สธ.ยันกัญชาทำตามรบ. ฮึ่มปปส.พลิ้วยื่นฟ้องแน่

ปลัด สธ.เผยมี 4 ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ หากมีข้อสั่งการต้องหารืออีกครั้ง โยนถามรายละเอียดร่าง สธ.จาก “หมอทวีศิลป์” ว่ายังเหมือนเดิมหรือไม่ ด้าน “หมอสมิทธิ์” ตามติด!  จับตาบอร์ด ป.ป.ส. ขู่ฟ้องศาลปกครอง ย้ำกัญชาต้องเป็นยาเสพติด

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เรียกนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าพูดคุยก่อนการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เพื่อหารือถึงปัญหาการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดว่า ตามข่าว เป็นการพูดคุย 3 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการ และขณะนี้ก็มีร่างกฎหมายอยู่ในสภาหลายฉบับ จึงต้องทำให้ชัดเจนว่าจะยึดตามหลักการกฎหมายกัญชา และเรื่องความเห็นต่าง จะทำความเข้าใจกันอย่างไร

ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อมีการปรับเปลี่ยน จะมีผลกระทบกับท่าทีพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ รองนายกฯ ยืนยันว่า ไม่มี ซึ่งขณะนี้ให้ภาคส่วนต่างๆ  ไปหารือกัน ต้องรอดูผลสรุปว่าจะออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้มีการหารือกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เมื่อถามว่า ก่อนหน้านี้นายกฯ ระบุว่าการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดเป็นเรื่องของประชาชน แต่การกลับมาใช้ พ.ร.บ.มาควบคุม จะทำให้ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ นายภูมิธรรมมองว่า ไม่ใช่เรื่องการเมือง ส่วนที่นายกฯ  พูดก็ไม่ทราบว่าในรายละเอียดขณะนี้ปฏิบัติไปอย่างไร จึงไม่ควรไปคาดการณ์ ขอรอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหารือกันก่อน เพราะขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด โดยรับฟังความเห็นของประชาชน เพราะทุกฝ่ายมีเหตุผล

ส่วนจะเสนอเป็นร่างของรัฐบาลหรือ สส.ออกมาเป็น พ.ร.บ.นั้น นายภูมิธรรมระบุว่า ไม่ทราบ ต้องรอว่าจะมีร่างใดเข้ามาบ้าง แต่เท่าที่ทราบมีร่างค้างอยู่ในสภาหลายร่าง ส่วนจะต้องนำเรื่องนี้ เข้าที่ประชุม ป.ป.ส.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ต้องถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ทุกอย่างต้องรอเคลียร์ตามกระบวนการ มีได้หลายทาง แต่ต้องทำให้เร็วที่สุด ซึ่งต้องดูความเห็นและปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง

ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาว่า  เป็นไปตามนโยบาย ซึ่งนายสมศักดิ์ก็พูดชัดเจนมานานแล้วว่าต้องออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากการออก พ.ร.บ.ต้องใช้เวลา ซึ่งขณะนี้ก็มีร่าง พ.ร.บ.จ่อเข้าสู่การพิจารณา 4 ฉบับ จากหลายคณะ รวมถึงฉบับกระทรวงสาธารณสุข หากจะเอามาผนวกกัน ก็ต้องอาศัยกลไกของภาครัฐและสภาจัดการต่อไป เตรียมไว้พร้อมทุกอย่าง ย้ำว่าทุกอย่างมีขั้นตอน ทั้งนี้หากมีข้อสั่งการอะไรก็จะมีการหารือกันอีกครั้ง เป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

 “ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นไปตามที่ รมว.สาธารณสุขกล่าวไว้ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2567 ว่าที่ต้องมีประกาศออกมาเพื่อให้มีการควบคุมกำกับ แต่ถ้ามีการออกกฎหมายที่มีศักดิ์ใหญ่กว่า ในส่วนของประกาศที่เป็นกฎหมายรองกว่าก็จะหมดสภาพไป ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยหลักการตรงกันคือ กัญชาไว้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เศรษฐกิจ  ไม่ส่งเสริมหรือห้ามสันทนาการ”

นพ.โอภาสกล่าวว่า ฉบับของกระทรวงเป็นฉบับเดิมหรือมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่นั้น ต้องถามทาง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะที่เป็นหน่วยงานยกร่าง เข้าใจว่าส่งไปที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าตอนนี้อยู่ตรงจุดใด

ด้าน ผศ.นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย และหนึ่งในเครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด กล่าวว่า จากการติดตามจากข่าว ตอนนี้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ยังไม่ได้ตัดทิ้งร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เพิ่งส่งเข้าไปแต่อย่างใด ซึ่งทางเราก็รอดูอยู่ หากไม่ตัดทิ้งเราก็ไม่ดำเนินการสิ่งใด  แต่หากมีการตัดทิ้งร่างประกาศดังกล่าวออก ตนก็จะเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครอง เหมือนที่ก่อนหน้านี้ตนเคยฟ้องศาลปกครองเพื่อพิจารณาเพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ที่ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งตอนนั้นศาลไม่ได้รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่าตนไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แต่ตอนนี้มีผู้เสียหายเกิดขึ้นแล้ว และตนได้รวบรวมผู้เสียหายไว้แล้ว ดังนั้นหาก ป.ป.ส.ตัดร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขออก ตนก็จะพาผู้เสียหายไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด

ขณะที่ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์ว่า การที่นายกฯ  มอบนโยบายให้ออก พ.ร.บ.ควบคุมกัญชานั้น  ส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อสู้ระหว่างข้อมูลของภาคประชาชนกับข้อมูลของส่วนภาครัฐ และส่วนหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องกัญชาก็ขึ้นอยู่กับนโยบายภาคการเมือง เพราะอำนาจในการตัดสินใจล้วนอยู่ใน ครม.ทั้งสิ้น อำนาจการต่อรองทางการเมืองและการเจรจาจึงมีบทบาทสำคัญในการตัดสินเรื่องนี้

เมื่อถามว่า ในวันนี้มีความชัดเจนเรื่องสถานะของกัญชาอย่างไร นายปานเทพกล่าวว่า  คิดว่าถ้าจะเป็นยาเสพติดก็คงเป็นแล้ว เพราะกำหนดการประชุมของบอร์ด ป.ป.ส. คือวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่กลับถูกเลื่อนประชุมออกไป และการที่นายกฯ บอกว่าให้ออกเป็น พ.ร.บ.  ความหมายคือต้องไม่เอาเป็นยาเสพติด มันถึงจะออกเป็น พ.ร.บ.ได้ ก็จะเหมือนกับพืชกระท่อม ที่ถอดออกจากยาเสพติดและตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ. ดังนั้น ภายใต้หลักการนี้ จะออกเป็น พ.ร.บ.ได้ก็ต่อเมื่อไม่เป็นยาเสพติด เพราะถ้าเป็นยาเสพติด ก็ไม่ต้องออกเป็น พ.ร.บ. เฉพาะใช้แค่ พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ก็ได้แล้ว

นายปานเทพกล่าวว่า จากที่ได้ดูร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ทั้ง 4 ฉบับแล้ว ก็มีความเห็นว่าแต่ละฉบับมีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่มีร่างหนึ่งที่ผ่านการถกเถียงมาในที่ประชุมสภาฯ เมื่อสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี นั่นก็คือ ร่างฉบับของพรรคภูมิใจไทย ซึ่งผ่านมาครึ่งทางเข้าสู่วาระที่ 2 แล้ว ทางพรรคได้นำร่างที่ผ่านการถกเถียงมาแล้วเข้าไปเสนอต่อนายกฯ ในรอบนี้ นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งทั้งหลายได้ผ่านกระบวนการถกเถียงมารอบหนึ่งแล้ว ซึ่งมันอาจจะทำให้การพิจารณาร่างดังกล่าวเร็วขึ้นได้ ส่วนร่างของภาคประชาชนก็คล้ายๆ กัน  ก็จะทำให้การพิจารณาสามารถรวบรัดเข้ามาได้

"เราต้องเข้าใจว่าการเป็นยาเสพติดทำให้ขั้นตอนการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์  สุขภาพ และเศรษฐกิจมีความยุ่งยากอย่างมาก  เช่นแพทย์คนหนึ่งจะจ่ายยาที่อยู่นอกเหนือตำรับยาของ สธ. จะต้องกรอกข้อมูล 1 คน 47 หน้า ซึ่งหมายความว่าในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการที่จะนำมาใช้ประโยชน์และควบคุมในทางที่ผิด ก็จะต้องตราออกมาเป็น พ.ร.บ. เพื่อจัดการกับมัน ซึ่งเรื่องนี้จะทำไม่ได้ภายใต้กฎหมายยาเสพติด และทำไม่ได้กับกฎหมายที่เราประยุกต์ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะว่าบทลงโทษไม่รุนแรง" นายปานเทพกล่าว

เมื่อถามถึงขั้นตอนการส่งร่าง พ.ร.บ. กัญชาฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภา นายปานเทพกล่าวว่า เมื่อนำสู่สภาก็เข้าสู่วาระที่ 1 รับหลักการ ถ้ารับประกันทั้ง 4 ร่างก็อาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมทั้ง 4 ร่าง เพื่อพิจารณาพร้อมกัน  แต่ในครั้งนี้มีร่างในภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ก็จะต้องเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนมากขึ้นด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มที่เสนอร่างเข้าไปก็ต้องส่งตัวแทนเข้าไป ก็จะเป็นสัดส่วนของ สส. บวกกับภาคประชาชนอีกครึ่งหนึ่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'บิ๊กอ้วน' ชี้ 'สนธิ' แค่หนึ่งเสียงการบริหารประเทศไม่ควรโฟกัสแค่คนคนเดียว!

'ภูมิธรรม' ยังไม่เห็นข้อเรียกร้อง 'สนธิ' บอกเป็นแค่ความเห็นหนึ่งต้องรับฟังทุกฝ่าย เปรียบเหมือนมองปี๊บหนึ่งใบ ต้องมองให้รอบด้าน ไม่หมิ่นประมาทม็อบจุดติดหรือไม่