7ส.ค.ชี้ชะตาก้าวไกล

"ก้าวไกล" คอพาดเขียง 7 ส.ค. "ชัยธวัช" โอดเสียดายศาลไม่เปิดไต่สวนคดียุบพรรค ชี้ควรเปิดโอกาสให้สู้เต็มที่ จะเป็นผลดีต่อการยอมรับคำวินิจฉัย จ่อทำคำแถลงปิดคดียื่นศาลภายใน 24 ก.ค.นี้ “โรม” ม้วนเสื่อ ถอดใจเส้นทางสู้คดียากขึ้น ดิ้นเฮือกสุดท้ายด้วยพยานปากเอก ขณะที่ “แสวง” กางกฎหมายฟาดยัน กกต.-นายทะเบียน  มีอำนาจยื่นยุบพรรคได้ เปรียบกรณียื่นให้ สส.-รมต.พ้นสภาพ ให้อำนาจหลายองค์กรร้องศาลได้เช่นกัน อัดไม่ใช่เรื่องมีมาตรฐาน-ไม่มีมาตรฐาน

เมื่อวันพุธ ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ยื่นคำร้องกรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้อง)   มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2)

 ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกล เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล  และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสอง และมาตรา 94 วรรคสอง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หากคู่กรณีประสงค์จะแถลงการณ์ปิดคดี    ให้ยื่นเป็นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 67 ประกอบข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ 2562 ข้อ 24 ภายในวันที่ 24 ก.ค.2567  ส่วนคำร้องที่คู่กรณียื่นให้รับรวมไว้ในสำนวนคดีเพื่อประกอบพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป  โดยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดนัดแถลงด้วยวาจา   ประชุมปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 7 ส.ค. เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 15.00 น. 

จ่อยื่นคำแถลงปิดคดี

ที่รัฐสภา นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า คดีนี้เหลือประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นปัญหาทางข้อกฎหมายเท่านั้น ส่วนข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ศาลมีความเห็นให้ผนวกเอาคำร้องคู่กรณีอยู่ในสำนวนด้วย ซึ่งน่าจะหมายถึงคำร้องของพยานคือ นายสุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงคำร้องที่พรรคได้ยื่นเป็นข้อโต้แย้งทั้งที่เป็นพยานหลักฐานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพยานหลักฐานที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำเข้าสู่คดี แม้ไม่มีการไต่สวน แต่เราสืบพยานเพิ่มเติม และมีการสรุปข้อเท็จจริงเข้าไปด้วย

 “เราเสียดายที่ไม่มีการไต่สวน ซึ่งในมุมมองเราเห็นว่าข้อเท็จจริงยังมีอยู่ ควรไต่สวนให้ถึงที่สุดก่อน  ส่วนข้อกฎหมายเรามั่นใจในข้อกฎหมายที่เราสู้ไป ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราอาศัยเอกสารหลักฐานของ กกต.เอง เพื่อมาเพิ่มน้ำหนักว่ากระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ส่วนข้อกฎหมายอื่นๆ เราก็มั่นใจว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลไม่ใช่การล้มล้างหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้พรรคก้าวไกลเตรียมทำคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 24 ก.ค.นี้ โดยจะส่งเป็นเอกสาร เนื่องจากไม่มีการไต่สวนหน้าบัลลังก์” นายชัยธวัชระบุ

นายชัยธวัชกล่าวว่า หากมีการเปิดไต่สวนจะทำให้เรามีโอกาสต่อสู้ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงให้ได้สัดส่วนของข้อกล่าวหา และโทษในคดีนี้ แต่อย่างน้อยตอนนี้ได้รวบรวมคำร้องเพิ่มเติม ก็น่าจะเพิ่มน้ำหนักในการต่อสู้ของเราได้ จึงยังไม่กังวลอะไร และเรายังมั่นใจการต่อสู้ทางข้อกฎหมายอยู่

เมื่อถามว่า การที่ศาลไม่เปิดไต่สวน มองว่าเป็นการเร่งรัดหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล เราก้าวล่วงไม่ได้ เพียงแต่เสียดายโอกาส เรามองในแง่ดีของทุกฝ่ายด้วยว่าหากเปิดไต่สวนเพื่อให้คู่กรณีได้มีการต่อสู้กันอย่างเต็มที่ ก็จะเป็นผลดีต่อการยอมรับคำวินิจฉัยด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการเตรียมพร้อมที่จะรับผลหากออกมาทางลบหรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่เตรียมอะไร ต้องหารือในพรรคก่อนว่าวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นวันฟังคำวินิจฉัยจะทำอย่างไร แต่ไม่มีใครหวั่นไหว เพราะระยะเวลานานแล้ว คดีนี้ใช้เวลาหลายเดือนแล้ว ทุกคนนิ่งหมดแล้ว จึงไม่ได้เตรียมใจยอมรับอะไร ยังเตรียมมาทำงานในวันที่ 8 ส.ค.อยู่

 “ขณะนี้ทุกอย่างภายในพรรคนิ่ง แม้ว่าศาลจะวินิจฉัยเฉพาะข้อกฎหมาย และยิ่งใครได้เห็นเอกสารหลักฐานที่ทางพรรคได้ทำไปเมื่อวานนี้ (16 ก.ค.) ก็จะยิ่งมั่นใจ อย่าเพิ่งสรุปว่าจะเป็นอย่างไร เพราะยิ่งสู้คดีเรายิ่งมั่นใจมากขึ้น” นายชัยธวัชระบุ

เมื่อถามว่า มีการเตรียมตั้งพรรคใหม่เอาไว้หรือไม่ นายชัยธวัชกล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลาที่จะคุยกันเรื่องนี้ ขอรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน ตอนนี้ยังมีโอกาสอยู่ ยิ่งต่อสู้ก็ยิ่งมีโอกาส และถ้ายุบจริงเราตกผลึกหมดแล้ว ไม่ต้องเตรียมอะไรทั้งสิ้น เราเตรียมทำงานอย่างเดียว

'โรม' ม้วนเสื่อสู้ยาก

นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จากที่เห็นเอกสารข่าวในวันนี้ แน่นอนว่าเราเองคงต้องบอกตรงๆ ว่าการต่อสู้คดีของเราที่ต้องการจะนำพยานหลักฐานเข้าไปสู่กระบวนการการพิจารณาของศาล คงทำไม่ได้ ยอมรับว่าคงทำให้การต่อสู้คดีของเรายากขึ้น อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถบอกได้ว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลในวันที่ 7 สิงหาคมนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราหวังว่าผลตรงนี้จะสร้างความยุติธรรมให้กับพรรคก้าวไกลด้วยเช่นกัน

นายรังสิมันต์กล่าวว่า คงไม่ได้ไปดูว่าฉุกละหุกหรือไม่ แต่สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือเรื่องของกระบวนการมากกว่า เนื่องจากพยานปากสำคัญของเราอย่าง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมหาชน ที่เราต้องการให้ขึ้นเป็นพยานของพรรคก้าวไกล เป็นพยานปากสำคัญมาก เนื่องจากท่านเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้กับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

 “ผมคิดว่าเนื้อหาสาระแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ พยานปากสำคัญแบบนี้ เราไม่สามารถมองข้ามได้เลย ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ เราเองก็อยากให้กระบวนการดำเนินไปในลักษณะที่ฟังกันทุกฝ่าย และรับฟังโดยละเอียด แต่แน่นอนว่าเมื่อกระบวนการไม่เป็นไปอย่างที่เราหวัง ก็คงต้องกลับไปคุยกันในพรรค  ซึ่งตนเข้าใจว่าภายในพรรคเองยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน” นายรังสิมันต์ระบุ 

นายรังสิมันต์กล่าวว่า ส่วนประเด็นเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลที่ออกมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขมาตรา 112 ไม่ได้เลย แต่จะต้องเป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งก็มีกระบวนการและขั้นตอนของมันอยู่ และคำวินิจฉัยของศาลในรอบที่แล้วก็คือสั่งให้ยุติการกระทำ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการกระทำอะไรเพิ่มเติม ตนเชื่อว่าคำวินิจฉัยในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ประชาชนทุกคนคงเฝ้ารอ และต้องดูว่าสุดท้ายจะสอดรับกับเหตุผลที่ยอมรับกันได้มากแค่ไหน

'แสวง' กาง กม.ฟาด

นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.  เลขาธิการ กกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง  ต่อกรณีการยื่นยุบพรรคการเมือง สาระสำคัญระบุว่า 1.สถานะ/หน้าที่และอำนาจ กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่จัดเลือกตั้ง เลือก  การออกเสียงประชามติ และหน้าที่อื่น ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น เลขาธิการ กกต.เป็นหัวหน้าหน่วยบริหารและธุรการของ กกต. เพื่อให้งานในหน้าที่และอำนาจของ กกต. สำเร็จตามที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขึ้นตรงกับ กกต.

นายแสวงระบุว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นคนคนเดียวกับเลขาธิการ กกต. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กกต.ไม่ใช่หัวหน้านายทะเบียนพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคไม่ได้ตรงขึ้นตรงกับ กกต. ต่างคนต่างเป็นอิสระ ต่างทำหน้าที่ตามที่กฎหมายให้ทำเท่านั้น ไม่มีความสัมพันธ์กันในเชิงการบริหารหรือธุรการแต่อย่างใด

2.การทำงาน/ความสัมพันธ์ กกต.และเลขาธิการ กกต. "ทำงานร่วมกัน" ในทุกเรื่องเกี่ยวกับงานของ กกต. เพื่อเป้าหมายของงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของ กกต. ให้บรรลุผลสำเร็จ ตามฐานานุรูปในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง "ต่างคนต่างทำงาน" ไม่ขึ้นต่อกัน งานจะสัมพันธ์กันก็ต่อเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองให้ต้องสัมพันธ์กัน กกต.จะมีมติให้ทำนายทะเบียนทำอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้

3.ตัวอย่างการทำงาน กกต.และเลขาธิการ กกต. อาทิ การเลือกตั้ง สส. เลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท งานประชามติ ฯลฯ กกต.เป็นผู้ออกระเบียบ ประกาศ ให้เลขาฯ ปฏิบัติ มีมติ ให้เลขาฯ ไปดำเนินการในงานข้างต้นได้ทุกเรื่องเพื่อผลสำเร็จของงาน

ทั้งนี้ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง อาทิ การเสนอให้ยุบพรรคการเมือง กกต.ก็มีอำนาจเสนอให้ยุบพรรคโดยลำพังตามมาตรา 92 แต่จะมามีมติหรือสั่งให้นายทะเบียนพิจารณาดำเนินการเสนอยุบพรรคตามมาตรา 93 ไม่ได้ เพราะมาตรา 93 เป็นอำนาจเฉพาะของนายทะเบียนพรรคการเมือง

"ดังนั้น การเสนอให้ยุบพรรคตามมาตรา 92 หรือ 93 จึงไม่ใช่ทางเลือกหรือดุลยพินิจที่ กกต. จะเลือกเพื่อเสนอให้ยุบพรรคการเมือง ว่าจะใช้มาตราใดสำหรับพรรคใด แต่เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจเสนอยุบพรรคแก่ 2 องค์กรคือ กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง และแต่ละองค์กรก็เป็นอิสระต่อกัน เรื่องนี้อาจเทียบเคียงได้กับการพ้นจากการเป็นสมาชิกภาพของ สส. หรือการพ้นจากตำแหน่งของรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจแก่หลายองค์กรในการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สส.เข้าชื่อกันก็ยื่นได้ กกต.ก็ยื่นได้เช่นกันหากเห็นว่ามีเหตุให้ยื่น เป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต่างคนต่างทำหน้าที่ ไม่ขึ้นต่อกัน แต่เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ยื่นแล้ว อีกฝ่ายก็อาจยุติเรื่องก็ได้ เพราะมีการยื่นไปแล้ว ด้วยข้อกฎหมาย เหตุผลข้างต้น ทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐานแต่ประการใด" นายแสวงระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน

‘ชัยชนะ’ ร้อง ‘กกต.’ เร่งรับรอง ‘วาริน’ นั่งนายก อบจ. เมืองคอน - ชี้ไม่มีใครร้องคัดค้าน หวั่นล่าช้าจะไม่สามารถแถลงนโยบายต่อ ส.อบจ. ที่เหลือวาระถึงวันที่ 19 ธ.ค. และไม่สามารถลงมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ได้