วิษณุชี้ทุจริตฝังรากลึก อ้วนแนะปรับความคิด

ตั้งวงถกปราบทุจริต "วิษณุ" ชี้ประวัติศาสตร์ชาติไทยเคยทำกันได้ ไม่ได้รู้สึกว่าผิดบาปหรือชั่วร้ายอะไร ซูฮกยุค คสช.กล้าปราบโกง  “ภูมิธรรม” เจอทางสว่าง แต่เลี่ยงใช้คำว่า "นักการเมือง" แนะต้องเปลี่ยนมายด์เซต ประชาชนผู้มีโอกาสบริหารราชการแผ่นดิน ข้าราชการระดับสูง  ประชาชนในประเทศต้องเข้าใจ รวมถึงเอกชนทุกภาคส่วน ถ้าไม่คำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ชาติ   ไม่รู้สึกถึงความรู้สึกด้านจริยธรรม อันตรายมาก

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.)   รุ่นที่ 15 จัดกิจกรรมสัมมนาสาธารณะหัวข้อ “นวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกง ในยุค Digital Disruption”

โดยนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี บรรยายพิเศษเรื่อง การป้องกันการทุจริตภาครัฐยุค Digital Disruption ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการเรียกค่าคุ้มครอง หรือปิดปาก มันมีมากขึ้นจนครอบคลุมคำว่าคอร์รัปชัน หากดูสถิติ ป.ป.ช.รับไว้คงเห็นในเรื่องนี้ แต่เมื่อพูดเรื่องการเอาเงินหลวงมาเป็นเงินส่วนตัว หรือที่เรียกว่าบังหลวง ก็ยังพอมีอยู่บ้าง  ส่วยก็ดี การรีดไถก็ดี จัดอยู่ในประเภทเดียวกันนี้  แต่ว่ากันว่าไม่รับผิดชอบว่าถูกหรือผิด

"เรื่องนี้มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ ที่มีการแบ่งเป็นกรมเวียง กรมวัง กรมคลัง กรมนา เพราะว่าเราชินกับการที่เรียกรับให้โดยถูกกฎหมายมาเป็นเวลานาน เพิ่งมาห้ามไม่ให้เรียกรับให้ มันก็ห้ามยาก เพราะเคยทำกันได้ และไม่ได้รู้สึกว่าผิดบาปหรือชั่วร้ายอะไร"

นายวิษณุกล่าวว่า การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนสำคัญ เพราะการทุจริตเป็นข้อหาอาญา  ไม่ว่าคดีอาญาใดก็ตาม จะนึกถึงหน้าที่ของตำรวจ  แต่วันนี้มี ป.ป.ช. ก็นึกถึง ป.ป.ช. เป็นต้น แต่อาจลืมไปว่าประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะการทุจริตมีการเสนอ ใครเสนอ ก็ประชาชน เวลาทุจริตมีการให้ ใครให้ ก็คือประชาชน เวลาทุจริตใครปิดบัง เก็บงำเรื่องนี้ไว้ไม่บอกให้ใครรู้ ก็ประชาชน

นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่ง คงเข้าสภาในไม่ช้า เป็นการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช.บางมาตรา มุ่งคุ้มครองพยาน และมุ่งไปในเรื่องของการป้องกันการฟ้องปิดปาก ในอดีตที่มีการทุจริตเกิดขึ้น แล้วไม่ค่อยแพร่งพรายออกมา เพราะประชาชนไม่กล้าร้องเรียน เมื่อฟ้องหรือร้องเรียนก็จะถูกฟ้องกลับ ที่เรียกว่าฟ้องปิดปาก สรุปเงียบเสียดีกว่า วันนี้ได้แก้ไขกฎหมาย ครม.ได้อนุมัติไป คงเข้ากฤษฎีกาตรวจ และเข้าสภาประมาณปลายปี 2567 ต่อไป

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า คนที่เป็นข้าราชการคงเคยได้ยินชื่อกฎหมายฉบับหนึ่ง มีชื่อว่า พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการอนุญาตอนุมัติของทางราชการ 2558 เป็นเวลา 1 ปีหลัง คสช.เข้ามา ความจริงกฎหมายฉบับนี้ทำไว้นานแล้ว แต่เสนอสภาไม่ได้ เพราะหลายกระทรวงคัดค้าน ไม่สบายใจ จนกฎหมายทำเสร็จเก็บไว้ 10 กว่าปี กระทั่ง คสช.เข้ามาปี 2557 กฎหมายฉบับแรกที่ คสช.ยกขึ้นมาแล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือกฎหมายฉบับนี้ ถ้าเป็นยามภาวะปกติ กฎหมายนี้ไม่มีวันออกมาได้

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวในงานเดียวกันนี้ว่า การทุจริตคอร์รัปชันขณะนี้เราจะต้องใช้กลไก กระบวนการ และวิธีการต่างๆ ในการแก้ไข คิดว่าหัวใจสำคัญที่เราควรต้องทำให้เกิดในสังคมไทยคือเรื่องมายด์เซต ในการที่ประชาชนผู้มีโอกาสบริหารราชการแผ่นดินต้องเข้าใจ ข้าราชการระดับสูงต้องเข้าใจ ประชาชนในประเทศต้องเข้าใจ รวมถึงเอกชน ทุกภาคส่วนต้องเข้าใจ

"ถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนมายด์เซตของข้าราชการ ผู้บริหารระดับสูงในราชการและเอกชน คิดว่าเรื่องนี้แก้ไขยาก ถ้ายังมีมายด์เซตไม่คำนึงถึงการไม่รักษาผลประโยชน์ชาติ ไม่รู้สึกถึงความรู้สึกด้านจริยธรรม จนเกิดปัญหาซ้ำซากยาวนานในการแก้ปัญหานี้ให้ลุล่วง ทำให้ปัญหานี้ติดลึกในสังคมไทย และอันตรายมาก สิ่งจำเป็นคือต้องสร้างสำนึกให้เกิดขึ้นให้ได้ จริงๆ ป.ป.ช.พยายามทำหลายเรื่อง  แต่ทางแก้ไขปัญหาลุล่วงไปบ้าง ดีขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้คลี่คลายจนเราสบายใจ การสร้างสำนึก การสร้างความตั้งใจ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหามีความสำคัญ อยู่กับฝ่ายนโยบายได้ อยู่กับฝ่ายปฏิบัติได้ จะสำเร็จได้"

 “แนวทางการพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนไทยไม่โกงในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน พวกท่านทั้งหลายที่รวบรวม อบรม และเสนอวันนี้ จะเป็นทางเลือก ให้ความมั่นใจกับทุกท่านว่าเป็นทางเลือกเชิงนโยบายที่สำคัญ รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะไปประยุกต์ใช้กับสังคมไทย ให้ซื่อสัตย์สุจริต ไม่เมินเฉยทุจริต อันเป็นการป้องกันการทุจริตในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายภูมิธรรมกล่าว

ขณะที่ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนาว่า หน้าที่ของ ปปง.มี 2 ด้าน 1.ทำหน้าที่กำกับผู้มีหน้าที่ต้องรายงาน และ 2.ดำเนินการทางด้านทรัพย์สินกับผู้กระทำผิดมูลฐาน ซึ่งรวมถึงมูลฐานการทำผิดต่อหน้าที่ด้วย ในส่วนนี้มีหน่วยงานที่ดูแลอยู่เรียกว่า 4 ป. ประกอบด้วย ปปง., กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ ป.ป.ช. หากทั้ง 4 ป.ทำงานร่วมกัน เชื่อว่าคนทำผิดไม่รอดแน่ เพราะกฎหมายของแต่ละหน่วยงานออกมาเพื่ออุดช่องโหว่ของกันและกัน แต่ปัญหาคือไม่มีข้อมูลกลาง ไม่มีการแชร์ข้อมูลกัน ซึ่งในส่วนของ ปปง.ยอมรับว่ามีเจ้าหน้าที่น้อย การดำเนินงานจึงต้องใช้เวลานาน

นายสุทธิศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่ตนทำคดีจะพบวิวัฒนาการของคนกระทำความผิดมีการเปลี่ยนแปลงมาก ตั้งแต่ ปปง.เมื่อปี 2542 ก่อนหน้านี้ยึดทรัพย์ได้เยอะมาก เพราะกฎหมายที่เพิ่งตั้งใหม่ คนกระทำความผิดยังไม่มีช่องทางหลบเลี่ยง แต่หลังปี 2560 เป็นต้นมา เขาเริ่มมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย เริ่มมีคนรู้กฎหมายมากขึ้น หน่วยงานจำเป็นจะต้องไล่ตาม โดยเฉพาะปัจจุบันเป็นสังคมดิจิทัลยิ่งมีความยากในการไล่ตาม แต่ไม่ได้เกินความสามารถของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้ง 4 ป. จุดสำคัญคือเรื่องข้อมูล เราจะต้องบูรณาการข้อมูลกัน

 “เราไม่สงสัยหรือว่าเหตุใดจึงมีทนายความเอาหลักฐานมายื่นต่อหน่วยงานใดก็ตามว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีบ้านพักอยู่ที่ประเทศอังกฤษ อยู่สหรัฐอเมริกา ที่จริงเวทีนี้ผมยังเสียดาย เราน่าจะเชิญทนายความท่านนั้นเล่าให้ฟังว่าได้ข้อมูลมาอย่างไร ในเมื่อหน่วยงานราชการยังหาไม่ได้ เอามาไม่ได้ ล่าสุดมีเอ็นจีโอไปได้ข้อมูลมาอีก คนกลุ่มนี้เขาไปเอาข้อมูลมาได้อย่างไร นี่เป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุด การทุจริตปัจจุบันนี้ไม่ได้จ่ายเงินในประเทศ แต่มีการใช้บัญชีม้า ซึ่ง ปปง.พยายามปิดบัญชีนั้น เขาก็ไปจ่ายกันที่ต่างประเทศ เช่น พิธีกรซื้อบ้านให้ผมที่ประเทศอังกฤษ แล้วผมค่อยเข้าไปอยู่” นายสุทธิศักดิ์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ปปง.กล่าวต่อว่า  อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ปปง.ร่วมกับสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง สามารถติดตามทรัพย์สิน ติดตามเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในประเทศไทยแล้วโยกเงินนั้นไปไว้ที่สหพันธรัฐสวิสกลับมาได้ ซึ่งเป็นคดีการกระทำผิดมูลฐานเรื่องการค้ายาเสพติด แต่ประเทศต้นทางหักไปครึ่งหนึ่ง เราได้กลับมา 70 ล้านบาท ก็ยังดีที่นำเงินกลับมาได้ นับเป็นคดีแรกของไทยที่นำเงินกลับมาได้ และขณะนี้ยังมีอีก 2 คดีที่ ปปง.กำลังจะเอาเงินที่ได้จากการกระทำผิดภายในประเทศไปไว้ในต่างประเทศกลับมา คือคดีของอดีตผู้ว่าฯ การท่องเที่ยวฯ และคดีหุ้นบริษัทสตาร์ค (STARK)

นายสุทธิศักดิ์กล่าวอีกว่า คดีล่าสุดที่ต้องยกตัวอย่างคือ กรณีเจ้าหน้าที่ กทม. ที่มีการทุจริตเมื่อปี 2561 แต่ ปปง.สามารถสืบพยานหลักฐานจนออกหมายจับได้ในปี 2567 ได้ก็มาจากการบูรณาการของ 4 ป. แต่สิ่งสำคัญคือต้องได้เบาะแสจากผู้ให้ด้วย เรื่องนี้เกิดจากการที่เขาถูกหลอกเลยไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ถ้าเขาไม่ร้องทุกข์กล่าวโทษก็ไม่มีใครรู้ จะเป็นการสมยอมกัน เป็นเรื่องใหญ่ที่เราไม่สามารถรู้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง