อนุ กมธ.ปลาหมอคางดำระอุ! "หมอเก่ง" ไล่ตามหา "ครีบปลา" ตัวอย่าง DNA เพื่อหาตัวคนทำผิด ชี้ตามสัญญาระบุชัดก่อนนำเข้ากรมประมงต้องตัดครีบไว้ตรวจสอบ การให้อนุญาตแบบมีเงื่อนไขแต่ทำตามไม่ครบถือว่าละเว้นหน้าที่ หากหลุดจากงานวิจัยออกไประบาดเข้าองค์ประกอบความผิดโทษจำคุก "ณัฐชา" บี้ขอรายละเอียดการส่งออกด้วย "อธิบดีประมง" ยอมรับเอกชนไม่ตัดครีบส่งมา ขอกลับไปตรวจสอบก่อน อ้างกฎหมายบกพร่องโทษไม่หนักพอ
ที่รัฐสภา วันที่ 18 กรกฎาคม คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธานอนุ กมธ. มีการประชุมพิจารณาความเห็นและสาเหตุการระบาดของปลาหมอคางดำ โดยได้เชิญนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง, บริษัทเอกชน, ตัวแทนนักวิชาการ, สภาทนายความ และตัวแทนผู้ได้รับความเดือดร้อนแต่ละจังหวัดมาให้ข้อมูล ซึ่งบริษัทเอกชนเป็นหน่วยงานเดียวที่ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วม
ในช่วงต้นการประชุม นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กทม. ในฐานะรองประธาน กมธ. กล่าวขอบคุณอธิบดีกรมประมงที่จัดแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ก่อนที่อธิบดีกรมประมงจะกล่าวว่า วันนี้แม้ไม่ได้เตรียมเอกสาร แต่ยินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ พร้อมเล่าถึงประวัติของปลาหมอคางดำ ว่าเป็นตระกูลเดียวกันกับปลาหมอเทศและปลานิล อาศัยอยู่ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน ทนความเค็มและออกซิเจนต่ำ ที่สำคัญวางไข่ทุก 22 วัน โดยตัวผู้เป็นผู้อมไข่ ความรุกรานของเขาคือกินทั้งพืชและสัตว์ กุ้ง ลูกหอย พบว่าร้อยละ 94 เป็นพืช ที่เหลือเป็นลูกสัตว์ ซึ่งรุกรานไปทั่วยุโรป อเมริกาและหลายพื้นที่ของเราในตอนนี้ เดิม 14 จังหวัด ตอนนี้ 16 จังหวัด
ทำให้ นพ.วาโยขอตัดบทว่า ขอเสียมารยาท แต่ข้อมูลนี้เราพิจารณาถึง 5 ครั้งแล้ว ดังนั้นขอตั้งเป็นคำถามแล้วกัน เพราะกรมประมงก็มอบหมายให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงแล้วส่วนหนึ่ง คิดว่าไม่ให้เสียเวลา ก่อนจะเข้าสู่คำถามว่าสรุปแล้วปลาหมอคางดำมันเทกไฟลต์บินมาจากที่ไหน หรือใครเอาเข้ามา จากระเบียบวิธีการวิจัย น่าจะหาต้นตอได้โดยการตรวจรหัสทางพันธุกรรม ซึ่งรายงานการวิจัยโดยกรมประมงที่ตีพิมพ์ช่วงปี 2565 มีชื่อว่าการวิเคราะห์เส้นทางการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำตามพื้นที่ชายฝั่งของไทย จากโครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากร พบว่าความใกล้ชิดกันของพันธุกรรมปลา มีความใกล้ชิดกันสูงมาก มาจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่
“แสดงว่าเรามีตัวอย่างและ DNA ปลาที่ระบาดในประเทศไทยแล้ว ถ้าเราสามารถจับตัวตั้งต้นได้ อาจจะเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ไม่กี่คู่นี่แหละ แล้วโป๊ะเชะกัน เป็นสายพันธุ์เดียวกัน ก็น่าจะคลายความสงสัยและหาตัวผู้กระทำผิดได้ ตัวอย่างปลาที่เป็นขวดโหล 25 ตัว ที่ทางบริษัทซีพีเอฟแถลงข่าวมาว่าได้มอบให้ทางกรมประมงไปแล้ว แต่ทางอธิบดีก็ยืนยันว่าไม่มีสมุดคุม ต้นขั้ว แต่ท่านรองฯ ท่านมารายงานว่าน้ำท่วมไปหรือไม่ ปี 2554 เดี๋ยวเราจะต้องขออนุญาตท่านไว้ก่อนว่าเราอยากไปเยี่ยมกรมประมง ไปดูห้องเก็บตัวอย่างหน่อยว่าอยู่ชั้น 1 หรือชั้น 2 แล้วน้ำท่วม ท่วมถึงระดับไหน จากรายงานของชาวบ้านรู้สึกจะประมาณเข่ามั้ง จึงอยากไปดูว่าท่านเก็บไว้ที่พื้นหรือวางไว้บนชั้น มีกี่ชั้น แล้วน้ำสามารถพัดพาตัวอย่างนี้ไปได้หรือไม่” นพ.วาโยกล่าว
นพ.วาโยกล่าวอีกว่า ได้รับรายงานอีกว่าบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ IBC ของกรมประมงเอง ว่า ณ วันนั้นมีมติของที่ประชุมอนุญาตให้นำเข้า เนื่องจากเป็นเรื่องเดิมที่เคยขออนุญาตแล้ว ภายใต้เงื่อนไขเดิม
สรุปว่ากรมประมงให้บริษัทซีพีเอฟสามารถนำเข้าปลาหมอคางดำได้ ภายใต้เงื่อนไขให้กรมประมงเก็บตัวอย่างครีบโดยไม่ทำให้ปลาตายอย่างน้อย 3 ตัว ไม่มีทั้งตัวก็ได้ ตนขอตัวอย่างครีบ 3 ตัว ให้ทางหลายหน่วยงานได้ตรวจ DNA ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้รับขวดโหล 2 ขวดนั้น แต่ท่านต้องมีตัวอย่างครีบที่ท่านเป็นคนเก็บเอง ณ บัดนั้นด้วย
นพ.วาโยถามต่อว่า เมื่อวานอธิบดีระบุว่าไม่มีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ปล่อยปละละเลยได้ อยากให้ช่วยขยายความว่าไม่มีข้อกฎหมายเลยหรือไม่ และข้อสุดท้าย จะปล่อยปลาที่ตัดต่อพันธุกรรมแล้วปล่อยให้ไปผสมพันธุ์จนได้ปลาที่เป็นหมัน แต่มีงบเพียง 150,000 บาท จึงไม่แน่ใจว่ามีการเพิ่มงบแล้วหรือยัง ตอนนี้เริ่มวิจัยไปแล้วหรือยัง
ขณะที่นายณัฐชาถามอธิบดีต่อว่า เรื่องบริษัทเอกชนที่ตอบโต้กลับมาว่ามีการส่งออกปลาพันธุ์นี้ไปยังประเทศอื่นด้วยในปี 2556-2560 จริงเท็จอย่างไร ซึ่งมีข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผย จึงอยากให้ชี้แจง เรื่องการส่งตัวอย่างในการตรวจสอบว่าปลาที่ดองไว้ในขวดโหลจะมีกระบวนการอย่างไร และอยากทราบว่ากรมประมงใช้งบไปเท่าไหร่ รวมถึงแนวทางที่ถูกต้องในการนำเข้าปลาต่างถิ่นเข้ามา และการติดตามต้องทำอย่างไร
ทางด้านนายบัญชา อธิบดีกรมประมง ตอบว่า ข้อมูล ณ วันนี้ที่กรมประมงมีที่พอจะเห็นร่องรอย มีบริษัทเดียวที่ขอนำเข้า เดือน ก.ย.ปี 2553 พร้อมตอบรับคำเชิญอนุ กมธ.ไปที่กรม สำหรับกฎหมายประมงปี 2528 มีมาตรา 54 ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำมาในราชอาณาจักร ยกเว้นการลักลอบ แต่กรมประมงก็ได้กำหนดเงื่อนไขโดยคณะกรรมการ IBC ว่าต้องเก็บตัวอย่างครีบดองในน้ำยา เพื่อส่งวิจัยชีวภาพสัตว์น้ำ สำนักวิจัยและพัฒนา กรณีไม่ทำตามจะไม่อนุญาต นี่เป็นหลักการของ IBC พอมาปี 2558 ก็ได้เห็นข้อบกพร่องของกฎหมาย จึงกำหนดไม่ให้ผู้ใดนำสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ โดยให้รัฐมนตรีไปกำหนดในประกาศกระทรวง ในปี 2561 ปลาหมอคางดำก็อยู่ในนี้ด้วย ตนคิดว่าโทษยังไม่พอ จึงอยากขอให้ทุกคนสนับสนุนให้มีโทษทางอาญาด้วย
ส่วนเรื่องการวิจัยปลาตัวอย่างที่จะปล่อยไปผสมพันธุ์ เพื่อให้ออกลูกเป็นหมันนั้น ยังอยู่ระหว่างการทดลอง 3 ชุด เพื่อจะให้มีความเชื่อมั่นก่อน งบที่ว่า 150,000 บาท เป็นงบแค่น้ำยา อุปกรณ์อื่นๆ เรามีอยู่แล้ว
"ส่วนเรื่องการส่งออกปลาไปที่ประเทศอื่น นักข่าวก็ถามผม ผมก็ตกใจ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องนี้ จึงตั้งทีมค้นคว้าเรื่องนี้ พบว่ามีการส่งออกปลาเมื่อปี 2556-2559 ไป 17 ประเทศ โดยมีผู้ส่งออก 11 ราย มีปลาทั้งสิ้น 230,000 ตัว แต่ปี 2561 ตอนแก้กฎกระทรวงก็ไม่มีการส่งออก ย้ำว่าอะไรที่เราเจอเราก็นำเรียนให้ทราบ"
อธิบดีกรมประมงวกกลับมาที่ปลาหมอคางดำ 2,000 ตัวว่า นำเข้ามาทางด่านสุวรรณภูมิ ตนได้เรียกสมุดคุมมาแล้ว ก็ไม่มี แต่บริษัทเอกชนกล่าวอ้างว่าส่งมา จึงต้องไปดูที่ต้นทาง ถ้ามีก็ขอให้นำมาเปิดเผย ตอนนี้กรมประมงใช้งบป้องกันและเฝ้าระวังไป 1.79 ล้านบาท งบโครงการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ ปี 61 จำนวน 11 ล้านบาท งบวิจัยปี 61 จำนวน 4000,000 บาท และงบส่วนอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการของบประมาณ 181 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 5 เรื่อง กำจัด, ปล่อยปลานักล่า, รณรงค์ให้มีการบริโภค, สำรวจและรายงาน และประชาสัมพันธ์
จากนั้น นพ.วาโยขอสำเนาสมุดคุมว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร จะได้คลายความสงสัย พร้อมย้ำถึงการเก็บตัวอย่างครีบว่า ในรายละเอียด ให้กรมประมงเป็นผู้เก็บตัวอย่าง โดยไม่ทำให้ปลาตาย ตอนที่นำเข้าปลา ตรงนี้มีการเก็บหรือไม่ ตัวอย่างอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีการเก็บ จะถือว่าเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ท่านอนุญาตแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้กระทำตามเงื่อนไขครบทุกข้อแล้ว ถ้าไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบทุกข้อ หมายความว่าไม่สมบูรณ์ และอาจจะไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่
“สังคมกำลังตั้งคำถามว่า ปลาที่มันหลุดอยู่ในประเทศไทย ไม่รู้ว่ามันซื้อตั๋วมาเองหรือไม่ มันหลุดมาจากงานวิจัยชิ้นนี้หรือไม่ ถ้าหลุดมาจริง ก็อาจจะเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 55 มีโทษจำคุกเช่นเดียวกัน” นพ.วาโยกล่าว
อธิบดีกรมประมงจึงกล่าวว่า ขอกลับไปดู ตนก็พยายามหากฎหมายว่ามีช่องใดไปถึงบ้าง ยอมรับว่าจริงๆ เป็นหน้าที่ราชการ จะอ้างก็ไม่ได้นั่นแหละ ย่อมมีผู้รับผิดชอบ มี 2 ความรับผิดชอบ คือรับผิดชอบทางกฎหมาย รับผิดชอบต่อสังคม ส่วนกฎหมายไปถึงหรือไม่ ตนก็พยายามอธิบาย โดยเฉพาะสภาทรงเกียรติแห่งนี้
ทำให้ นพ.วาโยทวงคำถามว่า “แล้วครีบปลาผมล่ะครับ” มติ IBC ที่เป็นผู้อนุญาต ระบุว่าให้กรมประมงเก็บครีบปลา 3 ชิ้น อธิบดีกรมประมงจึงกล่าวว่า ความหมายคือเอกชนต้องเป็นคนตัดและส่งครีบมาให้กรมประมง เพื่อเอาไว้ตรวจสอบ “เอกชนไม่ได้ตัดส่ง จึงเป็นที่มา” และขอกลับไปตรวจสอบอีกครั้ง
อธิบดีกรมประมงกล่าวทิ้งท้ายว่า "ปลาหมอคางดำมีประกาศห้ามไม่ให้ส่งออกปี 2561 ปี 2556-2559 ไม่ใช่เป็นสัตว์คุ้มครอง เขาก็เอาจากแหล่งธรรมชาติที่รุกรานอยู่ ต้องไปดูว่าแพร่กระจายเมื่อไหร่ ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่าเขาเอามาจากไหน แต่ก็เห็นได้ว่าเมื่อมันชุกชุมจากธรรมชาติ เขาก็ไปเก็บจากธรรมชาติ”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว
ชทพ.ย้ำห้ามแตะสถาบัน สว.ค้านหั่นเสียง‘สภาสูง’
ชาติไทยพัฒนายันแก้รัฐธรรมนูญห้ามแตะต้องหมวด 1 และ 2 เด็ดขาด “สว.” ย้ำไม่เอาแน่หากเสนอตัดเสียงสภาสูงออก
นายกฯสั่งดูแล คนไทยในสหรัฐ เหตุไฟป่า‘L.A.’
“แพทองธาร” บอกเช็กแล้วไม่มีคนไทยในสหรัฐบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากไฟป่า
คึกคักจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
หลายจังหวัดคึกคัก จัดงานวันเด็กแห่งชาติ เหล่าทัพจัดเต็มแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์
‘ภรรยาลิม’โอด ช่วงสามีถูกยิง! ไร้‘ผู้ช่วยเหลือ’
ผกก.สน.ชนะสงครามยันออกหมายจับมือยิง “ลิม กิมยา” แค่ 2 คน “เมียอดีต สส.ฝ่ายค้าน”