บกพร่องโดยสุจริต! นายกฯอ้างมุกเดิมแจงศาล แฉรู้ดีแต่ต้นเสนอชื่อ‘พิชิต’

“วิษณุ” เผย “เศรษฐา” ส่งคำแถลงปิดคดีทันตามกรอบ 31 ก.ค.แน่ เปิดไส้ในคำแจงอ้าง สลค.มีข้อจำกัดทางกฎหมาย มามุกบกพร่องโดยสุจริต ยกก้นตัวเองมีความซื่อสัตย์ ขนาดเงินเดือน-เงินประจำตำแหน่งยังบริจาคหมด โทษเหตุไม่ได้เชี่ยวชาญการเมือง พร้อมปัดไม่ได้ทำตาม “นายใหญ่” ที่ไปหา 3 ครั้งเพราะรู้จักกันมานาน “สมชาย” แฉไทม์ไลน์บอก “เสี่ยนิด” รู้ดีมาตั้งแต่ต้นแต่ยังดันทุรังเสนอชื่อ “พิชิต”

เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม 2567 นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีที่กลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เสนอชื่อนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันพุธที่ 14 ส.ค.จะส่งแถลงการณ์ปิดคดีหรือไม่ว่า นายเศรษฐาจะส่งแถลงการณ์ปิดคดี โดยไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด เพียงแต่ทราบกว้างๆ ว่าเป็นการสรุปประเด็นต่างๆ ที่เคยยื่นต่อสู้ไปประมาณ 2-3 หน้า แต่ไม่เปิดเผยรายละเอียดได้ โดยจะส่งแถลงการณ์ปิดคดีตามกรอบเวลาที่ศาลกำหนดไว้คือวันที่ 31 ก.ค.

รายงานจากพรรคเพื่อไทย (พท.) แจ้งว่า นายเศรษฐาจะส่งเอกสารคำแถลงปิดคดีไม่เกินกลางสัปดาห์นี้ โดยจะให้นายวิษณุตรวจทานและให้ความเห็นเป็นคนสุดท้ายก่อนส่งเอกสารให้ศาล ซึ่งก่อนหน้านี้นายเศรษฐาได้ส่งเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา รวมถึงได้แจ้งบัญชีรายชื่อพยานบุคคลไปให้ศาลแล้ว แต่สุดท้ายศาลไม่มีการเปิดไต่สวน

แหล่งข่าวจากพรรค พท.กล่าวว่า ที่ผ่านมา สส.ของพรรคได้พูดคุยและสอบถามทีมงานการเมืองที่เป็นอดีต สส.ของพรรค รวมถึงฝ่ายกฎหมายที่ไปช่วยงานนายเศรษฐาที่ทำเนียบรัฐบาล และช่วยงานส่วนตัวถึงการสู้คดีในชั้นศาล โดยหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่ทำถึงศาลก่อนหน้านี้มีทั้งสิ้น 32 หน้า โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือการชี้แจงลำดับขั้นตอนการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทั้งตอนตั้งรัฐบาลครั้งแรกหรือเศรษฐา 1เมื่อ 1 ก.ย. 2566 และการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดเมื่อ 27 เม.ย. 2567 โดยนายกฯ ได้ยืนยันในเอกสารลับดังกล่าวว่า ได้กระทำการทุกอย่างโดยถูกต้องตามขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ในการตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี อีกทั้งได้ย้ำว่าในการทำหน้าที่นายกฯ และการเสนอชื่อบุคคลเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดจากการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใด ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ที่จะทำให้ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกฯ

รายงานข่าวแจ้งว่า การสู้คดีของนายเศรษฐายังได้มีการลำดับขั้นตอนตั้งแต่เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ ส.ค. 2566 และมีชื่อของนายพิชิตจะถูกเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ใน ครม.เศรษฐา 1 สลค.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ โดยตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อมูลสำคัญต้องมาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี เพราะ สลค.จะตรวจสอบเฉพาะข้อมูลเบื้องต้น และหากพบว่ารายชื่อบุคคลใดมีปัญหา สลค.จะหารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และเมื่อได้รับแจ้งผลการหารือจากกฤษฎีกาแล้ว สลค.จะสรุปผลการตรวจสอบประวัติโดยละเอียดทั้งหมดต่อนายกฯ

เศรษฐาอ้าง สลค.มีข้อจำกัด

มีรายงานอีกว่า หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนายกฯ ได้ชี้แจงว่า กรณีของนายพิชิต สลค.ได้รับเอกสารต่างๆ ที่นายพิชิตยื่น แต่ สลค.เกิดข้อสงสัยในเรื่องลักษณะต้องห้าม เพราะนายพิชิตเคยถูกคุมขังตามคำสั่งของศาล  ทำให้ สลค.ทำหนังสือหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อ 30 ส.ค. และจากนั้นกฤษฎีกานัดประชุมด่วนและมีหนังสือตอบกลับมาเมื่อ 1 ก.ย. 2566 โดยเป็นการสอบถามไปถึงเรื่องว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา (6) และมาตรา 98 (7) หรือไม่

 “คำร้องของอดีต สว.ที่ว่านายกฯ จงใจไม่สอบถามกฤษฎีกาว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) แต่เลือกถามเฉพาะประเด็นที่จะทำให้เสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีได้นั้น ทราบว่านายกฯ ชี้แจงว่า เป็นการหารือในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่ง สลค.ตรวจพบในขณะนั้น และเกิดกับผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรี 2 คนคือ นายพิชิตกับนายไผ่ ลิกค์ มิใช่หารือเฉพาะของนายพิชิตเพียงรายเดียวอย่างที่กลุ่มอดีต สว.เข้าใจ แต่เป็นการขอหารือตามประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่มีข้อสงสัยโดยครบถ้วน มิใช่ตั้งใจสอบถามไม่ครบถ้วนอย่างที่ สว.กล่าวอ้าง อีกทั้ง สลค.ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่สามารถสอบถามประเด็นข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) กับ (5) กับกฤษฎีกาได้  เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกฤษฎีกา เพราะเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯ จึงชี้แจงว่ามิใช่การจงใจไม่สอบถามเฉพาะกรณีของนายพิชิต และไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลรายใดรวมถึงนายพิชิตด้วย” รายงานข่าวระบุ

แหล่งข่าวที่ทราบข้อมูลรายละเอียดในเอกสารชี้แจงของนายเศรษฐาให้ข้อมูลอีกว่า ในคำแถลงชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายเศรษฐาได้เน้นย้ำหลายครั้งในเอกสาร 32 หน้าดังกล่าวว่า ไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใดในการเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรี แต่ทั้งหมดทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและคำนึงถึงผลประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นสำคัญ ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมให้บุคคลใดใช้ตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกร้องไปแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ดังนั้นจึงไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 

 “ในคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา นายกฯ ได้ใช้คำว่าตัวเองไม่มีภูมิหลังทางการศึกษาด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินที่จำกัด จึงไม่อาจรู้หรือควรรู้ว่านายพิชิตเป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5)  หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการใช้คำดังกล่าวหลายครั้ง”

แหล่งข่าวระบุอีกว่า นายกฯ ยังได้ยืนยันว่าการเสนอชื่อนายพิชิตไม่ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลหรือเอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลใด  และได้ระบุในเอกสารด้วยว่า มีความมุ่งมั่นในการทำงานโดยไม่ได้หวังผลตอบแทนใดๆ แม้แต่เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ก็นำไปบริจาคเพื่อการกุศลและประโยชน์สาธารณะทั้งหมด จึงเป็นการดำเนินการโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน โดยทั้งหมดทำโดยถูกต้องตามขั้นตอน ขอศาลโปรดให้ความเป็นธรรม

ปัดเอี่ยว 'ทักษิณ'

นอกจากนี้ แหล่งข่าวให้ข้อมูลด้วยว่า ในเอกสารคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว นายเศรษฐาได้ชี้แจงกรณีคำร้องระบุว่า นายเศรษฐาเสนอชื่อนายพิชิตเป็นรัฐมนตรีหลังไปพบนายทักษิณ ชินวัตร 3 ครั้งในช่วงการปรับ ครม.ว่า เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีมูล เพราะรู้จักกับนายทักษิณมานาน และมีการพบปะกันบ้างตามแต่ละโอกาส ส่วนการพบปะกับนายทักษิณ 3 ครั้งในช่วงการปรับ ครม. ทั้งที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้าของนายทักษิณ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และที่โรงแรมแห่งหนึ่งก็กระทำเปิดเผย ไม่ได้ไปรับคำสั่งหรือข้อปฏิบัติใดๆ ในทางการเมือง เช่นตอนไปพบที่บ้านพักช่วงวันหยุดสงกรานต์ ก็เพื่อขอรดน้ำดำหัวตามประเพณีปฏิบัติของสังคมไทย เป็นต้น

 ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีต สว. ในฐานะแกนนำกลุ่ม 40 อดีต สว. กล่าวว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างยกร่างคำแถลงปิดคดีเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ คาดว่าอาจส่งถึงประธาน สว.ได้ภายในเย็นวันอังคารที่ 30 ก.ค.หรืออย่างช้าเช้าวันพุธที่ 31 ก.ค. เพื่อให้ประธาน สว.ส่งต่อไปยังสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

  นายสมชายกล่าวว่า กรอบเนื้อหาหลักๆ ในคำแถลงปิดคดีแบบลายลักษณ์อักษรจะเป็นการย้ำถึงความรับผิดชอบของนายกฯ ในการนำชื่อนายพิชิตขึ้นเป็นรัฐมนตรี เพราะบุคคลดังกล่าวมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(4) และ (5) แต่การทำหนังสือสอบถามประเด็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิชิต ทาง สลค.ทำหนังสือหารือข้อกฎหมายไปยังกฤษฎีกาโดยไม่ครบถ้วน ไม่มีการสอบถามในประเด็นมาตรา 160 (4) และ (5) แต่ไปถามในมาตรา 160 (6) และ (7) ทั้งที่ตามหลักต้องถามให้ครอบคลุมทั้งหมด เพื่อให้กฤษฎีกาตอบข้อหารือ-ประเด็นข้อกฎหมายให้ครบถ้วน เหมือนกับเป็นการตั้งธงให้กฤษฎีกามาตอบเพื่อให้เข้าทางตัวเองว่านายพิชิตไม่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 (6) และ (7) แต่นายพิชิตมีปัญหาตามมาตรา 160 (4) และ (5) แล้วนายกฯ มาอ้างการทำหนังสือหารือดังกล่าวของ สลค.เป็นเรื่องปกติ

“เราเห็นว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะหากปกติเมื่อมีปัญหาข้อสงสัยเรื่องลักษณะต้องห้าม การถามต้องถามทั้งหมดทั้งมาตรา 160 ไม่ใช่เลือกถามไปเพียง 160 (6) และ (7) เพราะหากมีการหารือไปถึงกฤษฎีกา ให้พิจารณามาตรา 160 (4) และ (5) ด้วย กฤษฎีกาจะวินิจฉัยด้วยแน่นอน แต่เมื่อไม่ได้ถามกฤษฎีกาจึงไม่ได้วินิจฉัย”

 นายสมชายกล่าวอีกว่า ในคำแถลงปิดคดีจะเขียนถึงการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เคยมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือน โดยยกเหตุการณ์บางกรณีขึ้นมาเขียนด้วย  เช่นศาลฎีกาฯ มอบหมายให้เลขาธิการศาลยุติธรรมไปดำเนินคดีอาญาแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ และยังได้มีหนังสือไปถึงนายกสภาทนายความ เพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทนายความ เพราะถือว่าละเมิดจรรยาบรรณ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า นายพิชิตมีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5)  ทำให้ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้

ชี้เศรษฐารู้ 2 รอบว่าผิด

 “ทำไมนายเศรษฐาถึงมีความผิดร้ายแรง ก็เพราะตอนตั้งรัฐบาลที่ต้องฟอร์ม ครม. ซึ่ง ครม.เศรษฐา 1 ที่ชื่อไม่ครบ 36 คน เพราะขาดไปสองคน แต่นายเศรษฐารู้อยู่แล้วว่ามีคนที่มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม  เพราะนายกฯ ทราบอยู่แล้วว่า สลค.ทำหนังสือหารือไปที่กฤษฎีกา ดังนั้นนายเศรษฐาจึงเท่ากับรู้อยู่แล้วว่า ผู้จะได้รับการเสนอชื่อมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม อันนี้คือรู้ที่หนึ่ง และรู้อยู่แล้วที่เป็นรู้ที่สองก็คือ เมื่อมีการปรับ ครม.เมื่อ 27 เม.ย. 2567 ก็มีชื่อบุคคลดังกล่าวเป็นรัฐมนตรี จึงถือว่านายกฯ กระทำการโดยทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้าม จึงเข้าข่ายผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง  เพราะการเป็นนายกฯ ต้องทำเรื่องให้ถูกต้อง ในเมื่อรู้อยู่แล้วว่าบางคนมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ แล้วนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้อย่างไร” นายสมชายระบุ

นายสมชายกล่าวอีก ก่อนนำชื่อแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในการปรับ ครม.เมื่อ 27 เม.ย. นายกฯ สามารถให้ สลค.ส่งหนังสือไปหารือกับกฤษฎีกาอีกครั้งว่า บุคคลดังกล่าวมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือไม่เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหา  ไม่ใช่เลือกถามเฉพาะบางส่วน ซึ่งถ้าถามไปกฤษฎีกาก็จะได้พิจารณาที่อาจบอกก็ได้ว่าเขามีปัญหา แต่ปรากฏว่าไม่ได้ถามไป แต่ไปเอาเอกสารความเห็นเดิมของกฤษฎีกาเมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่หารือตอนตั้งรัฐบาลเมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว แล้วตัวนายกฯ มาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บอกประชาชนว่ามั่นใจไม่มีปัญหา เพราะได้ถามกฤษฎีกาไปแล้วก่อนนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ทั้งที่เป็นการถามกฤษฎีกาเมื่อ ส.ค. 2566 ไม่ใช่ตอนปรับ ครม.เมื่อ เม.ย. 2567 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์ใช่หรือไม่

“นายเศรษฐารู้เรื่องทั้งหมด จึงหนีไม่พ้น จะอ้างว่าทำไปแบบบกพร่องโดยสุจริตไม่ได้ เพราะการที่มีการถามไปที่กฤษฎีกา ก็เท่ากับว่าตัวคุณเองก็ยังสงสัยว่าเขาขาดคุณสมบัติหรือไม่ แต่เมื่อมีการปรับ ครม.ก็ยังนำชื่อเสนอแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ทั้งหมดคือกรอบของคำแถลงปิดคดีที่พอบอกเล่าได้ ส่วนศาลจะวินิจฉัยอย่างไร เราก็พร้อมเคารพคำวินิจฉัย เพราะเราเชื่อมั่นในหลักนิติรัฐและนิติธรรม”

วันเดียวกัน นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงปฏิญญาเขาใหญ่ ที่มีการพบกันกับนายทักษิณ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ว่าเท่าที่อยู่ใน เหตุการณ์ก็ไม่มีอะไร อดีตนายกฯ ทักษิณบอกว่าไม่ได้มาเขาใหญ่ตั้ง 20 ปีแล้ว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวจึงพาพ่อมาเที่ยว พอดีนายอนุทินได้เชิญนายทักษิณไปเที่ยวที่สนามกอล์ฟ แล้วได้เชิญตนไปร่วมงานด้วย ซึ่งเป็นบรรยากาศของการมาท่องเที่ยว เหมือนท่านมาเจอลูกน้องเก่า และมาเจอพี่น้องประชาชนที่ไปต้อนรับบ้าง มาใช้ช่วงวันหยุดกับครอบครัว ไม่ได้มีนัยทางการเมือง ไม่ได้มีปฏิญญาเขาใหญ่ตามที่เป็นข่าว ไม่มีเรื่องการเมือง มีแต่เรื่องการบ้าน เรื่องครอบครัว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ

“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป

ล่า ‘หมอบุญ’ เมียแค้นเอาคืน

ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวก 9 คน ร่วมหลอกลวงประชาชนร่วมลงทุนธุรกิจ รพ.ขนาดใหญ่หลายโครงการ เสียหายกว่า 7,500 ล้านบาท

บี้ MOU44 เดือด ‘นพดล’ เกทับ! จบออกซ์ฟอร์ด

ปะทะคารมเดือด! “นพดล” โต้ “หมอวรงค์” หาความรู้เรื่องเอ็มโอยู 44 ให้ลึกซึ้ง โต้คนอย่างตนไม่ตอบมั่วๆ เพราะจบกฎหมายจากออกซ์ฟอร์ดและจบเนติบัณฑิตไทยและเนติบัณฑิตอังกฤษ

ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ

“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ