ทิมข้องใจจริยธรรม วัดกันแบบไหนปม44สส. ‘ปชช.’แห่โต้สาขาพรรค!

"หมอวรงค์" จ่อยื่น กกต.ยุบ "พรรคประชาชน” เหตุ "พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล" ตั้งสาขาภาคไม่ครบ 4 ภาค เข้าข่ายสิ้นสภาพนำมาเปลี่ยนชื่อพรรคไม่ได้ เลขาฯ พรรค ปชช.โต้กลับไม่อัปเดตข้อมูล ยันมีสาขาครบ 4 ภาค เตรียมยื่นรายละเอียดต่อ กกต.13 ส.ค.นี้ "ภคมน" จวกจ้องหาเรื่องยุบพรรคคนอื่นเป็นวิถีคนแพ้ ท้าลงสมัครเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก "พิธา" ยัน 3 ท.ทำงานเป็นทีม "เท้ง" นำพรรคไปได้ดี โวยไม่ยุติธรรมจะตัดสิทธิ์  44 สส.แก้ ม.112 ใครจะเป็น "ตำรวจจริยธรรม" นักกฎหมาย มธ.ฟันธงเอาผิดยาก เพราะทำตามหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ได้ทำนอกสภาฯ

เมื่อวันอาทิตย์ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กระบุว่า ทำไมต้องเสนอยุบพรรคประชาชน (ปชช.) ว่า ตามที่สื่อเสนอข่าวว่าพรรคประชาชนเกิดจากการที่นำพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลมาเปลี่ยนชื่อพรรค เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นสถาบันสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ต้องโปร่งใสและตรวจสอบได้ จากการตรวจสอบผ่านเว็บ กกต.พบว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลซึ่งเป็นพรรคต้นกำเนิดของพรรคประชาชน มีสาขาพรรค 3 สาขา ภาคเหนือ 2 สาขา และภาคกลาง 1 สาขา ไม่มีสาขาภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งกฎหมายพรรคการเมืองกำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองย่อมสิ้นสภาพถ้ามีสาขาพรรคการเมืองเหลือไม่ถึงภาคละ 1สาขา เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปี นั่นหมายความว่า  พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องมีสาขาครบทั้ง 4 ภาค ห้ามขาดหายไปติดต่อกัน 1 ปี ถ้าไม่ครบพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลต้องสิ้นสภาพ

นพ.วรงค์ระบุว่า ข้อมูลหน้าเว็บ กกต.พบว่าพรรคถิ่นกาขาวชาววิไลมีสาขาพรรคเพียงแค่ 2 ภาค ซึ่งไม่ครบ 4ภาค และจัดตั้งตั้งแต่ปี 2555 เพื่อความโปร่งใส กกต.ต้องตรวจสอบและชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบรายละเอียดการมีสาขาในแต่ละปี ถ้าพรรคถิ่นกาขาวมีสาขาไม่ครบ 4 ภาคติดต่อกัน 1 ปี จะเข้าข่ายการสิ้นสภาพของพรรคตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าพรรคประชาชนจะไม่สามารถนำพรรคที่สิ้นสภาพมาดำเนินการเปลี่ยนชื่อพรรคได้ ดังนั้นพรรคไทยภักดีจะไปยื่นเรื่องดังกล่าวให้ กกต.ตรวจสอบ และดำเนินการต่อไปให้เป็นไปตามกฎหมาย

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ถ้าขณะที่เป็นพรรคถิ่นกาขาวแล้วยังมีสมาชิก หรือพรรคสาขาไม่ครบตามเงื่อนไข พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. 2560 ก็เป็นหน้าที่ กกต.ที่จะต้องดำเนินการส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคได้ แต่ยึดข้อมูลที่ กกต. เป็นหลักว่าเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เพราะบางครั้งข้อมูลที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์อาจจะไม่มีการอัปเดตที่เป็นปัจจุบัน ต้องดูที่ข้อมูลในฐานข้อมูลปัจจุบันของ กกต.อย่างเป็นทางการ

เมื่อถามว่า หากตรวจสอบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันจากฐานข้อมูล กกต.แล้วพบว่ามีพรรคสาขาไม่ครบ กกต.ต้องดำเนินการอย่างไร นายสมชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องตรวจสอบ ไม่ต้องรอให้ใครมายื่นร้องเรียน หากพบว่ามีพรรคสาขาไม่ครบ กกต.ก็ต้องส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยให้มีการยุบพรรค

 การย้ายมาเป็นพรรคใหม่ต้องยึดตามตั้งแต่ยังเป็นพรรคถิ่นกาขาว ซึ่งข้อมูลจะอยู่ที่ กกต.อยู่แล้ว ถ้า กกต.มีข้อมูลแล้วไม่ทำ กกต.ก็จะถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เรื่องนี้ไม่ต้องสอบอะไร แค่ไปดูข้อมูลว่าเป็นอย่างไรเท่านั้นเอง

ด้านนายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน  ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าว นพ.วรงค์คงไม่ได้อัปเดตข้อมูล ดูเพียงในเว็บไซต์ กกต.ที่ยังไม่ได้มีการอัปเดตข้อมูล ทั้งนี้ตนยืนยันว่า พรรคถิ่นกาขาวชาววิไลก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคประชาชน มีการจัดตั้งสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาค ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่เป็นกังวล

นายศรายุทธิ์กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนในเรื่องการเปลี่ยนชื่อพรรคและกรรมการบริหารพรรคหลังการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดทำรายละเอียดการประชุมต่างๆ เช่น เปลี่ยนชื่อ โลโก้ กรรมการบริหารและข้อบังคับพรรคให้ครบถ้วนแล้ว และเตรียมยื่นต่อ กกต. วันที่ 13 ส.ค.นี้

น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวว่า พรรคประชาชนมีสาขาพรรคครบทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.สกลนคร, ภาคกลาง จ.ราชบุรี และภาคเหนือ จ.นครสวรรค์ ดังนั้นเรื่องการตั้งสาขาพรรคเรามีครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดแน่นอน แต่ข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ของ กกต.อาจจะอัปเดตฐานข้อมูลในช่วงรอยต่อของการยกเลิกสาขา ครบวาระหรือตั้งสาขาใหม่ จึงทำให้ระบุสาขาพรรคไม่ครบถ้วน

ท้า 'หมอวรงค์' ลงเลือกตั้งซ่อม

นส.ภคมนกล่าวว่า ขอฝากถึงคุณหมอวรงค์ว่าเมื่อได้รับข้อมูลอะไรมา อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปและตีฟูเป็นประเด็น แต่ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนก่อน มิเช่นนั้นก็จะเกิดสถานการณ์หน้าแตกดังที่เห็น เข้าใจว่าการแพ้เลือกตั้งซ้ำซากหลายสมัยอาจทำให้คุณหมอรู้สึกหงุดหงิด ดังนั้นในการเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก เขต 1 ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ ขอเชิญชวนให้คุณหมอมาลงสมัครด้วย จะได้รู้ให้ชัดว่าประชาชนยังคงสนับสนุนคุณหมออยู่ หรือชีวิตทางการเมืองของคุณหมอนั้นอวสานไปนานแล้ว

 “พรรคประชาชนขอเตือนด้วยความหวังดีว่า การจ้องแต่จะร้องยุบพรรคคนอื่นคือวิถีของคนขี้แพ้ ที่ไม่สามารถชนะเลือกตั้งด้วยตัวเองได้ ขอให้คุณหมอเอาเวลาไปทำอย่างอื่น และใช้เวลาในการพัฒนาพรรคของตัวเองบ้าง น่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากกว่า” น.ส.ภคมนกล่าว

ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความกังวลที่มีหลายพรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค แต่ยังมีบางส่วนที่ใช้เรื่องการยุบพรรคเป็นเครื่องมือในการโจมตีพรรคการเมืองอยู่ว่า การอภิปรายในสัปดาห์สุดท้ายของตนในสภาฯ มีทั้งพรรคเพื่อไทย อดีตพรรคก้าวไกล และพาดหัวข่าวของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่งก็เห็นด้วยที่ไม่สนับสนุนการยุบพรรคแบบนี้อีกต่อไป การยุบพรรคขึ้นอยู่กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เคยบอกกับตนในสมัยทำงานร่วมกันที่อดีตพรรคก้าวไกล ว่าจะยื่นแก้ไข พ.ร.ป.ดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าคุณ “What the talk" ทำตามคำพูดที่อภิปรายหรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไว้หรือไม่

นายพิธากล่าวอีกว่า มั่นใจว่าพรรคประชาชนจะสามารถที่จะบริหารจัดการได้ โดยวิถีทางของพรรค และรู้สึกไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลใจตั้งแต่ต้น ส่วนจนถึงวันนี้หลังถูกยุบพรรค ส่วนตัวเบาใจ สบายใจ แต่หากให้พูดถึงส่วนรวมก็รู้สึกหนักใจกับระบบการเมือง ระบบสังคม และระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัญหาต้องแก้ไขเยอะ

เมื่อถามว่า เห็นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ออกสื่อแล้วถือว่าพอไปได้หรือไม่ นายพิธาตอบทันทีว่า ไปได้ดีแน่นอน เพราะตนรู้จักนายณัฐพงษ์มานานมาก ตั้งแต่เริ่มทำการเมืองด้วยกัน ดังนั้นไม่มีอะไรต้องห่วงหรือต้องฝาก เชื่อว่าเขาจะทำได้ดีแน่นอนอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนยังติดภาพนายพิธาเป็นคนนำทัพพรรคอยู่ นายพิธาตอบทันที “โอ้ย ผมว่าไม่จริงเลยครับ จากตัวเลข สถิติหรือการตอบรับจากประชาชน ก็สะท้อนอยู่แล้วว่าไม่ได้ยึดติดกับผม"

'พิธา' ยัน 3 ท.ทำงานเป็นทีม

เมื่อถามอีกว่า ทั้งนายณัฐพงษ์และนายศรายุทธิ์สนิทสนมกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า  ทำให้นายธนาธรอาจมีบทบาทมากขึ้นในพรรคประชาชน  นายพิธากล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะทุกคนสนิทกันหมด 3 ท.ทหาร ด้วยการทำงานอย่างหนัก การแลกเปลี่ยนกันจนกลายเป็นมากกว่าเพื่อนร่วมงาน จึงไม่ได้รู้สึกว่าใครจะมาเพิ่มบทบาท เพราะพรรคนี้มันทำงานเป็นทีมกัน

เมื่อถามย้ำว่า หากพูดถึง 3 ท. กังวลหรือไม่ว่า ท.ที่ 3 จะโดนทุบทำลาย นายพิธาตอบว่า ไม่กังวลแต่ไม่ประมาท  ตอนแรกก็คิดในลักษณะสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังมีความรู้สึกว่ายังมีความพยายามที่จะทำลายล้างกันอยู่ ดาบสองก็ยังมีโอกาสตัดสิทธิ์ตน จากกรณี สส. 44 คนถูกร้องในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีโทษตัดสิทธิ์ตลอดชีวิต จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องทำความเข้าใจและต่อสู้ให้เห็นว่า ในฐานะผู้เสนอกฎหมาย ในฐานะ สส.เป็นเรื่องปกติ แต่ไม่กังวล ซึ่งกระบวนการเตรียมการเข้าไต่สวนก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ถ้าฐานความผิดหมิ่นประมาท ลักขโมย ยาเสพติด แล้วโทษที่ได้รับเป็นประหารชีวิต ตรงนี้มันไม่ได้สัดส่วนกัน

"ถ้าเกิดจะบอกว่าผิด มันผิดที่จริยธรรม คราวนี้จริยธรรมของผม จริยธรรมของเค้า หรือจริยธรรมของคนที่อยู่ในที่นี้มันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้ามันไม่ได้ตัดสินอย่างตรงไปตรงมาได้ แทนที่จะตัดสิทธิ์กัน ก็เห็นว่ามันไม่ยุติธรรม กับเพื่อน สส.ในอดีตหลายคนที่ผ่านมา ทั้งที่เป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล เขาผิดแค่นี้ แล้วเล่นแบบนี้ ไม่มีกฎหมายเอาผิดพวกเขาได้ด้วยซ้ำ แล้วแบบนี้ใครจะเป็นตำรวจจริยธรรม มันทำให้สังคมอันตราย" นายพิธากล่าว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนมีผู้สมัครสมาชิกพรรคจำนวนมาก และสามารถระดมเงินบริจาคได้กว่า 20 ล้านบาท ในระยะเวลาดำเนินการเพียงไม่กี่วันว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้รู้สึกหนักใจ เอฟซีของใครก็ย่อมสนับสนุนพรรคของตัวเองเป็นเรื่องปกติ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายพรรค ว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนมากน้อยแค่ไหน การที่พรรคประชาชนประกาศความเชื่อมั่นจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในการเลือกตั้งปี 2570 นั้น ก็ต้องดูว่าถึงเวลาจะทำได้จริงหรือไม่ เหลือเวลาอีก 3 ปี สถานการณ์ในอนาคตคาดการณ์ไม่ได้อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง

"แต่พรรคเพื่อไทยมั่นใจในนโยบายและการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน จะทำให้ได้รับความเชื่อมั่น และเสียงตอบรับจากประชาชนในการเลือกตั้งสมัยหน้า โดยเฉพาะขณะนี้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตใกล้จะแจกเงินถึงมือประชาชนในปลายปี ทำให้เสียงตอบรับของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยดีขึ้นมาก รวมถึงราคาพืชผลการเกษตรหลายอย่างก็ดีขึ้น ทำให้คะแนนพรรคเพื่อไทยกลับมาดีขึ้นอย่างมาก" นายวิสุทธิ์กล่าว

นายมุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้องกรณี สส.พรรคก้าวไกล 44 คนสมัยที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันก็เป็น สส.กันหลายคน ถูกร้องว่าทำผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณีร่วมกันเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาฯ ว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะการเสนอแก้กฎหมายเป็นการกระทำในทางนิติบัญญัติ และต้องไม่ลืมว่าการที่ศาลอ้างเหตุแห่งการสั่งยุบพรรค ไม่ได้วินิจฉัยโดยอ้างจากเหตุของการเสนอแก้กฎหมายอย่างเดียว แต่ยังอ้างถึงการกระทำของ สส.ในหลายการกระทำและในหลายวาระด้วยกัน เพราะฉะนั้นแล้วการเสนอแก้กฎหมายโดยลำพังตัวมันเอง เป็นการทำหน้าที่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อให้กฎหมายที่เสนอมันอาจจะทำให้เกิดข้อโต้แย้งหรือหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม มันก็ยังไม่ใช่การกระทำผิดกระทำชั่วใดๆ เพราะการเสนอกฎหมายเป็นเพียงการโยนคำถามให้ผู้แทนประชาชนร่วมกันถกเถียงและหาทางออก ถ้าเราไปจำกัดว่าเรื่องใดเสนอได้หรือไม่ได้ ก็จะเป็นการไปจำกัดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บอกเช่นนี้

44 สส.แก้ ม.112 ตามหน้าที่

นายมุนินทร์กล่าวว่า ถ้าแบบนี้ต่อไปหาก สส.ไปเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ ที่ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องอื่นที่อาจมีการมองว่าเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ อย่างเช่นที่ก่อนหน้านี้มีการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกอนาจาร หรือเสนอกฎหมายทำให้การพนันเป็นเรื่องถูกกฎหมาย หรือเรื่องกัญชา แล้วมีคนไปร้องศาล รธน. แล้วศาล รธน.บอกว่า การเสนอกฎหมายแบบนี้มันไม่ชอบ ไม่ถูกต้องตามหลักศีลธรรมคุณธรรม แล้วจะมีคนไปยื่นให้ตรวจสอบพวก สส.ที่ไปเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าวที่เป็นเรื่องหมิ่นเหม่ต่อศีลธรรมหรือไม่ มันจะมีความเสี่ยงเยอะมาก มันจะไปกระทบกับการทำหน้าที่ทางฝ่ายนิติบัญญัติของสส. เพราะว่าเขาไม่ได้ไปเรียกร้องให้ไปทำอะไรนอกรัฐสภา แต่ว่าเป็นการกระทำตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเขาในการทำหน้าที่ สส. คือเสนอเข้าสภาฯ แล้วก็ไปอภิปรายกันในสภาฯ จะพอใจหรือไม่พอใจอย่างไรก็ไปว่ากันในสภาฯ ที่สภาฯ ก็มีสิทธิ์ปฏิเสธร่างกฎหมายนี้ได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมองไม่ออกว่าการเสนอแก้กฎหมายโดยผ่านกระบวนการของสภาฯ มันจะเป็นเรื่องของการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้อย่างไร

“แต่ว่าบ้านเรามันก็ไม่แน่ เพราะอย่างที่หลายคนบอกคือ หลายเรื่องอาจจะเป็นมูลเหตุจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ก็มีคนสงสัย ตั้งคำถามลักษณะแบบนี้มาตลอด  เพราะบางทีในทางกฎหมายมันดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายมันก็เกิดผลบางอย่างทางกฎหมายขึ้นมา คนก็สงสัยว่าทำไมหลักการตามกฎหมายมันเป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นไปได้ คนก็เลยบอกว่าเป็นเพราะเป็นเรื่องทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งเราก็บอกอะไรไม่ได้ แต่หากมองในเชิงกฎหมาย มันไม่มีทางที่จะเป็นเรื่องที่จะบอกว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงได้เลย” นายมุนินทร์กล่าว

เมื่อถามว่า หากเกิด ป.ป.ช.ชี้มูล 44 สส.ก้าวไกลดังกล่าวขึ้นมา จนส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณาไต่สวน  ทางศาลฎีกาก็ต้องพิจารณาคดีโดยดูจากเรื่องของเจตนาเป็นสำคัญ นายมุนินทร์กล่าวว่า ถูกต้อง เพราะกระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกา ตามหลัก due process  ศาลก็ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งจริงๆ ต้องตั้งแต่ชั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่หากจะรับเรื่องไว้ก็ต้องมีการตั้งอนุกรรมการไต่สวน ที่ต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวได้มีโอกาสชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติใดๆ

"หาก ป.ป.ช.มีการชี้มูลคดีก็ต้องส่งศาลฎีกา ทางศาลฎีกาก็ต้องตั้งองค์คณะพิเศษขึ้นมาพิจารณาคำร้อง โดยต้องมี due process คือมีการสืบพยาน มีการให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหา ได้นำพยานหลักฐานเข้าพิจารณาคดีอย่างเต็มที่ก่อนศาลฎีกาจะตัดสินคดี ซึ่งการพิจารณาเรื่องความผิดคดีอาญาหรือการกล่าวหาว่าละเมิดฝ่าฝืนจริยธรรมฯ ต้องมีเรื่องของเจตนาเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการพิสูจน์ว่ามีเจตนาที่จะละเมิดจริยธรรมหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาที่จะเสนอร่างแก้ไขกฎหมาย หรือต้องการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามปกติ และอย่าลืมว่าร่างกฎหมาย จะเป็นกฎหมายหรือไม่ ต้องผ่านกระบวนการอีกมากมายในระบบรัฐสภา และต้องมีการโหวตของทั้งสองสภา ในอดีตก็ไม่เคยปรากฏว่ามีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติคนใดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายดังกล่าว ต้องรับผิดชอบทั้งในทางกฎหมายหรือในทางจริยธรรม" นายมุนินทร์กล่าว

สำหรับ 44 สส.ก้าวไกลสมัยที่แล้วที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เข้าสภา มีแกนนำพรรคประชาชนทั้ง นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค นายณัฐวุฒิ บัวประทุม กรรมการบริหารพรรคและนายทะเบียนพรรค นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รวมถึง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล แกนนำพรรคประชาชน และ สส.พรรคประชาชนอีกหลายคน ที่รวมถึงนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่แม้จะโดนตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปีไปแล้วจากคดียุบพรรคก้าวไกล แต่ก็ต้องมาลุ้นในคดี 44 สส.พรรคก้าวไกลดังกล่าวด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเดย์ 14 ส.ค. 'หมอวรงค์' ยื่น กกต. ยุบ 'พรรคประชาชน'

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ยื่นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบการมีสาขาย้อนหลังของพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล