งัดDNAมัดคางดำระบาด CPFแจงกมธ.ย้ำไม่เกี่ยว

"กมธ.ปลาหมอคางดำ" คาดมูลค่าเสียหายเฉียดหมื่นล้าน "ณัฐชา" ซัด 7 มาตรการรัฐ ไม่ตอบโจทย์ จี้ "นายกฯ"  นั่งหัวโต๊ะหาแนวทาง อย่าให้เรื่องเงียบแบบหมูเถื่อน "เลขาฯ ไบโอไทย" ยันมีหลักฐานชัด DNA และพื้นที่ระบาดตรงกัน "หมอวาโย" ลั่นต้องเอาผิดทั้งแพ่ง ทั้งปกครอง ด้านผู้ "บริหาร CPF" เข้าแจง กมธ.ครั้งแรก ลั่นแม้บริษัทจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยว แต่ที่มีมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำเพราะต้องการสนับสนุนภาครัฐ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 ส.ค.2567  ที่รัฐสภา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เปิดเผยว่า วันนี้ กมธ.ได้เชิญสำนักงานอัยการสูงสุด  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมถึงนายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มาพูดคุยเรื่องข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม แต่นายวิษณุกลับไม่ได้มาร่วมประชุม เพราะประชาชนเตรียมที่จะฟ้องหน่วยงานภาครัฐ  กมธ.จึงต้องเดินหน้า เพื่อหาต้นตอสาเหตุของเรื่องนี้ให้ได้ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องกฎหมายทั้งหมด และจะส่งหนังสือไปยังหน่วยงานและหัวหน้าส่วนราชการ ทั้งกรมประมง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายณัฐชากล่าวว่า ในส่วน 7 มาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ใช้งบ  450 ล้านบาท ตนมองว่ายังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร เพราะเป็นสิ่งที่สังคมทำอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เขารอคอยคือต้นตอสาเหตุ และการประกาศเขตภัยพิบัติ เพื่อปั๊มหัวใจเกษตรกร ซึ่งเรายังไม่ได้ยินความชัดเจนจากฝ่ายบริหารเลย โดยมองว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อและระบบนิเวศอย่างมหาศาล ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น ต้องยืนหยัดเคียงข้างเกษตรกร ส่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องบรรเทาทุกข์ให้ประชาชนทั้ง 17 จังหวัด รวมถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำรัฐบาล ต้องนั่งหัวโต๊ะ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ อย่าให้เขาครหาหาว่าแอ็กชันทุกเรื่อง แต่จุดจบเหมือนหมูเถื่อนที่เงียบหาย ตนจะไม่ยอมให้ปลาเถื่อนจบแบบหมูเถื่อน

ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการนำเข้าปลาหมอคางดำที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้นมานั้น นายณัฐชาบอกว่า ทุกวันนี้ตนยังตามหาคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวไม่เจอ แม้ว่าจะครบกําหนด 7 วันแล้ว ใช้งบประมาณถึง 450 ล้านบาท สิ่งที่สัญญาไว้ยังไม่คืบหน้า ดังนั้นขอให้สังคมจับตา เมื่อถามว่ามีการประเมินมูลค่าความเสียหายหรือยัง นายณัฐชา กล่าวว่า มีตัวอย่างชัดเจนแค่ตำบลเดียว ซึ่งคาดว่าเสียหายปีละ 100 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ประเมินมูลค่าทั้งหมด แต่คร่าวๆ อาจถึง 10,000 ล้านบาท

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือไบโอไทย กล่าวก่อนเข้าชี้แจงคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหาจากการนำเข้าปลาหมอคางดำว่า ฟาร์มยี่สารเป็นศูนย์กลางเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพราะบริษัทซีพีเอฟเป็นเอกชนเพียงรายเดียวที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และได้ทำการละเมิดกฎความปลอดภัยทางชีวภาพซ้ำซากตั้งแต่ปี 2554-2565 ทั้งกรณีนำเข้าปลาหมอคางดำ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ได้ออกมายืนยันแล้วหลังจากการลงพื้นที่และการนำเข้าปลาเก๋าหยก ในปี 2555 โดยกรมประมงได้กำหนดเพิ่มเงื่อนไขการนำเข้า และในรายงานการระบาดของกรมประมงและชุมชนก็สอดคล้องกันว่าพบปลาหมอคางดำในคลองรอบฟาร์มยี่สารเป็นครั้งแรก ขณะที่กรมประมงยืนยันว่าพบปลาหมอคางดำในฟาร์มยี่สารเมื่อปี 2560 อีกทั้งคำอธิบายของ CPF เรื่องปลาตายและการส่งตัวอย่างไม่มีความน่าเชื่อถือ และไม่มีหลักฐานมายืนยัน ซึ่งไบโอไทยได้รับข้อมูลมาจากอดีตพนักงานฟาร์มยี่สาร

นอกจากนี้ ในเอกสารของกรมประมงที่ส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ในปี 2560-2562 ก็ได้ระบุชัดเจนว่าการระบาดเกิดใน 7 คลอง คือ คลองดอนจั่น คลองหลวง ซึ่งติดกับฟาร์มยี่สาร

เลขาฯ ไบโอไทยยังเปิดเผยว่า มีการลงพื้นที่พบปลาหมอคางดำ 10 ตัว ซึ่งเป็นสารชีวภาพและกรมประมงได้นำ DNA ไปตรวจจนมีข้อสรุปว่าปลาหมอคางดำ มีแหล่งที่มาเดียวกัน และเป็นการนำเข้าเพียงครั้งเดียว จึงอยากให้มีการเชิญนักพันธุศาสตร์มาตรวจสอบเรื่องนี้โดยตรง   ส่วนกรณีที่เอกชนนำหลักฐานเรื่องปลาตายมาอธิบายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกว่าปลาตายเกิดขึ้นปี 2553 และปี 2554 ตายหมด หลัง กสม.ลงพื้นที่ตรวจสอบ อีกทั้งไม่มีเอกสารหลักฐานใดๆ ว่ามีการส่งตัวอย่างให้กรมประมง นอกจากเอกสารชี้แจง

"สังคมและหน่วยงานต่างๆ แม้กระทั่งกรมประมง เพิ่งทราบว่ามีปลาตายตอนเมื่อ กสม.ไปตรวจสอบเรื่องนี้ คำอธิบายปลาตายจากบริษัทเอกชน เป็นคำอธิบายต่อ กสม.เพื่อชี้ให้เห็นว่าฟาร์มยี่สารไม่ได้เลี้ยงปลาหมอคางดำเลย ขอขีดเส้นใต้ว่าสิ่งอธิบายต่อ กสม. เลี้ยงในบ่อปิด คำว่าบ่อซีเมนต์มาภายหลัง ส่วนไบโอไทยเปิดเผยเป็นบ่อดิน คำว่าบ่อปูนก็มาภายหลัง สังคม ตัวผมและ กสม.ก็ลงพื้นที่ตามหา DNA มีตึกสร้างทับ ตัวอย่างถูกคลอรีนทำลาย ยากมากที่จะไปตามหาที่นั่น"

นอกจากนี้ เลขาฯ ไบโอไทยยังได้เปิดเผยแผนที่ฟาร์มยี่สารปี 2560 โดยภายในฟาร์มพบบ่อเลี้ยงกุ้ง และปลาหมอคางดำ เลี้ยงในบ่ออนุบาลและบ่อผสมพันธุ์ และทำการผสมพันธุ์ปลาหมอคางดำแบบไฮบริด เป็นการเพาะเลี้ยงในบ่อดินและในกระชัง โดยบ่อพักน้ำติดกับคลอง 3 สาย  และฟาร์มแห่งนี้นอกจากเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปลาหมอคางดำไฮบริด คือปลาหมอคางดำผสมปลานิล ปลาเก๋าหยก  ปลาจะละเม็ดครีบสั้น ระบบน้ำในฟาร์มเป็นระบบปิด แต่หากน้ำในบ่อหายไปก็จะมีการดึงน้ำในคลองเข้ามาแทน ซึ่งปลาในระบบจะหลุดไปอยู่ในบ่อบำบัดคลองส่งน้ำ เมื่อมีการเคลียร์บ่อบำบัดน้ำ ก็จะสูบน้ำทิ้งนอกฟาร์ม เป็นจุดที่ทำให้ปลาหลุดออกไปสู่คลองธรรมชาติ

"จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่เห็นหลักฐานใดมายืนยันว่าไม่มีการเลี้ยงปลาที่ฟาร์มยี่สาร และการส่งตัวอย่างปลาให้กรมประมง และวันนี้เอกสารที่ทางไบโอไทยเตรียมมาให้ทาง กมธ. อาจจะยังไม่เคยเห็นข้อมูลนี้ และ กมธ.อาจจะไม่ได้โฟกัสในประเด็นนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ  ที่ไบโอไทยจะชี้ให้เห็นถึงรายงานเรื่องดีเอ็นเอ และข้อมูลใหม่ ซึ่งจะต้องหารือกับกรรมาธิการฯ ว่าจะใช้ข้อมูลที่ไบโอไทยมีเป็นจำนวนมากอย่างไร และคนที่รู้เรื่องนี้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ฟาร์มยี่สารมีเป็นจำนวนมาก" นายวิฑูรย์กล่าว

ด้านผู้บริหารซีพีเอฟ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวภายหลังการเข้าชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ.ในวันเดียวกันว่า  ขณะนี้ซีพีเอฟมี 5 โครงการที่กำลังทำและอยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งมีอีก 2  สถาบันที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วม ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยโครงการทั้งหมดนี้เพื่อสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล เนื่องจากเราคิดว่าเราควรจะมีส่วนช่วยเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับบริษัทก็ตาม ซึ่งมีการตั้งเป้าหมายว่า จะช่วยดึงปลาหมอคางดำออกจากระบบให้เร็วที่สุดประมาณ 2,000,000 กิโลกรัม และมีการสนับสนุนปลากะพงอีกจำนวน 200,000 ตัว ในการกำจัดปลาหมอคางดำให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนของการวิจัยด้วย ซึ่งก็ต้องดูว่าผลของการวิจัยจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด

ส่วนจะมีการเปิดเผยภาพการส่งครีบปลาหมอคางดำหรือไม่นั้น นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เราเชื่อว่าสิ่งที่เราแจ้งไป ชี้แจงเพียงพอแล้ว ตามกระบวนการให้ส่งของไป เราก็ทำตามที่ตกลงกัน ส่วนจะมีการแถลงเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และขอยืนยันอีกว่า การนำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว มีกระบวนการจัดการที่มีเป็นมาตรฐาน แต่เรื่องการส่งออกกว่า 300,000 ตัว ซึ่งห่างกันถึง 150 เท่านั้น นี่คือสิ่งควรพิจารณาหรือไม่ว่าการแพร่กระจายเกิดจากอะไรกันแน่ จึงเชื่อมั่นว่าไม่ได้เกิดจากเรา ส่วนจะเกิดจากอะไร คงต้องให้คณะกรรมาธิการฯ หรือหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ 

เมื่อถามถึงเหตุผลที่มีความมั่นใจว่าบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้นั้น  นายประสิทธิ์บอกว่า แน่นอนว่ากระบวนการการจัดการทั้งหมดอยู่ในฟาร์มที่เป็นระบบและมีมาตรฐานสูง ซึ่งเราก็ได้มีการยืนยันไปแล้ว พร้อมกับย้ำว่า มีเจ้าหน้าที่ของกรมประมงมาตรวจสอบตั้งแต่การรับปลาที่สนามบินแล้ว ทั้งนี้ การนำเข้าปลาหมอคางดำ เป็นไปเพื่อการวิจัย ซึ่งต้องการจะพัฒนาสายพันธุ์ปลา ส่วนกระบวนการฝังซากปลาเป็นไปตามขั้นตอน

 “กระบวนการทั้งหมดยังเป็นเพียงแค่ลูกปลา มีเวลาอยู่กับเรา 16 วัน จึงต้องปิดโครงการ ถ้าใครที่เคยเลี้ยงปลาจะทราบว่าปลาที่เข้ามา 2,000 ตัว เมื่อถูกขนส่งมาถึงจนนำไปฟาร์ม เหลืออยู่เพียงแค่ 600 ตัว และมีสภาพไม่แข็งแรง แสดงว่าปลาโดยรวมที่เหลือก็ไม่ค่อยแข็งแรงเช่นเดียวกัน"

นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะอนุ  กมธ.พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ แถลงข้อสรุปภายหลังการประชุม ในส่วนที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องในคดีต่างๆ ว่า สามารถแบ่งได้เป็น คดีอาญา คดีแพ่ง และคดีการปกครอง โดยคดีการปกครอง มีบางภาคส่วนได้ดำเนินคดีกับกรมประมงไปแล้ว โดยเปรียบเทียบตัวกฎหมายในปี 2490 ที่ใช้บังคับในปี 2553-2554 และพระราชกำหนดการประมงที่ใช้บังคับในปี 2558 สำหรับคดีทางอาญา ทุกภาคส่วนลงความเห็นว่า อาจไม่สามารถเอาผิดได้ แต่คดีความทางแพ่งอาจสามารถเอาผิดได้ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งกรมการปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถฟ้องร้องเอาผิดกับบริษัทเอกชน ในฐานละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายได้ และอีกส่วนเป็นการฟ้องร้องของรัฐโดยตรง ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ปี พ.ศ.2535.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพีเอฟ เข้าแจง กมธ. มั่นใจไม่เกี่ยวข้องปลาหมอคางดำแพร่ระบาด

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทมหาชนจำกัด เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF กล่าวภายหลังการเข้าชึ้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ

'ไบโอไทย' ชี้แจง กมธ.ปลาหมอคางดำ บอกมีข้อมูลสำคัญที่อาจยังไม่เคยเห็น

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย กล่าวก่อนเข้าชี้แจงคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ กรณีถูก CPF เตรียมจะยื่นฟ้องร้องจากการออกมาเปิดเผยเรื่องการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ