ระอุ!2ขั้วเปิดศึกแย่งกมธ.

วุฒิสภาประเดิมงานแรกตั้ง กมธ.วิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมฉบับใหม่ ตั้ง กมธ.สามัญ 21  คณะ ตัดเหี้ยน! ภารกิจด้านปฏิรูปประเทศ-ยุทธศาสตร์ชาติ ไฟลุกแย่งเก้าอี้ กมธ.สอบประวัติ อสส. ฟาดกันสนั่น สว.พันธุ์ใหม่-ก๊วนสีน้ำเงิน จุดชนวนเดือดยกรายชื่อทั้งยวงเตรียมกันมาล่วงหน้า หวั่นโดนกาหัว "สภารีโมต-ใบสั่ง"
ที่รัฐสภา เวลา 09.40 น. วันที่ 5 สิงหาคม มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) โดยมีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ก่อนเริ่มประชุมสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รับทราบพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งประธานและรองประธานวุฒิสภา

จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณากำหนดวันและเวลาประชุมวุฒิสภา ซึ่งมติเสียงส่วนใหญ่ยังให้คงไว้ตามเดิม ตามที่ พล.ต.ท.บุญจันทร์ นวลสาย สว. เสนอไว้จำนวน 2 วัน คือวันจันทร์และวันอังคาร ตั้งแต่เวลา 09.30 น.  ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 164 เสียง ไม่เห็นชอบ 24 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง 

ต่อมาได้พิจารณาเรื่องด่วน ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งมีผู้เสนอญัตติจำนวน 5 คน ประกอบด้วย นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กลุ่มสาธารณสุข นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว.กลุ่มประชาสังคม นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.กลุ่มสื่อมวลชน นายเอกชัย เรืองรัตน์ สว.กลุ่มอื่นๆ และ พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.กลุ่มอื่นๆ

ทั้งนี้ เนื่องมาจากข้อบังคับปัจจุบันกำหนดให้มีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำวุฒิสภา จำนวน 26 คณะ และให้มีคณะ กมธ.ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศและการจัดทำและดำเนินการยุทธศาสตร์ชาติขึ้น แต่อายุของ สว.จำนวน 250 คนตามมาตรา 269 ของรัฐธรรมนูญได้สิ้นสุดลง และมี สว.ชุดใหม่  200 คน ตามมาตรา107 จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะได้มีการแก้ไขข้อบังคับ เพื่อให้เหมาะสมและสอดรับกับภารกิจของ สว.ชุดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

ภายหลังที่ สว.อภิปรายแสดงความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว นายมงคลได้ให้สมาชิกลงมติ ผลปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบญัตติแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ของ พล.ต.ท.ยุทธนา ด้วยคะแนน 148 ต่อ 39 งดออกเสียง 13 เสียง ไม่ออกเสียงไม่มี และตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 21 คน กำหนดระยะเวลาทำงาน 30 วัน โดยให้สมาชิกแปรญัตติ 7 วัน

สำหรับสาระสำคัญของร่างข้อบังคับฉบับ พล.ต.ท.ยุทธนา กำหนดให้มีคณะ กมธ.สามัญ จำนวน 21 คณะ  ประกอบด้วย กมธ.จำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 18 คน และอาจตั้งคณะอนุ กมธ.ได้ไม่เกินคณะละ 3 คณะ ประกอบด้วย อนุ กมธ.คณะละไม่เกิน 12 คน ซึ่งเลือกจากรายชื่อที่ กมธ.เสนอ รวมถึงให้ยกเลิกหมวด 10  ภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ

กระทั่งเวลา 15.00 น. ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายบุญส่ง น้อยโสภณ รองประธาน สว.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม พิจารณาการตั้ง กมธ.สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.) ทั้งนี้เป็นการดำเนินการตั้ง กมธ.ขึ้นใหม่ เพื่อทำงานต่อเนื่องจาก กมธ.ชุดเดิมซึ่งเป็น สว.ชุดเก่า โดยตามกระบวนการต้องพิจารณาชื่อของอัยการสูงสุด (อสส.) ตามที่คณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เสนอชื่อ นายไพรัช พรสมบูรณ์ศิริ รองอัยการสูงสุด ให้ดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ ในการพิจารณาของ สว.มีความเห็นให้ส่งชื่อนายไพรัชคืนให้ ก.อ.ทบทวนและเสนอกลับมาใหม่ โดยสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ อาทิ น.ส.นันทนา นันทวโรภาส และนางอังคณา นีละไพจิตร อภิปรายให้ สว.ส่งคืนรายชื่อดังกล่าว เพื่อไม่ให้ภาพการทำงานของ สว.ปัจจุบันเป็นการทำงานที่รับมรดกจาก สว.ชุดเก่า อีกทั้งเพื่อทำให้เกิดความโปร่งใส

ขณะที่มี สว.ที่แสดงความเห็นคัดค้าน อาทิ พล.ต.ท. บุญจันทร์ นวลสาย สว. นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม  สว. ซึ่งอภิปรายว่าการแต่งตั้งอัยการสูงสุดและศาลปกครองสูงสุด หากถอยแล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่อาจจะไม่ทันต่อการได้ตำแหน่งดังกล่าวในเดือน ต.ค.นี้ ดังนั้นควรพิจารณาเสนอชื่อ กมธ.เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองและพิจารณา แต่นายบุญส่งยืนยันให้พิจารณาเสนอชื่อ กมธ.เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ และขอให้มีการเสนอชื่อ ทำให้ที่ประชุมเข้าสู่กระบวนการเสนอชื่อ กมธ. แต่มีการเสนอชื่อ สว.เป็น กมธ.ตรวจสอบประวัติเกิน 15 คน ทำให้ที่ประชุมต้องใช้การลงมติผ่านบัตรลงคะแนนเพื่อตัดสิน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการเสนอรายชื่อแบบเป็นกลุ่มก้อน โดยนายนิรัตน์ อยู่ภักดี สว. เสนอรายชื่อ กมธ. 15 คน พบว่าเป็นสัดส่วนที่เตรียมมาแล้วล่วงหน้าและเป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ขณะที่นายวีระพันธ์ สุวรรณนามัย  สว. อภิปรายว่าการเสนอชื่อ สว.ให้เป็น กมธ.ถือเป็นภาพที่สำคัญ หากภาพออกไป 15 คนเรียงกันตามที่เสนอ  ประชาชนที่ดูในขณะนี้ต้องมีข้อสงสัยและไม่มั่นใจ จึงขอหารือให้เสนอตนเองก่อนที่จะเสนอเป็นชุด เพื่อให้เกิดความหลากหลายไม่เป็นกลุ่มเดียวเกินไป

จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ อภิปรายว่า ตนได้เสนอชื่อตนเองก่อนหน้านี้จำได้หรือไม่ ส่วนการเสนอเป็นชุดใหญ่นั้นมาทีหลัง หากเป็นแบบนี้ภาพที่ออกไปคือสภารีโมต สภาใบสั่ง ซึ่งตนอายและไม่ยอม จะสู้ให้ถึงสว่าง  เพราะการตั้งองค์กรอิสระถือเป็นหัวใจของวุฒิสภา และขอให้ท่านต้องตอบให้รู้ว่าจะต้องขออนุญาตจากใครที่เป็นเจ้าของสภา ที่เสนอมาเป็นชุดแสดงว่าอย่างไร ที่เสนอรวดเดียว โดยไม่ฟังว่าคนที่ต้องการเป็นอย่างตนเองนั้นถูกมองข้าม หากเสนอแบบนี้จะเกิดปัญหาเรื่อยๆ

นายบุญส่งชี้แจงว่า ไม่ห้ามเสนอตนเอง เพราะเป็นสิทธิ สว. ใครจะได้เป็นยึดตามมติของ สว. อย่าลืมว่าเราเป็นสมาชิกปวงชนชาวไทยที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) รับรองผลแล้ว

ขณะที่นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร เสนอรายชื่อ สว.ในกลุ่มพันธุ์ใหม่ 10 คน อาทิ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง, นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย, นางอังคณา นีละไพจิตร, น.ส.นันทนา นันทวโรภาส, นายวีรยุทธ์ สร้อยทอง, นางประทุม  วงศ์สวัสดิ์ ให้เป็น กมธ.ด้วย

อย่างไรก็ตาม มีการเสนอชื่อรวม 34 คน ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่กำหนด ทำให้ต้องใช้การตัดสินด้วยการออกบัตรลงคะแนน และด้วยระยะเวลาเตรียมบัตรออกเสียงต้องใช้เวลา ทำให้นายบุญส่งแจ้งให้พักการประชุม 1 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการก่อนออกเสียงลงคะแนนเพื่อตัดสิน

จากนั้นเวลา 17.25 น. ที่ประชุมวุฒิสภากลับมาประชุมใหม่ หลังจากพักการประชุมไปประมาณ 1 ชั่วโมง  โดยมี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธาน สว.คนที่ 1  ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดย น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว. ลุกขึ้นอภิปรายว่า วาระตรวจสอบองค์กรอิสระ ทำไมเราไม่คุยกัน หรือทำไมต้องเลือกแพ็กกันมา ซึ่งเหตุการณ์ดูคุ้น เราเคยมีเผด็จการรัฐสภามาแล้ว วันนี้ทำไมเราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เผด็จการวุฒิสภาอีกหรือ ขอให้ใช้วิธีการไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยไม่ได้ขอให้เลือกกันเองหรือจับฉลาก

ทำให้ พล.อ.เกรียงไกรชี้แจงว่า การเสนอรายชื่อเป็นกมธ.ก็เห็นอยู่แล้วว่ามีการเสนอเป็นกลุ่ม 2-3 กลุ่ม และทุกคนก็เป็นไปตามกฎกติกาข้อบังคับที่เราปฏิบัติร่วมกัน จึงขอให้เป็นไปตามข้อบังคับคือต้องลงมติ โดยจำนวนรายชื่อมีทั้งหมด 33 คน

ทำให้กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่และกลุ่มอิสระไม่พอใจที่จะเลือกเป็นกลุ่มก้อน จึงมีการเสนอให้ผู้ที่ถูกเสนอชื่อทั้้งหมดแสดงวิสัยทัศน์ว่าเหมาะสมเป็น กมธ.หรือไม่ เพราะต้องการให้เกิดการรอมชอม เพราะหากยังดึงดันที่จะเสนอชื่อกมธ. 15 คน โดยไม่เปิดโอกาสให้ สว.คนอื่นเลย แบบนี้อาจทำให้ภาพลักษณ์ของ สว.ชุดนี้เป็นอย่างที่ สว.หลายคนสงสัยวิพากษ์วิจารณ์

รวมถึง นพ.เปรมศักดิ์ได้อภิปรายว่า อัยการถือเป็นความหวังของประชาชน แทนที่เราจะรอบคอบในการตั้งกมธ.ที่มาจากทุกส่วน แต่ต้องมาโหวตกันด้วยเสียงข้างมากลากไป แล้วจะได้ใครก็รู้ ไม่ต้องโหวตก็รู้ จึงไม่ขอร่วมสังฆกรรมกับการโหวตครั้งนี้ จากนั้น นพ.เปรมศักดิ์ได้เดินออกจากห้องประชุมทันที โดยมี สว.บางส่วนเดินตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม พล.อ.เกรียงไกรได้วินิจฉัยให้เดินหน้าลงมติเลือก กมธ.ให้เหลือ 15 คน โดยให้ สว.กาบัตรว่าจะเลือกรายชื่อใดที่เสนอมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สว.พันธุ์ใหม่' แจงวอล์คเอาท์ ไม่ร่วมสังฆกรรมพวกเสียงข้างมากลากไป

แกนนำสว.กลุ่มพันธุ์ใหม่และกลุ่มอิสระ ร่วมกันแถลงภายหลังวอล์กเอาท์จากห้องประชุมวุฒิสภา ระหว่างที่มีการลงคะแนนคัดเลืกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด (อสส.)