"เศรษฐา" มั่นใจทำเต็มที่แล้วปมตั้ง "พิชิต" หลังศาล รธน.นัดตัดสิน 14 ส.ค. ขอบคุณหลายคนส่งกำลังใจ เชื่อไม่กระทบเสถียรภาพรัฐบาล มองปฏิญญาเขาใหญ่แค่ไปตีกอล์ฟ "อิ๊งค์" รับลบ "เหลิม" ออกจากไลน์กลุ่ม สส. ลั่น
ไม่มีนโยบายขับพ้นพรรค บอกขอจบดรามาเรื่องนี้ แย้ม "ทักษิณ" เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าให้คนกันเองร่วมเบิร์ธเดย์ "กมธ." โยนสภาเคาะ 3 ปมนิรโทษกรรม 112 วิป รบ.ดันเป็นวาระแห่งชาติ "ก้าวไกล" ส่งคำแถลงปิดคดียุบพรรคแล้ว เล็งเปิดคำแถลงก่อนการวินิจฉัย
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมหลังศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยปม 40 สว.ยื่นคำร้องการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 14 ส.ค.นี้ว่า ยังไม่ได้เตรียมอะไร เพราะเพิ่งทราบเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ก็ต้องคอยฟัง ซึ่งขณะนี้ closing แล้วครับ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่แน่ใจว่า closing statement (คำแถลงปิดคดี) จะเป็นเมื่อไหร่ เข้าใจภายใน 7 วัน
"ที่หลายคนส่งกำลังใจให้ผมนั้นก็ขอบคุณมาก ที่ผ่านมาเชื่อว่าทำดีที่สุดแล้ว และเข้าใจว่าตอนนี้ส่งข้อมูลไปครบถ้วนทั้งหมดแล้ว และเข้าใจว่าอยู่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดแล้ว ก็ไม่อยากจะพูด" นายเศรษฐากล่าว
ถามว่า นายกฯ ยังมั่นใจเหมือนเดิมใช่หรือไม่หลังจากที่เคยระบุจะไม่ทำให้การทำงานสะดุดลง นายเศรษฐากล่าวว่า ยังมั่นใจว่ายังทำงานเต็มที่ และมีกำลังใจเต็มเปี่ยม
ซักว่า หลายฝ่ายเป็นห่วงในเดือน ส.ค.นี้จะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ยังเชื่อมั่นในพรรคร่วมรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ท่านคงเห็นภาพที่ตนทำกิจกรรมกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกๆ คน วิธีการที่เราพูดจากัน มีการพูดคุยกันตลอด การได้เจอกันเยอะในช่วงเดือนมหามงคล และมีการพูดคุยกัน งานก็ยังเดินหน้าไปได้ด้วยดี อะไรที่ไม่เข้าใจกันก็เป็นธรรมดาของการอยู่ร่วมกัน ก็มีการจัดการแก้ไขปัญหากันไป
ถามกรณีมีการพูดคุยถึงปฏิญญาเขาใหญ่กันบ้างหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าหมายความว่าอะไร แต่เข้าใจว่ามีภาพของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และภาพของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย แต่เพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย มีมากกว่าปฏิญญา เป็นสัญญาร่วมกันอยู่แล้ว เพราะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสูตรหนึ่งของสองพรรคที่ทำมา 314 เสียง ซึ่งเราพูดมาโดยตลอด
"ตรงนี้ผมเชื่อมั่นว่าเป็นเรื่องของการไปออกกำลังกายและไปตีกอล์ฟร่วมกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว และสังคมไทยเป็นสังคมที่เราคบหาสมาคมกัน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือนักการเมือง หรืออดีตนักการเมือง" นายกฯ กล่าว
ส่วนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวเรื่องศาลนัดตัดสินคดีนายกฯ ว่า ครม.ทุกคนก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกฯ อยู่แล้ว พวกเราก็มีความปรารถนาดีและส่งกำลังใจให้ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และให้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี
ถามว่า ประเมินสถานการณ์อย่างไรหากผลออกมาในทางลบ นายอนุทินร้อง “โอ๊ย” พร้อมบอกว่า อย่าเพิ่งไปคิดอะไร ตนถึงบอกว่าอะไรที่ไม่เกิดอย่าไปคิด เราทำทุกวัน รัฐบาลนี้ ณ วินาทีนี้ วันนี้ ก็ยังเป็นรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ ยังไม่มีอุปสรรคหรือท่าทางใดๆ ที่จะทำให้เกิดความไม่สะดวกหรือความไม่ราบรื่น
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าโหงวเฮ้งของนายอนุทินอาจจะมาแทนนายกฯ ได้ มีการวิเคราะห์เรื่องนั้นบ้างหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ยังไม่เคยคิด ทำวันนี้ให้ดีที่สุด วันนี้ทำงานร่วมกับนายกฯ ทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคก็มีการประสานงานกับทุกพรรคได้เป็นอย่างดี กระทรวงนี้ต้องการการประสานงานจากกระทรวงอื่น ก็มีการช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนกันเป็นอย่างดี
ทักษิณเปิดบ้านให้เบิร์ธเดย์
ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรค พท. ให้สัมภาษณ์กรณีที่ลบ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ออกจากกลุ่มไลน์ สส.ของพรรคว่า เป็นเรื่องจริง เพราะจริงๆ แล้วในกลุ่มของ สส.พรรคได้มีการนัดหมายพูดคุยกันเรื่องหมายวันนี้เพื่อให้ สส.ได้รับทราบ ซึ่งเมื่อวันที่ 24 ก.ค. เห็นข่าวก็รู้สึกว่าไม่อยากให้คนในพรรคหรือคนทำงานบั่นทอน โดยก่อนหน้านี้ ร.ต.อ.เฉลิมก็ได้ส่งข้อความเข้ามาในกลุ่มไลน์ของ สส.ว่าจะมีการย้ายพรรค และข้อความต่อไปก็ทำให้ทุกคนเริ่มรู้สึกอึดอัดใจ ตนไม่อยากให้มีประเด็น และไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกกังวลว่าในกลุ่มนี้จะมีการคุยกันอย่างไร
"ส่วนตัวรู้สึกว่ากลุ่มนี้ต้องเป็นกลุ่มที่ สส.ต้องคุยกัน จึงคิดว่าลบออกดีกว่าเท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะมีการลบ ร.ต.อ.เฉลิมออกนั้น ไม่ได้มีการพูดคุยก่อน ตัดสินใจลบเลย รวมถึงไม่ได้มีการพูดคุยกันก่อนที่ร.ต.อ.เฉลิมจะแถลงด้วย เราไม่ได้อยากให้มีดรามาเพิ่มขึ้น” น.ส.แพทองธารกล่าว
ถามว่า จะต้องมีการพูดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิมหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าพร้อมเสมอ อยู่ที่นี่พรรค พท. ฉะนั้นหากยังสามารถคุยก็พร้อมคุยอยู่แล้ว
ซักว่าจะไม่เดินทางไปพูดคุยกับ ร.ต.อ.เฉลิมเหมือนครั้งที่ผ่านมา แต่จะให้ ร.ต.อ.เฉลิมมาคุยที่พรรคใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งการมาคุยที่พรรคเป็นกิจจะลักษณะ และควรมีเลขาธิการหรือใครอยู่ด้วยกัน เพราะเป็นเรื่องที่ควรคุยกันอย่างเป็นทางการ
เมื่อถามว่า จะมีโอกาสขับ ร.ต.อ.เฉลิมออกจากพรรคเหมือนที่เขาต้องการหรือไม่ หัวหน้าพรรค พท.กล่าวว่า เอาออกจากกลุ่มอย่างเดียว ไม่มีนโยบายขับออกจากพรรค
“ขอให้ชัดเจนตรงนี้ แต่ทุกคนโตแล้ว ก็ตัดสินใจเองได้หมดว่าจะทำอย่างไรกับแพลนชีวิตข้างหน้า ดิฉันยังเคารพเสมอ และขออวยพรให้โชคดี ประสบความสำเร็จ ฉะนั้นขออนุญาตไม่ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้แล้ว ทุกคนต้องทำงานต่อ สำหรับฝั่งนี้ไม่มีดรามาอะไรทั้งนั้น ขอให้เรื่องนี้จบที่นี้" หัวหน้าพรรค พท.กล่าว
ถามถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิมท้านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีดีเบต น.ส.แพทองธารกล่าวว่า “ต้องถามคุณพ่อ ดิฉันไม่ทราบ”
ซักว่าวันที่ 26 ก.ค.จะเป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75 ของนายทักษิณ จะมีการเปิดบ้านให้คนที่สนิทใกล้ชิดเข้าไปอวยพรวันเกิดหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ช่วงเช้าจะมีพิธีทำบุญตักบาตรกันในครอบครัว จากนั้นช่วงเที่ยงจะมีคนสนิทมาร่วมรับประทานอาหาร เพราะนายทักษิณไม่ได้ทำบุญเช่นนี้มานานแล้ว แต่ไม่ได้มีการเปิดบ้านให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วม และจะไม่เปิดให้สื่อเข้าไปบันทึกภาพภายใน
มีรายงานว่า สำหรับกิจกรรมวันคล้ายวันเกิดที่บ้านจันทร์ส่องหล้า นายทักษิณและคนในครอบครัวและญาติพี่น้องจะร่วมทำบุญเลี้ยงพระเพล 9 รูป จากนั้นจะให้บรรดานักการเมืองใกล้ชิด ที่เป็นรัฐมนตรีและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยเข้าไปร่วมทานอาหารเที่ยง อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม, นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย, นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย, นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงนางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยการเดินทางเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าครั้งนี้ จะจำกัดเฉพาะผู้ได้รับเชิญ จะให้รถทะเบียนที่กำหนดไว้เข้าไปในบ้านเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อช่วงค่ำวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิดปีที่ 75 ล่วงหน้าให้แก่นายทักษิณ ที่โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ (รางน้ำ) โดยมีเฉพาะคนใกล้ชิดเข้าร่วมงานอย่างหนาแน่น อาทิ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ, นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนา, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน รวมถึงนายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ซึ่งเกิดวันเดียวกับนายทักษิณ ร่วมงานด้วย โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น มีการร้องเพลงอวยพรวันเกิดและให้นายทักษิณเป่าเค้ก
ด้านนายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ถึงวันคล้ายวันเกิดนายทักษิณ จะไปร่วมงานหรือไม่ โดยนายอนุทินได้ย้อนถามกลับว่า “พรุ่งนี้ไหม เดี๋ยวจะส่งดอกไม้ไปอวยพร”
กมธ.โยนสภาเคาะนิรโทษฯ 112
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. และนายสมคิด เชื้อคง โฆษก กมธ. ร่วมกันแถลงผลการประชุม กมธ.
นายชูศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.ค.) เป็นการประชุมวันสุดท้ายของ กมธ. ซึ่งได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อย โดยที่ประชุมได้ดูรายงานอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ และมีมติรับรองรายงานการประชุมที่จะเสนอต่อสภา และที่ประชุมมีมติที่สำคัญ คือ 1.ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน นี่คือหลักการสำคัญ และการนิรโทษกรรมนี้เราจะใช้รูปแบบของคณะกรรมการ โดยจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่สมควรจะนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันก็จะมีบัญชีแนบท้ายเพื่อให้กรรมการได้พิจารณาว่าคดีประเภทนี้นิรโทษกรรมได้หรือไม่ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ นี่คือเรื่องทั่วไป แต่สาระสำคัญต้องเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งจะมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีใดบ้าง
2.คดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนข้อสำคัญคือ คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิตมาตรา 288 และมาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีที่ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในข่ายที่เราเห็นว่าควรจะนิรโทษกรรม
3.คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 ถึงแม้คดีประเภทนี้มีความเห็นเสนอไปโดย กมธ.จะเสนอสู่สภา ด้วยว่าความเห็นเกี่ยวกับคดีเหล่านี้ทาง กมธ.เห็นอย่างไรบ้าง โดยสามารถแยกความเห็นได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มที่ 1 พวกที่เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมเลย ก็จะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมไม่ควรนิรโทษกรรม, กลุ่มที่ 2 ควรมีการนิรโทษกรรม ซึ่งจะมีเหตุผลให้ไว้ว่าทำไมควรนิรโทษกรรม ด้วยเหตุผลอะไร และกลุ่มที่ 3 มีการนิรโทษกรรม แต่มีเงื่อนไข เช่น ให้กรรมการดูว่าผู้ที่เป็นผู้ต้องหาเป็นจำเลยเหล่านั้นมีมูลเหตุจูงใจอะไร หรืออาจจะมีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น
"ที่ประชุมมีมติชัดเจนคือควรมีมาตรการในทางบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีคดีอยู่หลายประเภทที่ค้างอยู่ตามสถานีตำรวจ คดีเล็กๆ น้อยๆ เช่น ผิดกฎหมายจราจร แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งมาตรการทางบริหารสามารถที่จะใช้ได้ก่อนที่จะมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่น มาตรการสั่งไม่ฟ้อง ตามมาตรา 21 ของกฎหมายอัยการ หรือมาตรการอย่างอื่นที่จำเป็น และท้ายที่สุด กมธ.ก็มีข้อสังเกตว่าเรื่องการนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลก็ควรจะต้องรับเรื่องนี้เอาไปพิจารณาและเป็นเจ้าภาพ หรือช่วยกันทำอย่างไรที่จะเร่งรัดพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น ความสำเร็จในการประนีประนอม การทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมปกติ น่าอยู่ น่าอาศัย และไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีตก็จะเกิดขึ้น" นายชูศักดิ์กล่าว
ส่วนนายนิกรกล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค. เวลา 16.30 น. ทาง กมธ.จะยื่นรายงานต่อประธานสภาฯ เพื่อบรรจุเข้าวาระรวมทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งรายงานฉบับหลักคือที่ กมธ.พิจารณาเสร็จในวันนี้ และจะมีภาคผนวกเป็นอนุ กมธ. ชุดศึกษาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเรื่องคดีอีก 1 ฉบับ และเรื่องจำแนกคดีอีก 1 ฉบับ หลังจากนั้นจะรอการพิมพ์เล่มรายงานเพื่อแจกกับสมาชิก อาจใช้เวลาประมาณ 20 วัน และเมื่อประธานบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาแล้ว จะขอให้วิปรัฐบาลเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม
"เมื่อยื่นรายงานต่อประธานสภาฯ แล้ว หากประธานสภาฯ บรรจุเข้าสู่วาระการประชุมทัน ก็จะนำเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 30 ก.ค.นี้ เพื่อที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่หากไม่ทัน ในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะสามารถนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ได้ประมาณกลางเดือน ส.ค. ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะฝ่ายค้านก็เห็นพ้องด้วย จากนั้นก็จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณา และเร่งดำเนินการตามบันทึกแนบท้ายว่าให้เร่งออกเป็น พ.ร.บ.ต่อไป" นายนิกรกล่าว
ก.ก.ส่งคำแถลงปิดคดียุบพรรค
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.นิรโทษกรรม กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าในการนิรโทษกรรมครั้งนี้ คงไม่สามารถออกเป็นกฎหมายในลักษณะที่คล้ายกับหลายฉบับก่อนหน้านี้ ที่มีการกำหนดความผิดใดความผิดหนึ่งโดยเฉพาะ หรือนิรโทษกรรมคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เนื่องจากคดีที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองตลอด 20 ปี มีหลากหลายรูปแบบ หลากหลายฐานความผิด หลากหลายเหตุการณ์ หลังจากเสนอเข้าวาระสภาแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาว่าคดีใดบ้างที่ควรได้รับการนิรโทษกรรม
นอกจากนี้ มีการเสนอเงื่อนไขการนิรโทษกรรม 2 องค์ประกอบ คือ 1.จะเสนอให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้มีการนิรโทษกรรม แม้ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ศาลพิพากษาแล้วต้องการนิรโทษกรรมในคดี 112 ด้วย ก็ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการในการพิจารณา 2.ก่อนที่จะมีการพิจารณาก็ควรจะมีมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด หรือผู้กระทำผิดตามคำพิพากษาในคดี 112 ซึ่งหลายคนก็อาจต่อสู้ว่าตัวเองไม่ได้กระทำผิด
"คณะกรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่า คดีที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะความผิดต่อชีวิต ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม และยังมีข้อสังเกตที่สำคัญ เช่นเราเห็นว่าเมื่อรายงานได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว คณะรัฐมนตรีควรรีบพิจารณาจัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของรัฐบาลเองโดยเร็ว และระหว่างที่ยังรอการตรากฎหมายก็ควรจะมีการอำนวยความยุติธรรมไปก่อน โดยใช้กลไกทางกฎหมายที่มีอยู่ รัฐบาลในฐานะฝ่ายบริหารก็ต้องมีบทบาทสำคัญที่จะต้องมีนโยบายออกมาชัดเจน และประสานกับองค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม" นายชัยธวัชกล่าว
ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มีความคืบหน้าคดียุบพรรค ก.ก. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติพร้อมฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า พรรค ก.ก.ได้ส่งคำแถลงปิดคดีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการแถลง พร้อมเปิดเผยคำแถลงปิดคดีในช่วงก่อนที่ศาลตัดสิน โดยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล
ด้านนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ก.ก. ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการลบล้างผลพวงรัฐประหารจำนวน 3 ฉบับต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมรัฐสภา โดยมี ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับ
นายพริษฐ์กล่าวว่า ร่างแรก ยกเลิกมาตรา 279 ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นมาตราที่ทำให้ประกาศและคำสั่งทุกฉบับของ คสช.และหัวหน้า คสช.ในกรณีที่ประกาศ และคำสั่งนั้นส่งผลต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน, ร่างที่ 2 การเพิ่มหมวด 16/1 ในรัฐธรรมนูญ เรื่องการป้องกันและต่อต้านรัฐประหาร, ร่างที่ 3 ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ ผ่านการยกเลิกมาตรา 65 และหมวด 16 ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
"หวังว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชุดแรกทั้ง 3 ฉบับ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม และเรียกประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวโดยเร็ว อีกทั้งยังหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และ สว.ชุดใหม่ จะให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว" โฆษกพรรค ก.ก.กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แฉระบบเด็กฝาก ทำลายองค์กรตร. ดับฝัน‘ดาวฤกษ์’
เช็ก 41 รายชื่อแต่งตั้งนายพลสีกากี ระดับรอง ผบ.ตร.-ผบช.
ยธ.เมินแจงกมธ. ปมนักโทษเทวดา รพ.ตำรวจชั้น14
ชั้น 14 น่าพิศวง "โรม" กวักมือเรียก “ทักษิณ” ไปสภา เข้าแจง กมธ.มั่นคงฯ
แจกเฟส2เอื้อเลือกอบจ. เตือนร้องถอดถอนครม.
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ยันไทยสงบ สันติ หวังแม้รัฐบาลเปลี่ยน
ฟ้อง9บิ๊กมท.ทุจริตที่เขากระโดง
เรื่องถึงศาล "ณฐพร" ฟ้องกราวรูด "บิ๊ก ขรก.มหาดไทย"
ลุ้นศาลรับคดีล้มล้าง ตุลาการถก6ประเด็น‘ทักษิณ-พท.’/ดันแก้ประชามติไม่รอ180วัน
"ทักษิณ-พท." ระทึก! 9 ตุลาการศาล รธน.ยืนยันนัดประชุมวาระพิเศษ 22 พ.ย.นี้
นายกฯ สั่งเกาะติด 7จังหวัดภาคใต้ที่เจอฝนถล่มหนัก
นายกฯ กำชับทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงจากฝนตกหนักในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้