CPFแจงฝังซากคางดำปี54 สภาจี้รบ.แก้ปัญหารวดเร็ว

"ปลาหมอคางดำ" บุกสภา! "ซีพีเอฟ"  ไม่เข้าชี้แจงอนุ กมธ. แต่ส่งหนังสือแจงแทน ยันลูกปลาที่นำเข้าไม่แข็งแรง ทำลายซากตั้งแต่ 7 ม.ค.54  พร้อมส่งตัวอย่าง 50 ตัวให้กรมประมงแล้ว ไม่เกี่ยวกับการระบาดและไม่ได้วิจัยอีก ด้านอนุ กมธ.จ่อเชิญกฤษฎีกามาแนะนำช่องทางดำเนินคดีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง "ณัฐชา" นำปลามาทอดให้ สส.ลองชิม โวยรองประธานฯ ไม่ให้ถ่ายภาพ สภาถกญัตติ สับแหลก! ซัดรัฐบาลวาระแห่งชาติชาตินี้หรือชาติหน้า จี้หาต้นตอจัดการปัญหาให้รวดเร็วกว่านี้

ที่รัฐสภา วันที่ 25 กรกฎาคม มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ สภาผู้แทนราษฎร โดยนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมว่า วันนี้ได้ส่งหนังสือเชิญผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  หรือ CPF เพื่อให้ข้อมูลในฐานะผู้ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำในราชอาณาจักรไทยจากกรมประมง และชี้แจงถึงข้อโต้แย้งที่กรมประมงมอบเอกสารหลักฐานต่างๆ แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา  ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ ได้รับหนังสือจากทางบริษัทดังกล่าวว่า ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้  โดยทำเป็นหนังสือลาประชุม

"อยากให้บริษัทเอกชนใช้พื้นที่นี้ในการสื่อสารกับประชาชน เพราะเรื่องนี้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของประชาชนเป็นจำนวนมาก เวทีของสภาผู้แทนราษฎรเป็นที่ที่ท่านสามารถแสดงความบริสุทธิ์ใจได้ แต่หากท่านเลือกนั่งแถลงข่าวกับสื่อเพียงไม่กี่สำนัก ขาดการโต้แย้งในการซักถาม ก็จะสร้างความสงสัยให้กับประชาชนมากขึ้น"

ส่วนหลังจากนี้ กมธ.จะทำอย่างไรต่อไปนั้น นายณัฐชากล่าวว่า ด้วยอำนาจหน้าที่ของ กมธ. ทำได้แค่ขอความร่วมมือ เมื่อขอไปแล้วไม่ได้รับความร่วมมือหรือข้อมูล ก็ต้องสรุปตามข้อมูลที่เรามี ซึ่งเรามีข้อมูลจากหน่วยงานรัฐที่เชื่อถือได้ ทั้งกรมประมง กระทรวงเกษตรฯ เพราะฉะนั้นในสัปดาห์หน้าเราจะเชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาแนะนำหน่วยงานของรัฐในการฟ้องร้องต่อไป รวมถึงเชิญหน่วยงานมาประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ เพราะปลาสายพันธุ์นี้ทำลายชีวิตของเกษตรกรไปนับไม่ถ้วน

นายณัฐชากล่าวด้วยว่า สิ่งที่กรมประมงได้ชี้แจงไว้พบว่า บริษัทได้ทำผิดเงื่อนไข ไม่ถูกต้องตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต การนำเข้าปลาหมอคางดำมีเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับการอนุญาต โดยเงื่อนไขจะต้องส่งซากปลาที่ทำลายทิ้งแล้วให้กับกรมประมง จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2550-2560 กลับไม่พบตัวอย่างปลาสายพันธุ์นี้ ข้อสงสัยว่าในปี 2554 ขวดโหลซากปลาอาจจะหายไปกับน้ำท่วมใหญ่นั้น แต่ในห้องแล็บของกรมประมง ยังมีพันธุ์ปลาปี 2550 ดังนั้นจะหายเพียงแค่ปี 2554 ไม่ได้ เพราะในห้องแล็บมีขวดโหลอยู่ราว 5,000 ขวด น้ำท่วมจะพาไปแค่ 2 ขวดไม่ได้

มีรายงานว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ยื่นหนังสือให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้แจงละเอียดทุกขั้นตอนการนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัวจากประเทศกานา ตั้งแต่ปลามาถึงไทยจนถึงทำลายฝังซากและส่งซากปลาให้กรมประมง โดยนายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ ชี้แจงว่า ซีพีเอฟได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกานา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ใช้เวลาเดินทาง 35 ชั่วโมง เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมงที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมาก และเมื่อถึงฟาร์มได้ตรวจคัดแยก พบว่ามีลูกปลามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง จึงได้นำลูกปลาที่ยังมีชีวิตลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกปลาทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน จึงโทร.ปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง (นักวิชาการประมง 4 ตำแหน่งในขณะนั้น) โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เก็บตัวอย่างใส่ขวดโหลแช่ฟอร์มาลิน และให้นำมาส่งที่กรมประมง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลินเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน 

'CPF' ยันทำลายซากตั้งแต่ปี 54

วันที่ 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมดโดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาวในวันที่ 7 มกราคม 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งต่อกรมประมงส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลินทั้งหมด 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ขวดละ 25 ตัว ให้กับเจ้าหน้าที่ที่กรมประมง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัทกรอกแบบฟอร์มใดๆ ทำให้เข้าใจว่าการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว

ถัดมาอีก 7 ปี ในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน ซึ่งบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์มไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม การสุ่มในบ่อพักน้ำจึงไม่แปลกที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกันกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน 

นายเปรมศักดิ์กล่าวย้ำว่า บริษัทไม่มีการวิจัยหรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้นำศักยภาพองค์กรขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ

ขณะที่นายณัฐชาได้นำปลาหมอคางดำที่รับซื้อจากชาวบ้านในพื้นที่คลองเขตบางขุนเทียน มาให้เชฟทอดเสิร์ฟเป็นเมนูอาหารกลางวันให้กับ สส.รับประทานในห้องอาหาร แต่นายพิเชษฐ์ เชื้่อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ นายณัฐชาจึงนำปลาหมอคางดำทอดมาโชว์นักข่าวในห้องสื่อมวลชน โดยนายณัฐชาเปิดเผยว่า ตนได้มีการประสานกับเกษตรกรให้จับปลาหมอคางดำ จำนวน 20 กิโลกรัม เพื่อนำมาทอดเมื่อเช้านี้ และระหว่างชิมก็ตั้งใจว่าจะให้ถ่ายภาพบรรยากาศว่า สส.หลายคนมีความเห็นต่อรสชาติเป็นอย่างไร แต่กลับมีปัญหา

 “ผมไม่เข้าใจว่าปลาหมอคางดำจะทำให้สภามันล่มสลายหรืออย่างไร หรือห้องอาหารของสภาทำไมถึงถ่ายวิดีโอไม่ได้ เพราะนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาบอกว่า ให้ สส.ทานได้ แต่ไม่ให้บันทึกภาพใดๆ  พร้อมบอกผู้ช่วยของผมว่า ในการยกเข้ามาไม่ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยเข้ามาช่วย ผมก็งงว่าเอาปลามา 20 กิโลกรัม ต้องหิ้วด้วยตัวเองหรืออย่างไร" นายณัฐชากล่าว

จี้รบ.แก้ปัญหาเร็วกว่านี้

วันเดียวกัน ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาพิจารณาการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ และการจัดการสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานเพื่อส่งให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเป็นญัตติของนายณัฐพงษ์ สุมโนธรรม สส.สมุทรสาคร พรรคก้าวไกล, นายพิทักษ์เดช เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐชา บุญอินไชยสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล

โดยนายณัฐพงษ์เสนอญัตติว่า ขอเตือนรัฐบาล ที่พูดมาเสมอว่าเรื่องนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ไม่แน่ใจว่าวาระแห่งชาติสรุปแล้วจะเป็นชาตินี้หรือชาติหน้า เป็นสิ่งที่ชาวประมงสงสัย มีการไปให้คำสัญญาว่าจะใช้งบกลาง เพิ่มงบประมาณ จนทำให้พี่น้องชาวประมงเฮ แต่วันนี้ยังไม่เห็น การแก้ปัญหาก็จำเป็น แต่การหาคนรับผิดชอบก็จำเป็นไม่แพ้กัน อย่าไปดูเบาความโกรธความไม่พอใจของประชาชน  เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน ให้นายกฯ และ รมว.เกษตรฯ อย่าทำแค่ให้เป็นอีเวนต์ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องประเมินผลด้วย รวมถึงต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน

ขณะที่นายพิทักษ์เดชเสนอญัตติว่า ปัญหานี้เกิดจากการลักลอบนำเข้าหรือการขออนุญาตนำเข้า ซึ่งอาจหลุดลอดเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ทำลายระบบนิเวศ สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกร วันนี้เป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลต้องสืบเสาะหาความเป็นจริงว่า ปลาหมอคางดำเข้ามาได้อย่างไร เพราะอะไร ใครเป็นผู้นำเข้า แพร่กระจายได้อย่างไร ฝากไปถึงรัฐบาลและกรมประมงให้แก้ไขกฎหมาย ใช้วิธีการจัดการที่รวดเร็วกว่านี้

ด้านนายณัฐชากล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ แถลงว่ายังไงต้องหาต้นตอสาเหตุให้ได้ ต้องแก้ปัญหาให้เร็ว นี่ผ่านมากี่วันแล้ว มาถึงวันนี้ปัญหาสาเหตุ ท่านจัดการอย่างไร ถ้าไม่รีบอนุมัติงบประมาณมาช่วยเหลือเกษตรกรและมาเยียวยาเรื่องนี้ จะไม่ใช่ปัญหาของประเทศไทยอย่างเดียว แต่จะยกเป็นปัญหาภูมิภาค ฉะนั้นรอไม่ได้

"รวมถึงเรื่องของการประกาศเขตใน 17 จังหวัด ท่านต้องประกาศเลยว่าจังหวัดไหนชักธงแดง เมื่อจับเรียบร้อย ลดธงแดงลง ก็ชักธงเหลือง ธงเขียว เพื่อเฝ้าระวัง และกลับไปทบทวนว่าหากกลับมาระบาดอีกครั้งก็ชักธงแดง แต่ถ้าท่านไม่ชักธงอะไรเลย รัฐบาลท่านชักธงขาวได้เลย ยอมแพ้ยุบสภาไป” นายณัฐชากล่าว

จากนั้นสมาชิกได้แสดงความคิดเห็นสนับสนุนญัตติดังกล่าวไปในทำนองเดียวกันว่า รัฐบาลต้องแก้ปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำโดยเร่งด่วน และควรมีมาตรการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนไปมากกว่านี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กมธ.เกษตรฯ แนะ 7 ข้อ เร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาด 'ปลาหมอคางดำ'

นายศักดินัย นุ่มหนู สส.ตราด พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและการประกอบอาชีพข