ชง‘คางดำ’วาระแห่งชาติ

"ธรรมนัส" โยนรัฐบาลยก "ปลาหมอคางดำ" อาละวาดเป็นวาระแห่งชาติ มัดมือ "นายกฯ" คุมหัวโต๊ะ คกก.เร่งสางปัญหา พร้อมรับข้อเสนอสมาคมประมงสกัดลามระบาด ขณะที่ "ก้าวไกล" ตามจี้ประกาศเขตภัยพิบัติ 16 จังหวัด ฟาดหนัก "เศรษฐา" เจียดงบประมาณให้เท่ากำจัดปลวกสางปัญหาใหญ่ อัดอย่ามัวแต่กั๊กงบกลางไว้ถลุงดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว จับตาสัปดาห์หน้าเปิดเมนูเด็ด ครม.เสิร์ฟเอเลี่ยนสปีชีส์

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร  จ.สมุทรสาคร ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนสมาคมการประมง 16 จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์  สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ และตัวแทน สส.จากพรรคก้าวไกล จังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมพูดคุยด้วย 

โดย ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติ ที่ปล่อยให้มีสิ่งทำลายสัตว์น้ำ ทำให้เกิดปัญหาแก่ชาวประมง ด้านนายกรัฐมนตรีจึงได้กำชับกระทรวงเกษตรฯ เรื่องของการปราบและการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ไม่ใช่เพิ่งเริ่มทำ แต่ทำมาตั้งแต่สมัยที่ตนเป็นรัฐมนตรีใหม่ๆ แต่มาตรการอาจจะไม่ได้ผลตามที่คาดไว้ด้วยหลายปัจจัย เพราะปลาหมอคางดำแพร่ระบาดไว เป็นปลาที่มีความอดทนสูง อยู่ได้ทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด และโคลน ซึ่งถือเป็นเรื่องวิกฤต

"ขณะนี้เราประกาศจับตายปลาหมอคางดำ ซึ่งมีบุคคลหัวใสซื้อปลาหมอในราคาที่ถูกเพื่อนำมาขายต่อ ขออย่าทำแบบนั้นเด็ดขาด เบื้องต้นมอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประชุมกับผู้บริหารภายในกรมประมง ห้ามให้พี่น้องประชาชนเพาะเพื่อขาย" ร.อ.ธรรมนัสระบุ

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึง 5 มาตรการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำจะได้ผลหรือไม่นั้น ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า ทุกอย่างต้องหาทางออกร่วมกัน พร้อมกับระมัดระวังถึงผลกระทบ เช่น การเกิดสายพันธุ์เอเลี่ยนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ได้ให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนถึงที่มาที่ไปของการแพร่ระบาด โดยเมื่อได้ข้อสรุปจะมีการนำเสนอต่อไป เพราะเป็นเรื่องหมิ่นเหม่ที่จะถูกฟ้องร้องได้

  ร.อ.ธรรมนัสกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ตามประกาศกรมประมง เรื่อง ประชาสัมพันธ์ห้ามเพาะเลี้ยงปลาหมอคางดำ ลงวันที่ 19  กรกฎาคม 2567 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อย่ากั๊กงบฯ อุ้มดิจิทัล

ด้านนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้องประกาศเขตภัยพิบัติทั้ง 16 จังหวัด  ยกตัวอย่างในเขตบางขุนเทียนมีการระบาดมากกว่า 800 บ่อแล้ว รัฐบาลต้องช่วยเหลือเยียวยาเพื่อไม่ให้เขาเปลี่ยนอาชีพ เพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระในการลงทุนใหม่  โดยสิ่งที่กังวลคือ งบประมาณ 50 ล้านบาทจากการยางแห่งประเทศไทย ในการรับซื้อปลาหมอคางดำ โดยจังหวัดสมุทรสาครตั้งเป้าไว้ว่าจะรับซื้อ 2 แสนกิโลกรัมภายในสองเดือน เท่ากับว่างบประมาณในการรับซื้อใช้ได้เพียงจังหวัดหรือสองจังหวัดก็หมดแล้ว

นายณัฐชาระบุว่า นายกรัฐมนตรีบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องแก้ไขปัญหา แต่ให้งบประมาณเท่ากับงบกำจัดปลวกของกระทรวง ขออนุญาตท่านรัฐมนตรีพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตให้ได้ ได้เพียงพูดและวางแผน แต่ไปไม่ถึง การรับซื้อปลาหมอคางดำจากชาวบ้านนั้น  ลำพังงบประมาณ 50 ล้านบาท กยท.ไม่น่าเพียงพอเยียวยาได้ครบทุกจังหวัด ประกาศไปพล่อยๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้จะนำงบฯ ที่ไหนมาใส่ระบบ

"จึงควรเร่งจัดสรรงบกลางมาอุดรอยรั่วในส่วนนี้ ไม่ใช่แต่จะกั๊กงบกลางเอาไว้ถลุงใส่เรือธงดิจิทัลวอลเล็ตเพียงอย่างเดียว ตอนนี้เกษตรกรลำบากจะแย่อยู่แล้ว นายเศรษฐาต้องจริงใจกว่านี้ และนี่คือหนึ่งภาพสะท้อนที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และพรรค ก.ก.เคยเตือนมาตลอด แต่รัฐบาลไม่ยอมฟังว่าควรจะกันงบกลางไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเฉพาะหน้าด้วย ไม่งั้นคนที่ตกที่นั่งลำบากคือชาวบ้านตาดำๆ" นายณัฐชาระบุ

เข้าครม.วาระแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ได้รับข้อเสนอจากสมาคมใน 9 มาตรการ อาทิ การกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ การผ่อนผันเครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพในการใช้จับปลาหมอคางดำ การจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนสนับสนุนการกำจัดปลาหมอคางดำให้ชาวประมง และการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในแต่ละจังหวัด เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบทั้ง 9 มาตรการ และได้มอบหมายกรมประมงนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยได้มอบหมายนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการขับเคลื่อนมาตรการต่างๆ พร้อมนำเสนอเข้า ครม.เพื่อเสนอเป็นวาระแห่งชาติต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงได้มีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วนผ่าน 5 มาตรการสำคัญ คือ 1.การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด 2.การกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง 3.การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์ 4.การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชน และ 5.การสร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ

รับซื้อพื้นที่ระบาด

นอกจากนี้ ยังบูรณาการร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน ในการนำปลาหมอคางดำที่จับได้ไปผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และประสานความร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดตั้งจุดรับซื้อปลาหมอคางดำในพื้นที่ระบาดทุกแห่ง ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้รวบรวมแพปลาที่ขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการด้านการประมง (ทบ.2) กับกรมประมง ในพื้นที่ที่มีการระบาด 14 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี  ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมทั้งสิ้น 49 จุด โดยการันตีราคารับซื้อที่กิโลกรัมละ 15 บาท ก่อนรวบรวมปลาหมอคางดำไปให้สถานีพัฒนาที่ดินแต่ละพื้นที่ผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ เพื่อส่งมอบให้ กยท.นำไปแจกจ่ายเกษตรกรในโครงการแปลงใหญ่ เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่สวนยางกว่า 200,000 ไร่ โดยจะเริ่มเปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดที่มีรายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นที่แรกและมากที่สุด กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมงจึงได้มีการนำร่องจัดตั้งจุดรับซื้อขึ้นทั้งหมด 5 จุด

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์หลังจากประชุมร่วมกับหน่วยงานซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วน โดยเบื้องต้นจะเสนอรัฐบาลให้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

 “มีนายกฯ เป็นประธาน โดยที่ผมและ รมช.เป็นรองประธาน คณะกรรมการจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย และกลาโหม ร่วมกับภาคเอกชนและ ภาคประชาชน เพื่อจะออกประกาศสำคัญมอบให้คณะประมงแต่ละจังหวัดนำไปขับเคลื่อน ทั้งเรื่องเรือและอุปกรณ์ในการล่าที่แต่ละจังหวัดต้องการ” ร.อ.ธรรมนัสระบุ

ร.อ.ธรรมนัสระบุว่า มาตรการรับซื้อนั้น กยท.ประสานกับประมงแต่ละจังหวัดตั้งจุดรับซื้อใน กก.ละ 15 บาท และมีค่าดำเนินการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก กก.ละ 5 บาท เท่ากับ กยท.จะใช้ 20 บาทต่อ กก.ในการแก้ไขปัญหาตรงนี้ ส่วนงบฯ แก้ไขปัญหาจะเพียงพอหรือไม่นั้น ก็มีการเสนอในที่ประชุมว่า เมื่อประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติแล้ว รัฐบาลควรพิจารณาประกาศเป็นเขตภัยพิบัติหรือไม่ เพื่อที่จะได้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

เสิร์ฟเอเลี่ยนสปีชีส์ ครม.

 “โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้ประมงจังหวัดไปหาข้อมูล  และอธิบดีกรมประมงจะประสานไปยังกรมบัญชีกลางเพื่อหารือว่า สามารถทำได้หรือไม่ในเรื่องของงบประมาณการเยียวยา มีกฎหมายรองรับหรือไม่ ส่วนนักล่าปลาหมอคางดำ ก็จะให้มีการขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน เป็นไปตามกรอบระเบียบ โดยได้มอบหมายให้ รมช.เกษตรฯ รับผิดชอบในเรื่องนี้ พรุ่งนี้จะมีการนำเสนอรายงานการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในที่ประชุม ครม.อีกด้วย”  ร.อ.ธรรมนัสระบุ

รมว.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า เราควรมีการถอดบทเรียนจากประเทศที่เคยมีการแพร่ระบาด อย่างสหรัฐอเมริกาที่ใช้สารเคมี แต่บ้านเราทำไม่ได้ หรือการใช้ไฟฟ้าก็ต้องมาคุยในรายละเอียดกัน เพราะบ้านเราเป็นเรื่องละเอียดอ่อน รวมถึงกรณีเรื่องเขตอภัยทาน ซึ่งจะให้กรมประมงประกาศที่จะสามารถล่าได้ทุกที่

ร.อ.ธรรมนัสระบุด้วยว่า ยืนยันจะเดินหน้าปล่อยปลากะพงขาวให้เป็นปลานักล่าต่อไป แม้ว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนการชอร์ตไฟฟ้าขอให้เป็นทางเลือกสุดท้าย

โดยก่อนขึ้นรถกลับ ร.อ.ธรรมนัสระบุด้วยว่า ตนเตรียมที่จะพูดคุยกับเชฟชุมพล แจ้งไพร เพื่อผลักดันปลาหมอคางดำให้เป็นเมนูปลาร้า ซอฟต์พาวเวอร์คนอีสาน เพื่อสร้างมูลค่า และมีแนวคิดที่จะนำเมนูที่ทำจากปลาหมอคางดำ ไปให้ที่ประชุม ครม.ได้ลิ้มลองรสชาติ ซึ่งคาดว่าจะเป็นประมาณสัปดาห์หน้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง