“จุลพันธ์” เร่งเครื่องดัน "ดิจิทัลวอลเล็ต" การันตีอีก 1 เดือนรู้ชัดวันใช้จ่ายเงิน แจงพาณิชย์ขยับแถลงลงทะเบียนร้านค้าไม่เกี่ยวร้านเล็กยี้ร่วมแจม ฟุ้งร้านเล็กจ่อจอยกว่า 1 แสนร้าน ค้า "ดีอี" เตือนข่าวปลอม! เงินดิจิทัลวอลเล็ตใช้ซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น ยืนยันใช้กับร้านค้าขนาดเล็กไม่รวมห้างสรรพสินค้า "ศรีสุวรรณ" จ่อฟ้องศาลปกครองสั่งระงับเงินดิจิทัล ชี้ฝ่าฝืน รธน.และ กม.ที่เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า อีก 1 เดือนจะเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับวันใช้จ่ายเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมากขึ้น หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ระบุว่าต้องการให้เริ่มใช้จ่ายเงินในโครงการได้ภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามเร่งเดินหน้าโครงการให้ดีที่สุด ซึ่งการจ่ายเงินยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ คือในไตรมาส 4/2567
“เรารับโจทย์นายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว ที่ท่านอยากเห็นวันใช้จ่ายเงินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในเดือน พ.ย.นี้ เราจะทำให้ดีที่สุด ขอให้รออีก 1 เดือน จะเห็นกรอบวันใช้จ่ายที่ชัดเจนมากขึ้น” นายจุลพันธ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 9 ส.ค.2567 จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยวาระการประชุมเป็นเรื่องของการเชื่อมต่อระบบธนาคารและผู้ให้บริการชำระเงินรายอื่น (Open Loop) เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการส่งรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่จะใช้เชื่อมต่อระบบให้ธนาคาร และผู้ให้บริการชำระเงินได้นำไปศึกษาดูแล้วว่าจะมีความเห็นหรือข้อเสนออย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดด้านเทคนิค
นายจุลพันธ์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการลงทะเบียนยืนยันตัวตนและรับสิทธิในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ล่าสุด ณ วันที่ 8 ส.ค.2567 มียอดผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิสำเร็จแล้วอยู่ที่ราว 27 ล้านคน แม้ยอดลงทะเบียนจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนวันแรกๆ แต่ก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีกระทรวงพาณิชย์เลื่อนแถลงรายละเอียดเรื่องการลงทะเบียนร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการออกไปอีก 1 เดือนนั้น เพื่อรอให้ประชาชนลงทะเบียนยืนยันตัวตนและรับสิทธิให้เรียบร้อยก่อน เพื่อป้องกันการสับสน ไม่เกี่ยวกับกระแสข่าวร้านค้าเมินเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากกังวลเรื่องเงินคืน ขาดสภาพคล่อง และการโดนเก็บภาษีย้อนหลัง
“ในความเป็นจริงแล้วยังได้รับรายงานว่า ปัจจุบันมีร้านค้าขนาดเล็กแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 แสนรายแล้ว สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 5 หมื่นราย ส่วนร้านค้าเริ่มลงทะเบียน ยังกำหนดเดิมคือวันที่ 1 ต.ค.2567 ไม่เปลี่ยนแปลง” นายจุลพันธ์ระบุ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอี โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทย (AFNC) และสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ตรวจสอบและพบข่าวปลอมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ระบุว่า ใช้ซื้อสินค้าจากธุรกิจรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ การใช้จ่ายภายใต้โครงการนี้ จะต้องใช้กับร้านค้าขนาดเล็กและไม่รวมถึงห้างสรรพสินค้าใหญ่ การชำระเงินต้องเป็นแบบพบหน้า (face-to-face) เท่านั้น และจะมีการตรวจสอบการใช้จ่าย ดังนี้ 1.ที่อยู่ของร้านค้าเป็นไปตามที่ลงทะเบียนไว้กับโครงการ 2.ที่อยู่ของประชาชนที่ใช้สิทธิตามทะเบียนบ้านในขณะที่ลงทะเบียนโครงการ และ 3.ขณะที่ใช้จ่ายกับร้านค้า ต้องอยู่ในเขตอำเภอเดียวกัน การชำระเงินจึงจะสมบูรณ์ ส่วนเงื่อนไขของสินค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
"เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อหรือแชร์ข้อมูลปลอมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งมีเจตนาบิดเบือนและสร้างความกังวล โครงการนี้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งหวังช่วยลดค่าครองชีพและสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กทั่วทุกภูมิภาคให้ได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน" นายประเสริฐกล่าว และว่า สอบถามข้อมูลข่าวสารโครงการ "ดิจิทัลวอลเล็ต" โทร.สายด่วน Digital Wallet 1111 (24 ชม.)
นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ถูกนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่า จะเป็นการสร้างภาระให้กับการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว และปิดกั้นโอกาสในการนำเงินไปพัฒนาด้านอื่นๆ ของประเทศอย่างมาก อีกทั้งอาจเข้าข่ายการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ 2560 หลายมาตรา และยังอาจขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.เงินตรา 2501, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561, พ.ร.บ.เงินคงคลัง 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตลอดจนกฎหมาย คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย
อีกทั้งการดำเนินโครงการดังกล่าว สถาบันวิชาการหลายสำนักออกมาประเมินว่า จะมีผลกระตุ้นต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพียงแค่ 0.6-0.9% เท่านั้น แต่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล ทำให้ประเทศชาติต้องเป็นหนี้ ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ จึงเป็นโครงการที่ได้ไม่คุ้มเสีย ประโยชน์ที่ประเทศจะได้นั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้นๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลัง ทั้งๆ ที่ควรจะนำไปช่วยเหลือเฉพาะคนยากคนจน คนเปราะบาง มากกว่าการแจกทั่วไปหมด
"ประชาชนผู้รักชาติจำนวนมาก จึงมอบอำนาจให้องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เป็นธุระในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ ในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลสั่งระงับโครงการดังกล่าวเสีย โดยจะเดินทางไปยื่นฟ้องในวันศุกร์ที่ 9 ส.ค.67 เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่" นายศรีสุวรรณกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
'นิพนธ์' ซัดรัฐบาลแจกเงินหมื่น เฟส 2 หวังผลการเมือง ไม่ใช่กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย-อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอดีตนายก อบจ. พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟส 2 ของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีการแจกเงินสด 10,000 บาท ให้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนในระบบและยืนยันตัวตนแล้ว รวมกว่า 4 ล้านคน