ชี้ชะตานายก14ส.ค. ศาลตัดสินปมตั้งพิชิต/‘เฉลิมอิสระ’ขู่สาวไส้ทักษิณ

ระทึก! ศาลนัดชี้ชะตา "เศรษฐา"  ปมตั้ง "พิชิต" ขาดคุณสมบัติ 14 ส.ค. สั่งบิ๊กข้าราชการระดับกระทรวงเดินหน้าแก้ปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ช่วยกันปลูกฝังเกลียดชังยาเสพติด "เฉลิมอิสระ" ท้าเพื่อไทยไล่ออกเร็วๆ ขู่สาวไส้ทักษิณ "อนุทิน" ยินดีประธาน-รองประธานวุฒิสภาคนใหม่ สภาไฟเขียวคืนดาบ กมธ.เรียก รมต.-ขรก.-เอกสารชี้แจงได้ หลังถูกริบปี 63 

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณากรณีที่สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน (ผู้ถูกร้องที่ 2)  เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่านายพิชิตขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) (5) หรือไม่

ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม  ประกอบมาตรา 82 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของนายพิชิต สำหรับกรณีของนายเศรษฐา มีคำสั่งขอรับไว้พิจารณา โดยนายเศรษฐายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561  มาตรา 58 วรรคหนึ่ง

หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการปิดคดี ให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 31 ก.ค.2567 ศูนย์คำร้องที่ผู้เกี่ยวข้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้รวมไว้ในสำนวนคดี

ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา  ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันที่ 14 ส.ค.2567 เวลา 09.30 น. โดยนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น.เป็นต้นไป

ที่ห้องประชุมราชวัลลภ ชั้น 2 อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า  ครั้งที่ 2/2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่าเข้าร่วมประชุม

ภายหลังรับฟังบรรยายการนำเสนอข้อมูล นายกฯ กล่าวว่า ขอเน้นย้ำเรื่องการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมถึงการแก้ไขปัญหาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout เป็นเรื่องที่ดี รัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขอให้ขับเคลื่อนทำงานอย่างต่อเนื่อง  

 “พร้อมฝากให้หน่วยงานของ ศธ. ทำงานร่วมกัน ส่วนเรื่องของยาเสพติด จากข้อมูลในโรงเรียนยังไม่มีการแพร่ระบาดมากนัก ถ้าไม่พูดถึงเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ขอให้ช่วยกันปลูกฝังให้เด็กมีความเกลียดชังยาเสพติดอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจถึงโทษและอันตรายของยาเสพติด” นายเศรษฐาระบุ

นายกฯ กล่าวว่า เรื่องการพนันออนไลน์ เรื่องคอลเซ็นเตอร์ และเรื่องของยาเสพติด ถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ขอให้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะเรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านมี Concern อย่างมากในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐบาลได้เพิ่มมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการบำบัด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงการวางมาตรการป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้ามาตามตะเข็บชายแดน ขอให้ระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษ สำหรับเจ้าหน้าที่ขอให้มีความพร้อมในการทำงาน รองรับสถานการณ์ ขออย่าประมาท อุปกรณ์การทำงานจะต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์

นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องของเงินรางวัลนำจับยาเสพติด ตนเข้าใจว่ายังมีหลายหน่วยงานที่มีข้อถกเถียงเรื่องของการแบ่งปันเงินรางวัล ซึ่งการจ่ายเงินรางวัล ส่วนมากจะจ่ายเมื่อจบสิ้นคดี บางคนเกษียณไปแล้วยังไม่ได้เงินรางวัล ขอให้มีการแบ่งจ่าย 30% เมื่อมีการจับกุม ส่วนอีก 70% จ่ายตอนคดีจบสิ้น เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ถือเป็นจุดมุ่งหมายหลักในการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้สิ้นซาก

เหลิมดับเครื่องชนทักษิณ

ที่บ้านริมคลอง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงเปิดใจภายหลังนายวัน อยู่บำรุง อดีต สส.กทม. พรรคเพื่อไทย  สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ว่าอยากให้พรรคเพื่อไทยได้ไล่ตนออกเร็วๆ การเมืองจะได้สนุก แค่ตนไปเยี่ยม พล.ต.ท.คำรณวิทย์แล้วถูกไล่ออกก็ให้มันรู้ไป

ผู้สื่อข่าวถามถึงท่าทีพรรคเพื่อไทยจะไม่ขับออกจากพรรคนั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า "นั่นคือความทุกข์ของผม ที่เขาไม่ขับ ท่าทีของผมในสภาคงต้องเปลี่ยนล้านเปอร์เซ็นต์ แต่เอาอย่างไรบอกไปไม่สนุก ต้องใจเย็นๆ"

 เมื่อถามว่า หลังจากนี้หากมีประเด็นอะไรแสดงว่าจะอภิปรายพรรครัฐบาลใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า "นี่รู้ใจได้อย่างไร แต่การอภิปรายก็แล้วแต่สถานการณ์​ แล้วหากใครจะออกไปวิจารณ์ก็ให้เอาพวกบิ๊กๆ ดีเบตกัน ว่าคนจะฟังใครมากกว่ากัน จิตใจผมสะอาดไม่เคยชั่ว ไม่เคยสร้างตัวเองให้ร่ำรวยในทางการเมือง ผมเคยสร้างมนุษย์บางคนจากที่ไม่มีอะไร จนร่ำรวยๆ  ผมไม่อยากบอกชื่อ แต่ทุกคนคงรู้”

เมื่อถามย้ำว่า บทบาทที่จะอภิปรายรัฐบาลในสัปดาห์หน้าเลยหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ต้องใจเย็นๆ ออกแล้วต้องน็อก ออกแล้วต้องมีลำหักลำโค่น ออกแล้วต้องจี๊ดจ๊าด ไม่ใช่อภิปรายกันแบบทุกวันนี้ ทั้งนี้ยังไม่พูดว่าตนเข้าพรรคพลังประชารัฐ เพราะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐยังไม่อนุญาต

ส่วนจะวางตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า อย่าใช้คำว่าฝ่ายค้านอิสระเลย ใช้คำว่าเฉลิมอิสระดีกว่า ตนตรงไปตรงมา ไม่ใช่ป่วยแล้วบอกไม่ป่วย ไม่ป่วยแล้วแกล้งป่วย

ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวถึงความสัมพันธ์กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ยังถือว่าดีหรือไม่ว่า  "ชื่อยังไม่อยากได้ยิน ไม่มีแตกหัก เขาจะมาแคร์อะไรผม แต่พร้อมดีเบต ซึ่งตอนที่อยู่ต่างประเทศก็คุยกันตลอด ไม่คุยกันก็ตอนที่กลับมา และผมไม่อยากเปิดประตูความสัมพันธ์ หากจะพูดว่าใครมีบุญคุณต่อกัน ไม่มีใครรู้ แต่ผมรู้ ฟ้าดินรู้ ใครมีบุญคุณกับใคร"

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนที่พร้อมจะดีเบตมีแค่นายทักษิณใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า น่าจะเป็นอย่างนั้น ให้เกียรติอดีตรองนายกฯ บ้างสิ ไม่เช่นนั้นใครจะรู้ประวัติเดิมของกันและกัน นอกจากตนใครจะรู้ว่านายทักษิณเคยไปนั่งที่ อสมท ไปเช่าเวลา ใครเป็นคนอนุมัติบริษัทไอบีซี เคเบิลทีวี ให้นายทักษิณ ที่พูดไม่ได้เพื่อเอาบุญคุณ แต่ถ้ามีการดีเบตจะสนุก

ส่วนมองโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะสำเร็จหรือไม่นั้น ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า ไม่สำเร็จ และต่อไปอาจมีการสอบสวนทางคดีเรื่องนี้ด้วย ที่ผ่านมาตอนที่นายทักษิณอยู่เมืองนอก ตนทำคดีให้ 7 คดี ถ้าใครพูดเท็จให้วิบัติ

เมื่อถามว่า ประเมินสถานการณ์การเมืองจากนี้รัฐบาลจะเป็นอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า  เจ๊ง ฟันธง อยู่ไม่ได้ เพราะพกปืนคนละกระบอกอยู่ข้างหลังแต่เป็นปืนพลาสติก เมื่อถามย้ำว่าหมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลพกปืนใช่หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิมกล่าวว่า “รอคนพลาดไง” ส่วนรัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น ชาติหน้าบ่ายๆ เพราะกลุ่มคณะการเมืองรวย แต่ประชาชนยากจน ปราบยาก็ไม่ประสีประสา

ชม 'ปธ.สว.-2 รอง' เหมาะสม

วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า นายมงคล สุระสัจจะ เป็นอดีตอธิบดีกรมการปกครอง และจะได้เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่เกิดการยุบสภาก่อน ที่ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งตนก็ว่าเหมาะสม และก็ดีใจ เพราะตนรู้จักท่าน เพราะเป็นลูกน้องเก่าของบิดาคือ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี

 “ผมก็ต้องดีใจ กระทรวงมหาดไทยก็มีความภาคภูมิใจ รวมถึง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มีความเชี่ยวชาญ มีความชำนาญ รู้อย่างละเอียดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีกับประเทศ ที่เราได้บุคคลหลากหลาย ขณะที่นายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ได้รับเลือกเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่  2 มีประสบการณ์มากมาย ในฐานะที่ติดตาม เพราะเราทำหน้าที่รัฐบาลและเป็น สส.ด้วย ซึ่งต้องทำงานด้านนิติบัญญัติร่วมกัน ทั้ง สว.และ สส.มีความสัมพันธ์ที่ดี ความเข้าใจที่ดี มีความปรารถนาดีต่อกัน ใครได้ประโยชน์ ส่วนร่วมได้ประโยชน์ คือสิ่งที่เราต้องทำ” นายอนุทินระบุ

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดยนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง สส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย และร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาในทำนองเดียวกันอีก 2 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยนายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ น.ส.ทิสรัตน์ เลาหพล สส.กทม. พรรคก้าวไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของ สส. ทั้งในส่วนของพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย มีความเห็นไปในทางเดียวกัน คือ สนับสนุนให้รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยมีสาระเพื่อต้องการคืนอำนาจให้กับ กรรมาธิการ ในการทำงานตรวจสอบประเด็นความไม่โปร่งใสที่เกิดจากการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งจากฝ่ายบริหาร รัฐมนตรี และข้าราชการ หลังจากที่อำนาจเรียกบุคคลหรือเอกสารมาตรวจสอบใน กมธ.จากข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐตามอำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 17/2563 เมื่อ 7 ตุลาคม 2563 มีคำวินิจฉัยว่ามีความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 เนื่องจากกำหนดบทลงโทษทางอาญานั้น ถือเป็นบทบัญญัติที่ขัดกับมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เป็นปัญหาต่อการทำงาน เพราะไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่กรรมาธิการเชิญให้มาประชุมหรือชี้แจงรายละเอียด 

ภายหลังการอภิปรายแล้วเสร็จ ที่ประชุมได้ลงมติรวมกันในคราวเดียว โดยมีมติเอกฉันท์ 421 เสียง รับหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และได้ตั้ง กมธ. 31 คนพิจารณาเนื้อหา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง