พน.เร่งกม.ใหม่ ยุบกองทุนน้ำมัน ตั้งบอร์ดคุมเอง

"พีระพันธุ์" ย้ำตรึงค่าไฟ-น้ำมันลดภาระ ปชช. ไม่ได้โยนภาระให้ ปตท.-กฟผ. จ่อผุดกฎหมายใหม่ ปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ  โละการเก็บภาษีน้ำมันซ้ำซ้อน ตั้งคณะทำงานเจรจาคลัง มั่นใจทันใช้ภายในปีนี้แน่

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังงานแถลงโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ว่ากระทรวงพลังงานมีมาตรการดูแลราคาพลังงานทั้งการตรึงค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2567 และตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 33 บาท เดือน ส.ค.-ต.ค.67 โดยเป็นมาตรการเพื่อดูแลค่าครองชีพให้กับประชาชน ซึ่งยืนยันว่าไม่กระทบกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะไม่ใช่การรับภาระหนี้แทน แต่เป็นการชะลอหนี้ให้กับประชาชน โดยทั้ง 2 หน่วยงานต้องการช่วยเหลือประชาชนเช่นกัน

"ที่ผ่านมาต้องขอบคุณ ปตท. กฟผ. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ซึ่งผมมีเจตนาต้องการที่จะให้เดินหน้าได้ทุกหน่วยงาน โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อน การตรึงราคาดังกล่าวไม่ใช่จะมอบภาระให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เพราะในส่วนของ กฟผ. ยังจะได้รับเงินคืนบางส่วน แต่จะยืดเวลาออกไปในการรับเงินไปชำระหนี้ ผมมองว่าทั้งหมดเป็นหน่วยงานของรัฐ ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะรัฐยังเข้าไปดูแลได้ แต่ประชาชนไม่มีใครดูแล จะต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้เหมือนกัน โดยข้อกำหนดค่าไฟฟ้าทุกอย่างยังเหมือนเดิม ขณะที่การดูแลดีเซลจะให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าดูแลเดือนละประมาณ 2,000 ล้านบาท" นายพีระพันธุ์ระบุ

รองนายกฯ และ รมว.พลังงานกล่าวว่า ปัญหาโครงสร้างราคาพลังงานของไทย เกิดจากกฎหมายที่กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ กฎหมายที่มีอยู่อย่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง  พ.ศ.2562 ไม่เพียงพอในการบริหารราคาน้ำมันที่เป็นธรรมให้ประชาชน อาทิ ประเด็นภาษีที่ประชาชนโดนเรียกเก็บซ้ำซ้อน ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีท้องถิ่น ขณะที่เนื้อน้ำมันราคาต้นทุนจริงอยู่ที่ระดับ 21 บาทต่อลิตรเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงร่างกฎหมายฉบับใหม่เพื่อเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ ปัจจุบันร่างกฎหมายเสร็จแล้ว ต่อไปต้องให้คณะทำงานกฎหมายและคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างให้เรียบร้อย และคาดว่าจะสามารถบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ โดยกฎหมายฉบับนี้จะเข้ามาแทน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะถูกยุบเข้ามารวมในข้อกฎหมาย

โดยก่อนหน้าที่จะมีการออก พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กระทรวงพลังงานจะมีคณะทำงานดูแลกำหนดเพดานภาษีน้ำมันและดูแลการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันได้ถูกตัดไป ทำให้กระทรวงพลังงานคงเหลือเพียงอำนาจดูแลกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเท่านั้น ดังนั้นกฎหมายใหม่ที่จะออกมาใช้นั้น จะดึงอำนาจในการกำหนดเพดานภาษีน้ำมันกลับคืนมา โดยจะเสนอแต่งการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา มีรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานเป็นประธาน เพื่อกำหนดเพดานภาษีน้ำมัน โดยคลังยังเป็นผู้จัดเก็บภาษีน้ำมันสรรพสามิตอยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ไม่ให้เก็บภาษีเกินเพดานที่กำหนด

"ยืนยันกฎหมายบริหารโครงสร้างราคาน้ำมันฉบับนี้ จะมีความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วน และไม่กระทบต่อการค้าน้ำมันเสรี ขณะเดียวกันจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง โดยจะมีการหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อสรุปด้านภาษี ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายฉบับใหม่ต่อไป"  นายพีระพันธุ์ระบุ

ด้านนายคงกระพัน อินทรแจ้ง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.พร้อมดูแลประชาชนด้วยการชะลอค่าไฟเชื้อเพลิงที่รับภาระงวดปลายปี 2566 ยืนยันไม่กระทบฐานะการเงิน ตลอดจนผลประกอบการปีนี้ อย่างไรก็ตาม ในการดูแลค่าไฟครั้งนี้ วงเงินดูแลประชาชนส่วนใหญ่ทาง กฟผ.เป็นผู้รับภาระ

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าการทบทวนธุรกิจของ ปตท. หรือ revisit คาดจะมีความชัดเจนเดือน ส.ค.นี้ ตามที่ได้ประกาศไว้  โดยจะมีการเสนอแผนทั้งหมดเข้าสู่คณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. ภายในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนจะมีการเพิ่มหรือยุบธุรกิจส่วนใดนั้น ขอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ธนกร' ยกนิ้วหนุน 'เศรษฐา-พีระพันธุ์' สานต่อลุงตู่ตรึง 'ค่าไฟ-น้ำมัน'

'ธนกร' หนุน 'นายกฯ-พีระพันธุ์' คงมาตรการตรึงค่าไฟ-ดีเซล ช่วยกลุ่มเปราะบางและปชช.ต่อเนื่อง ย้ำ รทสช.ร่วมเดินหน้า พยุงค่าพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทยได้ดีช่วงวิกฤต