"ปดิพัทธ์" ทำใจหากยุบพรรค ก.ก.หลุดเก้าอี้ "รองประธานสภาฯ" ยังเชื่อการสู้คดีมีน้ำหนัก "เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน" ยื่น 5 ข้อกังวลไม่นิรโทษฯ 112 "มายด์" ชี้หากไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยเรื่อง 112 เท่ากับผลักดันให้ต้องไปคุยกันบนถนน "กมธ.นิรโทษฯ" เคาะ 3 แนวทางนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ม.110 และ 112 "ชูศักดิ์" เปิดช่องฝ่ายนิรโทษเหมาเข่งเสนอความเห็น แยกส่งเข้าสภาพิจารณาสิ้นเดือนนี้ "สกลธี" ไขก๊อก พปชร. "คปท." ฮึดยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่ง
ที่รัฐสภา วันที่ 18 ก.ค. นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลวันที่ 7 ส.ค.นี้ว่า ขอให้ความเห็นในสถานะแรก คือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรส่วนตัวในฝ่ายนิติบัญญัติมองว่าการยุบพรรคการเมือง เป็นการทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน และทำให้สถาบันนิติบัญญัติอ่อนแอ โดยเฉพาะประเทศใดก็ตามที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่มีการยุบพรรคฝ่ายค้าน กลไกการตรวจสอบรัฐบาล และการรักษาสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ก็จะบกพร่องไปด้วย
“ผมเองก็ค่อนข้างกังวลในเรื่องนี้ว่า ถ้ายุบพรรคก้าวไกลแล้วสภาของเราจะหน้าตาเป็นอย่างไร ฝ่ายค้านจะยังเข้มแข็งหรือไม่ จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลกับอีก 2 อำนาจได้อย่างไร เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของสภาไทย แต่เป็นเรื่องของสภานานาชาติด้วย เพราะเราต้องชี้แจงเรื่องนี้ เพื่อน สส.และทูตในหลายประเทศก็กังวล เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่หากนิติบัญญัติถูกฝ่ายอื่นแทรกแซง ห้ามไม่ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทำแล้วมีโทษ ก็จะแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประเทศของเรายังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย” นายปดิพัทธ์กล่าว
ถามว่า หากมีการยุบพรรคกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิ์ จะมีผลต่อตำแหน่งรองประธานสภาฯ หรือไม่ รองประธานสภาฯ กล่าวว่า แน่นอน ตนเป็นอดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 และรายชื่อของตนก็ปรากฏชัดเจนอยู่ในคำร้องของ กกต. ดังนั้นปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
"ผมคิดว่าการแถลงของอดีตเพื่อนสมาชิกพรรคก้าวไกลมีน้ำหนักมาก โดยเฉพาะเรื่องคำร้องของ กกต. เป็นที่ประจักษ์ เชื่อว่าวิญญูชน สื่อมวลชน นักวิชการ ก็มีผลวินิจฉัยของตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว" รองประธานสภาฯ กล่าว
ขณะที่เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน นำโดย น.ส.พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือทนายเมย์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 12 คน อาทิ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์, น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เพื่อสนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ร่วมชุมนุมทางการเมือง โดยมี น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในโฆษกคณะ กมธ.เป็นผู้รับหนังสือ
น.ส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ผู้ต้องหาคดี 112 กล่าวว่า เรามีข้อกังวลที่ 5 ประเด็น 1.การตีความกฎหมายมาตรา 112 มาถูกวิจารณ์ว่ากว้างขวางและครอบคลุมเกินไปส่งผลให้การแสดงออก ที่ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทหรือกลับถูกดำเนินคดีไปด้วย 2.การใช้กฎหมายมาตรา 112 ในทางการเมือง ถูกวิจารณ์ว่าถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือปิดปากฝ่ายตรงข้าม หรือผู้มีความเห็นต่างกับรัฐ 3.การบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 บ่อยครั้งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชน 4.ไม่สอดคล้องกับกฎหมายสากล และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และ 5.มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ว่าการใช้มาตรา 112 ขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม
น.ส.ภัสราวลีกล่าวว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่า การนิรโทษกรรมในครั้งนี้จำเป็นต้องรวมมาตรา 112 เข้าไปด้วย เพราะหากไม่รวม ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐบาลอยากให้จบลง ก็จะไม่มีวันจบ วามขัดแย้งจะไม่ได้จบลงเพียงเพราะมีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ แต่ต้องให้ประชาชนมีพื้นที่ในการพูดคุย และใช้เสรีภาพได้อย่างเสมอหน้ากัน
"เรื่องมาตรา 112 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน หากรัฐบาลและคณะกรรมาธิการฯ ไม่เหลือพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องนี้เลย เท่ากับว่าผลักดันเรื่องนี้ให้ต้องไปคุยกันบนถนน และผลักภาระให้พี่น้องประชาชนไปโดยปริยาย ในเมื่อตอนนี้ เราได้รัฐบาลชุดใหม่แล้ว ก็ควรจริงจังกับการคืนความปกติให้เรื่องนี้เสียที” น.ส.ภัสราวลีกล่าว
น.ส.ทานตะวันย้ำว่า แม้ความเจ็บปวดของเราจะไม่ได้ลดลงเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยๆ คุณมีอำนาจตรงนั้นอยู่แล้ว และที่สำคัญคือถ้าคุณสามารถนิรโทษกรรมให้พวกที่ทำรัฐประหารได้ เพราะฉะนั้นคุณก็ต้องสามารถนิรโทษกรรมนักโทษทางความคิดได้เหมือนกัน
วาง 3 แนวทางนิรโทษฯ 112
ด้านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. ประชุมร่วมกับคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาการนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112
นายชูศักดิ์พร้อมด้วยนายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังการประชุม กมธ.
นายชูศักดิ์กล่าวว่า วันนี้เกือบจะมีข้อยุติทั้งหมดแล้ว ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ คือควรที่จะให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำหรือเหตุที่มีแรงจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเรามีนิยามชัดเจนว่ามีความผิดเกี่ยวกับอะไรบ้าง และจะผนวกแนบท้ายว่าเป็นความผิดอะไร โดยในส่วนนี้เราเห็นตรงกันไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไร และเรื่องความผิดต่อชีวิต ความผิดที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น ความผิดตามมาตรา 288 และ 289 เราไม่ได้นำมารวมอยู่ในความผิดที่จะต้องมีการนิรโทษกรรม เพราะถือเป็นความผิดที่เป็นการประทุษร้ายต่อชีวิต
นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในความผิดที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น เป็นประเด็นความผิดที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และเนื่องจากความผิดเหล่านี้ กมธ.เห็นว่าการทำงานของเราเป็นเพียงแค่การศึกษาหาแนวทางการตราร่างกฎหมาย จึงมีความเห็นร่วมกันว่าเราจะไม่ลงมติในประเด็นนี้ แต่จะเป็นการส่งความเห็นในประเด็นดังกล่าว รวมไปในรายงานที่จะเสนอต่อสภา
"ความเห็นของ กมธ.แบ่งออกเป็น 3 ความเห็นคือ 1.ไม่ควรรวมทั้ง 2 มาตรานี้ไว้ในการนิรโทษกรรม 2.ให้มีการนิรโทษกรรมโดยไม่มีเงื่อนไขอะไร และ 3.ให้มีการนิรโทษกรรมแต่ให้มีเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม คาดว่าเราจะสามารถส่งรายงานฉบับนี้ให้สภาทันภายในสิ้นเดือนนี้" นายชูศักดิ์กล่าว
นายนิกรกล่าวว่า เราเตรียมรายงานไว้ถึง 3 เล่ม แต่ขณะนี้ส่งพิมพ์แล้ว 2 เล่ม เหลืออีก 1 เล่มคือ ฝ่ายที่มีความเห็นว่าควรมีการนิรโทษกรรม 112 แบบมีเงื่อนไข ฉะนั้นเราจึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อสรุปว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ต้องไปให้ความเห็น เนื่องจากเป็นความเห็นของฝ่ายที่เห็นว่านิรโทษฯ แบบมีเงื่อนไข ทั้งนี้ความเห็นทั้งหมดจะนำเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งจะได้เห็นว่าแต่ละคนมีความเห็นกันอย่างไรบ้าง คาดว่าน่าจะมีบทสรุปที่ดีที่สมควรจะไปออกกฎหมายต่อไป
ส่วนนายชัยธวัชเสริมว่า นายชูศักดิ์ได้มอบหมายให้ตนช่วยไปรวบรวมความเห็นมาประกอบในรายงานเพื่อให้สรุปได้ทันในสัปดาห์หน้า ซึ่งนี่เป็นความเห็นของฝ่ายที่เห็นด้วย และตนมีความเห็นว่าข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่มีความสำคัญ เนื่องจากการนิรโทษกรรมในคดี 112 แน่นอนต้องยอมรับว่ามีข้อถกเถียงกันพอสมควร แต่รายละเอียดที่จะยอมรับเพื่อนำมาพิจารณาว่าจะมีการนิรโทษกรรมหรือไม่ โดยต้องมีการลงรายละเอียดว่าควรมีตัวอย่างและกำหนดเงื่อนไข รวมถึงมาตรการการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ซึ่งตนมองว่าน่าเป็นข้อดี และเป็นข้อเสนอใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมไทย เพื่อให้ฝ่ายที่อาจมีความเห็นที่แตกต่างกันได้พิจารณาแล้ว อาจจะมีการยอมรับกันได้
ถามว่า พรรคก้าวไกลมั่นใจหรือไม่ว่าหากเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาจะเห็นชอบกับร่างที่พรรคก้าวไกลเสนอ นายชัยธวัชกล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อ กมธ.ได้เสนอรายงานให้สภาพิจารณาแล้ว น่าจะมีหลายพรรคการเมืองยื่นร่าง พ.ร.บ.ของตัวเอง ซึ่งมีหลักการตรงกันว่าการนิรโทษกรรมเป็นมาตรการในการช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง เพียงแต่อาจจะเห็นไม่ตรงกันรายละเอียดบ้าง แม้แต่ สส.ของพรรคก้าวไกลก็ยังมีการพูดคุยกันเองว่า หลังจากเห็นรายงานนี้ ก็อาจจะมีการปรับร่างกฎหมายของพรรค เพื่อให้มีความสอดคล้องกับบางข้อเสนอที่น่าสนใจของ กมธ. แต่ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เพราะต้องรอให้การพิจารณาของ กมธ.เสร็จก่อน
ภายหลังการให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวได้ถามย้ำถึงบรรยากาศในที่ประชุม เนื่องจากมีรายงานว่ามีการถกเถียงกันอย่างหนักถึงขนาดที่พรรคก้าวไกลต้องยกเลิกการแถลงข่าวภายหลังการประชุม นายชัยธวัชพยักหน้า พร้อมกล่าวว่า "ดีครับ" นายชูศักดิ์จึงกล่าวว่า “เป็นไปด้วยดี ทุกฝ่ายเอาเหตุผลมาสู้กัน ไม่มีทุบโต๊ะ” ผู้สื่อข่าวกล่าวแซวอีกว่า เห็นเดินมาก็ยิ้มเลย ทั้งสองคนจึงหัวเราะ ก่อนที่นายชูศักดิ์จะโอบไหล่นายชัยธวัช พร้อมกล่าวว่า "ไม่เห็นต้องสู้อะไรเลย"
จากนั้นนายชัยธวัชชี้แจงเหตุผลที่ยกเลิกการแถลงว่า ตอนแรกคิดว่าจะจบวันนี้ แต่เนื่องจากประธาน กมธ.มอบหมายให้ไปทำการบ้านเพิ่มเติม เพื่อทำให้จบให้ได้ในสัปดาห์หน้า
ม็อบ คปท.ยื่นอุทธรณ์สู้
วันเดียวกัน นายสกลธี ภัททิยกุล สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ยื่นหนังสือถึงนายทะเบียนพรรค ขอลาออกจากสมาชิกพรรค พปชร. โดยให้เหตุผลว่ามีภารกิจส่วนตัวหลายประการ จึงขอลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคและตำแหน่งอื่นๆ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ที่บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ ใกล้ทำเนียบรัฐบาล หลังศาลแพ่งมีคำสั่งให้กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) และกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยุติการชุมนุม ปรากฏว่าเมื่อเวลา 13.30 น.เจ้าหน้าที่บังคับคดี พร้อมตำรวจเดินทางมายังพื้นที่ชุมนุมเพื่อติดคำสั่งศาล แต่การชุมนุมยังคงเดินหน้าไปปกติไม่มีการยุติการชุมนุมแต่อย่างใด
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ คปท.กล่าวว่า ได้ให้ทีมกฎหมายไปคัดคำร้องฉบับเต็มเพื่อขออุทธรณ์คำสั่งศาล เพราะมองว่าผู้ร้องยื่นคำร้องไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง ซึ่งจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งโดยเร็วที่สุดอาจเป็นวันที่ 19 ก.ค. และไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งออกมาอย่างไรตนพร้อมปฏิบัติตาม
"หากศาลไม่รับอุทธรณ์พวกผมอาจย้ายสถานที่ชุมนุม เพราะศาลไม่ได้ห้ามการชุมนุม อย่างไรก็ตาม ยืนยันพวกตนจะยังคงชุมนุมต่อ" แกนนำ คปท.กล่าว
ส่วนนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ไปติดตามการดำเนินการของ ป.ป.ช.กรณีคปท.และภาคประชาชน ยื่นขอให้ป.ป.ช.ไต่สวนกรณีการป่วยของคุณทักษิณที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ว่าป่วยรุนแรงถึงขนาดไม่ต้องอยู่ในคุกแม้แต่วันเดียวได้หรือเปล่า ป.ป.ช.ระบุเหลือประเด็นเดียวคือหลักฐานเวชระเบียนการป่วยของคุณทักษิณที่ รพ.ตำรวจไม่ยอมส่ง
"จากการพูดคุยกันทางเจ้าหน้าที่จะส่งหนังสือเตือนไปอีก 2-3 ครั้ง ถ้าไม่ส่งก็จะเสนอ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญาผู้ครอบครองเอกสาร คปท.และคณะ จึงคิดว่านับจากนี้อีก 30 วัน เราจะไปทวงคำตอบที่ ป.ป.ช." นายนิพิฏฐ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปลุกเที่ยวเหนือ สั่งเยียวยาเพิ่ม ฟื้นพื้นที่น้ำท่วม
นายกฯ อิ๊งค์แต่งตัวรับลมหนาว ฟุ้งไทยแม้หนาวไม่มากแต่มีกิจกรรมให้ทำยาวทุกจังหวัดตั้งแต่ พ.ย.ปีนี้ถึง ม.ค.ปีหน้า
DSIชี้ไอคอนแชร์ลูกโซ่ พปชร.ลากไส้เพื่อไทย
คกก.กลั่นกรองดีเอสไอฟันคดี “ดิไอคอนกรุ๊ป” ผิดแชร์ลูกโซ่-พ.ร.บ.คอมพ์
คลังให้การบ้านธปท.หนุนศก.
“พิชัย” ฟุ้งถก "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ฉลุย ไม่ติดกรอบเงินเฟ้อ 1-3%
มติพท.ชงนิรโทษไม่รวม112
"พท." เคาะมติเห็นพ้องเสนอร่าง กม.นิรโทษกรรมประกบ หวังสร้างสมานฉันท์
ตากใบคาใจคนใต้! บี้เอาผิดปล่อยหมดอายุความ/‘อิ๊งค์’ขึงขังฟันขรก.หนีคดี
นายกฯ ทำขึงขังขอดูระเบียบยึดบำเหน็จบำนาญ ขรก.เอี่ยวคดีตากใบ
อปท.ฟื้นแม่สาย อิ๊งค์จ่อลงพื้นที่ ถก‘ครม.สัญจร’
"ศปช." ย้ำไม่หยุดฟื้นฟูส่ง "แม่สาย" ให้ อปท.ลุยต่อ “บิ๊กอ้วน” นำทีม ศปช.ส่วนหน้าคืนรอยยิ้มให้ชาวเชียงราย