให้ลูก เช่นนี้ คงไม่มีใครว่า เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว เอกชน ครอบครัวตนเอง ถึงกระนั้น ความคิดแบบสมัยใหม่ยังมองว่าไม่เป็นธรรม ทำให้คนที่ไม่ได้เกิดมาบนกองเงินกองทองเสียเปรียบ จึงได้คิดมาตรการสร้างความเสมอภาค เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน เป็นต้น ในขณะที่ครอบครัวเศรษฐีเอง ก็ตระหนักดีถึง “กฎธรรมชาติ” ที่ว่า ความสามารถ อำนาจ บารมี ไม่อาจถ่ายทอดผ่านพันธุกรรม พวกเขาจึงจ้างผู้บริหารมืออาชีพเข้ามา แล้วถ้าเป็นรัฐ เป็นเรื่องสาธารณะ เรื่องมหาชน เรื่องแดน Public มิใช่แดน Private ล่ะ? เราสามารถยอมให้การบริหารรัฐ กลายเป็นเรื่องของครอบครัว ตระกูล ได้หรือ? จะเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนผู้เป็นสมาชิกรัฐ เป็นเจ้าของรัฐร่วมกัน ต้องยินยอมครอบครัวหนึ่ง ตระกูลหนึ่ง ยก “อำนาจรัฐ” ให้กันเองภายในตระกูล ราวกับเป็น “สมบัติ” เป็น “มรดก” ได้ สภาวการณ์ “ประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาต” วันนี้ นำมาซึ่ง “ประชาธิปไตย 2 ตระกูล”

ด้านนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “เทพไท-คุยการเมือง” ว่า หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อพูดคุยเรื่องการเสนอตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า และได้ทุบโต๊ะเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมทั้งด้านสุขภาพ และจุดยืนทางการเมืองเรื่องประเด็นการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนทำให้ สส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เคลื่อนไหวสนับสนุน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

นายเทพไทบอกว่า การเสนอตัวนายชัยเกษมและ น.ส.แพทองธาร ต่างมีจุดอ่อนทางการเมืองที่แตกต่างกัน โดยนายชัยเกษมอาจถูกโจมตีเรื่องเคยแสดงจุดยืนในการสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงทำให้หลายพรรคประกาศจุดยืนว่าพร้อมยกมือสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย แต่ต้องไม่แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นการกดดันหรือปฏิเสธชื่อของนายชัยเกษมทางอ้อม เพื่อหวังจะให้พรรคเพื่อไทยมีการเปลี่ยนตัว

นายเทพไทระบุอีกว่า ในที่สุดที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย และกรรมการบริหารพรรคเสนอชื่อ น.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่ง น.ส.แพทองธาร มีจุดอ่อนเรื่องวุฒิภาวะทางการเมือง ความรู้ความสามารถ ขาดประสบการณ์ และการผิดคำพูดสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ตอนหาเสียง จนสื่อโซเชียลนำมาล้อเลียนกันอย่างกว้างขวาง และเชื่อว่าถ้านายทักษิณและพรรคเพื่อไทยผลักดันให้ น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ คนต่อไป จะมีชะตากรรมไม่ต่างอะไรกับนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถ้านายทักษิณตัดสินใจเสี่ยงที่จะเอาลูกสาวคนโปรดมาเสี่ยงคุก ก็ต้องยอมรับจิตใจของผู้เป็นพ่อ ที่ยอมผลักดันให้ลูกไปเสี่ยงคุกเพื่อแลกกับอำนาจทางการเมืองของตัวเอง

 “นับจากนี้ไปต้องรอดูเกมทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษนิยม จะพลิกแพลงไปในทิศทางใด การออกมาแถลงจุดยืนของพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงพรรคภูมิใจไทย ประกาศสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคเพื่อไทย แสดงให้เห็นว่าเกมนี้คุณทักษิณกำลังขี่คอฝ่ายอนุรักษนิยม จนต้องยอมศิโรราบต่อระบอบทักษิณ สร้างความเจ็บปวดให้มวลชนคนที่ต่อต้านระบอบทักษิณอย่างคับแค้นใจที่เห็นหัวขบวนของฝ่ายอนุรักษนิยม ยอมเป็นเบี้ยล่างให้กับระบอบทักษิณ โดยไม่คิดจะต่อสู้หรือคัดค้านใดๆ เลย อย่าลืมว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่สมบัติของใครคนใดคนหนึ่ง ที่นำมาต่อรองแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมืองกัน โดยไม่เห็นหัวประชาชน” นายเทพไทระบุ

นายเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสถาบันการสร้างชาติ กล่าวว่า การตัดสินใจครั้งนี้สะท้อนถึงความจำเป็นในการรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลและอำนาจนำของพรรค กลายเป็นตัวเลือกที่จำยอม แม้ว่าครอบครัวอาจยังไม่พร้อมให้ดำรงตำแหน่งในขณะนี้ก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่เหมาะสมและอาจเป็นความเสี่ยงเกินไปจากสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของคุณแพทองธาร ชินวัตร ยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะประเด็นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่อาจต้องมีการทบทวนหรือปรับเปลี่ยนเพื่อลดแรงต้านจากสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล

"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี