เด็กปุระชัยชิงเก้าอี้! โผล่ประชุม‘สว.กลุ่มอิสระ’ เปรมศักดิ์ซัดล็อบบี้ล้าหลัง

ล็อบบี้สภาสูงเรื่องปกติ! "สว.อังกูร"  ขอแค่อยู่ในกติกา "นิคม" แย้มกลุ่ม สว.อิสระ 36  เสียง เล็งส่งคนไปดีลกลุ่มสีน้ำเงิน แลกโควตา "รองประธานสภาฯ คนที่สอง" ดัน "บุญส่ง" นั่ง "นพดล" อดีต สส.ไทยรักไทยโผล่วงหารือตึกรัชดาฯ เสนอตัวชิงรอง ปธ.คนที่สอง "หมอเปรม" ติง สว.ยุคใหม่ไม่ควรรวมก๊วนต่อรอง บอกเลือก "ปธ.วุฒิสภา-รองประธาน" รอฟังวิสัยทัศน์ก่อนโหวตดีกว่า อย่าถูกครอบงำด้วยใบสั่ง "หมอเกศ" ไปสภา ปฏิเสธตอบทุกคำถาม

เมื่อวันที่ 19 ก.ค. พล.ต.ต.อังกูร คล้ายคลึง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการลงมติเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ในวันที่ 23 ก.ค.นี้ว่า จะขอฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของบุคคลที่ถูกเสนอชื่อเป็นประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาทั้ง 3 คน เพื่อจะดูว่าบุคคลใดที่มีความเหมาะสมและมีวิสัยทัศน์ที่จะนำพา สว.ทั้ง 200 คนในการทำงานต่อจากนี้ 5 ปี ที่จะต้องถือธงนำ สว.ทั้ง 200 คนนำทางไป

พล.ต.ต.อังกูรปฏิเสธข่าวอาจจะมี สว.บางคนเสนอชื่อให้ชิงรองประธานวุฒิสภาว่า ยังไม่ทราบเรื่องเลย การจะลงสมัครหรือไม่ อยู่ที่เพื่อน สว.ว่าเห็นถึงความรู้ความสามารถเราแค่ไหน แต่ที่ผ่านมาตนไม่เคยเสนอตัวลงชิงตำแหน่งทั้งประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา ซึ่งถ้าเพื่อนสมาชิกจะรวมตัวกันเพื่อเสนอ เราเองก็มีหน้าที่ต้องรับ ถ้าเป็นไปตามฉันทานุมัติของ สว. อยู่ที่เพื่อนสมาชิก  ก็คงปฏิเสธไม่ได้ ก็เหมือนกับตอนสมัยเป็นนักเรียน หากเพื่อนๆ ในห้องเสนอตัวเป็นหัวหน้าห้อง เราก็ไม่ควรปฏิเสธในสิ่งที่คณะเสนอ

ถามถึงกระแสข่าวการล็อบบี้ของ สว.อย่างหนักในช่วงโค้งสุดท้ายสัปดาห์นี้ พล.ต.ต.อังกูรกล่าวว่า ก็อย่างมีสื่อไปเสนอข่าวว่าตนไปร่วมหารือกับกลุ่ม สว.อิสระด้วยที่ตึกแห่งหนึ่งแถวรัชดาฯ ยืนยันไม่เป็นความจริง ตนไม่ได้ไป แต่ก็ยังมีข่าวออกมาเนืองๆ ว่าไปคุยในสถานที่ต่างๆ

 “การล็อบบี้ผมก็มองว่าเป็นเรื่องปกติของสมาชิกที่อยากให้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นอะไร ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะต้องมีการลงคะแนน ก็ต้องหาพรรคพวกเพื่อให้มีการสนับสนุนกัน มองว่าเป็นเรื่องปกติ ก็ล็อบบี้ได้ แต่ต้องอยู่ในกฎกติกาของสภา มันปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่ามีการล็อบบี้ ปฏิเสธไม่ได้ การโทร.หากัน การคุยกัน การทาบทามกัน ก็เป็นเรื่องปกติของการคัดเลือก ทุกครั้งก็ต้องเป็นแบบนี้ แต่ตัวผมเองไม่ได้เป็นคนที่จะล็อบบี้เรื่องพวกนี้ เพราะไม่ได้ประสงค์ที่จะเสนอตัวเองขนาดนั้น" พล.ต.ต.อังกูรกล่าว  

ขณะที่ นายนิคม มากรุ่งแจ้ง สว. หนึ่งในสมาชิกวุฒิสภาที่ไปร่วมหารือพูดคุยกับ สว.ที่ตึก CS ทาวเวอร์ ถนนรัชดาฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา กล่าวว่า การหารือกันของ สว.ดังกล่าวมี สว.ร่วมหารือด้วยประมาณร่วมๆ 36 คน ที่เป็นการคุยกันของ สว.ที่เห็นด้วยกับแนวทางการรวมตัวกันในชื่อ "สว.กลุ่มอิสระ" และมี สว.อีกบางส่วนที่เห็นด้วยกับแนวทางการเป็น สว.กลุ่มอิสระและตอบรับจะมาร่วมด้วย แต่เมื่อวานไม่ได้มาร่วมประชุมด้วย

นายนิคมกล่าวว่า การพบกันดังกล่าวมีการพูดคุยกันถึงการนัดประชุมวุฒิสภาวันอังคารนี้ 23  ก.ค. เพื่อเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ซึ่งในการหารือ สว.หลายคนก็เห็นว่านายบุญส่ง น้อยโสภณ อดีต กกต. ที่มาร่วมหารือด้วย มีความเหมาะสมที่จะถูกเสนอชื่อเป็นรองประธานวุฒิสภา เพราะมีความรู้ด้านกฎหมาย เป็นทั้งอดีต กกต., อดีตผู้พิพากษา, อดีตที่ปรึกษานายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธาน กกต.ที่เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่สองสมัยที่ผ่านมา

'นพดล' สนชิงรอง ปธ.วุฒิสภา

นอกจากนี้ มี สว.อีกคนหนึ่งที่มาร่วมประชุมด้วย ได้แสดงความสนใจที่จะลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภา โดยทั้งนายบุญส่งและ สว.อีกหนึ่งคนที่แจ้งว่าสนใจชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ก็ได้มีการพูดถึงการทำงานหากได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภา ซึ่งในการพูดคุยกันดังกล่าว สว.หลายคนก็ได้บอกกับ สว.คนดังกล่าวว่าให้ไปทำความแน่ใจให้ชัดว่าสนใจจะลงสมัครชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งจริง ก็ขอให้ไปพิจารณาตัดสินใจและแจ้งกลับมายัง สว.กลุ่มอิสระ แล้วจะมีการหารือกันอีกครั้งสำหรับ สว.กลุ่มอิสระ แต่ที่ชัดเจนแล้วก็คือ นายบุญส่งจะลงสมัครชิงรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง

   “กลุ่มเราเรียกตัวเองว่า สว.กลุ่มอิสระ ที่เป็นการรวมกันของ สว.แบบหลวมๆ ซึ่งที่คุยกันเมื่อวานก็คือจะสนับสนุนนายบุญส่ง ที่เสนอตัวที่จะลงสมัครเป็นรองประธานวุฒิสภา เพื่อที่จะไปเจรจากับทางโน้น เพราะถ้าเจรจาทางโน้นก็น่าจะให้ท่านบุญส่งขึ้นเป็นรองประธานวุฒิสภาได้ เพราะท่านบุญส่งก็เป็นผู้มีความรู้ เป็นอดีตอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งผมก็เคยรู้จักท่านบุญส่งมาก่อน เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็ครอบคลุมพื้นที่สมุทรสาครบ้านผม ก็เห็นว่าท่านเหมาะสมจะเป็นรองประธานวุฒิสภา เพราะรู้งานวุฒิสภา เคยเป็นที่ปรึกษานายศุภชัย แล้วก็ยังแม่นเรื่องข้อกฎหมาย ที่เราคุยกันเมื่อวานก็ชัดว่าจะเสนอท่านบุญส่ง ส่วนว่าจะต้องไปคุยกับกลุ่มโน้นอย่างไร ผมไม่ใช่ทีมเจรจาก็ตอบไม่ได้ แต่ก็ประมาณนั้น ส่วนประธานวุฒิสภาที่คุยกันเมื่อวาน ไม่มี มีแค่เรื่องส่งคนลงรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่งกับคนที่สองเท่านั้น” นายนิคมกล่าว

สว.รายนี้ระบุว่า ในส่วนการลงมติเลือกประธานวุฒิสภา สว.กลุ่มอิสระมีแนวทางคือ เลือกคนที่มีอุดมการณ์ที่ดี รู้เรื่องข้อกฎหมาย เพราะประธานวุฒิสภาที่เป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ทำให้ตอนประชุมร่วมรัฐสภา สส. 500 คนกับ สว. 200 คน สว.เราจึงต้องหาคนที่รู้ข้อกฎหมายเป็นอย่างดี เพราะหากเขาไม่มีความเกรงใจ การไปทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาตอนประชุมร่วมรัฐสภาก็จะลำบาก ยืนยันว่ากลุ่มอิสระเราไม่ได้เลือกตามกระแส เพราะเราเป็นแนวทางอิสระ โดยดูจากการแสดงวิสัยทัศน์ของคนที่ถูกเสนอชื่อที่จะแสดงวิสัยทัศน์ตอนประชุมวุฒิสภา รวมถึงประวัติของแต่ละคนที่ถูกเสนอชื่อ

 “อย่างที่มีจะมีแคนดิเดตตามข่าว เช่น อดีตนายพล อดีตอธิบดี หรือท่านบุญส่ง น้อยโสภณ เราก็จะดูว่าแต่ละคนเหมาะสมอย่างไร เราจะไม่โหวตตามกระแส ไม่โหวตตามโพยหรือตามคำสั่งใคร” สว.รายนี้ระบุ

 แหล่งข่าวจาก สว.กลุ่มอิสระกล่าวว่า ในการหารือของ สว.กลุ่มอิสระครั้งนี้ นายนพดล อินนา สว.ที่เป็นอดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย สาย ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ อดีต รมว.มหาดไทย และอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาร่วมหารือด้วย

"นายนพดลได้แจ้งกับ สว.กลุ่มอิสระว่าสนใจจะลงสมัครชิงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง  และได้มีการแสดงวิสัยทัศน์ว่า หากเข้าไปเป็นรองประธานวุฒิสภา จะเข้าไปผลักดันหรือมีแนวทางการทำงานอย่างไร แต่ในที่ประชุม สว.กลุ่มอิสระดังกล่าว ยังไม่มีท่าทีชัดเจนว่าจะสนับสนุนนายนพดลหรือไม่ โดยบอกว่าขอให้นายนพดลไปตัดสินใจให้ชัดเจนว่าจะลงจริงหรือไม่ และต้องการรู้ว่านายนพดลถึงตอนนี้มีเสียงสนับสนุนจาก สว.กลุ่มอื่นๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของนายบุญส่งที่ สว.กลุ่มอิสระดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าพร้อมจะโหวตให้นายบุญส่งชิงรองประธานวุฒิสภา และมีการให้ตัวแทนของกลุ่มไปพูดคุยกับ สว.สีน้ำเงินว่า โควตารองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขอให้เป็นของกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ สว.สีน้ำเงิน โดยขอให้สว.สีน้ำเงินสนับสนุนนายบุญส่ง ซึ่งตัวแทน สว.กลุ่มอิสระที่รับไปพูดคุยกับ สว.สีน้ำเงินบอกว่าจะนัดคุยกับ สว.สีน้ำเงินในช่วงสุดสัปดาห์นี้ และจะมีการแจ้งผลการเจรจาภายในเย็นวันจันทร์ที่ 22 ก.ค." แหล่งข่าวจาก สว.กลุ่มอิสระระบุ

'หมอเปรม' จี้เลิกก๊วนใบสั่ง

ด้าน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. กล่าวถึงการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาว่า ขณะนี้มีกลุ่มมีก๊วนประชุมกันเพื่อที่จะรวมกลุ่มค่อนข้างมาก เรียกว่าคึกคักมาก ซึ่งตนก็ได้รับเชิญไปร่วมด้วย แต่ด้วยความเป็น สว.ในยุคนี้ ตนคิดว่าไม่ควรจะมีการรวมกลุ่มต่อรองตำแหน่งเหมือนที่ผ่านมา เพราะเรามาจากรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชีพเข้ามา ดังนั้นก็ควรที่จะให้ผู้ที่มีความประสงค์จะเป็นประธานวุฒิสภาได้แสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุม ใครแสดงวิสัยทัศน์ได้เหมาะสม และมีคุณประโยชน์ต่อวุฒิสภา ก็ลงคะแนนในวันนั้นเลย การลงคะแนนเป็นไปอย่างอิสระอยู่แล้ว เพราะเป็นการลงคะแนนลับ ไม่มีใครมาสั่งเราได้

 “ผมขอเรียกร้อง สว. 200 คน อย่าไปกังวลเรื่องใบสั่ง เพราะใบสั่งที่เราต้องกังวลคือใบสั่งจากประชาชน และประชาชนอยากเห็นวุฒิสภาที่โปร่งใส และแก้ข้อครหาที่เราถูกกดดันจากภายนอก เช่น เป็นคนมุ้งนั้นมุ้งนี้ สีนั้นสีนี้ ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันแก้ ด้วยการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาอย่างโปร่งใส” นพ.เปรมศักดิ์กล่าว 

ถามว่า มีกลุ่ม สว.กว่า 30 คนไปหารือกันที่โรงแรมย่านรัชดาฯ เกี่ยวกับตำแหน่งประธานและรองประธานวุฒิสภา ได้ถูกรับเชิญหรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ได้รับเชิญ แต่ไม่ได้ไป เนื่องจากอยู่ จ.ขอนแก่น เมื่อถามย้ำว่ามองอย่างไรที่มีเรื่องตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภาครั้งนี้ นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า เป็นการเมืองที่ล้าหลัง ไม่ควรมีการต่อรองในตำแหน่งต่างๆ อีกแล้ว เพราะที่ประชาชนเลือกมาตำแหน่ง สว.ใหญ่ที่สุดแล้ว การเป็น สว.ที่เพียบพร้อมก็ทำงานให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองพอแล้ว ส่วนการจะได้รับตำแหน่งใดๆ ตนติดว่าอยู่ที่ที่ประชุม

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า การที่เขารวมกลุ่มกัน ก็มีความประสงค์อยากจะช่วยสนับสนุนคนนั้นคนนี้ แต่จริงๆ แล้วขอให้รอฟังวันประชุมวุฒิสภาดีกว่า ซึ่งการประชุมวันดังกล่าวเป็นการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ ดังนั้นอยากให้ สว.ใช้ดุลยพินิจ โดยที่ไม่ต้องไปกลัวที่มา ที่อาจถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มนั้นกลุ่มนี้หรือไม่ ถ้าเราลงคะแนนเสียงด้วยเหตุผล และด้วยความเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็จะได้รับความนิยมจากประชาชนเอง และขจัดข้อกล่าวหาต่างๆ  ว่าเราเข้ามาด้วยวิธีบล็อกโหวต

ซักว่าจะมีการตั้งกลุ่มสู้หรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า ไม่มีการตั้งกลุ่ม เพราะตนถือว่ามี สว.สีขาว เป็นการประสานงานในกลุ่มที่คิดเหมือนกันว่าเรามาเป็น สว.ด้วยความรู้ความสามารถของตัวเรา  ไม่ได้มาจากบล็อกโหวตหรือใบสั่งใดๆ ทั้งสิ้น

นพ.เปรมศักดิ์กล่าวว่า อยากให้คนที่จะเป็นประธานวุฒิสภาต้องเตรียมการที่จะเข้าร่วมประชุมสองสภา เช่น การประชุมร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ขณะนี้ สว.ควรจะมีหนังสือขาวคาดแดงได้แล้ว เพื่อเตรียมตัวว่างบประมาณที่ผ่านมาจาก สส.จะมีข้อติติงส่วนใด เช่น งบเพิ่มเติม จะเป็นงบประชานิยมหรือไม่ เพราะไม่ใช่ว่า สส.คิดอย่างไรแล้ว สว.ต้องเห็นตามเสมอไป

ซักว่า หากที่ประชุมเสนอชื่อ นพ.เปรมศักดิ์เป็นประธานหรือรองประธานวุฒิสภา จะรับหรือไม่ นพ.เปรมศักดิ์ย้อนถามว่า จะมีถึงขนาดนั้นเลยหรือ และตนไม่ได้อยู่กลุ่มไหน จะมีใครมาเสนอชื่อตน  ถ้าหากมีคงเซอร์ไพรส์มาก 

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา เวลา 10.30 น. พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว. ได้เดินทางเข้ามายังอาคารรัฐสภา ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร โดยผู้สื่อข่าวบังเอิญไปเจอ พญ.เกศกมลที่ห้องอาหารชั้น 1 ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร จึงพยายามที่จะสอบถามว่ามีภารกิจอะไร มายื่นเอกสารอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ แต่ พญ.เกศกมลปฏิเสธทุกข้อซักถาม

ผู้สื่อข่าวจึงถามถึงความเห็นเรื่องแพทยสภา ว่าได้เห็นมติหรือไม่ จะมีคำชี้แจงอะไรหรือไม่ พญ.เกศกมลได้แต่ยิ้มและเดินผ่านไป ก่อนจะขึ้นลิฟต์ที่บริเวณโถงด้านหน้าชั้น 1 โดยมีเจ้าหน้าที่สภาฯ ท่านหนึ่งพูดขึ้นก่อนที่ลิฟต์จะปิดว่า "มาพบผม" ทำให้ผู้สื่อข่าวถามต่ออีกว่ามาพบเรื่องอะไร เจ้าหน้าที่ท่านนั้นจึงตอบว่า "คุยเรื่องส่วนตัว".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง