อึ้ง!ค่าต๋งกาสิโน5พันล.30ปี

อึ้ง! “ภูมิธรรม” เปิดทำเนียบฯ วันแม่แห่งชาติ เรียกหัวหน้าและเลขาธิการพรรคร่วมฯ ถกด่วนดัน กม.กาสิโน เผยร่างกฎหมาย 65 มาตรา  เคาะผู้ได้ใบอนุญาตบริษัทต้องจดทะเบียนไทย มีทุน 1 หมื่นล้านบาท คิดค่าต๋งสุดต่ำเตี้ย 5 พันล้าน ตลอดสัมปทาน 30 ปี พร้อมเสียรายปีแค่ 1 พันล้านบาท ต่ออายุครั้งละไม่เกิน 10 ปี ไม่ปิดกั้นคนไทยเล่นพนันได้ แต่ต้องเสียค่าเข้า 5 พันบาท ปูดกาสิโนให้มีการเล่นทุกชนิดยกเว้นออนไลน์ พร้อมผุดสำนักงานจัดการยิ่งกว่าองค์กรอิสระ รับเงินต่างชาติได้ จับตาเลขาธิการอำนาจสุดล้น 

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 มีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในวันจันทร์ที่ 12 ส.ค. ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ และวันหยุดราชการ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล   ได้เชิญหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 17.00 น. เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ ทางการเมือง อาทิ ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ที่ว่างลง หลังนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี เพราะเคยเป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปเมื่อวันที่ 7 ส.ค. รวมถึงผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ค้างสภา โดยเฉพาะการผลักดันร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.....

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้เปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมายของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 2-18 ส.ค.2567 โดยมีทั้งสิ้น 65 มาตรา ซึ่งเตรียมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและนำเข้าสภาพิจารณาต่อไป  หลังก่อนหน้านี้ ครม.เห็นชอบในหลักการไปตั้งแต่เดือน เม.ย.2567 และมอบให้กระทรวงการคลังไปศึกษาจัดทำร่างกฎหมาย โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง เป็นประธาน

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ.....นั้น ให้เหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าวไว้ว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวเป็นภาคอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นจำนวนมาก และธุรกิจสถานบันเทิงเป็นกิจกรรมสำคัญที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวได้ใช้จ่าย การส่งเสริมและกำกับดูแลเพื่อให้เกิดธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรที่ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว จึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีต่อสังคมในภาพรวม และเป็นการสนับสนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายยังได้นิยามไว้ในมาตรา 3 ระบุว่า สถานบันเทิงครบวงจร หมายความว่า การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้หลายประเภทรวมกัน ร่วมกับกาสิโน   ซึ่งบัญชีแนบท้ายประเภทธุรกิจสถานบันเทิงระบุว่า  1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3.ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอชต์และครูซซิ่งคลับ 6.สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทยและสินค้า OTOP และ 10.กิจการอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

นอกจากนี้ มาตรา 3 ยังนิยามคำว่า กาสิโน  หมายความว่า การจัดให้มีการเข้าเล่นหรือการเข้าพนันในสถานที่ที่กำหนดเป็นการเฉพาะ และใบอนุญาต หมายความว่า ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร และผู้รับใบอนุญาต หมายความว่าผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร

ทั้งนี้ ในร่างกฎหมายยังมีทั้งหมด 9 หมวด โดยหมวด 1 คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ตั้งแต่มาตรา 6 ถึงมาตรา 14 โดยในมาตรา 6  คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรนั้น  มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 6 คน  และมีเลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ ส่วนหมวด 2 คณะกรรมการบริหาร เริ่มตั้งแต่มาตรา 15 ถึงมาตรา 19 โดยมาตรา 15 คณะกรรมการบริหารประกอบด้วย บุคคลซึ่งนายกฯ แต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง 11 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง, ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, ปลัดกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน, เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 3 คน ซึ่งนายกฯ แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมาย หรือสังคม

ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการบริหาร มีหน้าที่และอำนาจหน้าที่ถึง 16 ข้อ ที่สำคัญคือ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเชิญชวน โฆษณา ประชาสัมพันธ์ หรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เกี่ยวกับกาสิโน, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบแทนใบอนุญาต, พิจารณาอนุมัติแผนยุทธศาสตร์ แผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบาย และกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน เป็นต้น

หมวด 3 สำนักงานกำกับการประกอบสถาบันเทิงครบวงจร ตั้งแต่มาตรา 20 ถึงมาตรา 28 โดยมาตรา 20 ระบุว่า สำนักงานเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน  ในขณะที่มาตรา 21 ระบุว่า ให้สำนักงานมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานคร และจะตั้งสาขาหรือตัวแทนขึ้น ณ ที่อื่นใดตามความจำเป็นก็ได้

ส่วนในมาตรา 24 เรื่องทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงาน ระบุไว้ว่า 1.เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี 2.เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล 3.ค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาต ใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการเข้าสถานประกอบการกาสิโนของผู้มีสัญชาติไทย 4.ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันเกิดจากการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน 5.ค่าปรับ และ 6.ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน

ส่วนหมวด 4 เลขาธิการ เริ่มตั้งแต่มาตรา 29 ถึงมาตรา 37 โดยมาตรา 32 กำหนดให้มีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการนโยบายแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งมาตรา 31 กำหนดให้มีวาระคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีก แต่ดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระไม่ได้ ในขณะที่หมวดที่ 5 พนักงานเจ้าหน้าที่ ตั้งแต่มาตรา 38 ถึงมาตรา 40 โดยการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่นี้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย

หมวด 6 การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร ตั้งแต่มาตรา 41 ถึงมาตรา 50 โดยมาตรา 41 กำหนดให้สถานบันเทิงครบวงจรตั้งอยู่ในบริเวณเขตพื้นที่ตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น และต้องประกอบธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้อย่างน้อย 4 ประเภท ร่วมกับกาสิโน ซึ่งสัดส่วนพื้นที่ของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจรให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด สถานบันเทิงครบวงจรจะกระทำได้เฉพาะบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งจดทะเบียนในไทยที่มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งจำนวนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ทั้งนี้ การประกอบธุรกิจของบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับใบอนุญาต ให้ได้รับยกเว้นจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และไม่ให้นำความในมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และมาตรา 1105 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับด้วย

ส่วนมาตรา 49 กำหนดว่า ใบอนุญาตมีอายุ 30 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมรายปีตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ต้องไม่เกินอัตราตามบัญชีแนบท้าย และทุก 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต ให้สำนักงานประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานตามรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจรของผู้รับใบอนุญาต และรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่ออาจพิจารณาทบทวนรูปแบบและแผนการประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร เมื่อใบอนุญาตครบอายุ ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจต่ออายุได้คราวละไม่เกิน 10 ปี

โดยอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตแนบท้ายกฎหมายนั้น ระบุว่า 1.การขอรับใบอนุญาต ครั้งละ 100,000 บาท 2.ใบอนุญาต ครั้งแรกฉบับละ 5,000 ล้านบาท รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท 3.ใบอนุญาต (ต่ออายุ) ฉบับละ 5,000 ล้านบาท รายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท และ 4.ใบแทนใบอนุญาต ฉบับละ 100,000 บาท

หมวด 7 การควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตั้งแต่มาตรา 51 ถึงมาตรา 59 ซึ่งมาตรา 52-53 ได้กำหนดถึงรูปแบบกาสิโนว่าใช้เครื่องเล่นซึ่งใช้เครื่องกล พลังไฟฟ้า พลังแสงสว่าง หรือพลังอื่นใดที่ใช้เล่นโดยวิธีสัมผัส เลื่อน กด ดีด ดึง ยิง โยน โยก หมุน หรือวิธีอื่นใดซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยการนับแต้มหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม และใช้อุปกรณ์ซึ่งสามารถทำให้แพ้ชนะกันได้ ไม่ว่าจะโดยการนับแต้มหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามให้มีการเข้าเล่นหรือเข้าพนันผ่านการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นใดกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

ส่วนมาตรา 55 ได้ห้ามมิให้บุคคลดังต่อไปนี้เข้ากาสิโน 1.ผู้มีอายุน้อยกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ 2.ผู้ซึ่งสำนักงานสั่งห้ามเข้าสถานประกอบการกาสิโน 3.ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งยังมิได้ลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด และ 4.ผู้ที่มีลักษณะของบุคคลต้องห้ามตามที่สำนักงานประกาศกำหนด โดยอัตราค่าเข้าสถานประกอบการกาสิโนนั้น ได้กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยต้องจ่ายครั้งละ 5,000 บาท

หมวด 8 บทกำหนดโทษ มีตั้งแต่มาตรา 60 ถึงมาตรา 62 และหมวด 9 บทเฉพาะกาล ตั้งแต่มาตรา 63 ถึงมาตรา 65 โดยที่น่าสนใจคือ มาตรา 64 ระบุว่า ในวาระเริ่มแรกให้ข้าราชการในสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ แต่งตั้งทำหน้าที่เลขาธิการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการตามมาตรา 29 โดยต้องแต่งตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ

ด้านความเคลื่อนไหวของเครือข่ายและนักวิชาการที่คัดค้านกาสิโนถูกกฎหมาย นำโดยมูลนิธิรณรงค์หยุดการพนัน เตรียมเปิดเวทีเสวนาวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์  (กาสิโน) ในหัวข้อ “แค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่” ในวันที่ 13 ส.ค. ที่โรงแรมเอเซีย ห้องกิ่งทอง ชั้น 2 เวลา 10.00 น. เพื่อให้ความรู้กฎหมายและสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน รวมถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในมิติเศรษฐกิจ สุขภาพ และสังคมระยะยาว หรือไม่ รวมถึงกฎหมายล็อกสเปกเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใกล้ชิดรัฐบาลหรือไม่ โดยผู้สนใจสามารถรับชมได้ทางไลฟ์สดทางเฟซบุ๊กมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง