คดีนิดไร้ผลลุยแจกหมื่น ‘พี่ศรี’ฟ้องศาลปกครอง

“จุลพันธ์” มั่นใจคดี “เศรษฐา” ไม่กระทบแจกเงินหมื่น ยันมีกลไกตรวจสอบยิบ รับกู้ ขาดดุลเพิ่มดันหนี้สาธารณะพุ่ง แต่จะบริหารงานอย่างระมัดระวัง "ศรีสุวรรณ" ยื่นฟ้องศาลปกครองเอาผิดนายกฯ-ครม. พร้อมขอสั่งระงับ-คุ้มครองชั่วคราว

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์   รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  รัฐบาลยังมั่นใจว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการพิจารณาคดีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.นี้  จะไม่มีผลกับตัวโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอย่างแน่นอน เพราะรัฐบาลมั่นใจอยู่แล้วว่าจะผ่านไปได้ ไม่มีอะไร และมองว่าหากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น น่าจะมีผลดีกับตลาดทุน นักลงทุนจะคลายความกังวลลง ส่งผลให้สถานการณ์ในตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น แต่ส่วนหนึ่งต้องบอกว่า ปัจจัยที่มีผลกับตลาดทุนไทยในขณะนี้ยังมีปัจจัยภายนอกจากต่างประเทศเข้ามากดดัน และสร้างความผันผวนให้การลงทุน โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐ

นายจุลพันธ์กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งรายงานถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) แนะให้รัฐบาลระวังโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลได้รับความคิดเห็นของทุกหน่วยงานที่ส่งเข้ามาทุกครั้ง เพื่อนำไปพิจารณาดูว่าจะสามารถดำเนินการในประเด็นใดได้บ้าง สะท้อนจากที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและข้อจำกัดต่างๆ ในโครงการ ซึ่งเป็นไปตามกลไกเพื่อให้ล้อไปกับข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์จากทุกหน่วยงานต่างๆ ที่รัฐบาลรับมาและดำเนินการแล้ว

นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และมินิบิ๊กซี สามารถเข้าร่วมโครงการได้นั้น ยืนยันว่าร้านสะดวกซื้อดังกล่าวเข้าร่วมโครงการได้จริง แต่ในคำว่าร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีแค่ร้านดังกล่าว เพราะตามข้อเท็จจริงรัฐบาลมีลิสต์รายชื่อร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศในปัจจุบันเยอะมาก ส่วนใหญ่อยู่ตามชนบท ดังนั้น การจะไปตัดสิทธิ์ร้านสะดวกซื้อทั้งหมดอาจจะต้องมาพิจารณากันอย่างละเอียด

สำหรับความคิดเห็นและข้อสังเกตของ ธปท. เกี่ยวกับการพิจารณาสั่งการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) การกำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และคณะอนุกรรมการกำกับการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ ต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบและระมัดระวังนั้น นายจุลพันธ์ระบุว่า รัฐบาลมีกลไกหลายกลไกที่ดำเนินการในเรื่องนี้ เช่น เรื่องการบังคับการใช้จ่าย 2 รอบ รวมถึงการตัดร้านค้าขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ก็เป็นอีกกลไกที่ตอบสนองโจทย์ดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายที่กระจายตัว ไม่กระจุกตัว

ส่วนความเห็นของสภาพัฒน์ที่ระบุว่า ยังไม่มีความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคเพิ่มเติม แต่ควรให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของเศรษฐกิจ ทั้งปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวนั้น นายจุลพันธ์ให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นมุมมองที่แตกต่างกัน

รมช.การคลังกล่าวว่า กลไกนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ แต่ไม่ใช่มิติเดียว โดยรัฐบาลยังเร่งดำเนินการในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม s-curve การพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่วนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น แต่ยังเป็นกลไกในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาวด้วย

รมช.การคลังระบุว่า ยืนยันว่าการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง แม้จะต้องยอมรับว่าโครงการจะต้องมีการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้จะเข้ามาเติมในหนี้สาธารณะ เป็นการขาดดุลเพิ่มเติม แต่รัฐบาลจะบริหารงานอย่างระมัดระวัง โดยปัจจุบันหนี้สาธารณะอยู่ที่ 11.5 ล้านล้านบาท แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หนี้สาธารณะก็ปรับเพิ่มขึ้นจาก 5 ล้านล้านบาท เป็น 10 ล้านล้านบาท แต่ไม่มีกลไกในการบริหาร พัฒนาหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเลย ขณะนั้นควรเตือนกันบ้าง แต่ทำไมไม่เตือน

วันเดียวกัน ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รมว.การคลัง และคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา 9 (1) (2) ของ พ.ร.บ.จัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยขอให้ระงับโครงการ พร้อมขอสั่งคุ้มครองชั่วคราว

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า มีประชาชนบางส่วนไม่เห็นด้วย เนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้จำนวนเงินมหาศาล ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว หากไปใช้ในโครงการพัฒนาอื่นๆ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากกว่า แต่หากนำมาแจกเงินให้กับบุคคลที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะทำให้ผู้ที่ได้รับเงินและผู้ที่ไม่ได้รับจ่ายเงิน จะต้องมาร่วมชดใช้หนี้สิน เพราะเงินดังกล่าวนอกจากจะมาจากภาษีประชาชนแล้ว ยังมาจากเงินกู้ ที่จะต้องชำระดอกเบี้ยด้วย ทั้งที่สถานภาพทางเศรษฐกิจ​ตอนนี้ทุกคนต้องแบกรับภาระหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 70% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมฯ รวมถึงหลายหน่วยงาน ออกมายืนยันว่าการดำเนินการโครงการดิจิทัลฯ 10,000 บาท จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ 0.6 ถึง 0.9% เท่านั้น และเกิดในระยะเวลาที่สั้นๆ แต่หลังจากนั้นภาระหนี้สินของประเทศจะเพิ่มมากขึ้น

นายศรีสุวรรณกล่าวด้วยว่า การที่รัฐบาลไม่ฟังเสียงท้วงติงของนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการ รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง แต่กลับพยายามจะผลักดันโครงการอย่างถูลู่ถูกัง ทำให้หลายคนมองว่าเรื่องนี้ส่อว่าจะขัดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง และ พ.ร.บ.เงินตรา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับเงินสำรองงบประมาณ หากไม่หยุดโครงการนี้ คนไทยทุกคนก็จะร่วมกันรับผิดชอบ

 “ขอให้ศาลสั่งระงับโครงการดังกล่าว หรือหากรัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ก็ให้ไปปรับเงื่อนไขตามคำแนะนำของหลายองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง คนยากคนจน ที่ถือบัตรสวัสดิการ​แห่งรัฐ ที่มีประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งจะใช้เม็ดเงินไม่มาก และไม่เป็นภาระสำหรับงบประมาณที่จะใช้ไปพัฒนาโครงการอื่นๆ” นายศรีสุวรรณระบุ

นายศรี​สุวรรณกล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีการปรับที่มาของเงิน โดยออกเป็น พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2567 ที่เพิ่งผ่านสภา งบประมาณ 1.22 แสนล้านบาท บางส่วนเป็นเงินกู้ ไม่ใช่มาจากงบประมาณเพียงอย่างเดียว แต่รัฐบาลพยายามใช้เทคนิคในการสอดไส้ และอ้างว่าไม่ใช่เงินกู้ แต่ความเป็นจริงแล้วมันคือเงินกู้ ซึ่งสถาบันการเงินหลายแห่งได้ทำวิจัย เพราะว่าคนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แท้ที่จริงแล้วอาจไม่ใช่ผู้ค้ารายเล็ก แต่จะเป็นประโยชน์ต่อร้านสะดวกซื้อ ที่กระจายตัวอยู่นับหมื่นแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของนายทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมาโดยตลอด โครงการนี้จึงอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลได้โฆษณาชวนเชื่อมาโดยตลอด

นายศรี​สุวรรณกล่าวทิ้งท้ายว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จะทำให้โครงการแจกเงินจะต้องสะดุดหยุดลงเหมือนกับกรณีที่เคยยื่นฟ้องโครงการเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาทในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งศาลปกครองก็ให้การคุ้มครองชั่วคราว จนสุดท้ายโครงการนี้ก็ต้องยุติลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง