กสม.โผล่แฉทักษิณ ส่อ‘ป่วยทิพย์-อภิสิทธิ์ชน’ ส่งปปช.ฟัน‘รพ.-กรมคุก’

“เศรษฐา” เชื่อ “ทักษิณ” ขอไปดูไบ เปล่าตั้งหลัก แค่รักษาตัว “จตุพร” ฟันธง ต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์เหนือคนอื่น “กสม.” ระบุ “แม้ว” ได้อภิสิทธิ์เหนือผู้ต้องขังรายอื่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-รพ.ตำรวจเลือกปฏิบัติ ส่งข้อมูลให้  ป.ป.ช.ดำเนินการ

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขออนุญาตศาลเดินทางไปดูไบเพื่อรักษาตัว แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต จนถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ทางการเมืองช่วงเดือน ส.ค. จึงจะออกไปตั้งหลักก่อนว่า ไม่แน่ใจ เพราะตนอ่านเพียงแต่ข่าวว่านายทักษิณจะไปพบแพทย์ แต่ศาลไม่อนุญาตเนื่องจากแพทย์ในประเทศไทยมีอยู่แล้ว และเข้าใจว่าแพทย์ไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเดือนนี้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐามองว่า ไม่น่าเกี่ยวกัน เพราะวันที่ 7 ส.ค.เป็นเรื่องของพรรคก้าวไกล และวันที่ 14 ส.ค.เป็นเรื่องของตน ส่วนนายทักษิณเองยืนยันว่าจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในคดี ม.112 และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะลูกสาว ออกมายืนยันว่าไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะไปตั้งหลักต่างประเทศ ประเด็นดังกล่าวนายทักษิณระบุว่าจะออกไปเรื่องสุขภาพ แต่เรื่องอื่นยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่ได้ประเมินและไม่มีตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ทุกคนยังทำงานปกติทุกวัน เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน เพราะนี่คือรัฐบาล

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า ทักษิณขอศาลไปต่างประเทศ แต่ยื่นในวันเสาร์ที่ 27 ก.ค. ซึ่งเป็นวันที่ศาลกำหนดไว้เฉพาะในเรื่องการประกันตัวเป็นหลัก โดยไม่อนุญาตให้ยื่นขอออกนอกประเทศในกรณีศาลกำหนดให้ประกันตัวและมีเงื่อนไขไว้ว่า ห้ามออกนอกราชอาณาจักร ยกเว้นศาลอนุญาต

“ทำไมไปยื่นวันเสาร์ ใครบอกให้คิดให้ยื่นวันเสาร์ เพราะศาลไม่อนุญาตให้ยื่นไปต่างประเทศในวันเสาร์กันหรอก และเป้าหมายไปรักษาตัวจริงหรือไม่ แพทย์ไทยถ้าไม่สามารถรักษาโรคที่ทักษิณป่วยได้แล้วทักษิณจะมีชีวิตอยู่จนเกือบปีเหรอ” นายจตุพรตั้งข้อสังเกต

นายจตุพรกล่าวว่า ทักษิณกลับมาไทยเมื่อ ส.ค.66 ลงเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง สุขภาพยังแข็งแรง ยืนโบกมือได้ แต่เกิดป่วยฉับพลันพร้อมมีโรคสารพัดจนได้ไป รพ.ตำรวจ แล้วอยู่ยาวนาน 6 เดือน จากนั้นเมื่อได้พักโทษ อ้างแก่ชราช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แม้ได้พักโทษออกจาก รพ.ตำรวจต้องใส่เฝือกคอ คล้องผ้าพยุงแขนเอ็นไหล่ฉีกขาด แต่อีกไม่อีกวันก็หายจากอาการป่วยฉับพลันเช่นกัน สามารถกินไวน์ เล่นกอล์ฟ ขึ้นปราศรัย ร้องเพลง รวมทั้งออกนอกพื้นที่ กทม.ไปต่างจังหวัดหลายแห่ง โชว์ตัวทางการเมืองเป็นว่าเล่น พร้อมสังสรรค์จับกลุ่มการเมืองโชว์ความมั่นใจ แสดงออกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือคนอื่น

‘แม้ว’ หวังโชว์อิทธิฤทธิ์

นายจตุพรกล่าวอีกว่า เมื่ออยากออกนอกประเทศไปดูไบก็อ้างว่าป่วยอีกแล้ว ต้องการไปรักษาโรคกระดูกเคลื่อน ปอดอักเสบเรื้อรัง ระบบหายใจและหลอดเลือดหัวใจและเอ็นไหล่ขวาฉีกขาด เพราะหมอไทยไม่มีปัญญารักษา แต่โรคที่อ้างอีกเป็นโรคเดียวที่เข้า รพ.ตำรวจ และหมอไทยรักษาได้ ไม่เช่นนั้นคงเสียชีวิตไปแล้ว ส่วนการอ้างนัดหมายบุคคลสำคัญไว้นั้น นายทักษิณเป็นนักโทษและอยู่ระหว่างการพักโทษ ถูกห้ามออกนอกประเทศ ดังนั้นควรโทรศัพท์แจ้งให้บุคคลสำคัญที่นัดไว้เดินทางมาพบที่ไทย หรือใช้สื่อสารโซเชียลพูดคุยกัน จะได้หารือกิจการธุระตามนัดหมายกันไว้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปดูไบเลย

นายจตุพรกล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ทักษิณจะเดินทางไปต่างประเทศวันที่ 1-16 ส.ค.นั้น มีเหตุผลใหญ่คือ วันที่ 7 ส.ค.นี้ การพิจารณาคดีพรรคก้าวไกล คงเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เชื่อว่าต้องถูกยุบพรรค แล้ว สส.บางส่วนคงทยอยไปสังกัดพรรคอื่น และที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือวันที่ 14 ส.ค. เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดตัดสินคดีถอดถอนนายเศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่

"ดังนั้น การไปยื่นขอออกนอกประเทศในวันเสาร์นั้น ต้องการสร้างฤทธิ์เดชหรือไม่ เพราะเคยสร้างอุปาทานหมู่ทางการเมืองมาแล้วเมื่อช่วงเข้าประเทศ โดยอ้างว่าได้รับไฟเขียวทุกอย่าง เหตุนี้การยื่นขอออกนอกประเทศในวันเสาร์ จึงต้องการทดสอบความมั่นใจ แล้วใครไปสร้างความมั่นใจให้ได้มากขนาดนี้ เพราะไม่มีใครคิดได้หรอกว่าต้องยื่นศาลขอออกนอกประเทศในวันเสาร์” นายจตุพรระบุ

นายจตุพรย้ำว่า หลักปฏิบัติการขออนุญาตออกนอกประเทศ นักโทษต้องไปที่ศาลด้วยตัวเองเพื่อแสดงตัวให้ปรากฏต่อศาลในวันยื่นขอไปต่างประเทศ แล้ววันที่กลับเข้าประเทศก็ต้องแสดงตัวเช่นกัน ดังนั้นเมื่อทักษิณไม่ไปปรากฏตัวที่ศาล จึงคิดเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากต้องการแสดงอิทธิฤทธิ์แห่งอำนาจ อย่างไรก็ตาม อิทธิฤทธิ์ที่เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่นนั้น ทักษิณได้แสดงให้นายเศรษฐารับรู้มาแล้วเมื่อถึงวันเกิดตัวเอง โดยนายกฯ พูดกับนักข่าวว่าโทร.ไปอวยพร ยังไม่รับสาย ย่อมแสดงถึงร่องรอยว่ามีปัญหาทางการเมืองอย่างชัดเจน ดังนั้นโอกาสรอดคดีถูกถอดถอนจากตำแหน่งนายกฯ ของนายเศรษฐาจึงยากมาก  อีกอย่างแม้นายเศรษฐามีอำนาจในการยุบสภาได้ แต่จะถูกนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษากฎหมายของนายกฯ เป็นก้างขวางคออยู่ คงทำกันไม่ได้ง่ายๆ

วันเดียวกัน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)​ เปิดเผยว่า กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน พ.ย.66 ระบุว่า การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกร้องที่ 1) อนุญาตให้นายทักษิณ ผู้ต้องขัง เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ (ผู้ถูกร้องที่ 2) เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 และได้รับการรักษาที่ดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น อาจเป็นการเลือกปฏิบัติ จึงขอให้ตรวจสอบ ซึ่ง กสม.ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องอายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

นายวสันต์กล่าวว่า กรณีโรงพยาบาลตำรวจรับตัวนายทักษิณไว้รักษาที่ห้องพิเศษชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษานั้น เห็นว่าการที่นายทักษิณเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการวิกฤต ซึ่งในช่วงแรกเข้าพักที่ชั้น 14 เนื่องจากโรงพยาบาลให้ข้อมูลว่าเป็นเพียงชั้นเดียวที่มีห้องว่าง  แต่หลังจากนั้นปรากฏว่านายทักษิณยังพักที่ห้องพิเศษดังกล่าวมาโดยตลอด โดยโรงพยาบาลชี้แจงว่านายทักษิณมีภาวะวิกฤตสลับปกติ ซึ่งหากนายทักษิณป่วยจนอยู่ในระดับวิกฤตตามที่มีการชี้แจงจริง ก็ควรต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่นายทักษิณกลับพักในห้องพิเศษ ซึ่งตามปกติควรมีไว้สำหรับผู้ป่วยที่พ้นจากภาวะวิกฤตและสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้างแล้ว อีกทั้งกรมราชทัณฑ์ก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีผู้ต้องขังป่วยคนใดบ้างที่เข้าพักรักษาตัวในห้องพิเศษ เนื่องจากกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ไม่ได้กำหนดให้เรือนจำที่ส่งตัวหรือสถานพยาบาลที่รับตัวผู้ต้องขังไว้ต้องรายงานให้ทราบ ทั้งที่กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีผลทำให้ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่งอาจได้รับสิทธิที่ดีกว่าผู้ต้องขังอื่นๆ ที่มีอาการป่วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอดีตผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญที่อาจได้รับการดูแลแตกต่างหรือเป็นพิเศษมากกว่าผู้ต้องขังทั่วไป

ส่ง ป.ป.ช.ฟันเจ้าหน้าที่

“จึงเห็นว่าการที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ กำหนดให้นายทักษิณพักรักษาตัวที่ห้องพิเศษของโรงพยาบาลตำรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเรือนจำไม่ได้โต้แย้งจนกระทั่งนายทักษิณออกจากโรงพยาบาล เป็นการดำเนินการโดยอาศัยช่องว่างของกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ทำให้นายทักษิณได้รับประโยชน์นอกเหนือกว่าสิทธิที่ควรได้รับ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคและเป็นการเลือกปฏิบัติ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายวสันต์กล่าว

  กสม.รายนี้กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ อนุญาตให้นายทักษิณพักรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน เห็นว่า แม้ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม. ไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของนายทักษิณ เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างถึงข้อจำกัดทางด้านกฎหมาย แต่หากนายทักษิณมีอาการป่วยอยู่ในภาวะวิกฤตสลับปกติจริงตามอ้าง  ก็ควรได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และพักในห้องสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ.67 ซึ่งเป็นวันที่นายทักษิณสามารถออกจากการควบคุมของเรือนจำตามโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษของกรมราชทัณฑ์ นายทักษิณสามารถเดินทางกลับบ้านพักส่วนตัวได้ในทันทีโดยไม่พบว่า ต้องเข้าไปรับการรักษาตัวในสถานพยาบาลแห่งอื่นอีก รวมทั้งสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ และปฏิบัติภารกิจได้โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อันผิดปกติวิสัยของผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตจนถึงขั้นอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและต่อเนื่อง ซึ่งใช้เป็นเหตุผลในการพักรักษาตัวกับโรงพยาบาลตำรวจมาโดยตลอด

“ด้วยเหตุนี้ จึงยังมิอาจเชื่อได้ว่า นายทักษิณมีอาการป่วยจนถึงขนาดที่ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนานถึง 181 วัน โดยไม่สามารถออกไปรับการรักษาต่อที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์หรือกลับไปคุมขังต่อที่เรือนจำได้ ในชั้นนี้ จึงเห็นว่า การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการเลือกปฏิบัติแก่ผู้ต้องขังด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องสถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม อันถือเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนเช่นกัน” นายวสันต์ย้ำ

เขากล่าวอีกว่า กสม.มีความเห็นเพิ่มเติมว่า  การกระทำของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลตำรวจ และผู้ที่เกี่ยวข้องยังเข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคล อันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่และอำนาจตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้ทราบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องในประเด็นนี้ไว้แล้ว ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการ กสม.จึงมีมติให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ชื่นชมตร.สอบสวนกลาง ฮึ่ม! ไม่ยอมเด็ดขาดถ้าเอาชื่อ 'เศรษฐา-การเมือง' มาอ้าง

นายกฯ ชื่นชมตำรวจสอบสวนกลาง ทำงานมืออาชีพไม่สะทกสะท้านคนมาแทรกแซงแบบไม่ถูกกฎหมาย ฮึ่ม! ไม่ยอมเด็ดขาดถ้าเอาชื่อ'เศรษฐา- การเมือง' มาอ้าง บอกพร้อมเป็นที่พึ่งหากถูกเบียดเบียน แนะพัฒนาบุคลากร -ยุทโธปกรณ์ ให้ทัน หลังกวาดล้างหนัก เขาจัดเต็มกลับ

'ศิริกัญญา' เอาใจช่วย 'เศรษฐา' ไม่หลุดนายกฯ หวัง 'ก้าวไกล' รอดยุบพรรค

'ศิริกัญญา' เชียร์ 'เศรษฐา' รอดคดี ไม่เห็นด้วยองค์การอิสระแทรกแซง ยังหวังก้าวไกลไม่ถูกยุบ ขอรอผล 7 ส.ค. ก่อน รับคุยหลายพรรคไม่ใช่แค่ถิ่นกาขาวฯ