วุ่น!สว.ถกลดกมธ. จ่อโหวตหาข้อยุติ

สว.มือใหม่เปิดฉากงานแรกก็วุ่น ปิดดีลไม่จบประเด็นจำนวน กมธ.สามัญจะลดหรือคงเดิม 26 คณะ หวั่นเจอภาพแบ่งเก้าอี้แต่ไก่โห่ จับตาชนวนปะทุ เฉือนคณะพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

เมื่อวันจันทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) หลังมีรายงานว่า นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา จะนัดประชุมวุฒิสภาในวันศุกร์ที่ 2 ส.ค.เพื่อหารือเรื่องข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา หลังมี สว.บางส่วนเสนอญัตติให้มีการพิจารณาเรื่องการยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนของ สว.ชุดปัจจุบันที่มี 200 คน ซึ่งลดลงจาก สว.ชุดที่ผ่านมาที่มี 250 คน ทำให้ตอนนี้ สว.หลายคนเสนอให้มีการลดจำนวนคณะกรรมาธิการสามัญ วุฒิสภา จากที่เคยมี 26 คณะลง เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน สว.ที่ลดไป 50 คน

โดยมีรายงานว่า ขณะนี้ยังคงมีความคิดเห็นและข้อถกเถียงกันอยู่ในกลุ่ม สว.อย่างกว้างขวาง เพราะ สว.บางคนเห็นว่าควรคงคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญไว้เท่าเดิม 26 คณะ ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนลง แต่ สว.หลายคนเห็นว่าควรลดลง โดยเสนอทางเลือกเช่นให้เหลือ 18 คณะ แต่บางคนก็เสนอว่าลดเหลือ 25 คณะพอ

แหล่งข่าว สว.ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ในไลน์กลุ่ม สว.ที่ตอนนี้มีเกือบครบทั้งหมด 200 คนอยู่ในไลน์กลุ่มดังกล่าวแล้ว มีการเสนอความคิดเห็นกันอย่างหลากหลายจนอาจหาข้อยุติไม่ได้

 อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา การหารือเรื่องดังกล่าวในไลน์กลุ่ม สว.ยิ่งร้อนแรงขึ้นไปอีก เมื่อนายปฏิมา จีระแพทย์ สว.ที่เคยลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และคนที่ 2 แต่ไม่ได้รับเลือก ได้โพสต์ลงในไลน์กลุ่ม สว. โดยมีเนื้อหาไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ วุฒิสภา ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ตั้งขึ้นในสมัยวุฒิสภาชุดที่แล้ว ตามข้อบังคับการประชุมข้อที่ 82 โดยนายปฏิมาโพสต์ในไลน์กลุ่มว่า

 “ตามที่ท่าน สว.ได้ร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาขึ้นมาใหม่นั้น กระผมเห็นด้วยในหลักการที่จะต้องมีการแก้ไขปรับปรุงข้อบังคับให้สอดรับอำนาจหน้าที่ของ สว.ชุดปัจจุบัน ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 269 ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะเรื่องของ สว.ในวาระเริ่มแรก แต่ยังมีบางข้อบางประเด็นที่กระผมมีความกังวล และหนักใจว่าอาจจะนำไปสู่ข้อขัดแย้งในกลุ่มของ สว.ด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิก กมธ.วิสามัญที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามข้อ 82 และเปลี่ยนมาตั้งเป็น กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหาความยากจนฯ ซึ่งกระผมยังเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์มีความสำคัญต่อประเทศชาติ” นายปฏิมาระบุ 

นายปฏิมาระบุว่า เห็นว่าจำนวนคณะของกรรมาธิการตามข้อบังคับเดิมยังคงมีความสำคัญ และยิ่งทำให้การทำงานกระจายไปสู่ สว.ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญตามกลุ่มอาชีพที่ได้รับเลือกมา การรวมบางคณะเข้าด้วยกันอาจจะยิ่งทำให้ปริมาณงานเพิ่ม จนทำให้เวลาการพิจารณาล่าช้า เช่น การรวม กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกับ กมธ. ติดตามการบริหารงบประมาณ ดังนั้นหากจำเป็นต้องแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว ควรแก้เฉพาะข้อที่จะเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ หรือเพิ่มเติมที่จะเป็นการเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของ สว. จึงขอให้ท่าน สว.พิจารณาทบทวนการเสนอข้อบังคับดังกล่าวอีกครั้ง

มีรายงานว่า หลังนายปฏิมาได้โพสต์ข้อความดังกล่าวในไลน์กลุ่ม สว.หลายส่วนไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก กมธ.ชุดดังกล่าว แม้จะเป็น กมธ.วิสามัญ ไม่ใช่ กมธ.สามัญ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งสำคัญควรคงไว้

อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มี สว.บางคนชี้แจงกับ สว.หลายคนเป็นการส่วนตัว โดยเลี่ยงที่จะเข้าไปโพสต์ชี้แจงในไลน์กลุ่ม โดยบอกว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนายปฏิมา เพราะข้อเสนอของ สว.บางส่วนที่กำลังยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาในขณะนี้ ที่ตอนนี้มีการเคลื่อนไหว ที่เป็นญัตติของนายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม ไม่ได้มีการเสนอให้ยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่นายปฏิมาเข้าใจแต่อย่างใด เพราะยังคงให้มีคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าวอยู่ต่อไป

 “แต่ได้เสนอปรับปรุงแก้ไขเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมาธิการวิสามัญประจำสภา โดยให้ตั้งขึ้นใหม่จำนวน 2 คณะ คือ 1.คณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ และคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อรองรับข้อเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ” แหล่งข่าวระบุ

แหล่งข่าว สว.เปิดเผยว่า เสียงส่วนใหญ่จะให้คงไว้ซึ่งกมธ. 26 คณะ หรือจะให้แก้ไขลดจำนวนลง และหากลดจำนวนลงจะเหลือกี่คณะ ซึ่งมีการคุยกันว่าหากจะใช้วิธีให้ที่ประชุม สว.ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญไปศึกษาและยกร่างข้อบังคับวุฒิสภา อาจจะใช้เวลานานเป็นเดือน ซึ่งจะทำให้การเข้าไปทำงานของ สว.ล่าช้าเสียเวลา สว.ไม่สามารถทำงานในคณะ กมธ.ชุดต่างๆ ได้เป็นเดือน

ถ้าเป็นแบบนี้ก็อาจต้องใช้เสียงข้างมาก ให้ที่ประชุมมีมติว่าให้ใช้ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาชุดที่แล้ว คือข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 และแก้ไขเพิ่มเติม มาใช้กับ สว.ชุดปัจจุบันไปก่อน จากนั้นหาก สว.ทำงานร่วมกันไปได้สักพัก แล้วมีข้อยุติเรื่องนี้ก็ค่อยมาคุยกันอีกรอบ

แหล่งข่าวระบุว่า สว.ชุดที่แล้วที่มี 250 คน แล้วตั้งกมธ.สามัญ 26 คณะ และยังมีกรรมาธิการวิสามัญอีกหลายคณะ ปรากฏว่าในการประชุมกรรมาธิการหลายชุดที่ประชุมโหรงเหรงมาก คนเข้าประชุมกันน้อย แล้วหากสว. 200 คน ให้ยืนตามเดิมมี 26 คณะ ทั้งที่ สว.ลดไป 50 คน ภาพก็จะออกมาไม่ดี ทำนองว่า สว.จะได้เป็นประธานกรรมาธิการกันเยอะๆ แบ่งเก้าอี้กันให้ครบ แต่ก็จะเจอปัญหาเมื่อประชุมกรรมาธิการแต่ละนัด สว.อาจเข้าประชุมกันน้อย

แหล่งข่าวระบุว่า สว.กำลังคุยกันให้จบภายในสัปดาห์นี้ว่าจะเอาอย่างไร หากเสียงส่วนใหญ่เอาด้วยให้ลดจำนวนลง  ก็ใช้วิธีคือ พอมีการพิจารณาญัตติเรื่องยกร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ที่มี สว.บางคนเช่นนายสรชาติยื่นไปแล้ว ตอนนี้กำลังรอให้ สว.มาร่วมลงชื่อให้ครบตามจำนวน ที่ประชุมก็พิจารณาไปเลย แล้วโหวตกันว่าจะให้กรรมาธิการมีกี่คณะ มีคณะอะไรบ้าง ซึ่งถ้า สว.เสียงส่วนใหญ่เอาตามนี้ ก็จะประชุมกันเลย 3 วาระรวดให้เสร็จภายในวันเดียว

"แต่หากตกลงกันไม่ได้ ก็อาจใช้วิธีให้ที่ประชุมโหวตตั้งกรรมาธิการตามข้อบังคับวุฒิสภาปี 2562 ที่ก็คือให้คงกรรมาธิการ 26 คณะเหมือนเดิม แล้วหลังจากนั้นอีกสักพักค่อยมาคุยกันว่าจะลดลงหรือไม่ เพราะหากใช้วิธีตั้ง กมธ.ไปยกร่างข้อบังคับใหม่ทั้งหมด ต้องใช้เวลาเป็นเดือนซึ่งมันจะช้า” แหล่งข่าว สว.เปิดเผย    

ขณะที่นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว.กลุ่มวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม ระบุว่า  ตนได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายปฏิมา เป็นความเข้าใจผิดของนายปฏิมา ตนยืนยันว่าไม่ได้ตัด กมธ.วิสามัญการพิทักษ์ฯ  แต่การที่ สว.ปฏิมาสื่อสารไปแบบนั้นทำให้ สว.ส่วนใหญ่ไขว้เขว ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนร่างที่เสนอไป

 นายสรชาติระบุว่า ตนคิดว่าอาจขอตั้งกรรมาธิการเต็มวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้เสร็จ 3 วาระรวด และมีข้อบังคับไว้ใช้ทำงานได้รวดเร็ว การนัดประชุมวุฒิสภาวันที่ 2 ส.ค.หากยังมีประเด็นที่ สว.ไม่เข้าใจ ตนอาจยังไม่เสนอการแก้ไขข้อบังคับ แต่จะขอให้หารือร่วมกันก่อน แต่หาก สว.กลุ่มใดจะยื่นญัตติเพื่อแก้ไขก็เป็นเรื่องของ สว.แต่ละกลุ่ม

 “การเสนอให้ลดจำนวนคณะกรรมาธิการตามร่างข้อบังคับที่ผมเสนอจาก 26 คณะเหลือ 23 คณะนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับจำนวน สว.ที่มีในปัจจุบัน และสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่บางภารกิจของ สว.นั้นสิ้นสุดแล้ว เช่นการติดตามการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ หรือหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลที่ยุติลงแล้ว เป็นต้น” นายสรชาติกล่าว

ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.กลุ่มสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 2 ส.ค. ตนและคณะเตรียมเสนอร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาให้ที่ประชุมพิจารณา โดยเบื้องต้นจะเป็นคนละฉบับกับของนายสรชาตและของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ โดยจะเป็นข้อบังคับที่ผสมผสานการตรวจสอบรัฐบาลและบทบาทของ สว.ที่มาจากการเลือกกันเองของ 20 กลุ่มอาชีพ ซึ่งรายละเอียดนั้นอยู่ระหว่างการพูดคุย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไทยเทิดไท้องค์ราชัน

กระทรวงมหาดไทยจัดริ้วขบวนอิสริยยศเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ