“นันทนา” ฟุ้ง สว.พันธุ์ใหม่ประชุมทุกวัน เตรียมชงแก้ข้อบังคับหั่นจำนวน กมธ.ให้สอดคล้องปัจจุบัน พร้อมเพิ่ม 2 กมธ.วิสามัญทั้งด้านแก้ยากจน-รัฐธรรมนูญ “อังคณา” ปูดลดเหลือ 23 คณะ แนะอภิปรายเต็มสภาจะได้เริ่มงาน กมธ.เร็วขึ้น
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กลุ่มสื่อสารมวลชนฯ แกนนำกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายมงคล สุระสัจจะ ประธาน สว. นัดประชุม สว.ในวันที่ 2 ส.ค. เพื่อพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เพื่อปรับบางบทบัญญัติให้สอดคล้องกับจำนวนของ สว. รวมถึงภารกิจที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจำนวนของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ และจำนวน กมธ.ในแต่ละคณะ ว่ากลุ่มได้หารือเพื่อเตรียมเสนอญัตติแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาในส่วนของ กมธ.สามัญ และ กมธ.ที่จะมีในแต่ละคณะ โดยจากข้อบังคับการประชุมฉบับเดิมจะมี กมธ. 26 คณะ และบวกอีก 2 คณะ ส่วนที่จะปรับแก้ไขนั้น จะปรับลดหรือเพิ่มนั้นต้องพิจารณาให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นปัญหา เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ประชาชนมากที่สุด ส่วนการกำหนดสเปกบุคคลที่จะเข้าไปเป็น กมธ.นั้น เป็นรายละเอียดที่ต้องพิจารณาหลังจากที่เรื่องโครงสร้างใหญ่คือคณะ กมธ.ได้พิจารณาแล้วเสร็จ
“กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ประชุมกันทุกวันกว่าจะได้ข้อสรุปเป็นญัตติที่เตรียมไปเสนอ และพูดคุยกับกลุ่มอื่นๆ เพื่อขอให้สนับสนุน ทั้งนี้ การเสนอญัตติใดๆ นั้นต้องมี สว.รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน ซึ่งญัตติของกลุ่มเชื่อว่าจะได้รับการสนับสนุนครบจำนวน” น.ส.นันทนากล่าว
เมื่อถามว่า มีข้อเสนอต่อการปรับรูปแบบการโหวตประธานและรองประธานวุฒิสภาให้โปร่งใสแทนการลงคะแนนลับหรือไม่ น.ส.นันทนากล่าวว่า เป็นขั้นตอนที่ประชาชนรู้สึกว่ามืดๆ หากสามารถปรับเปลี่ยนได้ จะผลักดันเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้และรู้สึกว่าการดำเนินงาน การทำหน้าที่ของ สว. โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบ ทั้งนี้ ในญัตติของกลุ่มในเรื่องแก้ไขข้อบังคับ จะพิจารณาอีกครั้งว่าสามารถไปถึงจุดนั้นได้หรือไม่
ส่วนนางอังคณา นีละไพจิตร สว.กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีการส่งรายละเอียดการแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภามายัง สว.บางคน เพื่อขอให้สนับสนุนการแก้ไขลดจำนวนคณะ กมธ. จากเดิมที่ สว.ชุดที่มี 26 คณะ จะขอลดลงเหลือ 23 คณะ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อประหยัดงบประมาณ แต่มองว่าหากต้องการประหยัดงบประมาณควรทำส่วนอื่น เช่น ลดงบประมาณการศึกษาดูงาน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาของคณะ กมธ.ที่ปรับลดนั้นยังไม่ได้เห็นรายละเอียด จึงอยากเรียกร้องให้การทำงานร่วมกันของ สว.เป็นไปด้วยความโปร่งใส ใครเสนอร่างแก้ไขอะไรควรให้เนื้อหามาพิจารณาด้วย
นางอังคณากล่าวว่า จำนวนคณะ กมธ. ไม่ติดใจว่าจะลดหรือเพิ่ม แต่ควรพิจารณาให้เหมาะสม กำหนดคณะ กมธ.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เช่น เดิมมีคณะ กมธ.การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส แต่รัฐธรรมนูญได้แยกที่มาของ สว.เป็นกลุ่มสตรีโดยเฉพาะ เมื่อพิจารณาถึงการตั้งคณะ กมธ.ควรให้กลุ่มสตรีรวมกับกลุ่มเด็ก เยาวชน ผู้มีความหลากหลาย ซึ่งเป็นกลุ่ม Gender ส่วนคนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ควรเป็นอีกคณะ ขณะที่การตั้งคณะอนุ กมธ. หวังว่าคนที่เป็นประธาน กมธ.ในชุดนั้นจะใจกว้างให้มีผู้แทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ ร่วมเป็นอนุ กมธ. เพื่อให้มีคนที่เป็นตัวแทนของกลุ่มต่างๆ เข้ามาทำงาน เพราะต้องยอมรับว่าตัวแทนคนพิการ คนชาติพันธุ์ไม่ได้รับเลือกให้เป็น สว.
นางอังคณากล่าวด้วยว่า การเริ่มทำงานใน กมธ. ต้องรอแก้ไขข้อบังคับการประชุม ซึ่งต้องใช้เวลา 30-60 วัน ทั้งนี้ตนมองว่ามีอีกทางคือ เมื่อเสนอญัตติแล้วให้มีการอภิปรายเต็มสภา เพื่อเสนอความเห็นและหามติร่วมกัน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาว่าจะเป็นไปในรูปแบบใด
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีกระแสถึงการจองโควตาประธาน กมธ.ไว้แล้ว นางอังคณากล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าใครนั่ง กมธ.ใดบ้าง เหมาะสมหรือตรงประสบการณ์หรือไม่ อย่างไรก็ดี คนที่เป็นประธาน กมธ.ต้องมีไดเรกชันชัดเจนว่าจะทำงานไปในทิศทางใด ดังนั้นนอกจากการเลือก กมธ.ตามความสนใจแล้ว ควรพิจารณาในประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถในการทำงานด้วย
สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาปี 2562 ที่เสนอแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจของ สว.ชุดใหม่ 200 คน ที่นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว. ยกร่างขึ้น มีการแก้ไข 4 ประเด็นหลัก คือการแก้ไขจำนวนองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะ กมธ. วุฒิสภา, แก้ไขอำนาจและหน้าที่ของคณะ กมธ.ให้สอดคล้องกับการสิ้นสุดด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ, แก้ไขเพิ่มเติมจำนวนและอำนาจหน้าที่ของ กมธ.วิสามัญประจำวุฒิสภา และแก้ไขจำนวนคณะอนุ กมธ.สามัญและวิสามัญประจำวุฒิสภา
โดยเนื้อหาสาระกำหนดให้ กมธ.สามัญประจำวุฒิสภามี 23 คณะ แต่ละคณะประกอบด้วย กมธ.ไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 17 คน โดยคณะ กมธ.ประกอบด้วย 1.คณะ กมธ.เกษตรและสหกรณ์ 2.คณะ กมธ.คมนาคม 3.คณะ กมธ.การเศรษฐกิจการเงินการคลังและรัฐวิสาหกิจ 4.คณะ กมธ.การต่างประเทศ 5.คณะ กมธ.การทหารและความมั่นคงของรัฐ 6.คณะ กมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา 7.คณะ กมธ.การปกครองท้องถิ่น 8.คณะ กมธ.การบริหารราชการแผ่นดิน 9.คณะ กมธ.การพลังงาน 10.คณะ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน 11.คณะ กมธ.การพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส 12.คณะ กมธ.การกฎหมายการยุติธรรมและการตำรวจ 13.คณะ กมธ.การแรงงาน 14.คณะ กมธ.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม 15.คณะ กมธ.เทคโนโลยีสารสนเทศการสื่อสารและการโทรคมนาคม 16.คณะ กมธ.การศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม 17.คณะ กมธ.การศึกษา 18.คณะ กมธ.การสาธารณสุข 19.คณะ กมธ.กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและติดตามการบริหารงบประมาณ 20.คณะ กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 21.คณะ กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบและเสริมสร้างธรรมาภิบาล 22.คณะ กมธ.การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม และ 23.คณะ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค
ส่วน กมธ.ที่ลดลงจากวุฒิสภาชุดก่อน 3 คณะ คือ คณะ กมธ.แก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนำไปเป็นคณะ กมธ.วิสามัญแทน และนำคณะ กมธ.การกีฬาและการท่องเที่ยวมารวมกันเป็นคณะเดียวกัน รวมถึงนำคณะ กมธ.ติดตามการบริหารงบประมาณไปรวมกับคณะ กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
ร่างแก้ไขยังให้มีการประสานงานกับคณะกรรมการสามัญประจำวุฒิสภาทุกคณะและ สว.เกี่ยวกับการพิจารณารายชื่อสมาชิกหรือบุคคลใดที่จะเลือกเป็น กมธ.สามัญหรือ กมธ.วิสามัญตามข้อบังคับ โดยคณะ กมธ.สามัญและคณะ กมธ.วิสามัญอาจตั้งคณะอนุ กมธ.ได้ไม่เกินคณะละ 3 คณะ คณะละไม่เกิน 12 คน เพื่อพิจารณาปัญหาอันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะ กมธ. ตามแต่จะมอบหมาย โดยให้ยกเลิกหมวด 10 ภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมกันนี้ ให้วุฒิสภาตั้งคณะ กมธ.วิสามัญการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำขึ้น 1 คณะ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ในจำนวนนี้ให้ประกอบด้วยบุคคลที่เป็น สว.ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน กมธ.ทั้งหมด โดยมีอำนาจและหน้าที่กระทำ กิจการพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง ศึกษาแนวทางการเสริมสร้างโอกาส สิทธิความสามารถการเข้าถึงทรัพยากร ความเท่าเทียม การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม การเข้าถึงบริการสวัสดิการของประชาชนและชุมชนเพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้งติดตามการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง
รวมทั้งให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 1 คณะ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ได้เป็น สว.ไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน กมธ.ทั้งหมด มีอำนาจและหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ ประเด็นและแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เร่งเบิกงบลงทุน ขีดเส้นให้ได้80% กระตุ้นเศรษฐกิจ
นายกฯ อิ๊งค์นั่งหัวโต๊ะประชุมหัวหน้าส่วนราชการ บี้เร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน 9.6 แสนล้าน
‘เวชระเบียน’หลอนทักษิณ โยนรพ.ตำรวจมอบให้ปปช.
นายกฯ พยักหน้ารับปม "ป.ป.ช." ทวงถามเวชระเบียนรักษาตัว
เพิ่มข้อหาแชร์ลูกโซ่18บอส จ่อหมายจับ‘ตั้ม’โกงเจ๊อ้อย
"ดีเอสไอ" แจ้งข้อหาเพิ่ม 18 บอสดิไอคอน คดีแชร์ลูกโซ่-ขายตรง
หึ่ง!เปลี่ยน‘พงษ์ภาณุ’แทน‘โต้ง’
“คปท.-ศปปส.-กองทัพธรรม” ลุกฮือ ยื่นหนังสือค้านคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติ
กอดMOUเจรจาเขมร ‘อิ๊งค์’หวั่นโดนฟ้องยันเดินหน้าแบ่งเค้ก/กต.แจงมีข้อดีกว่าเสีย
นายกฯ อิ๊งค์ลั่นเป็นคนไทย 100% ประเทศต้องมาก่อน ยืนยันจะรักษาแผ่นดินไทยไว้อย่างเต็มที่
คลั่งชาติปลุกต้านขายชาติ!
นายกฯ เรียกพรรคร่วมถกปมเกาะกูด "นพดล" โต้เดือดไม่ได้ขายชาติ