ทุ่ม450ล้านปราบคางดำ ลุย7มาตรการให้จบปี70

ครม.ไฟเขียว 7 มาตรการ ใช้งบ 450 ล้านบาท แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ มั่นใจจบปี 70 "ซีพีเอฟ" แจงพบภาพและข้อมูลบิดเบือน ขู่ฟ้องทำองค์กรเสียหาย "ศรีสุวรรณ" ร้องศาลปกครองเอาผิดอธิบดีประมง-ไอบีซี-รมว.เกษตรฯ ฐานปล่อยนายทุนนำเข้าไทยจนระบาดหนัก

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า   กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานมาตรการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำต่อที่ประชุม ครม. โดยมีการตั้งคณะทำงานมาแก้ไขปัญหา พร้อมเสนอร่างการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ 7 มาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว

ด้านนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า  ขอบคุณ ครม.ที่เห็นชอบ 7 มาตรการ ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอแก้ปัญหาปลาหมอคางดำด้วยวาจา และสัปดาห์หน้าจะเสนอด้วยเอกสาร ประกอบด้วย 1.จำเป็นต้องกำจัดและนำปลาหมอคางดำออกจากระบบนิเวศของไทยให้มากที่สุด 2.มาตรการรอการกำจัด โดยต้องรอให้ปลาหมอคางดำลดลง หลังจากนั้นจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัดโดยการปล่อยปลานักล่าลงไป อาทิ ปลากะพง ปลาอีกง ในช่วงเวลาที่เหมาะและพื้นที่ที่ได้ศึกษามาแล้ว โดยแต่ละพื้นที่จะใช้ปลานักล่าไม่เหมือนกัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำได้มากขึ้น 3.นำปลาหมอคางดำที่จับขึ้นมาได้ไปใช้เรื่องอื่นๆ โดยตั้งเป้าภายในปีนี้จนถึงกลางปีหน้าเราจะจับให้ได้ไม่ต่ำกว่า 4 พันตัน หรือ 4 ล้านกิโลกรัม

4.มาตรการเฝ้าระวังไม่ให้มีการแพร่ระบาดไปพื้นที่อื่น 5.ทำความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดกับประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาด 6.ใช้การวิจัย นวัตกรรม เข้ามาช่วย เช่น การเหนี่ยวนำโครโมโซม จาก 2n เป็น 4n ซึ่งจะทำให้ปลาเป็นหมัน และจะใช้ฟีโรโมน หรือสารคัดหลั่งในการดึงดูดทางเพศ ในการนำแสงสีไปล่อให้ปลาหมอคางดำมารวมอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการจับและกำจัด ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับการใช้แสงสีเขียวล่อปลาหมึก และ 7.การฟื้นฟู กระทรวงเกษตรฯ จะต้องไปศึกษาแหล่งน้ำที่พบปลาหมอคางดำ ในปัจจุบันมีปลา ปู กุ้ง หอย อะไรบ้าง เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมประมงเตรียมเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อคืนระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ให้กลับมา

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอนักวิชาการให้ใช้ไซยาไนด์กำจัดปลาหมอคางดำ นายอรรถกรกล่าวว่า ข้อเสนอนั้นมาจากนักวิชาการที่ไม่ได้อยู่สังกัดกระทรวงเกษตรฯ เราไม่ปิดโอกาสให้เสนอแนวความคิด แต่มาตรการต่างๆ ที่จะใช้ยาแรง จะทำต้องคิดและไตร่ตรองให้ดีก่อน เพราะสังคมไทยและระบบนิเวศจะได้รับผลกระทบจากมาตรการต่างๆ ที่ออกไป ดังนั้นมาตรการหลักของเราคือทำงานร่วมกับชาวประมงที่ถือเป็นนักล่ามือหนึ่ง ส่วนมาตรการอื่นๆ  จะค่อยๆ พิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รมช.เกษตรฯ ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ว่า ที่ผ่านมากรมประมงได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่เอาไม่อยู่ เพราะที่ผ่านมาขาดการบูรณาการกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ดังนั้นรอบนี้จึงมีการเชิญนายกสมาคมประมง  นายกสมาคมผู้เพาะพันธุ์ เลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและวางแผนในการแก้ไขปัญหา โดยตกผลึกเป็นมาตรการ 7 ข้อดังกล่าว โดยใช้งบประมาณ 450 ล้านบาท ซึ่งปัญหาปลาหมอคางดำจะจบสิ้นและหมดไปจริงๆ ในปี 2570 โดยจากนี้จะค่อยๆ ลดไปตามลำดับ โดยนายอรรถกรยืนยันว่าได้ผลแน่นอน

วันเดียวกัน นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมาและวันที่ 26 ก.ค.67 มีการใช้รูปภาพและข้อมูลประกอบการสื่อสารบนเวทีสาธารณะที่เป็นเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท โดยมีตัวอย่างภาพเท็จและข้อมูลเท็จบางส่วน อาทิ ภาพสภาพบ่อดินของฟาร์มยี่สาร ซึ่งใช้เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ปี 2554-2557 และกล่าวอ้างว่า “เลี้ยงต่อเนื่องที่ฟาร์มยี่สารตั้งแต่ 2553 ถึง 2560” ซึ่งขอชี้แจงว่าเป็นการใช้ภาพและข้อมูลเท็จ หลังจากการตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยเมื่อต้นเดือน ม.ค.2554 และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดแล้ว บริษัทไม่มีกิจกรรมใดๆ เกี่ยวกับปลานี้อีกเลย ส่วนภาพที่สอง กล่าวอ้างว่าเป็นการคัดเลือกไข่ปลาหมอคางดำ เพื่อนำไปขยายพันธุ์/ผสมพันธุ์แล้วนำไปอนุบาลในกระชังในฟาร์มยี่สาร ความเป็นจริงแล้วสถานที่นี้ไม่ใช่ฟาร์มยี่สาร และไม่ใช่กระบวนการคัดเลือกไข่ปลาตามวิธีปฏิบัติของบริษัท สำหรับภาพสุดท้ายเป็นภาพถ่ายทางอากาศของบริเวณฟาร์ม ไม่ใช่บ่อเลี้ยงปลาตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง

"บริษัทยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสอบหาข้อเท็จจริงบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงอย่างสุจริต ขณะเดียวกันต้องขอปกป้องชื่อเสียงองค์กรจากการใช้ข้อมูลและหรือรูปภาพกล่าวอ้างที่เป็นเท็จ ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงให้สังคมเข้าใจผิด ผู้ให้ข้อมูลและหรือรูปภาพเหล่านั้น รวมทั้งผู้ที่ใช้ข้อมูลและรูปภาพดังกล่าว ประกอบความคิดเห็นบนเวทีสาธารณะหรือสื่อต่างๆ ควรรับผิดชอบในการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น โดยจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป" นางกอบบุญระบุ

ที่ศาลปกครองกลาง นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อเอาผิดอธิบดีกรมประมง คณะกรรมการความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (ไอบีซี) และ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบและละเลยต่อหน้าที่ อนุญาตให้นายทุนชื่อดังนำปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์เข้ามาในประเทศไทยจนเกิดการแพร่ระบาด ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าจะยื่นเพิ่มเติมเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคุ้มครองชั่วคราว โดยวันนี้เป็นการยื่นคำร้องหลักไปก่อน ส่วนบริษัทเอกชนไม่ปรากฏอยู่ในการฟ้อง เนื่องจากศาลปกครองยื่นฟ้องได้เฉพาะหน่วยงานของรัฐ แต่เป็นอำนาจของศาลที่จะเรียกเอกชนเข้ามาในคดีได้ เชื่อว่าศาลจะเรียกบริษัทนายทุนเข้ามาหลังจากที่ศาลประทับรับฟ้องเรียบร้อยแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิธาปลุกด้อมส้ม2ส.ค.

"ก้าวไกล" โหมโรงคดียุบพรรค ปล่อยคลิปต่อเนื่อง ลั่นพรรคการเมืองเกิดขึ้นมาได้ด้วย