เกาะ‘มีชัย’รอดคดี ‘เศรษฐา’งัดบันทึกกรธ.สู้ถึงมือศาล/พท.ปัดนายกฯสำรอง

นายกฯ เผยส่งคำแถลงปิดคดีตั้ง “พิชิต” แล้ว ยันไม่ก้าวล่วง ไม่หวั่นกระแสนายกฯ สำรอง ยังกั๊กอนาคตการเมือง “ทักษิณ” หลังพ้นโทษ "เสี่ยนิด" เกาะขา "มีชัย-กรธ." งัดบันทึกประชุมสู้ สุดยอดแย้งบอกไม่รู้ "ทนายถุงขนม" ไม่มีคุณสมบัติ แต่ช่วงท้ายกลับบอกเมื่อความผิดประธานจบแล้ว ไม่ควรมาถึง "ความผิดอุปกรณ์" อย่างตนเอง พร้อมยกมติรัฐสภาในการโหวตนายกฯ บีบให้ลงโทษตามสัดส่วน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการส่งคำแถลงปิดคดีที่ 40 สว.ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ จากการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าพร้อมแล้วทุกอย่าง เหลือเพียงที่ต้องเซ็นลงนาม ซึ่งคาดว่าหลังรับประทานอาหารเสร็จก็จะเซ็นลงนามเลย และจะส่งภายในเวลา 16.30 น. วันเดียวกันนี้ต้องส่งให้เรียบร้อย

เมื่อถามว่า จนถึงวินาทีนี้นายกฯ ยังมั่นใจในเก้าอี้ว่าจะได้ไปต่อได้ใช่หรือไม่ นายเศรษฐายิ้มและหัวเราะ ก่อนกล่าวว่า  “อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าทุกอย่างเราก็ส่งไป ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรมแล้ว ผมไม่อยากจะก้าวล่วง วันนี้ผมก็จะทำ Closing Statements”

 เมื่อถามต่อว่า วันนี้เริ่มมีการมองหานายกฯ สำรอง หวาดหวั่นหรือไม่ นายเศรษฐาปฏิเสธว่า “ไม่ครับ”

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หนึ่งในนั้นมีชื่อของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายเศรษฐากล่าวว่า  ประเทศไทยมีบุคคลคุณภาพหลายคน ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมาย และทุกอย่างยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง และน้อมรับคำตัดสิน

เมื่อถามว่า หากคำตัดสินออกมาเป็นลบ ส่วนตัวนายกฯ คิดว่าคนที่จะมาเป็นนายกฯ คนใหม่ควรมาจากพรรคเพื่อไทย (พท.) หรือพรรคร่วมรัฐบาล นายเศรษฐาตอบว่า อย่าเพิ่งไปไกล อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องนั้นเลย เรามีกลไกของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้แล้ว ถ้าเกิดว่าออกมาเป็นอย่างนั้นก็ต้องเป็นไปตามที่ว่ากันไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า นับจากเหตุการณ์ตั้งแต่เขาใหญ่มาซอยรางน้ำ จนกระทั่งบ้านจันทร์ส่องหล้า ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บ้างหรือยัง  นายเศรษฐากล่าวว่า ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายทักษิณเมื่อวันคล้ายวันเกิด ช่วงเช้าได้โทรศัพท์ไป แต่ท่านไม่ได้รับสายคาดว่าติดทำบุญอยู่ จึงได้ส่งดอกไม้เข้าไปอวยพร และช่วงบ่ายแก่ๆ ได้โทรศัพท์เข้าไปอวยพรอีกครั้งให้ท่านมีความสุขและสุขภาพแข็งแรง ซึ่งไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง ส่วนเรื่องเขาใหญ่หรือที่อื่นก็เป็นการพบปะกันธรรมดา  ซึ่งเรื่องการตีกอล์ฟที่เขาใหญ่ เนื่องจากท่านรู้จักกันมานาน นายอนุทินก็เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านมาก่อน การไปตีกอล์ฟร่วมกันถือเป็นเรื่องธรรมดา

ยังกั๊กดึงทักษิณช่วยงาน

เมื่อถามต่อว่า มีการจับตาในช่วงเดือนสิงหาคมที่นายทักษิณจะพ้นโทษ จะให้เข้ามาช่วยงานในรัฐบาลด้านใดหรือไม่  นายเศรษฐากล่าว เรื่องแรกคือต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมถึงได้รับการพ้นโทษ เรื่องนี้ไม่ทราบว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว ส่วนเรื่องให้มาช่วยงานรัฐบาลยืนยันว่ายังไม่มีการพูดคุยกัน ขอให้เป็นไปตามขั้นตอน เมื่อถามย้ำว่าไม่ได้ปฏิเสธที่จะให้เข้าใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ไม่ปฏิเสธที่จะพูดคุยกัน คงมีการพูดคุยกัน แต่ก็ไม่ทราบเหมือนกัน เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นไปตามความประสงค์ของท่านด้วย ไม่ใช่ของผมฝ่ายเดียว ก็ยืนยันนะครับว่ายินดี และพร้อมยินดีรับฟังความคิดเห็นของทุกๆท่าน"

เมื่อถามว่า ในความคิดนายทักษิณยังเป็นกระแสที่ประชาชนต้องการใช่หรือไม่  นายเศรษฐากล่าวว่า คนเราที่เป็นนายกฯ  มานานขนาดนี้ และเป็นนายกฯ ที่ได้รับความนิยมชมชอบสูงสุด ท่านก็ยังคงมีคนรัก ส่วนที่ผ่านมา 20 ปีนายทักษิณยังตอบโจทย์สถานการณ์ทั้งเศรษฐกิจและการเมืองปัจจุบันหรือไม่นั้น ทุกคนมีความคิดเห็น มีความหวังดี และมีความปรารถนาดีกับประเทศชาติในปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป องค์ประกอบหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นแต่ละปีแต่ละช่วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป ก็จะมีความยากความซับซ้อน

มีรายงานข่าวจากพรรค พท.แจ้งถึงเนื้อหาในคำแถลงปิดคดีดังกล่าวของนายเศรษฐาว่า เนื้อหาไม่ได้แตกต่างไปจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 32 หน้า ที่นายกฯ เคยส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.มากนัก แต่จะมีการสรุปประเด็นให้กระชับมากขึ้น และเน้นประเด็นที่เห็นว่าเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้นายกฯ ชนะคดี โดยเฉพาะการอ้างถึงบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปี 2560 ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เพื่อยืนยันว่าปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของนายพิชิต

โดยบันทึกการประชุมดังกล่าวเป็นช่วง กรธ.ยกร่างมาตรา 160 (4) และ (5) ซึ่งมีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง ว่าการบัญญัติมาตรา 160 (4) และ (5) ที่ให้รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีพฤติกรรมทางจริยธรรมที่ดีจะพิสูจน์ได้อย่างไร ซึ่งนายมีชัยสรุปว่า หากมีข้อสงสัยในเรื่องการขาดคุณสมบัติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทั้งนี้ ในบันทึกยังระบุว่านายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขานุการ กรธ. ที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน ได้กล่าวในที่ประชุมว่า “ร่างมาตรา 160 (4) และ (5) ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับคุณสมบัติรัฐมนตรีที่ควรมี แต่ในทางกลับกันอาจเป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งทางการเมือง จนทำให้มีคำร้องส่งไปยังศาลจำนวนมาก ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นศาลการเมืองไปโดยปริยาย”

เอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ระบุว่า จากบันทึกการประชุมของ กรธ.ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)  สอดคล้องกับความเห็นของกฤษฎีกา ที่ว่าการวินิจฉัยชี้ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 160 เป็นอำนาจโดยเฉพาะของศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) กับนายกฯ ไม่อาจตรวจสอบและชี้ขาดประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เอง

อ้างคดีเก่า 15 ปี

รายงานแจ้งอีกว่า ในเอกสารคำชี้แจงของนายกฯ ได้ระบุถึงประเด็นเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า นายพิชิตได้ลาออกไปก่อนศาลรับคำร้องทำให้ นายพิชิตจึงไม่ได้อยู่ในสถานะผู้ถูกร้องในชั้นศาล และพฤติกรรมของนายพิชิตกรณีละเมิดอำนาจศาล เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 15 ปีแล้ว และเกิดก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จึงควรต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้งตนเองมีภูมิหลังในการประกอบอาชีพทางธุรกิจ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด ไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ จนไม่อาจชี้ขาดได้ว่า นายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

 “ผู้ถูกร้องในฐานะนายกฯ ต้องคำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ เช่น นัยของมาตรา 29  ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำผิด เมื่อผู้ถูกร้องยังไม่ได้ถูกวินิจฉัยโดยศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) จึงได้ตัดสินใจไปโดยความสุจริต ตามประเพณีและข้อพึงปฏิบัติทางการเมือง โดยไม่ถือไปก่อนว่านายพิชิตไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมฯ อันจะทำให้นายพิชิตมีลักษณะต้องห้ามไปตลอดชีวิต โดยที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ดังนั้น การดำเนินการแต่งตั้งนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี เมื่อ 27 เม.ย.2567 เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางราชการ ภายใต้ความไว้วางใจทางการเมือง และข้อตกลงทางการเมืองที่พรรคร่วมรัฐบาลมีต่อกัน โดย  สลค.และตนเองดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว”

รายงานแจ้งอีกว่า เอกสารคำชี้แจงในช่วงท้าย นายกฯ ได้สรุปประเด็นไว้ว่า ไม่ว่านายพิชิตจะขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ก็ไม่ได้ส่งผลให้ตัวนายกฯ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามไปด้วย อีกทั้งความผิดของนายพิชิตยังเสมือนเป็นความผิดประธาน ซึ่งขณะเสนอชื่อก็ยังไม่ได้มีการวินิจฉัยความผิด กรณีของตนเองจึงเปรียบเสมือนเป็นความผิดอุปกรณ์ จึงไม่อาจมีไปด้วยได้

 “ตนเองได้ประกอบสัมมาชีพโดยสุจริต ในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ มีประสบการณ์ในการทำงานหลากหลาย แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความมุ่งหวังให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า การได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา ถือเป็นเกียรติยศ เป็นสิริมงคล ที่สร้างความภาคภูมิใจสูงสุด ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม ต่อผู้ถูกร้องตามหลักความได้สัดส่วน ความสมเหตุสมผลแห่งเหตุ และสอดคล้องกับความไว้วางใจที่สมาชิกรัฐสภา มีมติเห็นชอบให้ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ได้ต่อเนื่องต่อไป”

ด้านนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดีของนายเศรษฐาในวันที่ 14 ส.ค.มีการเตรียมแผนสำรองไว้หรือไม่ ว่าไม่มีการเตรียมแผนสำรอง เพราะมั่นใจมากว่าคดีของนายกฯ ไม่มีอะไร และเชื่อว่านายกฯ ทำถูกต้อง เพราะได้หารือกับทุกฝ่ายแล้ว ไม่ได้กังวลใดๆทั้งสิ้น จึงไม่ได้มีแผนสำรองอะไร

ชงลุงป้อมฟัน 'สามารถ'

วันเดียวกัน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช สมาชิกพรรค พปชร. มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเชิงต่อว่าและตำหนิการทำงานของรัฐบาลโดยส่งไปในไลน์กลุ่ม สส.พรรค พปชร.ว่า เป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่ สส.จะท้อนความเห็น อะไรที่ไม่ตรงกับทัศนคติหรืออุดมการณ์กับสิ่งที่พรรคหาเสียงไว้ในปี 66 ก็คงแสดงความไม่สบายใจ ไม่มีประเด็นความขัดแย้งอะไรทั้งนั้น โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้อยู่ในการร่างนโยบายของพรรคไม่ควรจะยุ่ง และนำทิศทางพรรคให้เกิดความเสียหาย ทุกอย่างต้องผ่านคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.)

  เมื่อถามว่า จะต้องมีการพูดคุยกับนายสามารถโดยตรงหรือไม่ ร.อ.ธรรมนัสย้อนถามว่าทำไมต้องคุย เขาเป็นใคร แต่เห็นว่าในการประชุมพรรควันนี้ สส.บางท่านอาจคุย และเอาประเด็นนี้มาถกเถียงกัน

ถามว่า ต้องกำราบนายสามารถหรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวไม่สอดคล้องนโยบายรัฐบาล ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า พรรคเราเป็นสถาบันการเมือง จะทำอะไรต้องผ่าน กก.บห.พรรค มิเช่นนั้นคงอยู่ด้วยกันไม่ได้

เมื่อถามว่า นายสามารถบอกว่าหากจะต้องพ้นจากพรรค ต้องให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคเป็นคนปลด ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ไม่ใช่ ต้องเป็น กก.บห.พรรค และถ้านายสามารถยังไม่จบ ไม่หยุด จะใช้มติ กก.บห.พรรคขับไล่ออกไป ซึ่งเคยขับไล่ออกไปแล้วรอบหนึ่ง

ทั้งนี้ นายสามารถได้โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า ไม่ต้องขู่ ไม่ต้องไล่ ให้ลุงป้อมโทร.บอกคำเดียวลาออกเลย รักเดียวใจเดียวอยู่ทีละพรรค พระทำไม่ถูกเณรก็ต้องฟ้องเจ้าอาวาส

พล.ต.ท.ปิยะ ต๊ะวิชัย โฆษกพรรค พปชร. กล่าวหลังประชุมว่า ที่ประชุมมีความรู้สึกกังวลต่อความเข้าใจในบทบาทของพรรค พปชร.ในการกระทำของนานสามารถ ยืนยันว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำส่วนตัวไม่ใช่การกระทำของพรรคหรือมติพรรคแต่อย่างใด โดยที่ประชุมเห็นว่าจะนำเรื่องดังไปแจ้งไปยัง พล.อ.ประวิตร เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการแก้ปัญหานี้ต่อไป

นายสามารถยังกล่าวถึงกระแสข่าวว่า พปชร.จะเปิดตัวสมาชิกใหม่ในช่วงบ่ายวันที่ 30 ก.ค.ว่า ไม่มีการเปิดตัว เนื่องจาก พล.อ.ประวิตรท้องเสียกะทันหันภายหลังร่วมรับประทานอาหาร ไม่ทราบว่าใครเป็นคนตักอาหารมาให้ พล.อ.ประวิตร ทาน หรืออาจเป็นการวางยา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิธาปลุกด้อมส้ม2ส.ค.

"ก้าวไกล" โหมโรงคดียุบพรรค ปล่อยคลิปต่อเนื่อง ลั่นพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาได้ด้วย