จับตา 23 ก.ค.เคาะประมุขสภาสูง บ้านใหญ่บุรีรัมย์กินเรียบ ยืนตามโผเดิม "มงคล" นั่งประธานวุฒิ "บิ๊กเกรียง-บุญส่ง" รองประธาน "สว.สีน้ำเงิน" หลายคนเริ่มงอแงรายชื่อ ผู้ใหญ่จัดเก้าอี้ประธาน กมธ.ปลอบใจแทน เตรียมวิปไว้ 2 ชุดเช็กรายชื่อ "อังคณา" ชี้หากเป็นไปตามโผก็แค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ เพราะเป็นอดีตข้าราชการบำนาญทั้งหมด "อนุสรณ์" โผล่สอน ชี้ต้องเร่งแสดงฝีมือแก้ไข รธน.ให้กระบวนการได้มาซึ่ง สว.ยึดโยงประชาชน
ในวันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 มีระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เวลา 09.30 น. ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกของ 200 สว.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศรายชื่อและได้แสดงตัวตนแล้ว โดยวาระในการประชุมจะประกอบด้วย 1.เรื่องที่ประธานจะแจ้งต่อที่ประชุม คือรับทราบประกาศ กกต.เรื่องผลการเลือก สว. และรับทราบประกาศ กกต.เรื่องผลการเลือก สว.บัญชีสำรอง ก่อนที่ สว.จะกล่าวปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2.เลือกประธานวุฒิสภา และ 3.เลือกรองประธานวุฒิสภา โดยคาดว่า พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี สว.ที่มีความอาวุโสสูงที่สุดจะทำหน้าที่ประธาน
สำหรับหลักเกณฑ์ตามข้อบังคับการประชุมนั้น การเสนอชื่อตำแหน่งใดๆ ต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 10 คน และต้องแสดงวิสัยทัศน์ โดยการเลือกประธาน สว. กรณีเสนอเพียงชื่อเดียวให้ถือว่าผู้นั้นได้รับเลือก แต่หากเสนอ 2 ชื่อ ให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้าได้คะแนนเท่ากันให้เลือกใหม่อีกครั้ง และถ้าได้คะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก ส่วนกรณีเสนอมากกว่า 2 ชื่อ ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมเป็นผู้ได้รับเลือก แต่หากคะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำชื่อผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 ลำดับมาให้สมาชิกลงคะแนนใหม่ ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้าคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก
ทั้งนี้ ถ้ามีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรกหนึ่งคน และมีผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่สองเกินกว่าหนึ่งคน ให้นำชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับแรกและลำดับที่สองมาให้สมาชิกลงคะแนนใหม่ โดยการลงคะแนนใหม่รอบสองนี้ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ได้รับเลือก แต่ถ้าคะแนนเท่ากันให้ใช้วิธีจับสลาก ส่วนการเลือกรองประธาน สว.นั้น ให้นำหลักเกณฑ์ของการเลือกประธาน สว.มาใช้บังคับโดยอนุโลม
สำหรับความเคลื่อนไหวการชิงตำแหน่งประธาน สว.นั้น แหล่งข่าวกลุ่ม สว.สายน้ำเงินส่วนใหญ่ยืนยันให้การสนับสนุนนายมงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานวุฒิสภา ส่วนตำแหน่งรองประธาน สว.คนที่ 1 จะส่ง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือบิ๊กเกรียง อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และรองประธาน สว.คนที่ 2 จะให้การสนับสนุนนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต.และอดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7
ส่วนนายนพดล อินนา สว.ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าต้องการชิงตำแหน่งรองประธาน สว.ด้วยนั้น ล่าสุดมีรายงานว่า เบื้องต้นหากไม่ได้รับการสนับสนุนเสียงจากขั้วสีน้ำเงิน ก็เป็นไปได้ยากที่จะได้ครองเก้าอี้รองประธาน สว. แต่ขณะเดียวกันมี สว.จำนวนไม่น้อยสงสัยในท่าทีของ พล.อ.เกรียงไกร ที่ก่อนหน้านี้ประกาศต้องการไปทำงานคณะกรรมาธิการการทหารและความมั่นคงมากกว่า เนื่องจากมีความถนัด แต่ในนาทีสุดท้ายกลับมีชื่อได้นั่งรองประธาน สว.คนที่ 1
ผู้สื่อข่าวรายว่า หลังได้ชื่อประธาน สว.และรองประธาน สว.แล้ว สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาจะยืนยันในมติและส่งเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งต่อไป และคาดว่าจะนัดประชุมวุฒิสภาครั้งถัดไปภายในวันที่ 30 ก.ค. ซึ่งในช่วงเวลาที่รอดังกล่าวจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการสามัญของแต่ละชุดอีกครั้งหนึ่ง โดยเบื้องต้นกลุ่มสีน้ำเงินพูดคุยกันว่า คณะ กมธ.แต่ละชุดต้องมีตัวแทน สว.ให้ครบ 4 ภาค เพื่อจะได้มีความคิดเห็นที่หลากหลายและสะท้อนปัญหาในแต่ละพื้นที่ด้วย
มีรายงานความเคลื่อนไหวของ สว.สีน้ำเงิน ที่ถือเป็น สว.กลุ่มใหญ่ที่มีสมาชิก 144-150 คน หลังเปิดเซฟเฮาส์หารือทำโผประธาน สว.และรองประธาน สว.ที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค. โดยล่าสุด สว.สีน้ำเงินได้รับการประสานจากแกนนำกลุ่มว่า ขอให้ สว.ทุกคนงดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเฉพาะห้ามพูดพาดพิง สว.กลุ่มอื่นโดยเด็ดขาด เพื่อรักษาบรรยากาศการเมืองก่อนการโหวตวันที่ 23 ก.ค.
แจกเก้าอี้ประธาน กมธ.ปลอบใจ
รายงานแจ้งอีกว่า หลังการหารือของ สว.สีน้ำเงินเสร็จสิ้นลง มี สว.สีน้ำเงินหลายคนออกไปรับประทานอาหารดื่มกาแฟตามจุดต่างๆ โดยมีบางส่วนไม่พอใจกับโผประธาน สว.และรองประธาน สว.ที่ออกมา โดยเฉพาะการจะให้ พล.อ.เกรียงไกรเป็นรองประธาน สว.คนที่ 1 และนายบุญส่งเป็นรองประธาน สว.คนที่ 2 เพราะมองว่าน่าจะมี สว.คนอื่นเหมาะสมมากกว่า
“สว.บางคนสะท้อนว่า ขนาดวันหารือกันนัดสำคัญที่โรงแรมพูลแมน พล.อ.เกรียงไกรก็ไม่ได้มาร่วมปรากฏตัว หรือพูดถึงวิสัยทัศน์ให้ สว.สีน้ำเงินทราบ ว่าหากขึ้นเป็นรองประธาน สว.จะมีแนวทางการทำงานอย่างไร มีแค่นายมงคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นประธาน สว.มาปรากฏตัวที่ รร.พูลแมนเท่านั้น” รายงานข่าวระบุ
แหล่งข่าว สว.สีน้ำเงินที่ไปร่วมหารือด้วยที่ รร.พูลแมนกล่าวว่า แม้จะเริ่มมี สว.สีน้ำเงินบางส่วนไม่พอใจกับโผการโหวตประธาน สว.และรองประธาน สว. แต่ก็ยังไม่มีใครกล้าแสดงความเห็นอะไร โดยเฉพาะในไลน์กลุ่ม สว.สีน้ำเงินเพราะเกรงจะมีปัญหา แต่ข่าว สว.สีน้ำเงินไม่พอใจโผดังกล่าวทำให้ผู้ประสานงานทราบเรื่องแล้ว และพยายามประสานไปว่าขอให้โหวตตามโผที่จะออกมาในเช้าวันอังคารที่ 23 ก.ค.ก่อน แล้วจะมีการนัดหารือกันอีกครั้ง โดย สว.คนใดที่ไม่เห็นด้วย แต่เห็นว่าตัวเองมีความเหมาะสม ทางผู้ใหญ่ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงินจะประสานไปยังบ้านใหญ่บุรีรัมย์ เพื่อขอให้พิจารณาให้ได้เป็นประธานคณะ กมธ.ชุดสำคัญของ สว.แทน เพราะด้วยจำนวนเสียงของ สว.สีน้ำเงิน ทำให้สามารถไปต่อรองโหวตเสียงเอาเก้าอี้ประธาน กมธ.ชุดสำคัญๆ มาไว้ได้เกือบหมดแน่นอน
“สว.สีน้ำเงินได้รับสัญญาณมาว่า จะมีสัญญาณสุดท้าย จากบ้านใหญ่มาตอนช่วงเช้าวันอังคารที่ 23 ก.ค.นี้ ซึ่งระดับแกนนำ สว.สีน้ำเงินได้นัดเจอกันตอน 8 โมงเช้าหน้าห้องประชุม สว.เพื่อหารือครั้งสุดท้าย โดยทีม สว.สีน้ำเงินจะแบ่งทีมประสานงานหรือวิป สว.สีน้ำเงินออกเป็น 2 ส่วน คือวิปในส่วนภาคที่จะมีแกนนำ สว.สีน้ำเงินจากแต่ละภาค คือภาคกลาง ภาคอีสาน ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก คอยเช็กชื่อ สว.สีน้ำเงินก่อนเข้าประชุม เพื่อดูว่าใครมาบ้างใครไม่มาบ้าง เนื่องจากการลงมติเป็นการลงคะแนนลับ จะไม่รู้ว่าใครลงให้ใคร จึงต้องเช็กก่อนว่า สว.สีน้ำเงินมาครบหรือไม่ เสียงหายไปหรือไม่ จากนั้นจะมีวิปที่เป็น สว.สีน้ำเงินใน 20 กลุ่มสาขาอาชีพคอยแจ้งสัญญาณสุดท้ายถึง สว.ว่าโผสุดท้ายที่จะให้โหวตมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จะเป็นตามข่าวคือ นายมงคลเป็นประธาน สว., พล.อ.เกรียงไกร และนายบุญส่งเป็นรองประธาน สว. หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงรอบสุดท้าย ซึ่ง สว.สีน้ำเงินที่ยังลุ้นเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ 2 ก็ยังหวังจะมีการพลิกโผในนาทีสุดท้ายอยู่
“บ้านใหญ่บุรีรัมย์ได้ข่าวว่า สว.สีน้ำเงินบางส่วนก็ไม่เห็นด้วยกับโผ 3 เก้าอี้ดังกล่าวที่ออกมา แต่แนวโน้มหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็คงเป็นไปตามโผ โดยตอนนี้มีการเตรียมทีมวิปไว้เรียบร้อยแล้วถึง 2 ทีม เพื่อให้คะแนนทั้ง 3 คนออกมาให้เยอะที่สุด” แหล่งข่าวเผย
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ในเย็นวันนี้ (22 ก.ค.) ยังจะมี สว.อีกหลายกลุ่มนัดหารือกันรอบสุดท้ายตามจุดต่างๆ ใน กทม. ก่อนการประชุม สว.ในวันที่ 23 ก.ค. เพื่อกำหนดท่าทีและเช็กเสียงของแต่ละคนว่าจะโหวตอย่างไร นอกจากนั้นยังพบว่า สว.บางส่วนที่เคยประกาศว่าจะลงสมัครชิงรองประธาน สว.คนที่หนึ่งและสอง ทั้งคนที่เคยเป็นข่าวและไม่เคยเป็นข่าว ต่างก็มีการเขียนคำแสดงวิสัยทัศน์เตรียมไว้แล้วเพื่อจะไปกล่าวในที่ประชุม แต่ก็มีรายงานว่าบางคนจะขอเช็กเสียงรอบสุดท้ายคืนนี้ (22 ก.ค.) ว่ามีสิทธิ์ลุ้นหรือไม่ และอาจขอรอดูผลการโหวตประธาน สว.ก่อนว่านายมงคลได้คะแนนเสียงเท่าใด โดยหากนายมงคลได้คะแนนมาก เช่นเกิน 140 เสียงขึ้นไป แสดงให้เห็นว่า สว.สีน้ำเงินแพ็กทีมมาแน่นมาก ก็ทำให้บางคนอาจถอดใจไม่ลงสมัครชิงรองประธาน สว. เพราะเชื่อว่าคงเบียดสู้แคนดิเดตจาก สว.สีน้ำเงินได้ยาก
ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร สว. กล่าวตอบกรณีเป็นแคนดิเดตจะลงชิงตำแหน่งประธาน สว.และรองประธาน สว. กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงรายชื่อแคนดิเดตอีกหรือไม่ว่า "ไม่เปลี่ยน"
ชี้โผสายสีน้ำเงินเป็นเหล้าเก่า
สำหรับกรณีที่มีกระแสว่า ก่อนหน้านี้กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่จะเสนอชื่อนายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธาน สว. คนที่ 2 ก่อนจะเปลี่ยนรายชื่อนั้น นางอังคณาระบุว่า ในฐานะที่เกาะเกี่ยวอยู่ในกลุ่มนี้มาตลอด ยังไม่เคยได้ยินว่าจะเสนอชื่อนายบุญส่ง อาจเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล ซึ่งก็ต้องเคารพกัน แต่หากเป็นการหารือกันในนามกลุ่ม ยังไม่เคยมีข้อตกลงหรือความเห็นที่ว่าเราจะเสนอนายบุญส่ง เพราะโดยส่วนตัวยังไม่เคยรู้จักนายบุญส่ง ไม่เคยได้พูดคุยด้วยเลย ซึ่งนายบุญส่งเองก็เคยให้ข่าวว่าไม่ได้ทำงานกับกลุ่มพันธุ์ใหม่
เมื่อถามถึง 3 รายชื่อของ สว.สายสีน้ำเงินที่ไม่มีสัดส่วนของผู้หญิง จะกลายเป็นการปิดโอกาสหรือไม่นั้น นางอังคณามองว่า รายชื่อ 3 คนที่พูดกัน เห็นสื่อหลายสำนักอ้างแหล่งข่าว แต่ทั้ง 3 คนก็ยังไม่มีใครออกมายืนยันเลยว่าตัวเองได้รับการเสนอชื่อ ดังนั้นรายชื่อเหล่านี้จริงหรือไม่จริง ยืนยันหรือไม่ยืนยัน ก็ไม่มีใครที่สามารถตอบได้ และในความเห็นส่วนตัว 3 รายชื่อดังกล่าว จะเห็นได้ว่าเป็นข้าราชการบำนาญทั้งหมดเลย หากย้อนกลับไปในช่วงแรกของการคัดเลือก สว. ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์และให้ความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณวุฒิ วัยวุฒิ การศึกษา ซึ่งหลายคนก็ออกมาพูดว่า สว.ชุดนี้มีความแตกต่างหลากหลาย ให้โอกาสคนธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้มากเข้ามาทำหน้าที่ได้ แต่พอเอาเข้าจริงหากเป็นไปตามรายชื่อดังกล่าว ก็น่าเสียดายว่าเราไม่มีคนธรรมดาเหล่านั้น และไม่มีผู้หญิง ที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำของฝ่ายนิติบัญญัติ
“ไม่ได้มีการประเมิน แต่ในฐานะที่เราเป็นอิสระ มาจากประชาชน เราจึงคิดว่าเราควรที่จะเสนอตัว และประกาศให้ประชาชนรู้ว่าเรามีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงาน และก็อยากให้กลุ่มที่ถูกประเมินว่าเป็นเสียงข้างมาก ออกมายืนยันด้วยว่าได้รับการเสนอชื่อ ออกมาแนะนำตัว หรือบอกว่าจะทำอะไรบ้าง เพราะไม่ค่อยได้ยินท่านที่ได้คะแนนสูงๆ ออกมาให้ความเห็นอะไรเลย” นางอังคณาตอบข้อถามที่ว่า มีการประเมินโอกาสจะได้รับตำแหน่งไว้อย่างไรบ้าง
ถามถึง สว.หลายกลุ่มที่มีการเสนอชื่อแข่งกันเอง จะกลายเป็นการสร้างความขัดแย้งหรือไม่ นางอังคณากล่าวว่า ไม่เลย เพราะหากดูจากการเลือกตั้ง ในสนามเราทุกคนก็ทำหน้าที่ของตัวเองเต็มที่ แต่สุดท้ายแม้จะไม่ได้รับเลือก หรือไม่ได้รับความไว้วางใจ เราก็ต้องกลับมาทำงานด้วยกัน ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นการแก่งแย่งชิงการเป็นผู้นำกัน หรือจะสร้างความบาดหมาง ส่วนตัวถึงแม้จะไม่ได้รับเลือก ก็ยังทำงานอย่างเต็มความสามารถ
สำหรับวิสัยทัศน์ที่จะแสดงนั้น นางอังคณาระบุว่า น่าจะเป็นแนวทางที่ตนเองเห็นว่าจะพัฒนาการทำหน้าที่ของ สว.ให้ได้เป็นที่ยอมรับ และทำงานร่วมกับประชาชนมากยิ่งขึ้น เพราะตั้งแต่การรัฐประหาร สว.มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด เวลาที่มีการโหวตอะไรสักอย่าง ก็มักจะเป็นการโหวตที่ขัดกับความรู้สึกหรือความเห็นของประชาชน แม้อาจไม่กล้าพูดเต็มปากว่าเรามาจากประชาชน เพราะประชาชนทุกคนก็ไม่ได้เลือกเรา แต่อย่างน้อยเราก็เป็นคนธรรมดาที่เสนอตัวเข้ามา และเราก็อยากเห็นการทำหน้าที่ของ สว.ที่มีความก้าวหน้ายึดโยงกับประชาชนมากขึ้น
นายชูชาติ อินสว่าง สว.อิสระ จากกลุ่มสาขาอาชีพเกษตรกร กล่าวถึงการลงมติเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาว่า เนื่องจากเป็นการลงคะแนนลับ ทำให้ตอนนี้ยังคงตอบไม่ได้ว่าจะเลือกใคร จะขอรอดูว่าจะมีใครเสนอตัวชิงประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภากันบ้าง จะตัดสินใจวันประชุมเลย ยอมรับว่าตอนนี้ยังมั่วๆ กันอยู่ แต่ที่มี สว.บางกลุ่มจะเสนอชื่อนายมงคล สุระสัจจะ, พลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ และนายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นประธานและรองประธานตามลำดับ เท่าที่ดูก็เห็นว่ามีความเหมาะสม มีทั้งคุณวุฒิ วัยวุฒิ ขณะเดียวกันอีกกลุ่มที่จะเสนอชื่อแข่ง เท่าที่เห็นก็ถือว่าก็มีความเหมาะสมเช่นกัน ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่
"ยอมรับว่าตอนนี้ที่มีข่าว สว.มีการตั้งกลุ่มแบ่งพรรคแบ่งพวก แบ่งเป็นกลุ่มอะไรต่างๆ กัน เห็นว่าหลังได้ประธานวุฒิสภาแล้ว คนที่เป็นประธานวุฒิสภามีงานเร่งด่วนเรื่องแรกๆ คือต้องทำให้ สว.ทั้งหมดเกิดความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันให้ได้ ต้องทำให้ สว.มีความเป็นเอกภาพ เพราะคำว่าสมาชิกวุฒิสภาก็คือการมีวุฒิภาวะ หาก สว.ยังมีการแบ่งกลุ่มกันเอง ยังงอแงกันแบบนี้ ใครจะมาเชื่อถือเรา สภาผู้แทนราษฎรเขาก็อาจไม่เชื่อถือเรา"
สีน้ำเงินยึด ปธ.กมธ.ยกแผง
นายชูชาติกล่าวอีกว่า หลังเสร็จสิ้นการเลือกประธานวุฒิสภา สว.ทั้งหมดก็ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่า ในเรื่องของ กมธ.สามัญของวุฒิสภาที่มี 26 คณะ แต่ว่าปัจจุบันสว.เหลือ 200 คน ก็ทำให้อาจต้องลดจำนวน กมธ.ลง อาจจะเหลือประมาณ 18 หรือ 20 คณะ ที่คงต้องใช้เวลาในการพิจารณาแก้ไขข้อบังคับการประชุมประมาณหนึ่งเดือน แต่การเลือกคนไปทำหน้าที่ประธาน กมธ.ชุดต่างๆ ต้องเปิดโอกาสให้ สว.แต่ละคนที่เข้ามาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพได้เข้าไปทำงานใน กมธ.ที่ตัวเองถนัด เช่น อย่างตนเป็นเกษตรกรทำนา ก็ถนัดด้านเกษตร เพราะมีข่าวแล้วว่าบางกลุ่มจะเอาตำแหน่งประธาน กมธ.ไปเกือบหมด
อนึ่ง ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า สว.กลุ่มสีน้ำเงินมีการทำโผประธาน กมธ.สามัญวุฒิสภาไว้เกือบหมดแล้ว โดยกลุ่ม สว.สีน้ำเงินจะใช้เสียง สว.ในกลุ่ม เมื่อส่งคนไปนั่งเป็นกรรมาธิการคณะต่างๆ แล้ว ก็จะใช้เสียงข้างมากใน กมธ.ดัน สว.ในกลุ่มทั้งหมดไปนั่งเก้าอี้ประธาน กมธ.เกือบทั้งหมดของวุฒิสภา โดยเฉพาะ กมธ.ชุดสำคัญๆ โดยบางส่วนจะให้โควตา สว.กลุ่มสีน้ำเงิน ที่ไม่พอใจที่นำโควตารองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ไปให้นายบุญส่ง น้อยโสภณ ที่ไม่ได้เป็น สว.สีน้ำเงินเข้ม รวมถึง สว.ในกลุ่ม 2-3 คนที่เสนอตัวชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แต่โผล็อกไว้ให้พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ เพื่อเป็นการลดความไม่พอใจ จนทำให้ตอนนี้ สว.ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน ไม่พอใจที่กลุ่มสีน้ำเงินจะกินรวบเก้าอี้ประธาน กมธ.เกือบทั้งหมดของวุฒิสภา
ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีการเลือกประธาน สว.และรองประธาน สว.ที่มีโผรายชื่อหลายกลุ่มออกมาว่า ต้องกลับไปถามคนออกแบบกระบวนการได้มาซึ่ง สว. ว่าผลลัพธ์ของการออกแบบกติกาแบบนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการเมืองทำให้เกิดการเมืองใหม่หรือไม่ ภาพการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วน ล็อบบี้วิ่งเต้นแย่งชิงตำแหน่ง การมีผู้มีบารมีเหนือกลุ่ม สว.ที่จะกำหนดอนาคตและทิศทางการทำงานของ สว. คือภาพการเมืองใหม่ที่คณะผู้ออกแบบกติกาต้องการให้เป็นหรือไม่ จะ สว.บ้านใหญ่สายสีใด หรือ สว.พันธุ์ใหม่ มีอะไรที่เป็นความหวังว่า การเมืองเมืองไทยได้ปฏิรูปไปสู่อนาคตที่ดีกว่าหรือไม่ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นจาก สว.ชุดใหม่คือ การเข้ามาเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด โดยเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่ง สว.แบบปัจจุบัน ที่ทำให้คนเก่งกระบวนการจัดตั้งด้วยการถอดสมการคณิตศาสตร์ได้เปรียบต้องถูกแก้ไข ทำให้เสียงของประชาชนคือเสียงที่เป็นใหญ่ ที่จะสามารถกำหนดอนาคตและทิศทางการเมืองไทยได้ด้วยมือของพวกเขาเอง
“สิ่งที่ สว.บ้านใหญ่หรือ สว.พันธุ์ใหม่ พันธุ์เก่า ต้องเร่งแสดงฝีมือคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กระบวนการได้มาซึ่ง สว.ยึดโยงกับประชาชนให้มากที่สุด” นายอนุสรณ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลุกเที่ยวเหนือ สั่งเยียวยาเพิ่ม ฟื้นพื้นที่น้ำท่วม
นายกฯ อิ๊งค์แต่งตัวรับลมหนาว ฟุ้งไทยแม้หนาวไม่มากแต่มีกิจกรรมให้ทำยาวทุกจังหวัดตั้งแต่ พ.ย.ปีนี้ถึง ม.ค.ปีหน้า
DSIชี้ไอคอนแชร์ลูกโซ่ พปชร.ลากไส้เพื่อไทย
คกก.กลั่นกรองดีเอสไอฟันคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” ผิดแชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.คอมพ์
คลังให้การบ้านธปท.หนุนศก.
“พิชัย” ฟุ้งถก "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ฉลุย ไม่ติดกรอบเงินเฟ้อ 1-3%
มติพท.ชงนิรโทษไม่รวม112
"พท." เคาะมติเห็นพ้องเสนอร่าง กม.นิรโทษกรรมประกบ หวังสร้างสมานฉันท์
ตากใบคาใจคนใต้! บี้เอาผิดปล่อยหมดอายุความ/‘อิ๊งค์’ขึงขังฟันขรก.หนีคดี
นายกฯ ทำขึงขังขอดูระเบียบยึดบำเหน็จบำนาญ ขรก.เอี่ยวคดีตากใบ
'หมอวรงค์' ให้ข้อมูล กกต. เพิ่ม 3 ประเด็นใหม่ หลักฐานมัดทักษิณครอบงำเพื่อไทย
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี เข้าให้ถ้อยคำต่อกกต.กรณียื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร