40สว.มั่นใจ‘เศรษฐา’หลุดเก้าอี้แน่

"สมชาย" มั่นใจ 14 ส.ค.ถึงคิว "เศรษฐา" เก็บกระเป๋าออกจากทำเนียบฯ แน่ ชี้แถลงปิดคดีมี 5 จุดตาย ย้ำนายกฯ เป็นตัวการหลักนำชื่อคนมีมลทินขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อ้างไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ซ้ำร้ายไม่ใช่แค่ครั้งเดียว "สวนดุสิตโพล" เผยถึงเวลาปรับ ครม. อึ้ง! 64%ไม่เชื่อมั่นฝีมือรัฐบาล "บิ๊กป้อม" ฉลองเข้าสู่วัย 80 ปีคึกคัก

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2567 นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อดีตแกนนำกลุ่ม 40 สว. กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะนัดอ่านคำวินิจฉัยคดีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่เสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เพื่อโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า 40 สว.มั่นใจในการสู้คดี ซึ่งในคำแถลงปิดคดีที่ยื่นต่อศาล กลุ่มผู้ร้องได้สรุปย้ำ 5 ประเด็นสำคัญว่า นายเศรษฐาในฐานะนายกฯ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในการนำรายชื่อนายพิชิตขึ้นกราบบังคับทูลฯ เป็นรัฐมนตรี ที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ให้มีสิ่งใดบกพร่อง แต่เรื่องนี้สิ่งสำคัญคือ นายเศรษฐารู้อยู่แล้วหรือควรรู้อยู่แล้ว 2 ครั้ง ไม่ใช่ครั้งเดียว ว่านายพิชิตมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

นายสมชายอีกกล่าวว่า ครั้งแรกคือตอนกำลังตั้งรัฐบาลเศรษฐา 1 ที่จะตั้งนายพิชิตกับนายไผ่ ลิกค์ เป็นรัฐมนตรี แต่ถอนชื่อออกเพราะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) ซึ่งนายเศรษฐาจะปฏิเสธไม่รับรู้ไม่ได้ เพราะรับรู้ตั้งแต่ต้น จึงไม่นำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่นายกฯ ก็อาจอ้างทางการเมืองว่าทั้ง 2 คนถอนตัวไม่ประสงค์จะมีชื่อก็ว่ากันไป อีกทั้งยังสามารถเสนอชื่อคนอื่นเป็นรัฐมนตรีแทนได้ เพราะตอนตั้งรัฐบาลครั้งแรกรายชื่อเสร็จเมื่อ 1 ก.ย.  2566 แล้วมาปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) อีกครั้งช่วง เม.ย. 2567 รวมเวลา 7 เดือนเศษ นายกฯ ถ้าจะปรับ ครม.ก็เสนอชื่อคนอื่นแทนได้ โดยการที่ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำหนังสือถามความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาหลังนายพิชิตกับนายไผ่มีปัญหา การทำหนังสือก็ต้องถามแบบให้พิจารณาทั้งมาตรา ในเรื่องเกี่ยวกับหากมีข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของการเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ถามแค่ว่ามีปัญหาขัดกับมาตรา 160 (6) และ (7) หรือไม่ เหตุใดไม่ถามให้ครบไปเลยว่าขัดมาตรา 160 เลยหรือไม่ ที่ผ่านมาเวลา สลค.จะสอบถามกฤษฎีกา ก็จะถามโดยให้กฤษฎีกาพิจารณาว่ารัฐมนตรีแต่ละคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามหรือไม่

นายสมชายยกตัวอย่างว่า สมัยที่เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบประวัติฯ ของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นองค์กรอิสระหลายแห่งของวุฒิสภา เวลา กมธ.ฯ สอบถามหรือขอข้อมูลหน่วยงานราชการ ตามหลักปฏิบัติจะถามไปยัง  21 หน่วยงานเพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูล เช็กประวัติ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักข่าวกรองแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลปกครอง เป็นต้น ซึ่ง กมธ.ฯ จะไม่ได้ถามว่าคนที่ส่งชื่อไปมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 วงเล็บใดวงเล็บหนึ่งหรือไม่ แต่จะถามไปเลยว่าคนที่ส่งชื่อมาให้ตรวจสอบเคยมีคดีอะไรหรือไม่ หรือเคยถูกตรวจสอบอะไรหรือไม่ แล้วหน่วยงานต่างๆ ก็จะตอบมา เช่นบอกว่าบุคคลดังกล่าวเคยตกเป็นจำเลยหรือมีคดีความมีชื่ออยู่ ถ้าแบบนี้ก็เท่ากับไม่ผ่านคุณสมบัติ ไม่ใช่ไปเลือกตั้งคำถามกับบางหน่วยงาน เช่นบุคคลคนนี้ที่เคยมีคดีอยู่ที่ศาลปกครอง คดีสิ้นสุดหรือยัง ศาลยกคำร้องหรือไม่ ถ้าแบบนี้เรียกว่าถามแบบเฉพาะเจาะจงซึ่งไม่ถูกต้อง การถามให้ตรวจสอบประวัติ คุณสมบัติต้องห้าม ต้องถามทั้งหมดไม่ใช่ถามแบบเฉพาะเจาะจง

"การตั้งรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลนายเศรษฐามื่อ ก.ย. 2566  การถามเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของคนที่มีชื่อเป็นรัฐมนตรีต้องถามทั้งหมด ถามให้ครอบคลุม ถามทุกอนุมาตราของมาตรา 160 และมาตรา 98 จะเลือกถามเฉพาะบางอนุมาตราแบบที่ทำไม่ได้ นี่คือรู้ครั้งแรกว่านายพิชิตมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ"

เปิดไทม์ไลน์รู้ครั้งที่สอง

นายสมชายกล่าวอีกว่า รู้ครั้งที่สองคือในช่วงปรับ ครม.และมีชื่อนายพิชิตจะได้เป็นรัฐมนตรี นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้ตรวจสอบกับคณะกรรมการกฤษฎีกาก่อนนำชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ในการปรับ ครม. แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบว่า สลค.ไม่ได้ทำหนังสือไปถึงกฤษฎีกาเพื่อขอหารือก่อนนำชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ  ถวาย มีแค่การถามครั้งแรกเมื่อ 1 ก.ย. 2566 ในช่วงตั้งรัฐบาลครั้งแรก จึงเท่ากับว่านายกฯ ก็รู้ตัวดีว่าไม่ได้ถามกฤษฎีกา แต่กลับบอกกับสื่อมวลชนว่าหารือไปยังกฤษฎีกาแล้ว ถือเป็นการไม่ซื่อสัตย์สุจริตในการตอบ ทำโดยไม่รับผิดชอบ ทำให้สังคมสับสน เกิดความเข้าใจว่าตรวจสอบคุณสมบัตินายพิชิตอีกครั้งหนึ่งแล้ว ทั้งที่นายพิชิตเคยถูกคุมขัง 6 เดือนในคดีถุงขนม 2 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้คนที่อยู่ในวงการตุลาการ นักกฎหมาย รู้ดีว่าถือเป็นคำพิพากษา แต่ที่เรียกว่าคำสั่งศาลให้จำคุก เพราะตอนเริ่มต้นความผิดมันเกิดขึ้นที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ที่ตอนเกิดเหตุคดีถุงขนมยังเป็นศาลเดียว ไม่เหมือนปัจจุบันที่ให้อุทธรณ์ได้จึงเป็นสองศาล อีกทั้งศาลยุติธรรมยังได้มีการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้กระทำผิดในคดีถุงขนม 2 ล้านบาท ในข้อหาติดสินบนเจ้าพนักงาน โดยนำรูปถ่ายเงิน  พยานบุคคลไปแจ้งความกับตำรวจ จนคดีไปถึงอัยการ แต่อัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง ซึ่งพบว่าอัยการสูงสุด (อสส.) เวลานั้นคือหนึ่งใน 3 แคนดิเดตนายกฯ คนปัจจุบันของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายเศรษฐาก็สามารถสอบถามข้อมูลกับอดีต อสส.คนดังกล่าวได้

นายสมชายย้ำว่า ที่สำคัญมากคือ สำนักงานศาลยุติธรรมยังทำบันทึกถึงสภาทนายความหลังเกิดคดีถุงขนม เพื่อให้สภาทนายความเพิกถอนใบอนุญาตการว่าความ  การเป็นทนายความของนายพิชิต เพราะทำผิดจริยธรรมจรรยาบรรณอย่างร้ายแรง ที่สภาทนายความมีระเบียบไว้ว่า หากถูกเพิกถอนใบอนุญาตครบ 5 ปีแล้วสามารถไปยื่นเรื่องขอใบอนุญาตใหม่ได้ แต่จากการตรวจสอบพบว่า ทีมทนายความถุงขนมที่มีด้วยกัน 3 คน ถึงตอนนี้ทั้งหมดยังไม่ได้รับใบอนุญาตทนายความ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ถูกถอนใบอนุญาตพอครบ 5 ปีไปขอใหม่ก็ได้รับเกือบหมด ยกเว้นกรณีมีความผิดร้ายแรง

 “กรณีถุงขนมถือว่ามีความผิดร้ายแรง สภาทนายความถึงไม่มีการคืนใบอนุญาตว่าความให้กลุ่มทนายความคดีถุงขนม ซึ่งพบว่ากลุ่มดังกล่าวเคยไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง จนคดีไปถึงศาลปกครองสูงสุด ซึ่งศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินยืนว่า สิ่งที่สภาทนายความทำถูกต้องแล้ว ดังนั้นเท่ากับนายเศรษฐารู้อยู่แล้วเป็นครั้งที่สอง โดยรู้และสามารถตรวจสอบได้ แต่ไม่ตรวจสอบก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย นายกฯ จะมาอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ ไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์ จะอ้างแบบนี้ไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องรู้กฎหมาย และนายกฯ มีคณะที่ปรึกษากฎหมายคือกฤษฎีกา แต่ตอนที่ทำหนังสือไปถึงกฤษฎีกา มีการเลือกถามความเห็น ถามไม่ครบ 

ซัด 'เศรษฐา' ตัวการหลัก

นายสมชายระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นตามคำร้องนายเศรษฐาถือเป็นตัวการหลัก ไม่ใช่ตัวประกอบ นายกฯ คือตัวการในความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ในการนำรายชื่อนายพิชิตขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ที่ต้องนำชื่อคนที่ไม่มีปัญหาข้อกฎหมาย ไม่มีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรี แต่นายเศรษฐาไม่ซื่อสัตย์สุจริตในการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี เพราะคดีนายพิชิตมีหลักฐานครบถ้วนหมด ปฏิเสธไม่ได้  นายกฯ ทำผิดมาตรฐานประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าพิจารณาตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง นายเศรษฐาพ้นจากการเป็นนายกฯ แน่นอน เพราะข้อกฎหมายกับข้อเท็จจริง นายเศรษฐาก็ยอมรับว่าทำจริง จะมาบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้  ยิ่งเป็นนายกฯ ผู้บริหารสูงสุดของประเทศต้องรู้กฎหมาย ทำตามกฎหมาย หากเป็นชาวบ้านทั่วไปทำผิดคดีลหุโทษ แล้วอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย ศาลยังอาจพอทุเลาคดีให้รอลงอาญาได้ แต่กรณีของนายกฯ เป็นความผิดร้ายแรง ไม่ซื่อสัตย์สุจริต จะมาอ้างไม่รู้ไม่ได้ เป็นความรับผิดชอบของนายกฯ ต้องพ้นจากตำแหน่ง

"ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ในฐานะตัวแทนกลุ่ม 40 สว. ก็มั่นใจนายกฯ ทำผิดร้ายแรง ไม่ต่างจากคดีอดีตผู้นำประเทศคนอื่นๆ ที่เคยถูกศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง เช่นกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สมัยเป็นนายกฯ ย้ายเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  เพื่อเอาญาติมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)  เป็นการเอื้อให้กับเครือญาติ ศาลรัฐธรรรมนูญก็ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากการเป็นนายกฯ กรณีของนายเศรษฐาก็น่าจะวินิจฉัยให้นายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ ส่วนว่าหากนายเศรษฐาพ้นจากนายกฯ แล้ว ใครจะมาเป็นนายกฯต่อ อย่าไปกังวล หากใครทำผิดกฎหมายไม่ว่ามีตำแหน่งอะไร ก็ต้องผิดต้องรับผิดชอบ แล้วคนอื่นก็ขึ้นมาทำหน้าที่แทน” นายสมชายระบุ

วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่องสถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้ โดยสอบถามประชาชนจำนวน 1,147 คน โดยเมื่อถามว่า ประชาชนสนใจข่าวการเมืองในช่วงนี้มากน้อยเพียงใด พบว่า 43.42% สนใจเพิ่มขึ้น 30.43% สนใจเหมือนเดิม และ 26.15% สนใจลดลง ถามต่อว่า ประชาชนสนใจข่าวการเมืองเรื่องใดเป็นพิเศษ 75.65% ยุบพรรคก้าวไกล 66.49% เงินดิจิทัลวอลเล็ต และ 54.71% นโยบายเศรษฐกิจและการแก้ปัญหาปากท้องของรัฐบาล                

ถามอีกว่า ประชาชนคิดอย่างไรต่อสถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ผ่านมา พบว่า 67.57% แย่ลง 26.07% เหมือนเดิม และ 6.36% ดีขึ้น ส่วนเมื่อถามว่า ประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อการทำงานของรัฐบาลเศรษฐามากน้อยเพียงใด พบว่า 63.73% ไม่ค่อยเชื่อมั่น และ 36.27% ค่อนข้างเชื่อมั่น                

แนะปรับคณะรัฐมนตรี

"ประชาชนคิดอย่างไรกับกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีในช่วงนี้ พบว่า 55.62% ควรปรับ 35.48% ปรับหรือไม่ปรับก็ได้ และ 8.90% ไม่ควรปรับ ทั้งนี้ เมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร พบว่า 68.44% แย่ลง 23.89% เหมือนเดิม และ 7.67% ดีขึ้น"                  

ขณะเดียวกัน ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ต้อนรับบุคคลใกล้ชิด ทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมืองจากพรรคต่างๆ รวมทั้งสื่อมวลชน ที่เข้าร่วมอวยพรเนื่องในวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 79 ปี ทั้งนี้ได้มีคณะต่างๆ ทยอยมาร่วมอวยพรก่อนวันเกิดเป็นจำนวนมากมาก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับวันนี้ในช่วงเช้า พล.อ.ประวิตรได้เดินทางไปประกอบพิธีทำบุญ ซึ่งได้ปฏิบัติเป็นประจำทุกปี ณ วัดพระศรีมหาธาตุฯ บางเขน

โดย พล.อ.ประวิตรสวมชุดวอร์มและเสื้อแจ็กเก็ตสีชมพูสดใส ให้การต้อนรับบรรดาคนสนิทที่เข้าอวยพรวันเกิด 79 ปีก้าวสู่ปีที่ 80 พร้อมออกมานั่งร่วมโต๊ะอาหารกับคนสนิทด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายกับน้องรัก โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต รมว.มหาดไทย, พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ อดีตประธานที่ปรึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม นอกจากนี้ ยังมีบรรดาคนสนิทจากทุกแวดวง เช่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย อดีตประธาน สว., นายสุรทิน พิจารณ์ พรรคประชาธิปไตยใหม่, นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร., นายวัน อยู่บำรุง สมาชิกพรรค พปชร. รวมถึงอดีต สว.ยุค คสช.หลายคน

สำหรับของชำร่วยที่ พล.อ.ประวิตรมอบให้แขกที่เข้าร่วมอวยพร ผู้ชายจะเป็นผ้าห่มลายไก่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ปีเกิดของ พล.อ.ประวิตร ส่วนผู้หญิงจะได้รับเป็นผ้าพันคอลายไก่ลายเดียวกัน

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวว่า ขอให้ช่วยกัน ทุ่มเททำงาน เพื่อบ้านเมืองและประชาชน สำคัญที่สุดต้องช่วยกันปกป้อง เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้คงอยู่คู่ชาติไทย ตลอดไป

ส่วนโลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่คลิปและข่าวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เดินทางไปร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันกับเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 10 ครบ 57 ปี ที่กรมช่างทหารอากาศบางซื่อ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2567 ซึ่งเป็นการฉลองวันเกิดย้อนหลัง และรียูเนียนเพื่อนเก่า ก่อนร่วมร้องเพลงคำสัญญา โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นคนดัง อาทิ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม  และ พล.อ.ทวนชัย พันธ์เพิ่มศิริ เป็นต้น

โดยนายทักษิณระบุว่า พวกเรายังคึกคักเหมือนเดิม  แม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว แต่ดีใจที่มาเจอกัน เราน่าจะเจอกันบ่อยๆ ใครว่างก็มา ไม่ว่างก็ไม่เป็นไร เพราะการเจอกันจะทำให้กระปรี้กระเปร่าและหนุ่มขึ้น ทำให้นึกถึงชีวิตวัยเด็ก  ทำให้ไม่เป็นอัลไซเมอร์แน่นอน ซึ่งเรียกเสียงปรบมือจากผู้เข้าร่วมงานกึกก้อง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย