เค้นความจริงคางดำซ้ำรอยหมูเถื่อน

"ณัฐชา" ทวงสัญญานายกฯ 7 วัน หาความจริง "ปลาหมอคางดำ" ผ่านมา 10 วันกลับเงียบและมืดมนลงทุกที เป็นละครบทเดิมซ้ำรอย "หมูเถื่อน" จี้คณะทำงานเร่งชี้แจง "ศรีสุวรรณ" จ่อฟ้องศาลปกครอง ฟันกรมประมง-บิ๊กเอกชนต้นเหตุระบาดหนัก "ซีพีเอฟ" ผนึกกรมประมง-โรงงานปลาป่นจับออกจากแหล่งน้ำ คาดหายไปแล้ว 80%

เมื่อวันจันทร์ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากกรณีการระบาดของปลาหมอคางดำที่กำลังสร้างวิกฤต ทำลายทั้งอาชีพเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและเสี่ยงกระทบต่อระบบนิเวศอย่างรุนแรงในเวลานี้ ทำให้เมื่อสัปดาห์ก่อน  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ออกมาสั่งการให้ทำความจริงให้ปรากฏ ต่อมา รมว.เกษตรและสหกรณ์รับลูกและแจ้งต่อสาธารณะว่า ได้ตั้งคณะทำงานตามล่าหาความจริง ขีดเส้นใน 7 วันต้องรู้ นับเวลาเริ่มต้นวันที่ 19 ก.ค.  ครบ 7 วันในวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ให้เวลาจนถึงวันนี้เป็นสิบวันถ้วน ทว่าความจริงยังไม่ปรากฏ แถมกลับมืดมนลงทุกที เพราะคณะทำงานดังกล่าวเงียบหายไป ส่วนบริษัทเอกชนที่มีข้อมูลพาดพิงว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้ามา และอาจเป็นต้นตอการระบาดในครั้งนี้ก็ยังคงหลบหน้า ไม่ยอมมาชี้แจงใดๆ ต่อคณะกรรมาธิการที่สภาตั้งขึ้น

นายณัฐชากล่าวต่อว่า อย่างที่ตนได้อภิปรายในสภา ประเทศไทยเคยเจอสถานการณ์ที่ภาครัฐต้องชนกับทุนมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนั้นเป็นประเด็นเรื่องหมูเถื่อน ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากต้องขาดทุนล้มหายตายจากไปจากตลาดเกือบหมด จนเกิดสภาพกึ่งผูกขาดที่ทำให้หมูมีราคาแพง กระทบปากท้องค่าครองชีพมาจนถึงตอนนี้ เป็นเหตุให้พี่น้องประชาชนเฝ้าจับตาติดตามมาตลอดว่า ใครคือไอ้โม่งที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่สถานการณ์ก็ดูเหมือนซ้ำรอยอีกแล้ว เมื่อทุนใหญ่ทำท่าว่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง กรณีปลาหมอคางดำก็เหมือนกรณีหมูเถื่อน ท่าทีของนายกฯ ดูขึงขังเอาจริงเอาจังตอนออกสื่อตอนแรกเหมือนเดิม หน่วยงานต่างๆ ก็รับลูกขีดเส้นดูเอาจริงเอาจัง บอกว่าต้องหาตัวการคนผิดให้ได้เหมือนเดิม เป็นละครหน้าฉากบทเดิมๆ เล่นกันเหมือนเดิมๆ

 “สุดท้ายก็เป็นแค่ลมปากเหมือนเดิม ตอนนี้เกินเส้นตาย 7 วัน ตามที่สัญญาไว้ว่าจะทำความจริงให้ปรากฏ แต่ก็ดูเหมือนความจริงกำลังจะเงียบหายไปกับสายลมอีกเรื่องหนึ่ง เหตุใดปลาที่อยู่ในประเทศแถบแอฟริกาใต้ถึงมาโผล่อยู่ใจกลางประเทศไทย ซึ่งผมได้กล่าวไปแล้วในการอภิปรายครั้งที่ผ่านมา ว่าสามารถเรียกได้เลยว่าคือปลาเถื่อน และเหตุการณ์ปลาเถื่อนครั้งนี้ต้องเฝ้าดูว่ารัฐไทยกับกลุ่มทุนจุดจบจะจบลงแบบใด พี่น้องประชาชนเท่านั้นที่จะสามารถช่วยกันติดตาม และตามทวงถามความจริงให้เกิดขึ้นให้ได้” นายณัฐชากล่าว

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเป็นการทั่วไปว่ากรมประมง โดยคณะกรรมการ IBC อนุญาตให้บิ๊กเอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าปลาหมอคางดำจากประเทศกานาเมื่อปี 53  แม้จะมีการอ้างว่าได้ทำลายไปหมดแล้ว แต่ทว่าปลาชนิดดังกล่าวกลับมาแพร่ระบาดทำลายสัตว์น้ำอย่างล้างผลาญไปทั่วกว่า 25 จังหวัด ชาวประมงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายรวมนับหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยและอันดามันในขณะนี้ ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงที่สุดของชาติ กรมประมงรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ดำเนินการเอาผิดบิ๊กนายทุนที่นำเข้าแต่อย่างใด แต่กลับนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศมาแก้ไขปัญหาตลอดมาหลายพันล้านบาท และจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ละอาย

องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน และชาวประมงที่เดือดร้อนและเสียหาย จึงไม่อาจปล่อยให้กรมประมงและบิ๊กนายทุนลอยนวลไปได้ จึงจะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลออกคำบังคับใช้กฎหมายให้เอาผิดบิ๊กเอกชนต้นเหตุของปัญหา และให้รับผิดชอบต่อความเสียหายของชาวประมงทั้ง 25 จังหวัด และสั่งให้ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่สูญหายไปให้กลับมาดังเดิมต่อไป โดยจะไปยื่นฟ้องในวันอังคารที่ 30 ก.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ณ ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า "ไม่ต้องใช้ไซยาไนด์ หากหมดหนทางกำจัดปลาหมอคางดำจริงๆ ให้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ซึ่งสารสกัดนี้เป็น ยาเบื่อปลา สลายตัวในระยะสั้น สลายตัวเร็วเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แนะนำสารสกัดจากสมุนไพรหางไหลแดง ซึ่งมีเยอะมากเป็นตันๆ ที่จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งจะมีสารสกัดธรรมชาตที่ชื่อว่า โรทิโนน (Rotenone) สารสกัดจากหางไหลแดง ใช้โดยนักชีววิทยาประมงในการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาทะเล ในการสุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเพื่อรวบรวมปลาที่หายากหรือซ่อนอยู่ แต่มีความสำคัญของระบบนิเวศน์ชายฝั่ง โรทิโนนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงในการเบื่อปลา เนื่องจากสามารถใช้ในปริมาณน้อย และมีผลกระทบข้างเคียงต่อสิ่งแวดล้อมเล็กน้อยและในระยะเวลาที่สั้นมาก โรทิโนนถูกใช้ในการกำจัดปลาในนากุ้ง ใช้กันหลายประเทศครับ สหรัฐอเมริกาก็ใช้กัน

การใช้โรทิโนนในการช่วยจับปลา ด้วยการนำพืชหางไหลแดง หรือพวกตระกูลถั่ว - Fabaceae มาบดหยาบและจุ่มลงในแหล่งน้ำ เนื่องจากโรทิโนนส่งผลรบกวนระบบการหายใจของปลา ปลาที่ได้รับสารนี้จะลอยตัวขึ้นสู่ผิวน้ำที่มีออกซิเจนมากกว่า เพื่อหายใจหรือกลืนอากาศ ซึ่งทำให้ถูกจับได้ง่ายขึ้น การใช้โรทิโนนที่เป็นยาเบื่อปลานี้ ยังถูกใช้โดยหน่วยงานของรัฐเพื่อฆ่าปลาในแม่น้ำและทะเลสาบในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495

 ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด  (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทได้ลงพื้นที่ร่วมมือกับกรมประมงและโรงงานผลิตปลาป่น เร่งนำปลาหมอคางดำออกจากพื้นที่ เดินหน้า 3 ใน 5 โครงการเชิงรุก ประกอบด้วย การสนับสนุนโรงงานปลาป่นรับซื้อปลาจากชาวประมง สนับสนุนกิจกรรมจับปลาของกรมประมงในหลายจังหวัด และส่งมอบปลาผู้ล่าแก่ประมงจังหวัด โดยเฉพาะบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด ผู้ผลิตปลาป่นได้มาตรฐานสากล เปิดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาแล้ว 600,000 กิโลกรัม และส่งมอบปลากะพงแล้ว 49,000 ตัว แก่ประมงจังหวัดสมุทรสงครามและจันทบุรี จากการดำเนินการเชิงรุกอย่างรวดเร็วส่งผลให้ปลาหมอคางดำลดลง

 "ที่ผ่านมาบริษัทร่วมมือกับประมงจังหวัด และหน่วยงานในจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนสำนักงานประมงสมุทรสงครามจัดกิจกรรม 'ลงแขกลงคลอง' ไปแล้ว 5 ครั้ง และได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน ช่วยให้แผนปฏิบัติการเชิงรุกจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ 3 โครงการมีความคืบหน้าตามแผน และเกิดผลจำนวนปลาหมอคางดำลดลงอย่างเป็นรูปธรรม และขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ติดต่อเข้ามาเพิ่มเติมแสดงความสนใจร่วมมือศึกษาหาแนวทางการใช้ประโยชน์และการควบคุมประชากรปลา เชื่อมั่นว่าการดำเนินโครงการจะมีส่วนช่วยเร่งกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ" นายอดิศร์กล่าว

 ด้านนายปรีชา ศิริแสงอารำพี เจ้าของบริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด และประธานบริหารตลาดทะเลไทย กล่าวว่า  การมีตลาดรองรับปลาหมอคางดำทุกขนาดในราคาที่ดี  เป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้ชาวประมงเร่งจับปลาออกจากแหล่งน้ำได้รวดเร็ว และจากการรับซื้อตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาเห็นผลชัดเจนมาก ชาวประมงบอกว่าปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำพื้นที่สมุทรสาครลดลง 80% เริ่มจับปลามาขายให้โรงงานได้น้อยลง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง