ฟ้องต้นตอหมอคางดำ

สภาทนายความฯ เตรียมฟ้องแพ่งบิ๊กเอกชน-หน่วยงานรัฐ ต้นตอ "เอเลี่ยนสปีชีส์"  ปลาหมอคางดำ นัดเเถลงใหญ่ 31 ก.ค.นี้ ทะเลชุมพรยาวกว่า 200 กม.ก็ไม่รอด ลูกกุ้ง ปู ปลา หายเกลี้ยง กระทบประมงอย่างหนัก

จากกรณีวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา มีตัวแทน 14 เครือข่ายจากจังหวัดเพชรบุรี  จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสงคราม ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาปลาหมอคางดำ เดินทางมายื่นหนังสือต่อสภาทนายความฯ เพื่อร้องเรียนและยกระดับการแก้ไขผลกระทบจากปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่ โดยเร่งรัดให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และฟ้องเรียกค่าเสียหายกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนที่นำพันธุ์ปลาเข้ามาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบดังกล่าว

และทางสภาทนายฯ จะจัดตั้งคณะทำงานลงตรวจพื้นที่และข้อเท็จจริง เพื่อหาคนมารับผิดชอบกรณีต้นเหตุการนำเข้าปลาหมอคางดำ และการทำลายปลาหมอคางดำว่าเหตุใดจึงมีการแพร่กระจายพันธุ์ได้ จากนั้นจะฟ้องร้องเพื่อหาค่าชดใช้เยียวยาให้ประชาชนที่เดือดร้อน

ล่าสุด วันที่ 27 ก.ค. มีรายงานข่าวว่า ทางสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะมีการจัดแถลงข่าวถึงความคืบหน้า หลังจากได้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และจะดำเนินการฟ้องทางแพ่งบริษัทเอกชนและฟ้องหน่วยงานรัฐเรื่องความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรับผิดชอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ส่วนรายละเอียดเรื่องค่าเสียหายและหน่วยงานใดของรัฐที่จะโดนฟันเอาผิด ขอให้รอติดตามในวันที่ 31 ก.ค.นี้ เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป

หลังจากสื่อมวลชนได้รายงานข่าวเปิดเผยการแพร่ระบาดอย่างหนักของปลาหมอคางดำในหลายจังหวัดทั่วประเทศนั้น ในส่วนของจังหวัดชุมพร ก็ถือเป็นอีกพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนักมานานนับสิบปี และเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ชาวประมงจะมีการจับขายอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดที่รวดเร็วของปลาหมอคางดำได้ จนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตอาชีพของชาวประมงอย่างมาก เนื่องจากมีชาวประมงชายฝั่งหลายรายวางอวนแล้วได้แต่ปลาหมอคางดำจำนวนมาก จนกลายเป็นปัญหาส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตการแพร่ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ริมทะเลอ่าวไทยอย่างมาก โดยเฉพาะลูกกุ้งกุลา กุ้งขาว กุ้งเคย ลูกปลา ลูกปูม้า ที่กลุ่มนักอนุรักษ์และหน่วยงานราชการนำไปปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลองและริมอ่าวชายทะเล จะถูกปลาหมอคางดำกินแทบไม่เหลือให้ได้เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำได้เลย

โดยเฉพาะในพื้นที่ 6 อำเภอของจังหวัดชุมพร ที่อยู่ติดกับทะเล ได้แก่ อ.ปะทิว, อ.เมืองฯ,  อ.สวี, อ.ทุ่งตะโก, อ.หลังสวน, อ.ละแม ซึ่งมีลำคลองและริมชายหาดติดกับทะเลอ่าวไทย ซึ่งมีความยาวรวมกันมากถึง 222 กิโลเมตร จากทิศเหนือเขตติดต่อกับ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทิศใต้เขตติดต่อกับ จ.สุราษฎร์ธานี ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเร่งรณรงค์และออกมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันอย่างต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้

นายสง่า คงศิริ ชาวประมงริมคลองอีเล็ตให้ข้อมูลว่า ช่วงที่ผ่านมาหลังจากสัตว์ท้องถิ่นที่เคยหาจับได้นั้น ปัจจุบันแทบจะไม่เหลืออยู่ในคลองอีเล็ต มีเหลือแต่ปลาหมอคางดำเท่านั้นที่จับมาได้  ส่วนสัตว์น้ำอื่นไม่ว่าจะเป็นกุ้ง ปลาสายพันธุ์ต่างๆ เรียกได้ว่าสูญหายไปจากคลองแห่งนี้หมดแล้ว ตนเห็นมาเป็นสิบปีแล้ว ตอนนี้มันแทบจะเป็นอาชีพหลักของชาวประมงไปแล้วในการจับปลาหมอคางดำขาย แต่ในพื้นที่มีเพียงโรงงานเดียวที่มีการรับซื้อปลาหมอคางดำในราคากิโลกรัมละ 6 บาทเท่านั้น เพื่อนำไปทำปลาป่น  ส่วนโรงงานอื่นๆ อีกหลายแห่งไม่รับซื้อ บอกว่าปลาหมอคางดำมีแต่ก้าง เนื้อน้อย แต่ก็ต้องทำ เพราะยึดอาชีพประมงมานานจึงไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรได้อีกแล้ว    

ด้านนายจิรวุฒิ คำภิโรจน์ เจ้าหน้าที่ชำนาญการประมง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชุมพร  เปิดเผยว่า ตอนนี้ใน จ.ชุมพร พบว่ามีการระบาดอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน คือทั้งพื้นที่ในคลองและในทะเล โดยทางศูนย์ฯ จะนำตัวอย่างของปลาหมอคางดำที่พบในทะเลรอบนี้ไปผ่าพิสูจน์ เพื่อดูว่าในท้องปลาหมอคางดำได้จับสัตว์น้ำชนิดใดกินเป็นอาหารบ้าง โดยการวิเคราะห์ในกระเพาะอาหาร รวมถึงการเก็บข้อมูลเรื่องขนาดความยาวและน้ำหนักตัว และจะนำไปพัฒนาในการจับและกำจัด โดยช่วงนี้มีการพบเจอปลาหมอคางดำมากขึ้นในทะเล หลังจากที่มีข้อมูลว่าชาวบ้านได้ออกไปวางอวนทำประมง สามารถวางอวนจับปลาหมอคางดำได้ในเขตระยะห่างจากฝั่งทะเลประมาณ 500 เมตร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชุมพรชายหาดยาว 222 กิโลเมตร พบ ปลาหมอคางดำ ระบาดหนัก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดชุมพร ก็ถือเป็นอีกพื้นที่มีการแพร่ะบาดของปลาหมอคางดำอย่างหนักมานานนัน 10 ปี และเริ่มรุนแรงมากขึ้นในช่วง

สมุทรสาคร ปล่อยปลานักล่า 'ปลาหมอคางดำ' ล็อตสุดท้าย 2 หมื่นตัว

นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร ได้ขอให้ประชาชนช่วยทางราชการในการไม่เพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ หากฝ่าฝืนมีโทษตามพระราชกำห