เศรษฐาหลุดเก้าอี้ มติ5:4ไม่ซื่อสัตย์

ไม่รอด! ศาล รธน.มีมติ 5 ต่อ 4 สั่ง "เศรษฐา" พ้นเก้าอี้ "นายกรัฐมนตรี" ปมตั้ง "พิชิต"  เป็นรัฐมนตรีทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ชี้ผิดมาตรฐานจริยธรรม​ร้ายแรง-ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ส่งผล "รัฐมนตรี" พ้นตำแหน่งทั้งคณะ "เสี่ยนิด" แถลงน้อมรับคำวินิจฉัย บอกเสียใจถูกชี้เป็นนายกฯ ไม่มีจริยธรรม มั่นใจไม่ใช่คนแบบนั้น ลั่นไม่คิดว่าถูกวางยา บอกผิดหวังทุกเรื่องโหดร้ายหมด รับยังห่วงทุกอย่าง แต่ฉากนี้มันจบลงแล้ว "อดีต สว.สมชาย" ระบุถือเป็นบรรทัดฐานแต่งตั้งรัฐมนตรี

ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 เวลา 09.30 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มประชุมปรึกษาหารือและลงมติ ในคดีที่อดีตสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นคำร้องต่ออดีตประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลง  ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)  ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐาไม่ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยศาลด้วยตนเอง โดยส่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาแทน ส่วน 40 อดีต สว.ที่เข้าชื่อยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีในคดีนี้ มีนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม และนายสมชาย แสวงการ เป็นตัวแทนมารับฟังคำวินิจฉัย

กระทั่งเวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี (อ่านรายละเอียดฉบับเต็มหน้า 4) โดยนายจิรนิติ หะวานนท์ เริ่มอ่านคำวินิจฉัยถึงประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องเป็นกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งรับคำร้อง

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5 )หรือไม่ ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามที่มีผู้ถวายคำแนะนำ  ความรับผิดชอบดังกล่าวประกอบด้วย 3 ประการ คือ ความรับผิดชอบในความถูกต้องตามแบบพิธี หรือกระบวนการได้มาโดยถูกต้องและสมบูรณ์  ความรับผิดชอบในข้อความของเอกสารที่นำขึ้นกราบบังคมทูล ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และความรับผิดชอบในสารัตถะที่ถูกต้องและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน

นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 เคยต้องโทษตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่วินิจฉัยว่า เสมียนทนายความที่ทำงานประสานงานให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำถุงกระดาษใส่เงินสดพร้อมให้เจ้าหน้าที่ของศาลฎีกา โดยที่รู้หรือควรรู้ว่าภายในถุงกระดาษนั้นมีเงินสดอยู่ และผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่ามีส่วนรู้เห็นในการกระทำดังกล่าวด้วยในลักษณะเป็นตัวการร่วม โดยมีเจตนาจูงใจให้เจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการโดยไม่ชอบด้วยหน้าที่ ที่อาจเชื่อมโยงไปเป็นประโยชน์แก่จำเลยในคดี หมายเลข อว. 1/2550 ซึ่งเป็นลูกความของผู้ถูกร้องที่ 2

รู้ประวัติถุงขนมยังเสนอตั้ง

จากการไต่สวนผู้ถูกร้องที่ 1 และนางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กระบวนการเสนอชื่อบุคคลเพื่อนำความกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีในเบื้องต้น จะต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี หากพบประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม จะดำเนินการหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา และจัดทำเอกสารสรุปการตรวจสอบประวัติรายงานต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรีต่อไป

พิจารณากระบวนการดังกล่าวเป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ย่อมต้องทราบถึงประวัติอัน รวมถึงคุณสมบัติลักษณะต้องห้ามของผู้ถูกร้องที่ 2 จากเอกสารสรุปการตรวจสอบประวัติที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอขึ้นมา และในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้องที่ 1 ชี้แจงว่าได้พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีผู้ถูกร้องที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกตามคำสั่งศาลฎีกา ที่ 4599/2551 การละเมิดอำนาจศาลตั้งแต่ปี 2551 รวมถึงการลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความเพราะประพฤติผิดมารยาททนายความ ตั้งแต่ปี 2552 มาพิจารณาด้วย ประกอบกับไม่มีพฤติการณ์หรือการกระทำอื่นใดของผู้ปกครองที่ 2 จะถูกหยิบยกขึ้นมาโต้แย้ง รวมทั้งไม่พบว่าผู้ถูกร้องที่ 2 มีพฤติการณ์หรือการกระทำอื่นใดเป็นพิเศษ หรือถูกฟ้องเป็นคดีอาญา จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องที่ 1 พิจารณาข้อเท็จจริงและใช้วิจารณญาณในการวินิจฉัยเกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 แล้ว

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ตามที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 ไม่ว่าอนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งก่อนการตัดสินใจเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี

นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ​ อ่านว่า ข้อพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 แล้วแต่ยังคงเสนอชื่อผู้ถูกร้องที่สองแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ ตามคุณสมบัติรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) หรือไม่  โดยข้อเท็จจริงนั้นต้องเป็นที่รู้อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงต้องไม่มีเหตุหรือเงื่อนไขใด หรือเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้อีก แต่เมื่อผู้ถูกร้องที่ 2 มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 เสนอชื่อผู้ถูกร้องที่ 2 ให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ย่อมปฏิบัติมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะเสนอบุคคลที่ไม่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แม้ผู้ถูกร้องที่ 1 จะกล่าวอ้างว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองที่จำกัด ไม่มีความรู้ด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร ทุกการตัดสินใจมีผลกระทบต่อบ้านเมือง จึงต้องมีความรับผิดชอบในทุกการกระทำ

ประกอบกับหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อสาธารณชนนั้น  เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดในลักษณะภาววิสัย ไม่ใช่ปัญหาข้อเกี่ยวกฎหมายที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญหรือประสบการณ์โดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ถึงมาตรฐานเยี่ยงวิญญูชนหรือบุคคลทั่วไปในสังคมก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ผู้ถูกร้องที่ 2 ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป จากการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นเหตุให้ศาลฎีกาสั่งลงโทษจำคุกนั้น เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้อย่างชัดแจ้งว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ผิดไปจากบทวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปจะปฏิบัติ เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นำความกราบบังคมทูลฯ ทั้งที่มีข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า เป็นกรณีต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 160 (4) โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณเยี่ยงวิญญูชน หรือแม้คำนึงถึงมาตรฐานบุคคลทั่วไป และไม่คำนึงถึงบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

ชี้ไม่ซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์

การที่นายกรัฐมนตรีจะเสนอบุคคลใดแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีนั้น มิได้อาศัยเฉพาะแต่เพียงความไว้วางใจส่วนตนโดยแท้ เพราะนอกจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบรัฐสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีซึ่งหมายถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีแต่ละคน  ต้องได้รับความเชื่อถือ และไว้วางใจจากสาธารณชนหรือประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยที่แท้จริง อันเป็นความเชื่อถือและไว้วางใจในทางความเป็นจริงด้วย

ดังนั้น แม้นายกรัฐมนตรีจะวินิจฉัยเสนอแต่งตั้งบุคคลที่ตนไว้วางใจให้เป็นรัฐมนตรีตามที่ตนเห็นสมควร หรือตามครรลองประเพณีทางการเมือง แต่บุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอันเป็นข้อกฎหมายที่วินิจฉัยได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 บุคคลนั้นต้องมีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจจากสาธารณชนตามมาตรฐานวิญญูชนด้วย ดังนั้น ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)

ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี ในการแต่งตั้งครั้งที่ 2  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นในคราวการเสนอการแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อครั้งวันที่ 1 ก.ย.2566 เฉพาะกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเฉพาะกรณีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (6) (7) เท่านั้น แต่การเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี เมื่อครั้งวันที่ 27 เม.ย.2567 ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ถูกร้องที่ 1 สอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 เพิ่มเติมแต่อย่างใด

การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 ชี้แจงว่าตนมีภูมิหลังจากการประกอบธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองจำกัด ไม่มีความรู้ทางด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ จึงไม่อาจวินิจฉัยว่าผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ เป็นข้ออ้างที่รับฟังไม่ได้ เพราะหลักเกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตและความน่าเชื่อถือไว้วางใจจากสาธารณชน ไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ต้องอาศัยความรู้หรือความชำนาญ ประสบการณ์ที่ต้องศึกษาโดยเฉพาะ เพียงความตระหนักรู้ ตามมาตรฐานวิญญูชนบุคคลทั่วไปก็เพียงพอต่อการวินิจฉัยได้แล้ว

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของผู้ถูกร้องที่ 2 ที่ข้อเท็จจริงปรากฏในคำสั่งศาลฎีกาที่ 4599/2551 ที่ศาลสั่งลงโทษผู้ถูกร้องที่ 2 ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่สาธารณชนต่างรู้กันโดยทั่วไป

เมื่อผู้ถูกร้องที่ 1 รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังคงเสนอให้แต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตามพระบรมราชโองการฯ ลงฉบับวันที่ 27 เม.ย.2567 ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4)

นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ​ แถลงว่า ข้อที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกร้องที่ 1 มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) โดยกล่าวหาว่าผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบผู้ถูกร้องที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าทนายความประจำตัว จึงเป็นมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ต้องการเอื้อประโยชน์ให้บุคคลดังกล่าว และหลังจากผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าพบบุคคลดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 1 นำความกราบบังคมทูลเพื่อเสนอแต่งตั้งผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยถอนชื่อหรือขอให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ถอนชื่อจากบัญชีเสนอชื่อแต่งตั้งรัฐมนตรีในการเสนอแต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2566 เป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์  และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง รวมถึงรู้เห็นหรือยินยอมให้ผู้ถูกร้องที่ 2 หรือผู้อื่นใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 ให้ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีโดยมิชอบ เป็นการกระทำที่ถือเอาประโยชน์ส่วนตนเหนือกว่าประโยชน์ของประเทศชาติ และเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนและประโยชน์ส่วนรวม

มติ 5:4 'เศรษฐา' พ้นนายกฯ

ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เป็นการก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการสมคบสมาคมกับผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ถ้าต่อมาตรฐานจริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ.2561 ข้อ 7, 8, 11, 17 และ 19 ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 219 วรรคสอง บัญญัติให้ใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีด้วย ผู้ถูกร้องที่ 1 จึงมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)​

เห็นว่า การวินิจฉัยว่ารัฐมนตรีคนใดมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) เป็นหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อการวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีผู้นั้น จะต้องสิ้นสุดลงหรือไม่ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ส่วนหน้าที่และอำนาจของศาลฎีกาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) กำหนดให้มีอำนาจวินิจฉัยคดีการฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากมีเหตุสงสัยว่ามีพฤติกรรมซึ่งกระทบต่อความเชื่อถือและไว้วางใจจากสาธารณชนเพื่อการวินิจฉัยว่าผู้นั้นเป็นผู้สมควรที่จะมีตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นดำรงตำแหน่งทางการเมืองอยู่ในขณะนั้นหรือไม่

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การที่ผู้ถูกร้องที่ 1 รู้หรือควรรู้ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2 ดังกล่าวโดยตลอดแล้ว แต่ยังเสนอแต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ย่อมเป็นการกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ 2561 หมวด 1 ข้อ 8 ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งข้อ 27 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดหนึ่ง ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง อันเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5) ด้วย

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 1 นายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)​ เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ขาดคุณสมบัติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4)​ และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง อันมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (5)​ เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4)​ แล้วรัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) โดยให้นำมาตรา 168 วรรคหนึ่ง (1) ​มาใช้บังคับกับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่พ้นตำแหน่งต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 5 คน คือ นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน,  นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ เห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐาสิ้นสุดลง ส่วนเสียงข้างน้อย จำนวน 4 คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ เห็นว่านายกฯ ไม่สิ้นสุด

​นายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ในฐานะหนึ่งในผู้ร้องคดีถอดถอนนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ครม.สิ้นสภาพทั้งคณะว่า ต้องขอบคุณศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ขาดว่านายเศรษฐาพ้นจากความเป็นนายกรัฐมนตรีเพราะความไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงในการนำรายชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเป็นรัฐมนตรี ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่ามีปัญหาตั้งแต่ต้น

"ถือว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้กับฝ่ายการเมือง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยชัดเจนถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในเรื่องการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรี การเป็นนายกฯ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือประพฤติผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ การเมืองต้องไม่มาถึงจุดต่างตอบแทน และการจะให้ใครเป็นรัฐมนตรี ก็ตามต้องตรวจสอบคุณสมบัติ และเดินตามมาตรฐานจริยธรรม ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกองค์กร และมั่นใจว่าได้ทำหน้าที่ของอดีตวุฒิสภา” นายสมชายกล่าว

'นิด' เสียใจถูกชี้ไม่มีจริยธรรม

ด้านความเคลื่อนไหวของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตลอดทั้งวันได้มีภารกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเวลา 08.30 น. ได้เดินทางไปทำบุญที่วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ให้กับนางชดช้อย ทวีสิน มารดา จากนั้นเวลา 09.20 น. เดินทางเข้าปฏิบัติภารกิจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯ ได้จอดรถลงมาทักทายสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประเทศที่มารอทำข่าวจำนวนมากอย่างอารมณ์ดี

ต่อมาเวลา 11.50 น. นายเศรษฐาลงพื้นที่บริเวณสะพานเพลินจิต เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เดินตรวจเยี่ยมตลาดใต้สะพานเพลินจิต กระทั่งช่วงบ่ายเดินทางกลับมารอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ทำเนียบรัฐบาล

เวลา 15.55 น. ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญแถลงคำวินิจฉัยเสร็จสิ้น นายเศรษฐาเดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อแถลงเปิดใจ ใช้เวลาทั้งสิ้น 19 นาที

นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องขอขอบคุณตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ให้โอกาสทุกๆ ฝ่ายได้มีโอกาสชี้แจงประเด็นทั้งหลาย และมีการหยิบยกกันมาพูดในวงกว้างและเป็นธรรม ตนเคารพในการตัดสินใจคำพิพากษาของทางศาลรัฐธรรมนูญ ขอยืนยันตลอดระยะเวลาปีหนึ่งหรือเกือบปีหนึ่งที่ดำรงตำแหน่งมา พยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง มีความตั้งใจจริงในการทำงาน ยึดมั่นในอุดมการณ์ทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รับฟังความคิดเห็นของทุกๆ ฝ่าย ยืนยันไม่เป็นที่ขัดแย้งของทุกๆ คน

ถามว่า ศาลชี้ว่าผิดจริยธรรมร้ายแรงทำให้ต้องยุติบทบาททางการเมืองตลอดชีวิต นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ได้ดูตรงคำว่าจะตัดสิทธิ์หรือไม่ตัดสิทธิ์มากกว่า แต่เสียใจตรงที่ว่าถูกออกไปเพราะเป็นนายกฯ ที่ไม่มีจริยธรรม ซึ่งยืนยันในตัวตนของตน คิดว่าไม่ใช่คนอย่างนั้น แต่อย่างที่บอกท่านตัดสินมาแล้ว ซึ่งเป็นตุลาการที่มีความรู้ความสามารถ ท่านตัดสินมาก็น้อมรับ

"ผมมั่นใจว่าผมเป็นคนมีจริยธรรม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ถูกร้องทำให้คำตัดสินออกมาเป็นอย่างนั้น ผมเสียใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นด้วย ผมน้อมรับคำตัดสิน และบอกมาตลอดเวลา ไม่ได้มีการวิ่งเต้นอะไร และไม่เคยโทรศัพท์หาใคร เมื่อส่งเอกสารปิดคดีไปแล้วก็ถือว่าจบแล้ว" นายเศรษฐากล่าว

ถามว่า คิดว่ามีใครวางยาหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่เคยคิดอย่างนั้น ไม่ใช่ว่าผลออกมาไม่ใช่เป็นที่เราคาดหวังแล้วจะไปกล่าวโทษคนนั้นคนนี้หรือวางยา ตนไม่เชื่ออย่างนั้น ซักว่าเข็ดหรือไม่ในทางการเมือง นายเศรษฐากล่าวว่า  มันไม่เกี่ยวว่าเข็ดหรือไม่เข็ด เพราะที่จริงแล้วปัญหาบ้านเมืองยังมีอยู่มาก

 เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะช่วยงานพรรคเพื่อไทยต่อไปหรือไม่ในฐานะสมาชิกพรรค นายเศรษฐากล่าวว่า ยังไม่ทราบจริงๆ แต่ตนก็อยากจะช่วยเหลือบ้านเมืองต่อไปในบทบาทอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องเป็น สส.หรือนายกฯ เมื่อถามด้วยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ มีความพร้อมที่จะสานต่อหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ทุกท่านที่อยู่ในรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ เขามีความพร้อมตรงนี้ ต้องเคารพกระบวนการรัฐสภาที่จะเลือกนายกฯ คนใหม่เข้ามา

ถามว่า การเป็นนักการเมืองกับการเป็นนักธุรกิจอะไรโหดร้ายกว่ากันเมื่อเจอความผิดหวัง นายเศรษฐากล่าวว่า ความผิดหวังทุกเรื่องโหดร้ายหมด แต่เราก็ต้องดีกับมันไป เมื่อถามว่าในวันที่ 15 ส.ค. สิ่งแรกที่อยากจะทำหลังตื่นนอนคืออะไร นายเศรษฐานิ่งคิดสักครู่ก่อนกล่าวว่า  ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่คิดว่าคงจะได้ไปลอยอังคารคุณแม่เร็วขึ้น

ถามอีกว่า เป็นห่วงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจหรือไม่ นายเศรษฐายอมรับว่าเป็นห่วงอยู่ เข้าใจถึงความซับซ้อนที่มีอยู่ในการบริหารจัดการของประเทศ เป็นห่วงตลอด รวมทั้งปัญหายาเสพติด และปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ ปัญหาพืชผลทางการเกษตร ก็เป็นห่วงอยู่ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันจบสิ้นไปแล้ว ฉากนี้มันจบไปแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้ว

ซักว่า อยากจะกล่าวอะไรถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มี เพราะ รู้จักกันอยู่แล้ว เดี๋ยวว่างๆ ก็จะหาเวลาไปดื่มกาแฟกันเป็นธรรมดา ไม่ได้มีอะไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงเสร็จสิ้น นายเศรษฐายกมือไหว้ขอบคุณสื่อมวลชน จากนั้นได้เดินไปขึ้นรถยนต์ส่วนตัว ทะเบียน ศฐ 30 กรุงเทพมหานคร โดยมีบุคคลใกล้ชิดซึ่งมีทั้งนายจักรพงษ์ แสงมณี รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกฯ, นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ, น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ เดินไปส่งที่รถยนต์ พร้อมยกมือไหว้ก่อนที่นายเศรษฐาจะปิดประตูรถยนต์และเดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 16.13 น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณ-พท.ปิดดีลเร็ว เลือกนายกฯคนใหม่ สะพัด”ชัยเกษม”ผงาด

ฉากทัศน์การเมืองต่อจากนี้ต้องติดตามว่าใครจะขึ้นมาเป็น”นายกรัฐมนตรีคนที่ 31”ของประเทศไทย เพื่อมาแทน “เสี่ยนิด เศรษฐา ทวีสิน”ที่ปิดฉากชีวิตการเมืองเรียบร้อย อยู่เป็นนายกฯ คนที่ 30 ไม่ถึงหนึ่งปี และหลังจากนี้ คงกลับไปใช้ชีวิตการเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กลับไปเป็นประธานบริษัทแสนสิริ ฯ ที่ตัวเองก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่อยู่หลังก่อนหน้านี้โอนหุ้นแสนสิริฯให้กับลูกสาวไปในช่วงเข้ามาเล่นการเมือง

ฉับไว! เคาะ 16 สิงหา เลือกนายกฯ สะพัด เพื่อไทยส่งชื่อ 'ชัยเกษม นิติสิริ'

ว่าที่ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสส.ทุกคน ที่ สผ 0014/ผ 49 ลงวันที่ 14ส.ค.2567 ระบุว่า ด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2567

'อนุทิน' ลั่นขออยู่ช่วยรัฐนาวาพ้นพายุไปให้ได้ ดีกว่าอยู่แล้วได้ประโยชน์คนเดียว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติ 5:4 ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า ตกใจ และขอส่งกำลังใจ จากกระทรวงมหาดไทยให้กับ