ยก ‘ภูพระบาท’ เป็นมรดกโลก

คนไทยได้เฮ! อีก ยูเนสโกขึ้นทะเบียน "ภูพระบาท" จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของไทย กระทรวงวัฒนธรรมเชิญชวนประชาชนเที่ยวฟรี 28 ก.ค.-12 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 เวลา 11.30 น.  (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงนิวเดลี ซึ่งช้ากว่าไทย 1.30  ชั่วโมง) ณ Bharat Mandapam International Exhibition and Convention Centre กรุงนิวเดลี  สาธารณรัฐอินเดีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ผ่านระบบวีดิทัศน์ ภายหลังคณะกรรมการมรดกโลก มีมติให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษาที่พิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี”  ด้วยตระหนักถึงเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value: OUV) ซึ่งทำให้ในปัจจุบันไทยมีรายชื่อแหล่งมรดกโลกรวมจำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย มรดกโลกทางวัฒนธรรมจำนวน 5 แห่ง และมรดกโลกทางธรรมชาติจำนวน 3 แห่ง ทำให้จังหวัดอุดรธานีจะเป็นจังหวัดเดียวในไทยที่เป็นที่ตั้งแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 แห่ง

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า แหล่งมรดกโลกภูพระบาท ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นตัวแทนวัฒนธรรมสีมาที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยทวารวดีที่มีอายุราวศตวรรษที่ 8 และนับเป็นแหล่งที่ตั้งแหล่งใบเสมาที่ใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นมรดกโลกในวันนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อไทย และนำมาซึ่งผลประโยชน์ต่ออนุชนรุ่นต่อไปในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู  และปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับ ตลอดจนดำเนินการยกระดับการมีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอีกทางหนึ่ง

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หวังว่าจะได้ต้อนรับทุกคนในการเดินทางมาเยือนไทย เพื่อเยี่ยมชมภูพระบาท ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับล่าสุดของไทย

ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-31 ก.ค.2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก  ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท  จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, atestimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกเมื่อพุทธศักราช 2535

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) แถลงว่า ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการแสดงความชื่นชมยินดี วธ. โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค.2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทยได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2547 และได้รับการพิจารณาขึ้นเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ลำดับที่ 5 ของประเทศไทย ในวันที่ 27 กรกฎาคม

ทั้งนี้ ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2  แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล

ภูพระบาทสามารถอนุรักษ์กลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมากและเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าวมีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบและศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญวาสี (พระป่า) ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง