เปิดศึกชิงเก้าอี้ ประมุขสภาสูง เสร็จสว.นํ้าเงิน

ไทยโพสต์ ๐ ฝุ่นตลบ! ศึกชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง ล็อบบี้กันเดือด "เทวฤทธิ์” ชี้ควรเป็นคนเปิดกว้าง ให้พื้นที่เสียงส่วนน้อย ยันกลุ่มพันธุ์ใหม่ส่งชิงแน่ พร้อมเล็งเก้าอี้ประธาน กมธ.พัฒนาการเมือง-สิทธิมนุษยชน "ชัยธวัช" เชื่อเรื่องการล็อบบี้เป็นเรื่องปกติ กังวล สว.สีน้ำเงินผูกขาดหมด

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่จะมีการเสนอชื่อชิงตําแหน่งประธานวุฒิสภาหรือไม่ว่า แนวทางคือส่งแน่นอน แต่ยังอยู่ในกระบวนการพูดคุยว่าจะเสนอชื่อใคร ซึ่งคงมีการนัดหมายก่อนวันที่ 23 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ต้องไปเจรจากับ สว.กลุ่มอื่น ในการแบ่งโควตารองประธานวุฒิสภาหรือไม่  นายเทวฤทธิ์ปฏิเสธว่า ไม่ได้ไปพูดคุย แต่มีทีมงานไปพูดคุย เพื่อดูแนวทางว่าเขาคิดยังไงหากเราเสนอว่าควรมีพื้นที่ให้กับเสียงส่วนน้อยในการทํางาน

เมื่อถามว่า คุณสมบัติของผู้เป็นประธานวุฒิสภาควรเป็นอย่างไร สว.ผู้นี้ตอบว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องรับฟังความคิดเห็นและให้โอกาสสมาชิกที่มีความหลากหลาย ทั้งจุดยืนและกลุ่มก้อน ให้สามารถแสดงออก ตั้งญัตติ หรืออภิปราย โดยไม่ไปจำกัดสิทธิ์หรือลดทอนจนไม่สามารถทำงานได้

ซักว่าจะมีการต่อรองตําแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) วุฒิสภาด้วยหรือไม่ นายเทวฤทธิ์เผยว่า เราต้องการลง กมธ.ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ  กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ เป็นคณะต้นๆ ที่เราเล็งไว้  ส่วนการไปพูดคุย คงเป็นการขอพื้นที่ให้เสียงส่วนน้อยทํางานได้

ด้านนายสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงกรณี สว.กลุ่มอิสระจะเจรจากับ สว.สายสีน้ำเงิน ให้เสนอชื่อนายบุญส่ง น้อยโสภณ เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 ว่า ชื่อเสียง ความรู้ความสามารถของนายบุญส่งมีความเหมาะสม แต่อาจไม่จำเป็นต้องมารับตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 สามารถไปนั่งเป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) อื่น เช่น ประธาน กมธ.การกฎหมายฯ วุฒิสภา จะเหมาะสมกว่าหรือไม่

เขาบอกว่า ตำแหน่งประธาน กมธ.สามัญชุดต่างๆ ในวุฒิสภา น่าจะมีการจัดสรรแบ่งโควตาไปตาม สว.กลุ่มต่างๆ ตามความเหมาะสมมากกว่าตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา เพราะตำแหน่งหลักที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการทำงานของวุฒิสภาคือ กมธ.ชุดต่างๆ ขณะที่ประธานและรองประธานวุฒิสภาจะมีบทบาทหลักเรื่องการดำเนินการประชุม และการประสานงานกับฝ่ายสภาผู้แทนราษฎร

นายสรชาติกล่าวต่อว่า ในส่วนตำแหน่งประธาน กมธ.สามัญชุดต่างๆ ในรอบนี้คงต้องลดลงจาก 26 คณะ เพราะ สว.มีลดลงจาก 250 คน เหลือ 200 คน สว.จะหารือกันอีกครั้งจะลดลงเหลือกี่คณะ ส่วนความเคลื่อนไหวของ สว.สายสีน้ำเงินขณะนี้ยังนิ่งอยู่ ไม่ทราบว่าจะเสนอใครเป็นประธานหรือรองประธานวุฒิสภา คงจะมีความชัดเจนช่วงใกล้วันที่ 23 ก.ค. ที่จะประชุมวุฒิสภาเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภา

ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ  และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ประธานและรองประธานจะเป็นใครก็ไม่ได้ส่งผลมากนักในมุมของ สส. เพียงแต่ถ้าได้บุคลากรที่เหมาะสม จะช่วยยกระดับการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งสภาบนและสภาล่าง ซึ่งคงต้องไปดูในรายละเอียด รวมถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการต่างๆ ด้วย คิดว่าก็น่าสนใจ เราก็รอดูอยู่ เพราะหากประธานคณะกรรมาธิการสำคัญๆ ได้คนที่มีแนวคิดที่ดี ก็จะสามารถเชื่อมการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมาธิการที่มีความใกล้เคียงกันกับสภาล่างด้วย

"เรื่องการล็อบบี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่แต่ละกลุ่มก็จะมีการพูดคุยกัน ว่าเห็นควรจะผลักดันใครที่มีความเหมาะสม เพียงแต่หลายคนมองว่า สว.สีน้ำเงินอาจจะผูกขาดไปทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็น่ากังวล พื้นที่ทางการเมืองที่มีความหลากหลายมันไม่ควรเป็นแบบนั้น"

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตำแหน่งประธานควรเป็นคนที่มีความรู้ทางด้านกฎหมายหรือไม่ หัวหน้าพรรคก้าวไกลมองว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายอย่างเดียว เพราะอย่างสภาล่าง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมาย แต่ก็ทำงานได้โดดเด่น เพราะมีเป้าหมายชัดเจน ตนคิดว่าสิ่งนี้ต่างหากที่สำคัญ

เมื่อถามว่า เชื่อว่ามีการบล็อกโหวตจริงหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า มีการคุยกันแน่นอนว่าจะโหวตให้ใคร มันก็เหมือนสภาล่าง แต่แน่นอนว่าสภาล่างค่อนข้างชัดเจน เพราะมีระบบของพรรคการเมือง เพียงแต่ สว.ไม่มีระบบพรรคการเมือง เลยทำให้ดูเหมือนว่าไปเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง

"การโหวตไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ก็มีการพูดคุยเจรจาต่อรองกันเป็นเรื่องปกติ หวังว่าการเจรจาต่อรองดังกล่าวจะเอาเรื่องผลประโยชน์ของสาธารณะมาเป็นตัวตั้ง" หัวหน้าพรรคก้าวไกลกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

109 นักวิชาการ กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์คัดค้าน รัฐบาลครอบงำแบงก์ชาติ

109 นักวิชาการ และกลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกแถลงการณ์ห่วงใยธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกแทรกแซงจากกลุ่มการเ

'ดร.ณัฏฐ์' นักกฎหมายมหาชน ฟันธงตัวแปรรัฐบาลชิงยุบสภา ยังไม่เกิด

ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฏฐ์” นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกระแสข่าวฐบาลมีโอกาสชิงยุบสภา จะเกิดขึ้นก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย