รุกฆาตก๊วนล้มล้าง! จี้ปปช.ฟัน44อดีตสส.ก.ก.แก้ม.112/กต.ลั่นศาลไทยมีอิสระ

"เศรษฐา" เชื่อ "ก้าวไกล" เคารพคำตัดสินศาล รธน. ไม่ปลุกระดม ชี้ "สหรัฐ" ค้านไม่มีความหมาย ลั่นไทยเป็นประเทศเอกราช ไม่มีใครยอมให้ก้าวก่าย "กต." ออกแถลงการณ์ศาลไทยมีอิสระ "นักวิชาการ" ดาหน้าซัด "มะกัน" อย่าก้าวก่ายกิจการภายใน ปท. "ธีรยุทธ" เร่งคัดคำวินิจฉัยยุบพรรค ก.ก. ยื่น ป.ป.ช.ฟัน 44 อดีต สส.ก้าวไกลชงแก้มาตรา 112 "เรืองไกร" บี้ให้เร่งส่งศาลฎีกา  ขณะที่ "เลขาฯ ป.ป.ช." ชี้กำลังเร่งไต่สวน 44 สส.ผิดจริยธรรม "ศิริกัญญา" มั่นใจ 9 ส.ค.เปิดตัวพรรคใหม่ สส.อดีตพรรค ก.ก.ยกขบวนไปหมด

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลหลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค ที่เหมือนเป็นการปลุกระดมว่า อย่าใช้คำว่าปลุกระดม  แต่เป็นการแสดงจุดยืน และตนเข้าใจว่าเป็นการประกาศที่จะเดินหน้าการเมือง ก็ขอให้กำลังใจในการทำงานต่อไป เพราะมั่นใจพรรคก้าวไกลเคารพการตัดสินของศาล และมีแนวทางการเดินต่ออย่างถูกต้องตามวิถีการเมืองที่ต้องเดินไป

ถามถึงกรณีโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยต่อการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไทย นายเศษฐากล่าวว่า  เราเป็นประเทศที่มีเอกราช เรื่องการออกมาคัดค้านอะไรมันไม่มีความหมายอะไรหรอก เรามีวิธีการที่จะพัฒนาเรื่องของการเมือง เรื่องของระบอบประชาธิปไตยของเราให้เป็นไปตามขั้นตอนที่มันถูกต้อง สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็แก้กฎหมายกันไปตามวิถีของรัฐสภาอยู่แล้ว

"ผมมั่นใจว่าคนไทยทุกคนเข้าใจตรงนี้ เราคงไม่มีใครยอมให้ประเทศอื่นมาก้าวก่ายเรื่องอธิปไตยของเราหรอก ทั้งนี้ อย่าใช้คำว่าก้าวก่ายดีกว่า ผมว่าเขาอาจจะมาเสนอแนะ เราอยู่ด้วยกันในโลกที่มีความเปราะบาง ฉะนั้นเราก็ต้องบริหารกันไป" นายเศรษฐากล่าว

นายกฯ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมีการแถลงข่าว ซึ่งตนได้ดูแล้วก็เป็นถ้อยคำที่โอเค  ไม่ก่อให้เกิดการระหองระแหง ขอใช้คำนี้ดีกว่า เขาก็เป็นประเทศที่ใหญ่ ก็มีความเป็นห่วงและเป็นความปรารถนาดี ส่วนเราก็มีวิธีการเดินของเรา

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ  แมทธิว มิลเลอร์ ออกแถลงการณ์กรณีการยุบพรรคก้าวไกลในประเทศไทย ตอนหนึ่งระบุว่า สหรัฐอเมริกามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไทยในวันนี้ ซึ่งมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองของแกนนำพรรค 11 คน คำตัดสินนี้ลิดรอนสิทธิ์ของชาวไทยกว่า 14 ล้านคนที่ลงคะแนนเสียงให้พรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 และทำให้เกิดคำถามว่า พวกเขาสามารถเลือกผู้แทนของตนในระบบการเลือกตั้งของไทยได้หรือไม่ คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยังเสี่ยงต่อการบั่นทอนกระบวนการประชาธิปไตยของไทย และขัดกับความปรารถนาของชาวไทยต่ออนาคตที่มั่นคงและเป็นประชาธิปไตย

ที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อ่านแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล จนส่งผลให้หลายประเทศแสดงท่าทีกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองในประเทศไทย

แจงต่างชาติศาลไทยมีอิสระ

โดยระบุว่า คําวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล เป็นเอกสิทธิ์และอํานาจของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ตามหลักการของการแบ่งแยกเขตอํานาจของรัฐธรรมนูญ การตัดสินวินิจฉัยของศาลเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแทรกแซงได้โดยอํานาจอื่นหรือโดยรัฐบาล โดยคําตัดสินดังกล่าวมีผลผูกพันตามกฎหมาย และต้องได้รับความเคารพโดยปวงชนชาวไทย ประเทศไทยจะยังดําเนินแนวทางตามค่านิยมประชาธิปไตย และในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และย้ำความมุ่งมั่นต่อพันธกรณีและเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการสมาคม เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ และเสรีภาพในการก่อตั้งพรรคการเมือง

ประเทศไทยมีความภาคภูมิใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนสําคัญยิ่งต่อขนบประเพณีของไทย และเป็นเสาหลัก พร้อมทั้งฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ที่แยกจากกันสามฝ่าย ที่สร้างความเป็นชาติตลอดห้วงประวัติศาสตร์หลายศตวรรษที่ผ่านมา และประเทศไทยจะดําเนินตามขนบประเพณีและระบอบประชาธิปไตยนี้อย่างมั่นคง ด้วยความภาคภูมิใจและมีศักดิ์ศรี เราเชื่อมั่นว่าประชาชนคนไทยทุกคนจะเคารพในคําพิพากษา และร่วมกันนําประเทศไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตยต่อไป

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ตอนหนึ่งระบุว่า  ประท้วงใหญ่คำตัดสินศาลฯ! ต่อให้ประเทศที่ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะยึดโยงกับประชาชนอย่างสหรัฐอเมริกา หากประชาชนไม่พอใจคำตัดสิน ก็ออกมาประท้วงใหญ่อยู่ดี เมื่อสองปีที่แล้วคนนับหมื่นออกมาประท้วงอย่างรุนแรงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอเมริกา หลังจากที่ศาลสูงสุดฯ ได้ตัดสินให้การทำแท้งเสรีขัดต่อรัฐธรรมนูญ

"คติคิดที่ได้จากอเมริกาคือ คำพิพากษาของศาลย่อมมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ ต่อให้ที่มาของศาลยึดโยงกับประชาชนก็ตาม ก็ยังมีที่ไม่พอใจและออกมาประท้วงใหญ่โตอยู่ดี" ศ.ดร.ไชยันต์ระบุช่วงท้าย

ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้นอเมริกา” ตอนหนึ่งระบุว่า อยากบอกนะครับ ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของอเมริกา ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นของตนเอง ถึงเวลาที่คนไทยต้องรวมตัวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าให้พรรคการเมืองบางพรรค เอาชาติไทยของเราไปรับใช้ต่างชาติ

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ต่างชาติอย่าก้าวก่าย" ตอนหนึ่งระบุว่า อธิปไตยของไทยแบ่งแยกอำนาจเป็น 3 องค์อธิปัตย์ ฝ่ายบริหาร  ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ที่ไม่ก้าวก่ายอำนาจซึ่งกันและกัน สถานเอกอัครราชทูตและนักการทูตต้องประสานงานผ่านช่องทางการทูตกับฝ่ายบริหารและกระทรวงการต่างประเทศ การแสดงความห่วงใยต่อการดำเนินการของศาลและแถลงการณ์ที่สถานทูตแถลงข่าว มีลักษณะไม่เหมาะสม เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลที่อยู่นอกบริบทของงานการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเป็นการแสดงมารยาททางการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควร

ยกคำวินิจฉัยศาลบี้ ปปช.ฟัน 44 สส.112

ขณะที่ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ในฐานะผู้ร้องคดีล้มล้างการปกครองฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ที่ทำให้เกิดคดียุบพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลังจากนี้ตนและทีมงานจะแกะเทปคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคก้าวไกลโดยละเอียด เพื่อที่ในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อยื่นเอกสารการแกะเทปคำวินิจฉัยกลางดังกล่าว ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ในช่วงที่กำลังรอคำวินิจฉัยที่จะเผยแพร่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการไต่สวนเอาผิดอดีต สส.ก้าวไกล 44 คนสมัยที่ผ่านมา ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 เข้าสภา หลังจากเคยไปยื่นคำร้องไว้ที่ ป.ป.ช.เมื่อเดือน ก.พ. เพื่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนเอาผิดข้อหาฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมฯ แต่คดียังไม่คืบหน้า

นายธีรยุทธกล่าวว่า จากคำวินิจฉัยของศาลคดียุบพรรคก้าวไกล มีการอ้างอิงถึงกรณี สส.ก้าวไกล 44 คน ร่วมกันเสนอแก้มาตรา 112 โดยอิงคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองฯ ที่หลักฐานจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 2 คดี บ่งชี้ว่า สส.ก้าวไกลที่ร่วมกันเสนอแก้มาตรา 112 ดังกล่าว เป็นพฤติการณ์เซาะกร่อนบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นการลดทอนคุณค่าฯ แม้ว่าร่างดังกล่าวจะไม่ได้ถูกเสนอเข้าสภาผู้แทนราษฎรจนศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าถือเป็นความปรานี จึงได้ลงโทษตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้ง 10 ปี ซึ่งหากเสนอเข้าสภา โทษอาจหนักกว่า 10 ปีก็ได้

 “เท่ากับว่าตอนนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถึง 2 คดี คือคดีล้มล้างการปกครอง และคดียุบพรรคก้าวไกล ที่เป็นหลักฐานสำคัญอันควรเชื่อได้ว่า การเสนอแก้มาตรา 112 ดังกล่าวของ สส.ก้าวไกลสมัยที่แล้ว แม้ร่างนั้นจะไม่ได้ถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของสภา แต่ก็แสดงให้เห็นถึงเจตนาและพฤติการณ์ว่าเซาะกร่อนบ่อนทำลายฯ และมีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองฯ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาล รธน.มีผลผูกพันกับทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหาก ป.ป.ช.ชี้มูลทั้ง 44 คน ก็จะต้องส่งคำร้องไปยังศาลฎีกา” นายธีรยุทธกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายชื่อ 44 คนดังกล่าว การเลือกตั้งที่ผ่านมาปี 2566 เข้ามาเป็น สส. 30 คน โดยบางคนก็ไม่ได้ลงเลือกตั้งปี 2566 เช่น พล.ต.ต.สุพิศาล, น.ส.สุทธวรรณ และนายพิจารณ์ เป็นต้น ขณะที่บางคนก็เป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่โดนตัดสิทธิการเลือกตั้ง 10 ปี ตามคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลไปแล้ว เช่น นายพิธา, นางอมรัตน์, นายปดิพัทธ์ ส่วนนายชัยธวัช สมัยที่แล้วไม่ได้เป็น สส. จึงไม่ได้ร่วมลงชื่อ เช่นเดียวกับ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม ที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เพราะตอนออกจากประชาธิปัตย์ย้ายเข้าพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็น สส. รวมทั้งพบว่ามีชื่อ น.ส.ศิริกัญญา ที่มีข่าวว่าจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะขึ้นมาแทนก้าวไกลด้วย

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช.รีบดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ด้วยการขอคัดสำเนาคำวินิจฉัยและสรรพเอกสารในสำนวนคดีทั้งสองจากศาลรัฐธรรมนูญมาถือเป็นพยานหลักฐานในสำนวนไต่สวนของ ป.ป.ช. ตามนัยมาตรา 235 วรรคหนึ่ง ประกอบนัยมาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) และรีบส่งเรื่องให้ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) ต่อไปว่า สส.พรรคก้าวไกล จำนวน 44 คน มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 10 ปี ในคดีล้มล้างการปกครอง เข้าร้องทุกข์ให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 11 คน ว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 วรรค 1 ฐานล้มล้างสถาบันการปกครองและเป็นกบฏหรือไม่

ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการพิจารณาคดี 44 สส.พรรคก้าวไกล ที่ลงชื่อแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติแล้วว่าการตรวจสอบนั้นมีมูลเบื้องต้น มีพยานหลักฐานเบื้องต้นตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการฯ จึงมีมติสั่งไต่สวนแล้วทั้ง 44 คน ส่วนข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการไต่สวน แต่ยังไม่ได้ให้ผู้ต้องหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม

ถามถึงกรณีที่นายเรืองไกรไปยื่นหนังสือขอให้ ป.ป.ช. ไม่จำเป็นต้องไต่สวน เนื่องจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว นายนิวัติไชยกล่าวว่า  เรื่องการให้ความเป็นธรรมอยู่ที่ข้อกฎหมาย เพราะเรื่องนี้ต้องจบที่ชั้นศาล ซึ่งศาลต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณา ดังนั้นการให้ความเป็นธรรมขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ก็อาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา และขณะนี้พยานหลักฐานยังไม่ครบถ้วนตามข้อกฎหมาย ส่วนคำวินิจฉัยของศาลผูกพันทุกองค์กรหรือไม่นั้น ต้องไปดูว่าผูกพันในเรื่องอะไร

ส่วนนายเอกวิทย์ วัชชวัลคุ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเสริมว่า การดำเนินการเป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีใบสั่งจากไหนหรือเข้าข้างพรรคการเมืองฝ่ายใด เราอยู่ในฝั่งที่เป็นกลาง และให้โอกาสทุกฝ่าย ไม่มีใบสั่งทางการเมือง ไม่มีใครมาสั่งผมได้

'ไหม' มั่นใจ สส.ไปบ้านใหม่

วันเดียวกัน มีรายงานความเคลื่อนไหวของ สส.อดีตพรรคก้าวไกลว่า สส.อดีตพรรคก้าวไกลได้สมัครสมาชิกพรรคใหม่เรียบร้อยแล้วครบทั้ง 100% โดยในวัน 9 ส.ค. สส.ทั้ง 143 คน จะเดินทางไปร่วมประชุมพรรคใหม่ ที่อาคารไทยซัมมิท ทาวเวอร์ ถนนเพชรบุรี ร่วมกับสมาชิกและทีมงานเครือข่ายพรรคทั่วประเทศ เพื่อร่วมกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางการทำงานของพรรคต่อไป

ทั้งนี้ ตามกำหนดเวลา 12.00 น. จะมีการแถลงเปิดตัวพรรคและกรรมการบริหารชุดใหม่อย่างเป็นทางการ พร้อมเปิดให้ประชาชนทั่วไปสมัครสมาชิกพรรค รวมถึงบริจาคเงินได้ในเวลา 14.00 น.เป็นต้นไป ผ่านทางระบบออนไลน์ จากนั้นวันที่ 10 ส.ค. จะมีการจัดกิจกรรมรับสมัครสมาชิกพรรคใหม่เป็นครั้งแรก พร้อมพบปะกับ สส., สก. และผู้บริหารพรรคชุดใหม่ ณ Stadium One ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพฯ

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในวันที่ 9 ส.ค. จะมีการประชุมกันเป็นกระบวนการภายใน มีการหยั่งเสียงและเลือกตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ โดยมั่นใจจะมีสมาชิกที่จะไปต่อด้วยกันมากันอย่างพร้อมหน้า ส่วนชื่อพรรคจะเป็นอะไร จะกี่พยางค์ ผู้นำจะเป็นใคร ขอให้รอฟังวันที่ 9 ส.ค.

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีต สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวแสดงความกังวลใจการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อ้างไปถึงมารยาทของการแสดงความคิดเห็นจากสถานทูตและต่างประเทศ เพราะแต่ละส่วนเกี่ยวข้องกับประชาคมโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นิติบัญญัติ ตุลาการ ทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

"ประเทศไทยต้องการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก ทั้ง FTA OECD ขณะเดียวกันฝั่งตุลาการอย่างศาลรัฐธรรมนูญ ในช่วงกลางเดือนก็จะมีการเชิญร่วมประชุมนานาชาติ และมีส่วนหนึ่งที่ระบุถึงความเกี่ยวข้องของศาลรัฐธรรมนูญไทยกับต่างประเทศ ซึ่งผมพูดในฐานะนิติบัญญัติ การจะพูดถึงประชาคมโลกหรือตำหนิใครแรงๆ ก็ต้องระวัง การที่ไปเตือนว่าอาจจะสะท้อนกลับมาหาเราได้ ไม่ใช่ว่าจะยึดว่าประเทศเรามีกฎหมายแบบเดียว ทั้งๆ ที่ก็มีกฎหมายสากลอยู่ด้วย อีกทั้งการเชิญศาลอื่นมาประชุม ก็หมายความเรายอมรับ เราพูดถึงเขาได้ เขาก็ต้องพูดถึงเราได้" นายพิธากล่าว

นายพิธายังทิ้งท้ายว่า ก็หวังและไม่อยากให้เกิดผลร้ายอะไรกับประเทศไทย แต่ก็ไม่สามารถไปเดาใจกับหน่วยงานประชาคมโลกได้ เพราะเราควรจะให้ประเทศชาติบ้านเมืองมาเป็นอันดับแรก

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการนำสมาชิกไปเปิดตัวสังกัดพรรคใหม่จะมากันครบหรือไม่ว่า เราไม่ได้มีการเช็กชื่อ แต่เรามีการเช็กหัวใจกัน มีการพูดคุยกัน จากการหารือคิดว่าน่าจะไปสมัครพร้อมกัน คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนชื่อพรรคที่จะไปสังกัดใหม่นั้นขอให้รอก่อน ตนยังบอกไม่ได้ เพราะตนก็ยังไม่รู้เหมือนกัน แต่ยืนยันว่าพวกเราจะไปในที่ใหม่อย่างพร้อมเพรียง

 “ต้องยอมรับว่าเพื่อนๆ ที่เข้ามาในรอบนี้จำนวนมาก ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็สมัครมาเป็น สส.ของเรา แต่ผ่านการทำงานร่วมกับพรรคมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้เราไว้เนื้อเชื่อใจ รู้ใจกันมากขึ้น มั่นใจว่าจะไม่มีปัญหาอะไรในรอบนี้อย่างที่ทุกคนกังวลกัน” นายวิโรจน์กล่าว

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า ช่องทางการต่อสู้ในระบบสถาบันการเมืองในระยะเฉพาะหน้า ในระยะเฉพาะหน้าประชาชนอาจยังอ่อนล้าจากนิติสงครามและปัญหาทางเศรษฐกิจ การชุมนุมอาจยังไม่ลุกลาม ผู้แทนราษฎรต้องใช้อำนาจที่ตนมี ผลักดันวาระในสภา เพื่อแปลงเจตจำนงของประชาชนให้บังเกิดผล

นายปิยบุตรเสนอว่า ผู้แทนราษฎรต้องตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุบพรรคกลับไป 1.เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเปลี่ยนองค์ประกอบและที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  หรือยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งองค์กรใหม่ทำหน้าที่แทน 2.เสนอร่าง พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญและวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ ยกเลิกความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ 3.เสนอร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง

ผู้แทนราษฎรผู้ถืออำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ อำนาจตรากฎหมาย แทนประชาชน ต้องใช้อำนาจเหล่านี้ ตามกระบวนการ ตามระบบต่อสู้กลับไป

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ออกแถลงการณ์กรณีศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถดำรงเป็นสถาบันที่เป็นที่พึ่งในทางนิติธรรมแก่ประชาชนและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ก้าวไกล' ชิงเปิดตัวพรรคใหม่ สกัด สส.งูเห่า จับตา 'เศรษฐา' ส่อรอด

'จตุพร' อ่านเกมก้าวไกลชิงตั้งพรรคใหม่ สกัด สส. แตกแถว หวั่นถูกเงินทุนล่อไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล วิเคราะห์โดนอำนาจวาง 3 กับดักทำลายให้สิ้นซาก ปลุก ปชช. ขอเงินสดแทนเงินหมื่นดิจิทัล