รื้ออภัยโทษคดีโกง ครม.ถกลับวาระจร‘ยธ.’ ซ่อมสส.พิษณุโลก15ก.ย.

"ครม." ถกลับ หลักเกณฑ์อภัยโทษสำหรับบางกรณี หลัง "ยธ." เสนอเข้าวาระจร หึ่ง!  ปรับเพิ่มความเข้มงวดเงื่อนไขในคดีทุจริต  "เศรษฐา" ปัดแจกแจงรายละเอียด "ทวี" ชี้ "ทักษิณ" โชว์วิสัยทัศน์​ในงานอี​เวนต์​ได้ ย้ำราชทัณฑ์ปมชั้น 14 ทำตาม กม. "แม้ว" โผล่วงประชุม สส.เพื่อไทย ปลุกอย่าอ่อนไหวกับเอไอ โวอีก 3 ปี พท.ต้องได้เสียงเกิน 200 "ครม." อนุมัติ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลกแทน “หมออ๋อง” 15 ก.ย.นี้ "พรรค ปชช." รอเฟ้นหาตัวชิงรอง ปธ.สภาฯ คนที่ 1 แข่ง "ภราดร" ภูมิใจไทย

 ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 13 ส.ค. มีรายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อการประชุมเข้าสู่ช่วงพิจารณาวาระสุดท้าย  กระทรวงยุติธรรมได้เสนอวาระจร โดยไม่มีการระบุหัวเรื่องหรือรายละเอียดใดๆ พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่และผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากห้องประชุม  เหลือเพียง ครม.และบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่พิจารณาเท่านั้น

ท่ามกลางกระแสข่าวระบุว่า ที่ประชุม ครม.ได้ร่วมกันพิจารณาวาระจรดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับบุคคลบางกรณี โดยภายหลังการประชุม ครม. นางพงษ์สวาท นีละโยธิน ปลัดกระทรวงยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ลงมาจากห้องประชุมด้วย

"ได้มีการหารือถึงข้อท้วงติงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในคดีทุจริต ที่ต้องการให้เพิ่มความเข้มข้นและรัดกุมมากขึ้น" แหล่งข่าวระบุ

ต่อมานายเศรษฐาปฏิเสธตอบคำถามกรณีกระแสข่าวที่ประชุม ครม.ได้มีการถกลับวาระจร  ที่กระทรวงยุติธรรมเสนอหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษสำหรับบุคคลบางกรณี โดยกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ไม่”

เมื่อถามย้ำว่า มีการหารือในรายละเอียดเรื่องอะไรกันบ้างหรือไม่ นายกฯ ไม่ตอบคำถามดังกล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งอยู่ระหว่างการพักโทษจะเข้าร่วมงานอีเวนต์เปิดมุมมองต่ออนาคตการเมืองที่คนไทยอยากเห็น เศรษฐกิจไทยจะขับเคลื่อนไปอย่างไร ในวันที่ 22 ส.ค.ว่า สำหรับผู้ได้รับการพักโทษ ต้องมีเงื่อนไขห้ามไปเกี่ยวข้องกับผู้ค้ายาเสพติดหรือไม่คบค้ากับผู้ต้องราชทัณฑ์อื่น และไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้

"การแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดๆ สามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมามีผู้พักโทษหลายคนก็ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชน แต่ไม่ขอระบุชื่อ" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

ถามถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบโรงพยาบาลตำรวจ, กรมราชทัณฑ์ และผู้เกี่ยวข้อง พ.ต.อ.ทวีกล่าวว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ประสานขอรายละเอียดจาก กสม. เท่าที่ทราบเป็นเรื่องกฎกระทรวงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ ซึ่งจริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง และบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ กำหนดเรือนจำมี 3 แห่งคือ 1.ในเรือนจำ 2.สถานที่คุมขังอื่น เพราะไม่เช่นนั้นจะแออัด และ 3.โรงพยาบาล ก็คือเรือนจำ

"ยืนยันกรมราชทัณฑ์ทำหน้าที่ตามกรอบกฎหมาย เพราะกฎกระทรวงได้แบ่งหน้าที่กันชัดเจน หากเป็นเรื่องรักษาพยาบาลไม่มีใครรู้ดีกว่าหมอ ส่วนจะมีการจำเป็นแก้ไขกฎกระทรวง ต้องเข้า ครม. มีมติเห็นชอบและอาจเชิญ กสม. หรือผู้แทนมาร่วมแก้ แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วย" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

ทักษิณโวอีก 3 ปี พท.ได้เกิน 200 

ที่อาคารชินวัตร 3 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประชุมพรรคเพื่อไทย ที่มีการเปลี่ยนสถานที่จากอาคารโอเอไอ ทาวเวอร์ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย มาเป็นที่อาคารชินวัตร 3 เนื่องจากทางพรรคระบุว่ามีการปรับปรุงอาคารที่ทำการพรรคใหม่ จึงได้มาใช้สถานที่อาคารชินวัตร 3 ในการประชุม ซึ่ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากติดภารกิจเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน ในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) หรือมินิ วปอ. ขณะที่บรรดาแกนนำ รัฐมนตรี และ สส.พรรคต่างทยอยเดินทางเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้ามาร่วมประชุมกับ สส.พรรค แต่ปรากฏว่าได้ติดภารกิจเฝ้าฯ รับเสด็จ จึงไม่ได้มาร่วมประชุม

อย่างไรก็ตาม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาที่อาคารชินวัตร 3 ด้วย โดยก่อนการประชุมนายทักษิณได้เข้าไปทักทายพร้อมกล่าวกับ สส.ช่วงหนึ่งว่า วันนี้ตนมาให้กำลังใจ สส.ในการทำพื้นที่ สิ่งที่พวกเราทำคือการให้โอกาสกับประชาชน ซึ่งต่างจากพรรคอื่นของเขาทุกคนต้องหัวเท่ากัน แต่ของเราคือการสร้างอาชีพเท่ากัน ความเท่าเทียมของเขาคือพ่อแม่ลูกเท่ากัน แต่ความเท่าเทียมของพรรคเพื่อไทยคือเรื่องของโอกาส คนไทยทุกคนต้องมีโอกาสอย่างเท่าเทียมในทุกมิติ ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพ เรื่องปากท้อง เมื่อคนมีโอกาสเท่ากันก็คิดว่าประชาชนจะให้โอกาสกับเรา

นายทักษิณระบุว่า เชื่อว่าหลักร้อยจะอยู่แค่สมัยนี้ ถ้าเราทำอีก 3 ปี พรรคเพื่อไทยจะได้ 200 ขึ้น ที่สำคัญเมื่อเป็น สส.ต้องรู้จักกตัญญูกับประชาชน ทุกครั้งที่ได้รับเลือกตั้งต้องไปดูแลประชาชน จากนี้ตนก็จะไปเยี่ยมเยียนประชาชนไปขอบคุณเขา แล้วจะคอยช่วยงานหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่หน้าตาเหมือนตน อย่างไรก็ตาม การสร้างโอกาสของพรรคเพื่อไทย จะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มี สส.ที่ขยันลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชน ขออย่าไปหวั่นไหวกับเอไอ  ไม่ต้องกลัว เพราะเอไอทันสมัย พรรคเพื่อไทยก็เป็นพรรคที่ทันสมัย มุ่งเน้นลดความเหลื่อมล้ำให้คนไทยเท่ากันด้วยโอกาส อีกพรรคชอบเอาความล้มเหลวมาสร้างคอนเทนต์

 “วันนี้คนไทยอ่านแต่คอนเทนต์ที่สร้างจินตนาการมาจากความล้มเหลวของรัฐบาลก่อน สร้างแต่คอนเทนต์ให้ตรงใจ แต่ทำจริงไม่ได้ แต่เพื่อไทยต้องทำให้คนไทยมีความเท่าเทียมกันในเรื่องของโอกาส และเราจะไม่ทิ้งคนที่มีดีเอ็นเอเพื่อไทย ที่สอบไม่ผ่านครั้งนี้เราจะนำคนเหล่านั้นมาร่วมทำงานเพื่อให้ได้เป้าหมายที่ต้องการ”  นายทักษิณกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดา สส.ที่ได้รับฟังต่างมีกำลังใจ และพูดตรงกันว่าจะตั้งใจทำงานลงพื้นที่พบประชาชน รับฟังปัญหาของชาวบ้านมากยิ่งขึ้น

วันเดียวกัน นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง พ.ศ..... เนื่องจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (5) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) เสนอ

เคาะซ่อม สส.พิษณุโลก 15 ก.ย.

นอกจากนี้ นายปดิพัทธ์ สส.จังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลง ทำให้ต้องดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่ง สส.ว่างลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 105 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 102 โดยให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง สส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 76 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลมีผลในวันอ่านคือ วันที่ 7 ส.ค.2567 จัดทำร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง สส.จังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 โดยจะประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน ก่อนวันเลือกตั้งภายในวันที่ 20 ส.ค.2567

"กกต.คาดว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ก.ย.2567 จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมาเพื่อดำเนินการ" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม เขต 1 พิษณุโลก สั้นๆ ว่า ยังไม่มีมติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือระหว่างแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการหารือกันเรื่องดังกล่าว โดยให้พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ได้รับเลือกตั้งพิษณุโลก เขต 1 มาอันดับ 2 ในครั้งที่แล้ว และพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเลือกตั้งมาอันดับ 3  ไปหารือกันว่าใครจะส่งผู้สมัคร

ส่วน พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย ทีมโฆษก พปชร. ฝ่ายกิจการพรรค กล่าวว่า ในการประชุม สส.ประจำสัปดาห์ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.เป็นประธาน ที่ประชุมได้มอบหมายให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นผู้พิจารณาว่าจะตัวแทนของพรรคในการลงแข่งขันเลือกตั้งซ่อมพิษณุโลกเขต 1 โดยจะต้องประเมินสถานการณ์จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ พปชร.ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 2 มาประกอบการตัดสินใจ และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพิจารณาอีกครั้ง  

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวว่า ตามหลักการในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล หากพรรคใดพรรคหนึ่งส่งผู้สมัคร อีกพรรคจะไม่ลงแข่ง และหากนำคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรครวมกัน พรรค พปชร., พท. และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะมีมากกว่าคนที่ชนะเลือกตั้ง

ถามว่า การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นการวัดกระแสของรัฐบาลดีขึ้นหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ขึ้นกับหลายปัจจัย จะเอาเรื่องผลงานรัฐบาลอย่างเดียวไม่ได้ แต่เรื่องสำคัญคือความพร้อมของคนที่ลงสมัคร และจากนี้เมื่อคุยภายในเสร็จแล้วตนจะไปคุยกับทางพรรค พท.

"จากผลคะแนนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ยืนยันว่าเมื่อลงสนามเลือกตั้งไม่มีใครกลัวใคร" ร.อ.ธรรมนัสกล่าว

ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวิปรัฐบาลถึงการแต่งตั้งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 แทนนายปดิพัทธ์ว่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ปรึกษาหารือกันเรียบร้อยแล้วว่าตำแหน่งดังกล่าวเป็นของพรรค ภท. แต่การประชุมสภาในสัปดาห์นี้ยังไม่มีการเลือกแต่อย่างใด ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ระบุจะมีการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ในวันที่ 14 ส.ค.นั้น เป็นสิ่งที่ตนคาดการณ์ไปเอง

 “วิปจะทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมสภา วันนี้ทางพรรค ภท.ยังไม่ส่งชื่อมา พรรคอื่นก็ยังไม่ส่งรายชื่อมา ฉะนั้นถ้าเราจะบรรจุวาระเพื่อพิจารณาในสัปดาห์นี้เลยดูไม่เหมาะสม และการจะบรรจุวาระต้องฟังจากทุกฝ่าย” ปธ.วิปรัฐบาลกล่าว

ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการเลือกรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ว่า ในธรรมเนียมเชิงปฏิบัติ ฝ่ายค้านก็มีการเสนอชื่อบุคคลแข่งขันด้วย ซึ่งหากจะมีการเสนอก็ถือเป็นโอกาสที่จะได้แสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งพรรคประชาชนยังอยู่ระหว่างการหารือว่าจะส่งใครลงชิงตำแหน่งหรือไม่

ขณะที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ยืนยันไม่มีการลาออกจากตำแหน่งตามกระแสข่าวเพื่อเปิดทางให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรค พท. เพราะตราบใดที่ยังทำงานได้ก็ยังทำงานปกติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ขนทีมเดินตรวจตลาดใต้สะพานเพลินจิต

'เศรษฐา' ควง 'สุริยะ-ชัชชาติ –ผู้ว่าฯ กทพ.' เดินตลาดใต้ด่วนเพลินจิต นายกฯ ชมไอเดียดี หนุนคนพื้นที่มีอาชีพ -ห่างไกลยาเสพติด แนะทำสวนสาธารณะ-ลานกีฬาเพิ่ม 'พ่อค้าแม่ค้า' ขอลดราคาแผง

'อดีต40สว.' ผู้ร้องถอดถอน 'เศรษฐา-พิชิต' เชื่อมั่นในหลักกฎหมาย พร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้แทนอดีต40ส.ว.ผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้ถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน และนายพิชิต ชื่นบาน ให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี โพสต์ข้อความว่า