‘ณัฐชา’จวก‘ชัย’ จ่อปลุกผีอวนรุน จับ‘หมอคางดำ’

“ณัฐชา” ซัดโฆษกรัฐบาลแบกปลาหมอคางดำ โยนบาปให้เกษตรกร เผยมาตรการรับซื้อปลาไม่เวิร์ก “ประธานสมาคมการประมงฯ” นัดหารือ “ธรรมนัส” 23 ก.ค. ชงใช้เครื่องมือจับต้องห้ามมาใช้ชั่วคราว กทม.เร่งหารือ “ปภ.-กรมบัญชีกลาง” หาช่องประกาศเขตภัยพิบัติ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ก.ค.2567 นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ตอบโต้นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่บอกว่าการเรียกปลาหมอคางดำเป็นปลาปีศาจคือวาทกรรม ฟังแล้วให้ภาพเกินจริง เพราะปลาชนิดนี้สามารถกินได้ ไม่มีพิษมีภัยอะไร และที่ว่าหลุดเข้าไปกินลูกกุ้งในบ่อเพาะเลี้ยงนั้น ปลาอะไรก็ชอบกินลูกกุ้ง ว่าทันทีที่เห็นทัศนะแบบนี้ของโฆษกรัฐบาล ก็รู้สึกสงสารพี่น้องประชาชนผู้เลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง และประมงน้ำจืดต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายกันมาเป็นสิบปี ทัศนะเช่นนี้ของโฆษกรัฐบาลคือการดูเบาปัญหา ไม่ตระหนักถึงระบบนิเวศที่พังทลายไป และยังกล่าวโทษเกษตรกรอย่างไม่เข้าอกเข้าใจความเดือดร้อนของพวกเขาเลย

“ปัญหาอาจไม่ได้เริ่มในยุคท่านก็จริง แต่วันนี้วิกฤตขนาดนี้ยังไม่รู้ตัว พูดออกมาได้ว่าไม่มีพิษมีภัย เคยไปคุย ไปสัมผัส ไปซับน้ำตาคนที่เขาประสบปัญหาจริงๆ บ้างไหมว่าเขาเจออะไรมาบ้าง ลูกกุ้งลูกปลาในบ่อมีปลาอื่นๆ คุกคามบ้างก็จริง แต่เขารับมือได้ เขารู้วิธีเลี้ยง วิธีกำจัด และจำกัดความเสียหายได้ แต่ไม่ใช่สำหรับปลาหมอคางดำที่หลุดลงบ่อ มันรู้จักมุด ซ่อนตัว หนี และแพร่พันธุ์ไวมาก แป๊บเดียวหมดบ่อ เข้าใจคำนี้ไหม หมดบ่อ อย่าลอยตัวอยู่ในห้องแอร์ ไปเจอปัญหาของจริงก่อน และที่พูดมานี้ ผมสงสัยจริงๆ ว่าพูดในฐานะโฆษกรัฐบาลหรือโฆษกเอกชน ท่านจะปกป้องปลาหมอคางดำอะไรขนาดนั้น” นายณัฐชากล่าว

นายณัฐชากล่าวต่อว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือการเลิกดูเบาปัญหา และยอมรับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้เร่งหามาตรการแก้ปัญหาให้สมกับระดับที่เป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่แค่มองว่ากินได้แล้วจบ เพราะการจัดการกับเอเลี่ยนสปีชีส์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนอย่างรอบคอบและรัดกุม ส่วนมาตรการแก้ปัญหาด้วยการรับซื้อปลาหมอคางดำที่กิโลกรัมละ 15 บาทนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2561 ซึ่งรับซื้อที่ กก.ละ 20 บาทด้วยซ้ำ แต่กลับทำให้ปลาหมอคางดำเพิ่มจำนวนและระบาดหนักกว่าเดิม ไม่ได้ช่วยขจัดต้นตอปัญหาแต่อย่างใด จึงขอให้รัฐบาลรับฟังเสียงท้วงติงบ้าง และกลับมาทบทวนหามาตรการเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพกว่านี้

“กลับไปถอดบทเรียนก่อนดีไหม แทนที่จะดื้อดึงไม่ฟังใคร มาช่วยกันคิดดีกว่าว่าแผนการแก้ปัญหาขั้นต่อไปควรเป็นยังไง รับปากประชาชนได้ไหมว่าจัดการได้แน่นอน และสุดท้ายเรื่องที่ประชาชนอยากรู้มากๆ เวลานี้คือ สรุปแล้วใครเพาะพันธุ์ ใครทำหลุด รัฐบาลช่วยตอบคำถามประชาชนในเรื่องนี้ด้วย” นายณัฐชาระบุ

ด้านนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ไปถึงนอกเขตชายฝั่ง 3 ไมล์ทะเล ว่าสมาชิกสมาคมฯ ในพื้นที่แพร่ระบาดฝั่งอ่าวไทย 16 จังหวัด ได้ประสาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เพื่อหารือหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในวันที่ 23 ก.ค.2567 เวลา 14.00 น. ที่สมาคมประมง จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งที่ปลาหมอคางดำระบาดและระดมกำจัดอย่างจริงจัง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเขตอภัยทานตามวัดต่างๆ   ต้องไม่มีการยกเว้น ซึ่งจะมีการหารือเรื่องนี้ด้วย

“ต้องหารือกับ รมว.เกษตรฯ เรื่องการอนุญาตใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายเป็นกรณีพิเศษชั่วคราว เช่น อวนรุน ไอ้โง่ และโพงพาง เพื่อให้เกิดเป็นโมเดลพื้นที่นำร่องเป็นตัวอย่างและดำเนินการในพื้นที่ระบาดอื่นๆ ต่อไป โดยภาครัฐยังไม่ควรปล่อยปลานักล่า เช่น ปลากะพง แต่ควรกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่หนาแน่นให้เบาบางลงก่อน เนื่องจากหากปล่อยปลานักล่าไปตอนนี้ การจะล้อมจับปลาหมอคางดำจะทำได้ยากขึ้น”

ส่วนความเคลื่อนไหวใน กทม.หลังพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำใน 3 พื้นที่ ได้แก่ เขตบางขุนเทียน บางบอน และทุ่งครุนั้น นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กล่าวว่า สพส.ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่พบการระบาดทั้ง 3 เขต รวมทั้งพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นในด้านต่างๆ ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำใน กทม. โดยคณะทำงานแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่ กทม.ได้ทำหนังสือขอหารือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมบัญชีกลาง เรื่องการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติว่าประกาศได้หรือไม่ หากประกาศได้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมประมง (กปม.) จะได้รับความช่วยเหลือจากเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน กษ. ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กปม. จะได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของ กทม. ตามระเบียบ กทม. ว่าด้วยการสงเคราะห์ผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2537 และฉบับที่ 5 พ.ศ.2564 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเรื่องการประกาศฯ

“สพส.ยังได้ร่วมกับสำนักงานเขตบางขุนเทียน และประมงพื้นที่กรุงเทพฯ จะประชุมหารือร่วมกันภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำและการจัดกิจกรรมรณรงค์กำจัดปลาหมอคางดำ เพื่อกำหนดจัดกิจกรรมลงแขก ลงคลองในพื้นที่เขตบางขุนเทียน” นายแสนยากรกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วิโรจน์' บอก 7 ส.ค. ผลออกมา ต้องมีคำอธิบายที่ปชช.เข้าใจได้

'วิโรจน์' บอกตามตรง 7 ส.ค. ก็แค่วันปกติ ยัน ไม่ตื่นตระหนก แต่ไม่ประมาท 'คดียุบก้าวไกล' หากผลเป็นลบ ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ภายใต้กรอบนิติรัฐ-นิติธรรม