ผลITAปี67ดีขึ้น ศธ.บ๊วยโปร่งใส ป้องโกงแสนล.

ป.ป.ช.เปิดผล ITA 2567 จาก 8,325 หน่วยงานรัฐทั่ว ปท. ได้ 93.05 คะแนน ผ่านเกณฑ์ 7,696 หน่วยงาน ทิศทางดีขึ้นปีก่อน 2.86  คะแนน พร้อมเผยคะแนนประเมินคุณธรรมพบ ระดับกรม สคทช.มากสุด 99.31 คะแนน ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าวินได้ 93.85 คะแนน  ศึกษาธิการรั้งท้ายได้ 82.66 คะแนน เลขาฯ ป.ป.ช.ระบุคนตื่นตัวร้องเรียนเพิ่มขึ้น ไม่รอวัวหายล้อมคอก เซฟเงินรัฐกว่า 3 แสนล้าน

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 (ITA DAY & ITA AWARDS 2024) ภายใต้แนวคิด Transparency with Quality: โปร่งใสอย่างมีคุณภาพ โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. และเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. เดินทางมาร่วมงาน

พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า ตอนนี้ ป.ป.ช.ไม่ต้องการเป็นมือปราบ แต่ใช้ป้องกันนำการปราบปราม ซึ่ง ITA จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งในเรื่องนี้ โดยเครื่องมือ ITA ถูกออกแบบให้มีจุดมุ่งหมายหลักส่งเสริมธรรมาภิบาล และป้องกันการทุจริตเป็นหลัก

สำหรับประเด็นคำถามมุ่งเน้นการป้องกันการทุจริตและป้องกันภาครัฐ หน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงและพัฒนาตามการประเมินที่กำหนด ถ้าคะแนนดีสะท้อนการป้องกันการทุจริตและการบริหารจัดการที่ดี ส่งผลถึงสถานการณ์การทุจริตและประพฤติมิชอบในองค์กรนั้นๆ ได้ดีขึ้น แต่ถ้าคะแนนไม่ดี อันนี้สำคัญ ไม่ได้หมายความว่าหน่วยงานมีการทุจริต แต่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการดำเนินงาน การบริหารจัดการ และการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ

โดยผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในภาพรวมระดับประเทศพบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน มีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 2.86 คะแนนเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 7,696 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 92.44% ของหน่วยงานทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 11.50%

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ยังประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และพิธีมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 (ITA DAY 2024 : Transparency with Quality) โดยผลการประเมินที่น่าสนใจคือ หน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม” แบ่งเป็นกลุ่ม กลุ่มกรมหรือเทียบเท่า ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ  (สคทช.) ได้ 99.31 คะแนน, กองทัพเรือ 99.21 คะแนน, ธนาคารออมสิน 98.96 คะแนน, การประปานครหลวงได้ 98.84 คะแนน, องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ 98.46 คะแนน, กรมการศาสนาได้ 98.30 คะแนน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้ 97.94 คะแนน, กลุ่มหน่วยงานของรัฐอื่นๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้ 97.27 คะแนน และกลุ่มรัฐวิสาหกิจคือ การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้ 97.22 คะแนน

ส่วนส่วนผลการประเมินในรายกระทรวง ผลพบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ 93.85 คะแนน, กระทรวงแรงงานได้ 93.69 คะแนน, กระทรวงการคลังได้ 93.29 คะแนน, กระทรวงพลังงานได้ 92.92 คะแนน, กระทรวงวัฒนธรรมได้ 92.37 คะแนน, กระทรวงมหาดไทยได้ 92.13 คะแนน, กระทรวงยุติธรรมได้ 91.42 คะแนน, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ 90.88 คะแนน, กระทรวงพาณิชย์ได้ 90.67 คะแนน, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ 90.51  คะแนน, สำนักนายกรัฐมนตรีได้ 90.14 คะแนน,  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ 90.11 คะแนน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ 89.69 คะแนน, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้ 89.66 คะแนน,  กระทรวงสาธารณสุขได้ 89.01 คะแนน, กระทรวงกลาโหมได้ 88.91 คะแนน, กระทรวงการต่างประเทศได้ 88.7 คะแนน, หน่วยงานไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง หรือทบวง 88.24 คะแนน, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 87.7 คะแนน, กระทรวงคมนาคม 86.67 คะแนน และกระทรวงศึกษาธิการ 82.66 คะแนน

ขณะที่ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวภายในงานตอนหนึ่งว่า การตรวจสอบป้องกันของ ป.ป.ช.นั้น ไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ว่าสามารถระงับความเสียหายของการทุจริตไปได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละโครงการจะมีการตั้งงบและมีการทุจริตที่อาจจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจจะไปคิดตรงนั้นหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด แต่สำหรับ ป.ป.ช. เราดูแค่งบประมาณตั้งต้นสำหรับโครงการนั้นๆ อย่างที่ร้องเรียนรวมๆ แล้วมูลค่าโครงการของเรื่องที่ร้องเรียนเข้ามา แล้ว ป.ป.ช.มีการดำเนินการไปก็ราว 3 แสนล้านบาท และไม่อาจบอกได้ว่าการทุจริตลดลงหรือไม่ อย่างที่มีร้องเข้ามากว่า 9,000 เรื่องนี้ เราต้องไปดูด้วยว่าเรื่องร้องเรียนเหตุการณ์ของปีไหน รัฐบาลไหน แต่แนวโน้มการร้องเรียนในปีปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น สะท้อนว่าคนกล้าร้องเรียนมากขึ้น ไม่ได้รอให้เกิดความเสียหาย

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีการตั้งศูนย์ CDC เพื่อตรวจสอบป้องกันก่อนจะเกิดการทุจริตคอร์รัปชันด้วย ซึ่งตรวจสอบไปกว่า 1,000 เรื่อง รวมมูลค่าโครงการกว่า 1 แสนล้านบาท ที่เรายับยั้งได้ก่อนทุจริต บางโครงการฝืนทำต่อแต่น้อย และมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินการของเขา แต่ถ้าใครไม่ปรับและฝืนดำเนินการ ก็จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ไต่สวน ที่สำคัญปีนี้รัฐบาลสนับสนุนเจ้าหน้าที่การข่าวและเจ้าหน้าที่ป้องกันเป็นร้อยคน 

 “เรื่องการทุจริตนี้ต้องมีการปรับมายด์เซต คนเราบางครั้งยอมรับทุจริตเพื่อให้ตัวเองได้รับผลประโยชน์บ้าง หากยังมีความคิดนี้อยู่ ประเทศชาติก็ไปไหนไม่ได้ การทุจริตคอร์รัปชันจะกลายเป็นการยอมรับ ทั้งๆ ที่เราต้องไม่ยอมรับ ไม่เพิกเฉย ต้องมาชี้ช่องเบาะแส ออกมาต่อต้าน รณรงค์ หากคนทุจริตยังลอยหน้าลอยตาในสังคม มีคนยกมือไหว้อยู่แบบนี้ไม่ได้ ต้องปรับมายด์เซต ต้องปลูกฝังเยาวชน ซึ่งเรามีหลักสูตรต้านทุจริต ที่ ครม.เห็นชอบให้ใช้ในสถานศึกษา รวมทั้งภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสำนักงานสถิติฯ ได้ทำตัวชี้วัดออกมา พบว่าเยาวชนมีความรู้เพิ่ม 90% มีพฤติกรรมดีขึ้น แยกแยะประโยชน์ส่วนรวมกับประโยชน์ส่วนตัวได้” นายนิวัติไชยกล่าว

ขณะเดียวกัน นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 6 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 6 แถลงผลการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า สำหรับกรณีกล่าวหานายนิธินนท์ หรือคะนอง เมืองพุ่ม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์บริหารส่วนตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ กับพวก เข้ามีส่วนได้เสียในสัญญาจ้างเหมา จำนวน 9 โครงการ โดย ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ประกอบด้วย 1.นายนิธินนท์ ถูกกล่าวหาที่ 1 2.นายอดุลย์ เงินเพิ่มสุข หรือเงินน้อย ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่วมจิต อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ 3.ห้างหุ้นส่วนจำกัด พุ่มเจริญทรัพย์ก่อสร้าง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 4.นางสาวนฤมล สิทธิโพธิ์งาม ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด  พุ่มเจริญทรัพย์ก่อสร้าง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง