ชงเด็กเนวินขึ้นแท่น สีนํ้าเงินเคาะชื่อ‘มงคล’นั่งปธ.เจียดเก้าอี้รองฯคนที่2ให้‘บุญส่ง’

"บ้านใหญ่บุรีรัมย์" เคาะแล้ว! สว.สีน้ำเงิน 150 คน เปิดเซฟเฮาส์โรงแรมพูลแมน ได้ข้อสรุป 3 เก้าอี้สภาสูง “มงคล-สายตรงเนวิน" ผงาดประธานวุฒิฯ “บิ๊กเกรียง” เพื่อนเลิฟอนุทินรองฯ  หนึ่ง ยอมให้ “บุญส่ง” นั่งรอง ปธ.คนที่สอง ป้องครหากินรวบ มติ "สว.พันธุ์ใหม่" ส่ง "นันทนา" ลงชิง "แล-อังคณา" สู้รองประธาน "ประภาส" ขอ "สายน้ำเงิน" แบ่งเก้าอี้ให้ผู้หญิง

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) สีน้ำเงิน ก่อนการโหวตเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ในวันที่ 23 ก.ค.นี้ว่า วันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.  พบความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ เวลา 13.00 น.  สว.สีน้ำเงินจากทั่วประเทศได้เดินทางมาร่วมรับประทานอาหารที่โรงแรมพูลแมน ซอยรางน้ำ ในช่วงเที่ยง จากนั้นทั้งหมดได้ร่วมหารือกัน โดยมี สว.ประมาณ 150 คน เข้าประชุมพร้อมกับแกนนำกลุ่ม  สว.สีน้ำเงิน และมีการเก็บโทรศัพท์มือถือของ สว.ทุกคนไว้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ยอมให้นำเข้าที่ประชุมเด็ดขาด รวมถึงห้ามนำที่อัดเสียงต่างๆ เข้าในวงประชุมโดยเด็ดขาดด้วย

 แหล่งข่าวจาก สว.สีน้ำเงินที่ร่วมประชุมในวงดังกล่าวเปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีการหารือกันถึงเรื่องตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา โดยได้ข้อสรุปเรียบร้อยแล้วคือ นายมงคล สุระสัจจะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตอธิบดีกรมการปกครอง สายตรงนายเนวิน ชิดชอบ  แกนนำพรรคภูมิใจไทย เป็นประธานวุฒิสภา ตามโผ และ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ หรือบิ๊กเกรียง  อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อนร่วมรุ่น วปอ.กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1   และนายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 

 จากนั้น สว.สีน้ำเงินทั้งหมดได้ปิดการหารือในเวลา 16.00 น. และสั่งกำชับให้ สว.ทุกคนเข้าร่วมประชุมโหวตวันที่ 23 ก.ค.โดยพร้อมเพรียง ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า โรงแรมพูลแมนเป็นเซฟเฮาส์ทางการเมืองของนักการเมือง-กลุ่มการเมืองที่มีแบรนด์พรรคคือสีน้ำเงิน 

 สำหรับนายมงคล ล่าสุดเป็นประธานคณะทำงานนายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย จากพรรคภูมิใจไทย โดยเป็นมาตั้งแต่สมัยนายทรงศักดิ์เป็น รมช.มหาดไทย ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา จนมาถึงรัฐบาลปัจจุบัน แต่ช่วงใกล้เปิดรับสมัครคัดเลือก สว. นายมงคลได้ลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปลงสมัคร สว.

 ขณะที่ พล.อ.เกรียงไกร หรือบิ๊กเกรียง ก่อนหน้านี้เป็นประธานคณะที่ปรึกษานายอนุทิน รมว.มหาดไทย ผ่านสายสัมพันธ์ วปอ.คอนเนกชัน รุ่นเดียวกับนายอนุทิน โดยสาเหตุที่มีการให้ พล.อ.เกรียงไกรเป็นรองประธานวุฒิสภา คาดว่าเนื่องจาก สว.สีน้ำเงินเห็นว่านายมงคลมีความเหมาะสมกับตำแหน่งประธานมากกว่า เพราะมีอาวุโสกว่า เป็นนักรัฐศาสตร์ รวมถึงหากให้ พล.อ.เกรียงไกร เป็นประธานวุฒิสภา เกรงว่า พล.อ.เกรียงไกรไม่ถนัดเรื่องกฎหมาย ข้อบังคับการประชุม ซึ่งหากไปทำหน้าที่รองประธานรัฐสภา ตอนประชุมร่วมรัฐสภา สส.และ สว.ทั้งหมดอาจเจอปัญหาได้ โดยเฉพาะกับพวก สส.ฝ่ายค้าน ที่อาจมีปัญหาเรื่องการรับมือ จึงทำให้ดัน พล.อ.เกรียงไกรเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1

แบ่งเก้าอี้ให้ 'บุญส่ง'

 สำหรับนายบุญส่ง พบว่า สว.สีน้ำเงินและบ้านใหญ่บุรีรัมย์ไม่มีปัญหาในการสนับสนุนให้ชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เพราะเห็นว่ามีความเหมาะสม เพราะนายบุญส่งเคยเป็นอดีต กกต. และยังเป็นอดีตที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ สมัยเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 มาถึง 5 ปี จึงทำให้รู้ระบบงานของวุฒิสภาเป็นอย่างดี จึงน่าจะมาช่วยนายมงคลและ พล.อ.เกรียงไกรในการจัดระเบียบวาระการประชุม การดำเนินการประชุม และให้คำแนะนำด้านกฎหมายได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เป็นการทำให้ไม่เกิดภาพว่า สว.สีน้ำเงิน กินรวบทั้ง 3 ตำแหน่ง คือประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาอีก 2 คน ที่จะเป็นผลดีต่อ สว.สีน้ำเงินเองด้วย อีกทั้งนายบุญส่งมีข่าวว่ามีคอนเนกชันเชื่อมกับแกนนำ สว.สีน้ำเงินหลายคน จึงทำให้วงหารือ สว.สีน้ำเงินที่โรงแรมพูลแมนได้ข้อสรุปดังกล่าวออกมา

 วันเดียวกัน น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ เปิดเผยว่า กลุ่มมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะส่งลงชิงทั้ง 3 ตำแหน่ง โดยเสนอชื่อตนเองเป็นประธานวุฒิสภา นายแล ดิลกวิทยรัตน์ เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 1 และนางอังคณา นีละไพจิตร เป็นรองประธานสภาฯ คนที่ 2 ส่วนวิสัยทัศน์ที่จะนำเสนอนั้น จะเป็นวิสัยทัศน์ที่เราจะมองไปข้างหน้า และเชื่อว่าจะสื่อสารกับบรรดา สว.ที่อยู่ในสภา รวมถึงจะสื่อสารกับประชาชนที่ชมการถ่ายทอดสดอยู่ ให้มองวุฒิสภาในมิติใหม่

 “เชื่อว่าท่านที่ได้ฟังแล้ว ก็จะพบว่าวิสัยทัศน์ของกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ ที่อาสาจะไปดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของวุฒิสภานั้น จะเป็นวิสัยทัศน์ที่จะนำพาให้ภาพลักษณ์ของ สว.ยุคใหม่ เป็นภาพลักษณ์ที่เป็น สว.ของประชาชน” น.ส.นันทนาระบุ

 เมื่อถามว่า มีการพูดล็อบบี้ในการดึงกลุ่ม สว.กลุ่มอื่น อย่างกลุ่มสีน้ำเงิน เข้ามาโหวต สว.พันธุ์ใหม่ได้อย่างไร น.ส.นันทนาระบุว่า เอาเข้าจริงๆ เราไม่ทราบเลยว่ากลุ่มต่างๆ อยู่ตรงไหนอย่างไร เพราะว่าเราไม่เห็นการแสดงตัวของบรรดา สว. ที่มากันเป็นปึกเป็นแผ่น ที่พูดกันว่าเป็นสภาสีน้ำเงิน แล้วไม่เห็นว่ามีใครที่จะแสดงตัวเป็น สว.กลุ่มนี้ เราจึงไม่ทราบจริงๆ ว่าจะไปเจรจากับใคร คงจะแสดงวิสัยทัศน์ แล้วก็ให้ สว.ทั้งหลายได้ลงมติตัดสินใจกันในสภาวันนั้น ทั้งนี้เราต้องเต็มที่ เชื่อว่าวิสัยทัศน์ของเราจะนำพาให้วุฒิสภามีภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิม รวมทั้งทำให้วุฒิสภาเป็นสภาที่ประชาชนพึ่งพาได้

 นายประภาส ปิ่นตบแต่ง สว.สายประชาสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ กล่าวว่า หากเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม ผู้ได้รับการเสนอชื่อแต่ละคนจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ เชื่อว่า น.ส.นันทนาจะแสดงวิสัยทัศน์ในเชิงบวกว่าคุณสมบัติของคนที่เป็นประธานวุฒิสภาควรจะเป็นอย่างไร ส่วนจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมาชิกวุฒิสภาจะมีความเห็น อย่างไรหลังจากฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของทั้ง 3 คนแล้ว แต่เชื่อว่าคงจะมีการประนีประนอมกันกับกลุ่ม สว.สีน้ำเงิน เพราะฉะนั้นการประชุมในวันที่ 23 ก.ค. คงจะราบรื่นไม่มีอะไร และลงมติกันไป

ขอโควตาผู้หญิง

 "ผมสนใจตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2  มากกว่าว่าสายสีน้ำเงินจะลงมติกันอย่างไร ถ้าไม่ให้ สว.พันธุ์ใหม่สักตำแหน่ง เชื่อว่าสังคมและสื่อมวลชนคงจะช่วยกันตรวจสอบว่ามีคนที่มีคุณสมบัติที่ดีแล้วไม่เลือก คนที่ยกมือสนับสนุนก็ต้องรับฟังเสียงสังคม ผมคิดว่าสังคมก็เคลื่อนไปแบบนี้ จะไปพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินครั้งเดียวคงไม่เป็นอย่างนั้น" นายประภาสระบุ

 เมื่อถามว่า การแบ่งกลุ่มแบ่งก๊วนจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของ สว.มีปัญหา โดยเฉพาะการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ และการเลือกองค์กรอิสระ นายประภาสกล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนี้ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงยาก เพราะต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 คือ 67 คน ซึ่งบางมาตราอาจจะเห็นด้วย อาจจะไม่ต้องแก้ไขหรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่คิดว่ามีหลายมาตราน่าจะเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการแก้ไข อยู่ที่จุดมุ่งหมายว่าต้องการที่จะไปปฏิรูปใหม่ก็ต้องมีการตั้ง ส.ส.ร. เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ต้องยอมเสียเวลา ถ้าถามว่ายากก็ยากอยู่แล้ว ที่ผ่านมามีตั้ง 13 ร่าง ดังนั้นตนคิดว่าคงจะมีแก้การแก้ไขบางมาตรา ที่เป็นปัญหาจริงๆ  รวมทั้งการเลือก สว.ที่ผ่านมา น่าจะมีการทบทวนใหม่ แต่ไม่คงไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องให้ทำงานกันไปก่อน อาจจะเป็นช่วงปลายสมัยของ สว.ชุดนี้

 ผู้สื่อข่าวถามว่า จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอให้มีสภาเดียว นายประภาสกล่าวว่า  พรรคก้าวไกลพูดเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว เสนอได้แต่แก้ไม่ได้เหมือนเดิม ถ้ามีสภาเดียวก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่เสียงพรรคก้าวไกลมีอยู่นิดเดียว สว.ก็ถูกคุมได้แล้วจะไปแก้อย่างไร แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ มานิดหนึ่ง ทั้ง 2 ระบบ สว.ก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่หลังรัฐประหาร ผู้คนยังทนกันมาได้ แต่ก็ยังมีการเปรียบเทียบกับ สว.ชุดที่แล้ว ที่มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ก็มีการเอารัฐมนตรีมาสรรเสริญกัน ครั้งนี้อาจจะมี แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด จะมีการทำงานในเชิงตรวจสอบ ก็จะมี สว.ที่ไม่ใช่สีน้ำเงิน แม้จะไม่มาก ถ้าขยันทำงานเป็นชิ้นเป็นอันเหมือน สว.ที่มาจากการเลือกตั้งปี 40 ที่ขยันทำงานเข้มแข็ง อย่าง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ และนายจอน อึ๊งภากรณ์ แม้จะมีข้อจำกัด แต่ทำให้เห็นผลงานได้

 "เพราะฉะนั้น สว.ชุดนี้ก็ยังย่ำอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคนที่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่อยากให้ระบบการเลือกแบบนี้ได้ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนกลุ่มอาชีพ ถือว่าประสบความล้มเหลว แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นคนในสังคมก็ต้องช่วยกันตรวจสอบ รวมถึงสื่อมวลชนจับจ้องอยู่ คงทำอะไรไม่ได้มาก และไม่น่าจะถึงกับปิดประตูตีแมวหรืออยู่ในแดนสนธยา" นายประภาสระบุ

 ทางด้านนายวราวุธ ตีระนันทน์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) แกนนำกลุ่ม สว.อิสระ กล่าวว่า ล่าสุดถึงตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะเสนอใครเป็นประธานวุฒิสภา ยังไม่รู้ว่าจะสู้กันยังไง แต่สำหรับรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 คาดว่าจะมีคนลงสมัครกันหลายคน ส่วนรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ก่อนหน้านี้นายบุญส่งได้ปรารภไว้กับ สว.ด้วยกันว่าสนใจจะลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา  แต่ถึงตอนนี้ยังไม่คุยกันล่าสุดว่านายบุญส่งจะเอาอย่างไร คาดว่าวันจันทร์ที่ 22 ก.ค. คงรู้อะไรกันบ้าง

รองหนึ่งชิงกันเดือด

 “ถึงวันนี้มันยังไม่นิ่ง คงต้องรอดูวันพรุ่งนี้ แต่เท่าที่ทราบ ก็คงมีการสู้ชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กับรองคนที่ 2 แต่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 คงมีคนลงไม่เยอะ แต่รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 คงมีคนลงสมัครกันหลายคน ส่วนใหญ่จะชิงรองประธานคนที่ 1 แต่รองประธานคนที่ 2 คงไม่เยอะ เพราะส่วนมากคนอยากจะเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กันเยอะ” นายวราวุธระบุ

 เมื่อถามว่า ถึงตอนนี้ สว.อิสระยังยืนยันสนับสนุนนายบุญส่งเป็นรองประธานวุฒิสภาอยู่หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า สว.ที่มาคุยกันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ก็เห็นว่านายบุญส่งมีความเหมาะสม เพราะมีความรู้ด้านกฎหมายมาก ผ่านงานสำคัญต่างๆ ทั้งอดีตผู้พิพากษา อดีต กกต. อดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ อดีตที่ปรึกษารองประธานวุฒิสภามา 5 ปี พวกเราก็เห็นว่าหากดูเรื่องคุณสมบัติ ก็ยังไม่เห็นใครเหมาะสมเท่านายบุญส่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการคุยกับ สว.กลุ่มสีน้ำเงินก่อนวันลงมติอังคารนี้หรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีคอนแทกต์ที่จะไปคุยกับใคร  ส่วนผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะคุย มองว่าเป็นเรื่องปกติที่จะคุยกันว่าได้แค่ไหน คงมีการคุยกัน แต่เราจะไปก้าวล่วงไม่ได้ เพราะตนไม่ได้ลงสมัคร

เมื่อถามย้ำว่า หากนายบุญส่งลงสมัครชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 คิดว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ นายวราวุธกล่าวว่า ถ้าเอาเรื่องความรู้ความสามารถ ส่วนตัวตอนนี้ผมยังไม่เห็นใครที่มีคุณสมบัติผ่านงานมาเท่านายบุญส่ง คือไปถึงประธานได้เลย แต่ก็ไม่ได้ไขว่คว้าถึงตรงนั้น เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจ รู้ว่าอะไรเหมาะอะไรควร อะไรเป็นไปได้ ขนาดรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 นายบุญส่งยังไม่ลงแข่งขัน อันนี้ฟังจากที่ท่านพูด เพราะนายบุญส่งเล่าให้ฟังว่าตอนเป็นที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ ตอนเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 พบว่ารองประธานคนที่ 1 กับรองประธานคนที่ 2 ทำงานร่วมกันได้ 

 นายวราวุธกล่าวว่า ถึงตอนนี้ สว.ไม่ควรมีสี ไม่ควรมีกลุ่มมีก๊วนอะไรอีกต่อไปแล้ว อยากให้ สว.ทุกคนสมานฉันท์ ซึ่งตอนที่ สว.หารือกันเมื่อวันที่ 18 ก.ค. สว.หลายคนเห็นด้วยกับแนวทางนี้ อย่าง สว.อิสระที่มาคุยกัน เรายืนยันว่าจะไม่ตั้งป้อมไม่ทะเลาะกับใคร

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ มีข่าวว่ามี สว.ที่สนใจจะลงสมัครชิงเก้าอี้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 อาทิ นายนพดล อินนา อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย ปี 2544, นายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม อดีต สส.หนองบัวลำภู อดีตผู้สมัคร สส.พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงนายแล อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

 ขณะที่ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ได้เรียกร้องให้ สว.กลุ่มสีน้ำเงินและคนที่ต้องการเสนอตัวเป็นประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ได้แสดงตัวออกมาเพื่อให้ สว.และประชาชนทั่วไปได้ทราบ ทั้งนี้ การเสนอตัวมากๆ จะเป็นผลดีต่อวุฒิสภาแสดงให้เห็นว่า สว.ชุดนี้มีคนที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ควรจำกัดแค่คนสองคน อย่าคิดว่าต้องบล็อกโหวตเหมือนการเลือก สว.จากอำเภอ จังหวัด และมาเลือกที่เมืองทองธานี หมดยุคแล้ว ซึ่งการเลือกประธานวุฒิสภาที่อิสระในวันที่ 23 ก.ค. จะเป็นวันประกาศให้โลกรู้ว่า วุฒิสภาชุดนี้จะทำงานโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้นอย่ามีหวยล็อก อย่าบล็อกโหวต และกรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวไกลเพ้อชนะยุบพรรค!

ใจดีสู้เสือ! "ชัยธวัช" เชื่อ "ก้าวไกล" มีโอกาสชนะสูง อ้างยิ่งศาล รธน.ปิดไต่สวน "คดียุบพรรค" ก็ยิ่งมั่นใจในคำแถลงปิดคดี ปลุกกองเชียร์ 7 ส.ค.